ดร. ศิริกุล เลากัยกุล กับโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ที่ทำให้ความมั่นคงทางธุรกิจดีพอที่จะสร้างความสมดุลให้ชีวิต

โครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ก่อตั้งขึ้นราวๆ 5 ปีก่อน โดย ดร. ศิริกุล เลากัยกุล หรือ พี่หนุ่ย ด้วยเป้าหมายที่ต้องการนำเอาแนวพระราชดำริ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในบ้านเรา โดยมีปลายทางที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของความมั่งคั่งทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการสร้างความสุข ความพอใจ และความสมดุลให้กับการใช้ชีวิตของตนเองในบริบทที่แตกต่าง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการเป็นส่วนสำคัญในการช่วยบ่มเพาะนักธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นเหล่านี้ได้เรียนรู้ เข้าใจ และรู้จักจุดพอดีของชีวิต จนพวกเขาดีพอที่จะเอื้อเฟื้อต่อคนอื่นและสังคมต่อไปในอนาคต

ต้นทางคือพัฒนาตน 

“ด้วยอาชีพเดิมของพี่หนุ่ยคือที่ปรึกษาทางด้านการสร้างแบรนด์ (Brand Consultant) โดยพี่หนุ่ยดูแลคอร์ปอเรทแบรนด์ ซึ่งเวลาที่เราโฟกัสกับเรื่องของการสร้างแบรนด์องค์กร กระบวนการที่ดีที่สุดมักจะทำผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายความว่าแบรนด์ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นก็ยากที่ก้าวสู่การเป็นโกลบอลซิติเซ่นได้ เพราะฉะนั้น ด้วยอาชีพก็ทำให้พี่หนุ่ยเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องของความยั่งยืนอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อเราเข้ามาช่วยลูกค้าในการสร้างแบรนด์ผ่านเรื่องของการรับผิดชอบอย่างยั่งยืน สิ่งที่เราต้องทำก็คือการพยายามหาว่า มันมีเครื่องมืออะไรบ้างที่จะช่วยให้ลูกค้าไปถึงจุดหมายนั้นได้ดี แล้วพี่หนุ่ยก็ได้มาเจอ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งแรกเริ่มพี่หนุ่ยเองก็เหมือนกับอีกหลายๆ คน ที่มองว่าปรัชญานี้คงจะเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรม จนกระทั่งวันหนึ่งได้ตัดสินใจลองศึกษาและใช้ในการพัฒนาตัวเองดู ก็พบว่า หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ในปรัชญานี้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเป็นหลักคิดที่ดีมากในการใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้ตัวเอง ซึ่งทำให้พี่หนุ่ยมีกรอบของการตัดสินใจที่ดีขึ้นมาก

พอเริ่มมีความมั่นใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น จึงเริ่มนำหลักคิดมาแมทช์กับเรื่องของการทำแบรนด์ โดยทุกๆ ครั้งที่ทำงาน พี่หนุ่ยจะบอกกล่าวกับลูกค้าก่อนว่าจุดยืนเวลาที่จะให้คำปรึกษา พี่หนุ่ยเป็นคนที่มีความเชื่อในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและจะนำเรื่องนี้มาเป็นกรอบในการทำงานนะ”

จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่แนวคิดของการสร้างแบรนด์

“พอมาถึงจุดหนึ่ง พี่หนุ่ยรู้สึกว่าลำพังแค่เราทำงานในอาชีพของเราผ่านลูกค้าอย่างเดียวคงจะไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสังคมได้ ตอนนั้นก็เริ่มมองแล้วว่าเราจะทำโครงการด้านสังคมของเราอย่างไรได้บ้างไหม ซึ่งพี่หนุ่ยคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างหรือนำทางนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของสังคมได้ พวกเขาจะเป็นคนที่สามารถไปเปลี่ยนสังคมต่อได้ ก็เลยเป็นที่มาของการทำโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ขึ้น”

ทำไมถึง ‘พอแล้วดี’

“พี่หนุ่ยเชื่อว่า ถ้าเรามีเครื่องมือในการบริหารจัดการความโลภของตัวเอง รู้จักจุดที่พอดี จุดสมดุลของตัวเอง เราจะมีความพร้อมในการแบ่งปัน โดย ‘พอแล้วดี The Creator’ ใช้หลักนี้ในการทำงานและโฟกัสไปที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าพี่หนุ่ยอยากจะเปลี่ยนการรับรู้ของคนว่าสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงคิดสามารถใช้ได้กับทุกๆ คน และพี่หนุ่ยจะใช้ปรัชญานี้กับกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์นี่แหละ เพื่อให้พวกเขาได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการ ให้ไปเจอจุดที่มีคุณค่าของตัวเอง รวมทั้งเจอจุดที่ทำให้เขาดีพอที่จะไปสร้างการแบ่งปัน ซึ่งพี่หนุ่ยมองว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น สังคมและระบบนิเวศรอบข้างของพวกเขาก็จะดีไปด้วยกัน โดยคนที่จะเข้าโครงการได้จะต้องเป็นคนที่ใช้ 2 เรื่อง คือเรื่องของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) และ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ (Sufficiency Economy)”

ดำเนินธุรกิจด้วย ‘3 ห่วง 2 เงื่อนไข’ ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การสร้างความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับธุรกิจนั้น ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ที่เข้าใจได้ง่ายๆ อย่างการ ‘รู้จักประมาณตัวเอง การมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน’ ในขณะที่อีก 2 เงื่อนไขนั้นจะประกอบไปด้วยความรู้และคุณธรรม

“สำหรับ 3 ห่วง นั้น ห่วงแรกคือ ‘การรู้จักตน’ หลักการนี้เมื่อเรานำมาแปลงเป็นหลักสูตร ก็คือการทำเรื่องของ SWOT การรู้จักประเมินและวิเคราะห์ตัวเอง หา Strengths (จุดแข็ง), Weaknesses (จุดอ่อน), Opportunities (โอกาส) และ Threats (อุปสรรค) อะไรคือมากเกินไปและอะไรคือน้อยเกินไปสำหรับตัวเอง นอกจากนี้ กระบวนการสร้างแบรนด์ หรือ Brand Model เองก็ทำได้ก็จากการรู้จักตัวตนก่อนเช่นกัน ตั้งแต่การค้นหาคำตอบให้ได้ว่าคุณกำลังอยู่ในตลาด ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมประเภทไหน มีปลายทางที่ชัดเจนว่าคุณอยากได้อะไรจากการสร้างแบรนด์ คุณมีจุดยืนในการสร้างแบรนด์อย่างไรเพื่อที่จะเข้ามากำหนดลักษณะพิเศษของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด และเพื่อให้สินค้าไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ รวมไปถึงการที่ต้องหาว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมีคุณสมบัติอะไรบ้างที่ผู้บริโภคจะเห็นได้จากรูปลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการมีคำมั่นสัญญาของแบรนด์ที่จะให้ไว้กับผู้บริโภค ว่าแบรนด์ของคุณจะส่งต่ออะไรให้พวกเขา เช่น ประโยชน์ใช้สอย ประสบการณ์ หรือคุณค่าในมิติต่างๆ ซึ่งในการทำธุรกิจ เราต้องรู้ว่าเราเก่งเรื่องอะไร โอกาสของเราอยู่ตรงไหน เราอ่อนเรื่องอะไร ต้องไปเติมเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจ แล้วคุณไม่รู้จักตัวเองเลย คุณอย่าหวังว่าคุณจะไปสู้กับใคร เพราะแค่เริ่มทำคุณก็แพ้ภัยตัวเองแล้ว

ห่วงที่สองคือเรื่องของ ‘การมีเหตุมีผล’ เราจะทีมเทรนเนอร์ที่จะมาสอนเรื่องการทำ Business Model Canvas หรือเครื่องมือที่ช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจ เรื่องของการตลาด ไปจนถึงแนวคิดเชิงกลยุทธ์ของการทำธุรกิจ

ห่วงที่สามคือเรื่องของ ‘การสร้างภูมิคุ้มกัน’ ซึ่งจะเป็นการสอนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องการเงิน เราได้เห็นปัญหาหลักๆ ของนักธุรกิจรุ่นใหม่คือเรื่องของระบบบัญชี การวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการเรื่องการเงิน

ในขณะที่เงื่อนไขของ ‘ความรู้’ เราก็จะมีพี่ๆ มาให้ความรู้ในเรื่องของการตลาดดิจิตอล กระบวนการคิดเชิงออกแบบ การพัฒนาชุมชน รวมทั้งเงื่อนไขในเรื่อง ‘คุณธรรม’ โดยเราใช้เรื่อง 23 วิธีการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางให้น้องๆ เข้าใจว่าในการที่คุณจะทำธุรกิจแล้วเป็นที่รักของชุมชน นอกเหนือจากการที่คุณต้องเก่งแล้ว คุณต้องดีอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้น การออกแบบหลักสูตร เราจะออกแบบหลักสูตรตาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ที่เป็นหัวใจของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

การสร้างแบรนด์แบบผสมผสานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้า ควบคู่กับการปรับระบบนิเวศที่สมดุลให้สังคม

“ในแต่ละปีเราจะคัดเลือกกลุ่มนักธุรกิจประมาณ 15-18 แบรนด์ ใช้เวลาราวๆ 3-4 เดือน ด้วยที่นี่ไม่ได้เป็นผู้บ่มเพาะทางธุรกิจ ปลายทางของเราคือการสร้าง ‘The Creator’ ที่จะเป็น change agent ซึ่งนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นเครื่องมือในการปรับตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อที่จะไปเปลี่ยนสังคมรอบข้างต่อไป เกณฑ์แรกที่เราอยากได้จากผู้เข้าร่วมก็คือ คุณต้องเป็นธุรกิจที่ทำมาอยู่แล้ว เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และความคิดสร้างสรรค์ คุณอาจจะไม่รู้จักเศรษฐกิจพอเพียงเลยก็ได้ แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เราอยากเห็นคือความเชื่อในเรื่องของการแบ่งปัน ซึ่งถ้าใครสักคนลุกขึ้นมาบอกว่า “ฉันทำธุรกิจเพราะหวังว่าจะต้องรวยสูงสุด” การมาเข้าเวิร์กช็อปนี้ก็อาจจะไม่เหมาะนัก แต่ถ้าในการทำธุรกิจของคุณ มันมีความคิดในการมองถึงของชุมชนและคนรอบข้างอยู่ในแนวทางของการทำธุรกิจด้วย การเข้ามาที่นี่ก็จะเป็นขุมพลังที่จะเข้าไปเติมเต็มให้คุณมากขึ้นและเป็นแนวทางในการจัดการการให้และการแบ่งปันของเขาว่าจะทำอย่างไรที่จะจัดสมดุลให้เกิดความพอประมาณ ช่วยแบบไหนที่ตัวเองถึงจะไม่เดือดร้อน ทำอย่างไรที่ช่วยให้เขาเป็นคนสานต่อที่มีคุณภาพ ไปเปลี่ยนธุรกิจของเขา ไปเปลี่ยนสังคมรอบข้างได้อย่างยั่งยืนได้

ในการเทรนนิ่งพวกเขาจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งทุนทั้งหมดเราได้มากจากผู้สนับสนุนใจดีที่เห็นและมีความเชื่อมั่นในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ พร้อมๆ กับการมีความเชื่อร่วมกันว่า นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สามารถผสมผสานเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจได้นั้น จะสามารถก้าวสู่การเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมทั้งเป็นต้นแบบให้ธุรกิจทั่วไปเข้าใจได้ว่า ในวันนี้ เราจะพัฒนาไปข้างหน้า คุณไปคนเดียวไม่ได้ คุณไม่สามารถทิ้งใครไว้เบื้องหลังได้ คุณจะต้องเข้าใจในเรื่องของการแบ่งปัน คุณต้องเข้าใจความสมดุลของการที่ธุรกิจเติบโตกับสังคมเติบโตสามารถไปด้วยกันได้อย่างไร”

ความคิดสร้างสรรค์สำคัญไฉน

“สำคัญมาก ในทุกวันนี้ถ้าไม่มีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ‘การสร้างคุณค่า’ ก็เกิดขึ้นมาได้ยาก พี่หนุ่ยเป็นคนเชื่อเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีความพอดี มีความลงตัว แต่งานไม่มีเสน่ห์ มันก็ยากในการที่จะทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะทำให้เกิดคำว่า ‘เศรษฐกิจ’ ได้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่สมเหตุสมผล พอเหมาะพองาม ถ้าความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่มีจุดลงตัว ไม่มีจุดพอดี มันก็เพ้อเจ้อ ส่วนความพอดีที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ มันก็ขาดเสน่ห์ พี่หนุ่ยคิดว่า 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้อย่างดีและควรจะอยู่คู่กัน” 

เพราะ ‘โอบอุ้มและเอื้อเฟื้อ’ จึงสร้าง ‘โอกาส’ ท่ามกลางวิกฤต

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ‘พอแล้วดี The Creator’ ทำให้เมล็ดพันธุ์กว่า 90 เมล็ดได้เติบโตมากขึ้นและค้นพบวิถีทางของตัวเองบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น นครินทร์ ยาโน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘YANO Handicraft’ งานคราฟต์ที่เชื่อมโยงความรู้ด้านออกแบบ ธุรกิจร่วมสมัย และงานเชิงช่างในชุมชนบ้านเกิดเข้าด้วยกันอย่างพอดี, ชินศรี พูลระออ ทายาทโรงสีที่ปลุกปั้น ‘ข้าวธรรมชาติ’ เพื่อให้พี่น้องชาวนากลับมามีรอยยิ้มอีกครั้งกับการผลิตข้าวปลอดสารพิษโดยนำความรู้พื้นถิ่นมาผสมผสานกับข้อมูลทางวิชาการ, แบรนด์ ‘PiN’ โดย ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ผู้ปลุกชีพเศษเหล็กที่ไร้ค่าสู่สุนทรียะทางศิลปะ ไปจนถึง ปราชญ์ นิยมค้า กับแบรนด์ ‘Mann Craft’ ที่ดึงอดีตช่างฝีมือในชุมชนให้กลับมาแสดงทักษะการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายอีกครั้ง

“อีกแบรนด์หนึ่งที่ชัดเจนคือ น้องส้ม (อติพร สังข์เจริญ) ซึ่งส้มเป็นเจ้าของโฮสเทลชื่อ ‘The Yard’ อยู่ในซอยอารีย์ คอนเซ็ปต์ของน้องตอนที่เขามาสมัครก็เป็นสิ่งที่เรามองหา นั่นคือความเชื่อในเรื่องการแบ่งปัน อย่างชื่อ The Yard เอง ก็มาจากคำว่า ‘ญาติ’ ในภาษาไทย เพราะฉะนั้น การบริหารจัดการของส้มจึงเต็มไปด้วยความเกื้อกูล เมื่อส้มมาอยู่ในหลักสูตร ส้มก็มีความมั่นใจในสิ่งที่เขาทำมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ต่อให้เจอเรื่องของโควิดที่ทำให้ธุรกิจโฮสเทลไปไม่ได้ แต่ในแก่นของความเป็นญาติที่มีความห่วงใยซึ่งกันและกัน ก็ทำให้ส้มสามารถที่จะปรับรูปแบบธุรกิจจนตอนนี้ The Yard ได้ปรับเปลี่ยนไปสู่ co-space ที่คนสามารถมาใช้เป็นพื้นที่เพื่อเจอะเจอ ทำงาน ทานข้าว มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เพราะฉะนั้นน้องเขาจะมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันในการที่อยู่ต่อไปได้

สำหรับน้องนุช (วรนุช ภาคานาม) เป็นอีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจ โดยนุชเป็นผู้สืบทอดตำรับยาสมุนไพรไทยจากแบรนด์ ‘คุณยายปลั่ง’ ซึ่งขายดิบขายดีอยู่ที่ศูนย์ศิลปาชีพ พอเข้ามาที่โครงการ เราก็มาทำ rebrand model กัน ไถ่ถามเป้าหมายของนุชว่าคืออะไร ก็มาเจอว่านุชเองก็ชอบในเรื่องของกลิ่นและคิดว่ากลิ่นสมุนไพรไม่ได้ช่วยแค่เรื่องนวด แต่รวมไปถึงการดูแลเรื่องสุขภาพด้วย ตอนนี้นุชขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำเฉพาะน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่มีการออกแบบกลิ่นที่มีความเฉพาะตัว โดยแต่ละกลิ่นนั้นจะถูกผลิตขึ้นเฉพาะตามวันเดือนปีเกิด เวลาตกฟากของผู้ใช้ เพื่อให้ตอบในสิ่งที่เป็นธาตุของแต่ละคน ทำให้ผลิตภัณฑ์ของนุชเพิ่มมูลค่าจากเดิมขึ้นไปได้อีกมาก ทั้งเรื่องราคาและการรับรู้ของผู้คน

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงสำหรับพี่หนุ่ย คือเมื่อทั้งส้มและนุชกลับไปทำธุรกิจของเขา เขาไม่ได้ละทิ้งชุมชน อย่างส้มเองก็มีโครงการ ‘The Grocery Yard (บ้านญาติร้านชำ)’ ซึ่งใช้รถพุ่มพวงสีส้มคันเล็กๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในยามวิกฤตโควิดช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นุชก็ชักชวนชุมชนให้ลุกขึ้นมาปลูกสมุนไพรและวัตถุดิบต่างๆ เพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป เพราะฉะนั้น พี่หนุ่ยมั่นใจว่าเด็กๆ ที่ผ่านโครงการพอแล้วดี เมื่อเขาออกไปเป็นนักธุรกิจ เขาไม่ออกไปแล้วดีคนเดียว แต่เขาจะมีความคิดในการโอบอุ้มผู้คนติดตัวออกไปด้วย”

‘ภูมิคุ้มกัน’ กลไกที่ช่วยปกป้องท่ามกลางวิกฤต 

“แก่นสำคัญในการทำธุรกิจที่บางทีเราลืมไปเลยก็คือการสร้างภูมิคุ้มกัน ทุกคนอยู่ด้วยคำว่า maximize ไปให้เร็วที่สุด ทำให้มากที่สุด จนลืมประมาณตน ลืมความพอประมาณ ซึ่งวิกฤตโควิดยิ่งเข้ามาตอกย้ำเลยว่าภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่สำคัญขนาดไหน ฉะนั้น ในฟากธุรกิจเอง คุณจะก้าวไปข้างหน้าได้ คุณต้องมีภูมิคุ้มกัน สำหรับพี่หนุ่ย เราสามารถทำได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือส่วนของการออม โดยแบ่งสัดส่วนว่าการออมส่วนนี้ที่เราจะเก็บเอาเป็นต้นทุนในการต่อทุนจะต้องเป็นส่วนที่คุณจะไม่เอาไปใช้จนหมด และการออม เราต้องอาศัย mindset ของคำว่าพอประมาณที่แปลว่าพอดีหรือสมดุล เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีสติ รู้จุดสมดุลว่าอะไรที่ควรจะมีการแบ่งสันปันส่วนขนาดไหน นั่นเป็นหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างแรก

อีกภูมิคุ้มกันสำคัญเลยคือการลุกขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับในสังคม เวลาที่เราเป็นแบรนด์ที่ใครๆ ก็รัก ทุกคนจะพร้อมเข้ามาช่วย แบรนด์ใดที่เข้ามาช่วยในยามที่สังคมมีปัญหา แบรนด์ที่รู้จักคำว่าพอ สมดุล และแบ่งปัน จะเป็นแบรนด์ที่สังคมบอกว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่ เดี๋ยวฉันจะลุกขึ้นมาตอบแทนคุณแบรนด์นี้ และจะเป็นแบรนด์ที่มีแรงขับเคลื่อนให้ก้าวไปผ่านวิกฤตไปได้ดีกว่าแบรนด์ที่ไม่เคยโอบอุ้มใครไปด้วยกัน ซึ่งแบรนด์ใดก็ตามที่ลุกขึ้นมาเอาเปรียบสังคมในยามวิกฤต ทุกคนก็จะจดจำพวกเขาเช่นเดียวกัน”

ความสำเร็จของธุรกิจจากอดีตถึงปัจจุบัน

“ความสำเร็จทางธุรกิจทุกวันนี้ต่างจากวันวานมากทีเดียว เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงความสำเร็จ ไม่ว่าเป็นตัวชี้วัดของธุรกิจหรือว่าอะไรก็ตาม มันดูที่ความสำเร็จของตัวเองเป็นหลัก แต่ความสำเร็จวันนี้ เราต้องดูไปที่ความมั่งคั่งของสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของเราหรือธุรกิจเราอย่างเดียว เพราะฉะนั้น วันนี้ ความหมายของคำว่า wealth หรือความมั่งคั่ง มันจึงรวม business wealth และ social wealth ด้วย เวลาที่คุณจะทำอะไรก็ตาม คุณไม่ใช่แค่สร้าง financial capital คุณจะต้องมีคำว่า social capital ด้วย และสองสิ่งนี้ควรจะไปด้วยกัน”

ปรัชญาที่ใช้ได้แม้กระทั่งกับการจัดการความรู้สึกของมนุษย์

พี่หนุ่ยเคยคุยกับลูกนะว่า คุณแม่คิดว่าเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้แม้กระทั่งว่าถ้าหนูจะเลือกผู้ชายสักคนที่จะแต่งงานด้วย ซึ่งเราคงไม่ได้เลือกเขาเพราะว่าเขารวยอย่างเดียวหรือว่าเขาหล่อมาก แต่เราก็ต้องกลับมาดูด้วยว่าเรา ‘รู้จักตัวเอง’ ขนาดไหน คิดว่าไกลๆ แล้ว เรามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร แล้ว ‘ความมีเหตุมีผล’ ล่ะลูก สมมติว่าหนูจะอยู่กับผู้ชายคนนี้ หนูต้องคิดว่า ถ้าเกิดเขาเป็นฝรั่งหนูจะอยู่บ้านไหน หนูจะอยู่ประเทศไหน เวลาเรารักเราจะไม่ได้นึกหรอกว่า หากเราทำสิ่งนี้ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร แต่เงื่อนไขของการมีเหตุมีผลจะทำให้เราคิดไกลมากขึ้นว่าแต่งงานกับฝรั่งแล้วลูกจะอยู่ที่ไหน ถ้าหนูพาเขามา เขาจะมาไหม แล้วถ้ามา จะอยู่ด้วยกันอย่างไร เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันมีเหตุและมีผลทั้งสิ้น ‘ภูมิคุ้มกัน’ ล่ะเป็นอย่างไร หนูเคยอยู่กับเขาจนกระทั่งรู้ไหมว่าถ้าเกิดวันหนึ่งมีปัญหาอะไรขึ้นมาแล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าทะเลาะกันแล้วเราต้องเลิกกัน เรารับได้ไหม

สำหรับพี่หนุ่ย หลักการ 3 ห่วง สามารถมาใช้เป็นกรอบของการตัดสินใจในทุกๆ เรื่องของชีวิต แม้กระทั่งเรื่องความรัก และปรัชญานี้จะทำให้เราได้เจอกับคำว่าทางสายกลาง ซึ่งบางทีเราถามตัวเองว่าจะทำอย่างไรดี แบบไหนถึงจะดี หลักนี้ก็ทำให้การตัดสินใจมีจุดที่เราคิดได้ครบแล้ว ซึ่งจริงๆ เราเองก็อาจไม่รู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดไหม แต่อย่างน้อยก็ได้คิดครบด้านแล้ว”

การเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด

“การได้ทำโครงการนี้ สิ่งที่ได้นอกจากการสร้างคนที่ไปสานต่อศาสตร์พระราชาแล้ว พี่หนุ่ยยังมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างมหาศาลจากน้องๆ ทุกคนที่เข้ามาในโครงการ เพราะในขณะที่เราสอนน้อง น้องๆ เองก็นำเคสและปัญหาที่พวกเขาเจอมาสอนพวกเราด้วย เพราะฉะนั้น มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มหัศจรรย์มากจริงๆ ที่สำคัญคือเวลาที่ได้อยู่ในสังคมซึ่งมีแต่คนดีๆ มาอยู่ร่วมกัน มันมีพลังมากเลยนะ พลังที่ขับดันให้เราอยากจะไปสร้างคนให้มากขึ้น แล้วเทรนเนอร์ทุกคนที่มาช่วยพี่หนุ่ย พวกเขามาช่วยฟรีหมด มาด้วยใจ เพราะทุกคนชื่นชมในปรัชญาที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้ และได้เห็นว่าพระองค์ทรงงานด้วยความทุ่มเทและทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ของประเทศจริงๆ”

อนาคตอยู่ในมือพวกคุณแล้ว

อนาคตของพอแล้วดีขึ้นอยู่กับกลุ่มนักธุรกิจที่เราได้สร้างขึ้นมามากกว่าว่าพวกเขาจะไปขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมต่อหรือไม่ ถ้าขับเคลื่อนต่อ พวกเขาทำอย่างไร เหมือนกับเราถามว่าอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร บางทีมันไม่ได้อยู่ที่รุ่นเราแล้ว เราอาจจะเป็นคนคิด แต่ว่าคนสานต่อคือคนรุ่นถัดไปที่จะต้องไปช่วยกันต่อไป”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล / Sudaporn Jiranukornsakul
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ / Zuphachai Laokunrak

อ้างอิง: www.facebook.com/PorLaewDeeTheCreatorwww.porlaewdeethecreator.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles