คุยกับสุวิตา จรัญวงศ์ Tellscore เชื่อมโยงอินฟลูเอนเซอร์กับแบรนด์ส่งต่อพลังดีๆ สู่สังคม

Tellscore คือสตาร์ทอัพในข่าย  tech-driven (technology-driven) ที่มีซอฟท์แวร์เป็นแกนกลางในการทำธุรกิจ โดยชื่อ Tellscore นั้นมีที่มาจากการที่พวกเขาให้ score ในทุกๆ การ tell ที่ถูกส่งผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยตั้งใจให้การสื่อสารที่เกิดขึ้นสามารถทำงานเสมือนเสียงที่ถูกเปล่งออกจากตัวปลาวาฬ อันเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรที่ไม่เพียงแต่จะไกลและดังที่สุดเท่านั้น แต่คือความหวังอย่างแรงกล้าว่าทุกๆ เสียงที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนที่เพื่อนำทางผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ทางนั้นๆ จะต้องเป็นประโยชน์  

นอกจากการมาเล่าสู่กันฟังถึงที่มาของแพลตฟอร์มซึ่งเชื่อมระหว่างไมโครอินฟลูเอนเซอร์กับแบรนด์ให้มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมกำลังให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อและกระตุ้นความต้องการซื้อผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ก็ช่วยให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์รายเล็กๆ มีรายได้จากการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอคอนเทนต์ของแบรนด์ผ่านช่องทางโซเชียลของตัวเองแล้ว ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง สุวิตา จรัญวงศ์ ยังแบ่งปันประสบการณ์ของเธอ ทีมงาน และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในการนำทักษะและอิทธิพลของพวกเขามาส่งออกพลังงานดีๆ สู่สังคมด้วยเช่นกัน  

จากเครื่องมือตรวจวัดผู้มีอิทธิพล สู่แพลทฟอร์มที่รวมพวกเขาไว้ด้วยกัน 

“เริ่มต้น เราตั้งใจจะทำเครื่องมือเพื่อให้น้องๆ สามารถสำรวจอินฟลูเอนเซอร์เพื่อนำเสนอน้องๆ ที่สามารถเข้ากับเป้าหมายทาง KPI ซึ่งลูกค้าตั้งเอาไว้ เช่น เราจะรู้ได้อย่างไรนะว่าอินฟลูเอนเซอร์ในสายที่สร้าง engagement สูงๆ หรือสายที่สร้างวิวสูงๆ มีใครบ้าง เมื่อมีการใช้งานจริง ตัวซอฟท์แวร์ประสบความสำเรจมาก เราจึงเห็นโอกาสตรงนี้และแตกออกมาเป็น Tellscore โดยทีมงานก็ยังเป็นทีมงานที่ตั้งต้น โดยเราเป็น martech หรือว่า marketing technology ที่ตั้งมาได้ 4 ปี แล้ว ที่นี่เริ่มต้นในปี 2016 และใช้เวลาในช่วง 2 ปีแรก เป็นระยะของการสร้างแพลทฟอร์มแบบ Influencer Marketing Automation Platform จนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2018″

แพลทฟอร์มที่สร้างพื้นที่กลางให้พบปะและเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น

บทบาทของ Tellscore คือการเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างแบรนด์และไมโครอินฟลูเอนเซอร์เข้าด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยี Predictive Micro-targeting ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดงบประมาณเองได้ กำหนดจำนวนไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่จะร่วมงานได้ โดยคัดเลือกจากความถนัด จุดเด่น จำนวนผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์แต่ละราย โดยตัวแพลทฟอร์มยังสามารถคาดคะเนจำนวนคนเห็นโพสต์ และจำนวนปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงกับโพสต์ของไมโครอินฟลูเอนเซอร์ดังกล่าว มีระบบการให้คะแนนของเทลสกอร์ที่ใช้อัลกอริทึมพิเศษ ซึ่งสามารถวัดผลได้แม่นยำหลังจบงาน นำเสนอเป็นรายงานพร้อมใช้

“สำหรับแพลตฟอร์ม จุดเด่นหลักคือการเข้าไปช่วยลด man-hour สำหรับใครก็ได้ที่ต้องการบริหารแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเราจะย่นย่อข้อมูลไว้หมดแล้วว่าถ้าจะบริหารอินฟลูเอนเซอร์จะต้องติดต่อ ต่อรองราคา คุยสโคปงาน แล้วก็วางแผนตารางทำงานว่าขึ้นเมื่อไหร่ ลงเมื่อไหร่ บูสท์และไม่บูสท์เมื่อไหร่ จนกระทั่งการค้างโพสต์ไว้กี่วัน ทุกอย่างจะมีการกำหนดล่วงหน้าได้โดยซอฟต์แวร์ของเราได้เลย เพราะฉะนั้น เราก็จะสามารถติดต่อน้องๆ ที่อยู่ใน Tellscore ผ่านระบบได้เลย 

ข้อดีอย่างแรกจากแพลทฟอร์มตัวนี้ จะทำให้เราสามารถประเมินล่วงหน้าได้ว่าน้องอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนจะมีผลงานในแนวทางไหน เช่น น้อง A 2,000 engagement น้อง B 1,800 engagement เมื่อเรารู้ล่วงหน้าก่อน เราก็สามารถบอกลูกค้าหรือเอเจนซี่ล่วงหน้าเลยว่านี่คือสิ่งที่จะได้และจะทำให้เราควบคุมได้ด้วย”

ประชาชนคือหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ทรงอำนาจที่สุด

“ถ้ามองตอนนี้ ตลาดของอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว ทุกคนที่ทำงานทางด้านการสื่อสารจะรับงานอินฟลูเอนเซอร์เป็นพื้นฐานเลย ไม่ว่าจะเป็นเอเจนซี่ใหญ่-เล็ก หรือผู้จัดการศิลปินที่จะแพ็คเกจศิลปินเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แล้วก็ทำคอนเทนต์ให้แบรนด์ได้หมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ Tellscore โฟกัสหลักๆ จะอยู่ที่ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือคนที่มีผู้ติดตามต่ำกว่าแสนหนึ่งลงมา โดยเรามีคอนเซ็ปต์ที่ว่าจริงๆ แล้วประชาชนทุกคนนี่แหละที่มีกำลังในการบอกต่อ แล้วการทำอะไรที่ออร์แกนิกมันจะมีเนื้อแท้ที่แข็งแรง เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ตอนที่เรายังไม่มีแพลตฟอร์ม เราจ้างเขาได้ไม่กี่คนในแต่ละแคมเปญ แต่ตอนนี้มันทำให้สามารถสเกลงานได้ เช่น สมมติต้องการภูเก็ตวันนี้ 1,000 คน เราทำได้เลยในไม่กี่นาที รู้คุณภาพ คาดการณ์ผลลัพธ์ได้จริง 

เหตุผลที่เราเลือกทำงานกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เพราะเราเห็นแล้วว่าสปอตไลท์ส่องไปที่ดาราและกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงมากแล้ว ซึ่งคุณค่าที่พวกเขาจะสร้างให้สังคมมันชัดแล้ว บางทีลูกค้าถามว่าเด็กธรรมดาๆ จะมีไลฟ์สไตล์อะไรมาโชว์ให้คนอื่นและชี้นำให้ซื้อสินค้าตามได้ เอาเข้าจริง พวกเขามีและมีมากกว่าที่เราๆ คิดเสียอีก เพราะจริงๆ แล้ว กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้มีจุดเด่นที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้โดยตรงแบบ Peer-to-Peer Engagement ซึ่งสิ่งที่เราเห็นจากมุมเทคโนโลยีก็คือ ถ้าประชาชนคนธรรมดา 1,000 คน ทำอะไรสักอย่างบนอินเตอร์เน็ตพร้อมกัน อินเตอร์เน็ตประเทศไทยเด้งเลยนะ ซึ่งถ้ามีซอฟต์แวร์จัดการเขาเสียหน่อยให้ทำพร้อมๆ กันในแมสเสจคล้ายๆ กันได้ มันสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องที่เราอยากสื่อสารได้เลย  

ทีนี้นอกจากเรื่องประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์ในการตอบสนอง KPI ของลูกค้าแล้ว ในทางคู่ขนาน ถ้าเราค่อยๆ กระตุกพวกเขาไปในทิศทางบวก มันจะค่อยๆ นำทางเขาว่าทำไมเราจึงไม่เลือกรีวิวสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ลองคิดเล่นๆ ดูว่า ใน 1 ปี หากเราส่งงานแบบนี้ออกไป 5 หมื่นชิ้น ด้วยคน 5 หมื่นคน มันจะเกิดผลได้แค่ไหน”

งานภาคสังคมที่เริ่มต้นตั้งแต่เดย์วัน

“จริงๆ  Tellscore เข้ามามีส่วนร่วมกับงานในภาคส่วนสังคมตั้งแต่วันแรกที่เราตัดสินใจทำแพลทฟอร์มนี้เลย ซึ่งปกติ เวลาเราทำธุรกิจแล้วอยากจะทำประเด็นสังคมด้วย เรามักจะไม่มีงบไปสนับสนุนหรอก เพราะเรายังต้องไปอุ้มธุรกิจ อาจจะกินเวลาถึง 10 ปีกว่าจะเข้าที่เข้าทาง แต่เราไม่อยากรอจนถึงตอนนั้น อยากทำได้เลย จึงท้าทายตัวเองด้วยโมเดลธุรกิจแบบนี้ 

เราเริ่มจากการลองชักชวนอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งว่าพวกเขาสนใจมาทำดีไปกับเราได้ไหม ปรากฏว่ามีอินฟลูเอนเซอร์ยกมือกับเราเยอะเหมือนกัน แล้วก็อินฟลูเอนเซอร์เองก็มาช่วยดูตัวงานด้วยว่างานเหล่านี้มาจากหน่วยงานที่ไม่ได้เอาเงินไปทิ้งขว้างจริงๆ เป็นหน่วยงานที่มีอยู่จริงๆ เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีที่มาที่ไปไหม พวกเขาก็ค่อยๆ ร่วมทำกับเรามาเรื่อยๆ จนปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว”

Tellscore Academy โปรแกรมที่สอนทักษะการทำงาน พร้อมทักษะการสร้างคุณภาพสังคมที่ดีด้วย

“ที่นี่มี Academy อีกโปรแกรมหนึ่งที่เปิดมาพร้อมกับบริษัทเปิด โดยทุกๆ 2 เดือน เราจะเปิดอบรบให้กับอินฟลูเอนเซอร์ที่ลงทะเบียนในระบบ เราได้แรงบันดาลใจในการทำตัวอคาเดมี่จากบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์รุ่นพี่ที่จะมาเล่าให้น้องๆ ฟังว่า การสร้าง personal branding นั้นทำอย่างไร ทำคอนเทนต์อย่างไร ความถี่ในการทำคอนเทนต์ จริยธรรมในการทำงาน ซึ่งตั้งแต่ปีที่ 2 เราจะมีการใส่เรื่องของ brand safety เข้าไป เป็นเรื่องของ PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เขาจะต้องตระหนักรู้ว่าเขาต้องปกป้องนะ เพราะว่าการทำงานบนโซเชียลมีเดียเป็นสนามจริงแล้ว ซึ่งตรงนั้นก็จะมีมิจฉาชีพอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลข้อมูลตัวเองด้วย 

ในเวลาเดียวกัน เราก็มีการเรื่องการสอดแทรกเรื่องการดูแลสังคมว่าเป็น good to do ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ แต่ว่าถ้าทำได้ แล้วถ้ามีจริตในใจที่จะทำอยู่แล้ว อันนี้ดีมาก เช่น เราให้เขาเรียนรู้เรื่องข่าวปลอม โดยจะส่งตัวอย่างให้เขาไป แล้วดูว่าเขาจะ detect ได้ไหม ตอบสนองอย่างไร หรือว่าเจอความขัดแย้งในสังคม คนหนึ่งเห็นอย่างนี้ คนหนึ่งเห็นอีกแบบ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่เห็นต่าง เราต้องด่าเขาเลยไหม หรือเราเงียบ ซึ่งจริงๆ ทั้งสองอย่างก็ไม่ดี เราตอบได้ แต่ว่าเราตอบอย่างไรที่เราจะประนีประนอม เพราะถ้าเรายิ่งใส่ไฟเข้าไป ก็จะยิ่งร้าวเข้าไปเยอะ อย่างนี้เป็นต้น”

ใช้อิทธิพลกระจายความช่วยเหลือในวันที่สังคมต้องการ

“เราเองก็ทราบถึงศักยภาพของน้องๆ อินฟลูเอนเซอร์อยู่แล้ว แต่สถานการณ์ COVID-19 ยิ่งตอกย้ำให้เราได้เห็นมากขึ้นไปอีก เพราะน้องๆ มีส่วนสำคัญในการช่วยดักจับข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเกิดการสับสน ที่ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ ทั้งข้อมูลผิดๆ ในทางการแพทย์ การใช้คำพูดต่างๆ ที่ทำให้คนหมดกำลังใจ แทนที่ประชาชนจะได้ข้อมูลถูกต้อง วันนั้นกระทรวงดิจิทัลมาขอแรงว่าจะมีวิธีไหนไหมที่จะช่วยให้ความตื่นตระหนกนี้ลดลง ทันเหตุการณ์ และช่วยไปเสริมสร้างกำลังใจมากกว่าไปบั่นทอนและเกิดอาการวิตกไปทั่ว จากการขอแรงวันนั้น เราส่งต่อไปยังน้องๆ ซึ่งมีอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยเรามากมาย ทั้งน้องซี ฉัตรปวีณ์ (ตรีชัชวาลวงศ์), เพจหมอแล็บแพนด้า, กระทู้เด็ดพันทิป และอีกมากมาย โดยกระบวนการตอนนั้นจะต้องไปอย่างเร็วและทุกอย่างต้องแม่นยำ วันจันทร์เรารับข่าว วันอังคารส่งไปตรวจสอบกับกระทรวงและองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วันพุธส่งข้อมูลเหล่านี้ให้อินฟลูเอนเซอร์ส่งต่อ ขณะเดียวกัน เราเองก็ส่งข้อมูลข่าวปลอมเข้าสู่แอพพลิเคชั่นของกระทรวงดิจิตอลด้วย แล้วเขาก็จะช่วยสแตมป์ให้ว่าข่าวจริงๆ คืออะไร โดยงานนี้เราอาสาทำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะเรารู้สึกว่าเรามาพร้อมอินฟลูเอนเซอร์ที่ทุกคนพร้อมจะทำอยู่แล้ว และเราก็ยินดีมากๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในวิกฤตที่คนทั้งประเทศเผชิญอยู่ ตอนนั้นมี 2,200 อินฟลูเอนเซอร์ ทั้งเป็นบุคคลและเพจ ทำคอนเทนต์ไป 5,000 ชิ้นในหลายมิติ เพื่อที่จะตอบสนองคนหลากหลายกลุ่มที่มีในบ้านเรา ทั้งคนเมือง ประชาชนในเขตจังหวัดห่างไกล กลุ่มนักบวช ไปจนถึงกลุ่มชายขอบที่เข้าไม่ถึงข้อมูล ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งตรงนั้น

อีกหนึ่งโครงการที่เราภูมิใจแทนทีม Tellscore คือการเข้าไปสนับสนุนการท่องเที่ยว อย่างที่รู้กันว่า ในวิกฤตนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวกระทบหนักมาก เราได้ลงไปกระบี่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำประชาสัมพันธ์ ซึ่งเราไม่ได้ทำอะไรที่เปลี่ยนโลก แต่ไปในฐานะหนึ่งไม้หนึ่งมือในการพาอินฟลูเอนเซอร์ที่แต่ละคนก็จะมีผู้ติดตามจำนวนมาก เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเมืองรอง ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ทุกคนก็เต็มที่มาก ทั้งระหว่างการทำงานที่ก็ต้องเจอเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ ปัญหาหน้างาน การช่วยกันคิดและออกแบบกันว่าจะทำอย่างไรให้มันดูดี ให้ภาพมันเจ๋ง ขณะเดียวกัน ทางพี่น้องชาวกระบี่เองก็ต้อนรับเราอย่างดีในทุกด้าน อย่างหมู่บ้านถ้ำเสือที่จะมีการบูรณาการเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเมื่อเราได้ลงพื้นที่จริง เราได้เห็นภาพจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงตรงนั้น แล้วก็นำเสนอภาพนี้ต่อคนไทยว่าที่นี่มีเรื่องราวดีๆ ที่น่ามาค้นพาแบบนี้ด้วยนะเพื่อดึงสิ่งที่ unseen ของประเทศไทยให้คนไทยได้เห็น”

เพราะได้สร้างประโยชน์และคุณค่า แถมยังนำพาความภูมิใจสู่ตนเอง 

“เราไม่เคยคิดว่าได้อะไร แต่เรารู้สึกว่ามีประโยชน์ เราอาจจะไม่ได้คิดอย่างนี้ตอนเราอายุ 20 แต่เผอิญว่านี่เป็นบริษัทที่ 3 แล้ว เราคิดไม่ออกตอนสองบริษัทแรกว่าจะเอาเงินมาจากไหน แต่ว่าพอเราคิดโมเดลธุรกิจออกว่าทำดีด้วย ทำงานได้บริษัทเองก็รอด น้องๆ มีเงินเดือน แล้วยังเป็นประโยชน์ แสดงว่ามันยึดโยงกับสังคม แสดงว่าสังคมต้องการให้เราอยู่ต่อไป ซึ่งมันมีความหมายมาก เพราะว่าถ้าทำงานสายพาณิชย์อย่างเดียว เราจะต้องคิดเรื่องปากท้อง แต่การทำงานที่นี่ได้พิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วคุณมีคุณค่าและคุณสร้างอะไรที่มีความหมายกับคน และทำให้ธุรกิจอยู่รอดมันเป็นไปได้ 

ในแง่ของพนักงาน เสียงสะท้อนจากพวกเขาคือพวกเขามองว่ามันเป็นมากกว่าแค่เงินทอง เพราะเขาได้เดินไปอีกก้าวหนึ่งในแง่ที่ว่าได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นในภาวะวิกฤต นอกเหนือไปจากหน้าที่นักสื่อสารของคนในองค์กรและบรรดาอินฟลูเอนเซอร์แล้ว สิ่งที่พวกเขาบอกเราว่าได้รับคือความภาคภูมิใจ ทุกงานที่ทำไป พวกเขารู้สึกว่ามันมีคุณค่า ขณะที่ก็ได้เพิ่มพูนทักษะให้มากขึ้นด้วย

ในมุมของเรา การทำงานกับน้องๆ ใน Tellscore เรารู้สึกซึ้งน้ำใจพวกเขา เพราะงานบางงานก็เกินหน้าที่เขาแน่นอน หรือภาพของอินฟลูเอนเซอร์จากเดิม ซึ่งถ้าพูดตรงๆ เรามองเขาเป็นสินค้า แต่ในท้ายที่สุด ในสถานการณ์ที่เราต้องการความช่วยเหลือ เราได้เห็นอินฟลูเอนเซอร์ในฐานะของมนุษย์ที่มีน้ำใจ เราได้เห็นความเห็นอกเห็นใจ มันเกิดมิตรภาพ เกิดความหมายของการเดินทาง ความหมายแห่งการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวน้องๆ หลายคนที่เขาเริ่มตระหนักมากขึ้นในว่าสิ่งที่เขามีในมือมันสามารถส่งผลได้ทั้งแง่บวกและลบต่อสังคม จากที่มีคำถามว่าทำไมเรามีงานสังคมให้เขาทำจังเลย พี่ปูส่งงานฟรีมาอีกแล้ว สตางค์ก็ไม่ได้ เราได้เห็นว่าน้องๆ เริ่มเปลี่ยนทิศ เปลี่ยน mindset เริ่มถามว่าตอนนี้ไม่มีงานบุญให้ทำแล้วเหรอ”

แรงขับดันคือเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

“สิ่งที่ทำให้ผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ คือการรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เราทำไปเพื่ออะไร การได้ทำงานในภาคสังคมมันกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในนั้นที่ทำให้หายเหนื่อย ความเครียดบรรเทาลง ทำให้เราอึดขึ้น ทนขึ้น แก้ปัญหาได้มากขึ้น แล้วก็สามารถจัดการกับปัญหาตรงหน้าได้ เครียดแต่นอนหลับเพราะสบายใจว่าอีก 7 วัน อีก 14 วัน โปรเจ็กต์จะเสร็จ จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วนะ เหมือนตอนเด็กๆ ที่เราตั้งไว้ว่าเดี๋ยวก็ได้ไปเที่ยวแล้ว แต่วันนี้เป้าหมายของเรามันมีความหมายขึ้นว่านอกจากได้ไปเที่ยวแล้ว การทำงานของเราจะทำให้ชาวบ้านอีก 40,000 คน มีตู้ความดันลบที่สามารถใช้ตรวจ COVID-19 และยังสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆ ที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้นได้อีก เพราะว่าโรงพยาบาลชุมชนเขาไม่มีแม้แต่ผนัง เป็นศาลาวัด ซึ่งหากสิ่งที่เราทำจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาก็จะดีขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรารู้สึกว่าต้องทำ รวมไปถึงการทำงานกับน้องๆ อินฟลูเอนเซอร์เอง ที่เขามาบอกเราว่าเขารอดมาได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเพราะเรา นั่นก็ทำให้เรารู้สึกขอบคุณมากที่เขารู้สึกว่าสำนักงานเล็กๆ แห่งนี้มีความหมายกับเขา”

‘สำเร็จ’ คือการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ   

“ความสำเร็จสำหรับเราคือความยั่งยืน แบบที่พรุ่งนี้จะต้องไม่หายไป ยังเป็นที่ต้องการ ยังยึดโยงไปกับสังคมได้ จะต้องทำซ้ำได้ จะต้องไม่ฟลุ๊ค ขณะที่ก็ต้องบรรลุเป้าหมายในแง่เศรษฐกิจได้ด้วย ไม่ใช่ว่าทำดีอย่างเดียวแล้วไส้แห้ง เราเชื่อในการที่บอกไปเลยว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย เพราะทุกคนมีค่าใช้จ่ายในชีวิต แต่เมื่อจบงานก็จะเข้าโครงการที่ทำดีทั้งหมด”

เหนื่อย ท้อ ร้องไห้ สัญญาณเบื้องต้นที่ทำให้รู้ว่าเราได้ลงมือทำแล้ว

“การอยากตื่นมาทำงานนั่นแสดงว่าเรามีความสุขนะ แต่ก็ไม่ใช่ว่า 7 วัน เราอยากตื่นทุกวันหรอก (หัวเราะ) ยอมรับ มนุษย์ก็คือมนุษย์ มันต้องมีเหนื่อย ขี้เกียจ ท้อ และร้องไห้ ซึ่งสิ่งที่พูดมาเป็นตัวชี้ใหญ่เลยว่าเราได้ทำอย่างจริงจังแล้ว มันถึงได้เหนื่อย ท้อ และร้องไห้”

การเปลี่ยนแปลงเพื่อส่วนรวม มักจะยาก แต่ดีเสมอ

“ในแง่สังคม เราไม่อยากให้แตกแยกกันขนาดนี้ พอได้มาทำงานตรงนี้เราได้เจอกับข่าวปลอมจำนวนมากที่เกิดขึ้นด้วยเป้าหมายในการปลุกปั่น ซึ่งเอาจริงๆ ในภาคสังคม เลยไปจนถึงระดับประเทศยังมีอะไรที่ใหญ่กว่านี้อีกมากที่เราต้องช่วยกัน เราไม่อยากให้ใครมายุให้เราแตกแยก ซึ่งแน่นอนงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยอะไรหลายอย่าง เช่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเปิดใจ และการคิดอย่างลึกซึ้ง 

ส่วนสิ่งแวดล้อม เรื่องหนึ่งเลยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงก็คือการแยกขยะและการลดการใช้พลาสติก ซึ่งบริษัทเองยังแจกขวดน้ำพลาสติกอยู่เลย เราก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โรคระบาด เราก็จะต้องชั่งน้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่าระหว่างความสะอาดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเลือกยากเสมอเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะมันจะต้องไม่สะดวก มันต้องไม่สบาย สิ่งแวดล้อมถึงจะดี เพราะฉะนั้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สิ่งที่อยากจะเห็นคืออยากให้สังคมติดสบายน้อยลง รวมทั้งตัวเราเองด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสาธารณะเพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์ ฝุ่น ควันก็จะลดลง เวลาโลกจะเขียวมันจะเฉิ่มมาก จะไม่เท่ แต่เราสามารถสร้างค่านิยมแบบนี้ให้เท่ได้ เราอยากจะเป็นสื่อที่ช่วยสร้างค่านิยมของความไม่สบายนี้ให้เป็นเป้าหมายใหม่ ซึ่งถ้าสัมฤทธ์ผล เดี๋ยวคนจะอยากพะรุงพะรังเอง” 

จากนี้ต้องขยันและมุ่งมั่นเพื่อสร้างแขนที่ใหญ่และยาวขึ้น

“ภาคเศรษฐกิจก็ต้องเซ็งลี้ฮ่อ (ยิ้ม) เพราะยังต้องสู้เพราะ COVID-19 ด้วย เห็นแล้วก็คิ้วขมวดนิดหนึ่งว่านึกว่าจะรอดแล้ว เราก็ต้องเริ่มระวังใหม่ เริ่มรัดเข็มขัดใหม่ ซึ่ง Tellscore อยู่ในธุรกิจสื่อสาร ก็ยังโชคดีที่มีหนทางให้พอรอดได้ ก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าเองเขาก็ต้องรัดเข็มขัด แต่ว่าเขายังใช้เราอยู่เพราะว่าเขายังเห็นว่ามันยังทำให้เขาและธุรกิจอื่นอยู่รอดได้ด้วย รวมทั้งคนก็จะไม่ลืมแบรนด์เขา ยังขายของได้ เพราะฉะนั้นเป้าหมายในปีนี้ เรายังต้องขยันต่อไป ยังต้องทำให้ขายดี สร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ 

ในฝั่งสังคม ต้องตั้งรับให้ดีเลย เพราะมันจะมากขึ้น แล้วยิ่งเราเริ่ม establish ไปแล้ว หน่วยงานต่างๆ เริ่มรู้ว่าทางนี้มีประตูเปิดอยู่ เราก็ต้องท้าทายตัวเองในการจัดการให้ดีขึ้น แล้วก็สร้าง helping arm ให้ใหญ่ขึ้น ให้ยาวขึ้นเพื่อที่จะเป็นอีกมือที่เราจะไปช่วยพวกเขาให้มากขึ้นได้”

ภาพ: Saran Sangnampetch
Website: www.tellscore.com
Facebook: www.facebook.com/Tellscore

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles