อลิสา นภาทิวาอำนวย กับแพลตฟอร์ม Socialgiver ที่ชวนคนทำดีด้วย “การให้” อย่างโปร่งใสและยั่งยืน

Reading Time: 4 minutes
1,273 Views

ถ้าจะเล่าแบบย่อๆ ถึง Socialgiver ที่นี่คือแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจและคนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความดีอย่างยั่งยืนผ่านการซื้อสินค้าและบริการเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังภาคสังคม โดยมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความตื่นตัวต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำดีแบบใหม่ที่ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น ขณะที่เราเองก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้เหมือนเดิมหรืออาจจะมากกว่าเดิม

ในเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มแห่งนี้อย่าง อลิสา นภาทิวาอำนวย ไม่เพียงแต่จะทำให้เรารู้ถึงที่มาที่ไปของการสร้างนิเวศแห่ง ‘การให้’ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร การทำงานภาคสังคมที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง หรือการที่ภาคธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญแค่กำไรในเชิงตัวเลข แต่คือการคืนกำไรสู่สังคมด้วยนั้นดีอย่างไร รวมทั้งสิ่งที่เธอและทีมงานได้จากการทำงานตรงนี้เท่านั้น แต่ทุกๆ คำพูด และพลังงานดีๆ ที่ส่งผ่านการบอกเล่าของเธอยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยนที่มีต่อคน ต่อสังคม ต่อโลก ตลอดจนความมุ่งมั่นและตั้งใจที่มากเหลือเกิน จนทำให้เราเองก็รู้สึกมีหวังกับการอยู่ในโลกที่บิดเบี้ยวใบนี้ว่ามันจะดีขึ้นได้ก็เพราะพวกเรานี่แหละที่จะช่วยกันและกัน

ก้าวแรกของการสร้างระบบนิเวศแห่งการให้

“ถ้าย้อนกลับไปว่า Socialgiver มีจุดเริ่มต้นอย่างไร จุดแรกคงจะเป็นการที่พี่ได้ไปทำงานอาสาที่สถานสงเคราะห์เด็กแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนที่ไป เขาบอกเลยนะว่าอาสาสมัครที่มาจะต้องเซ็นสัญญาว่าจะมาทุกเสาร์-อาทิตย์ อย่างน้อย 6 เดือน ไม่ใช่มาเพื่อถ่ายรูป 5 นาทีแล้วก็จบ เพราะว่าสิ่งที่อาสาทำจะมีผลกระทบต่อเด็ก จากตรงนั้น พี่มองว่านี่คือการสร้างมาตรฐานของการทำงานภาคสังคมว่าจะต้องมีมาตรฐาน มีศีลธรรมจรรยาในการบริหารงานของเขา

อีกส่วนหนึ่ง พี่ได้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ เอาจริงๆ ในเวลานี้ คนในสังคมก็ตื่นตัวนะ แต่จะทำอย่างไรให้ความตื่นตัวเหล่านี้นำไปสู่การลงมือทำได้ง่ายขึ้น พี่มองว่าคนทำงานภาคสังคม พวกเขาไม่ได้ทำงานในการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทำแค่เวลานี้แล้วจบ เพราะปัญหาหลายๆ ประเด็นเป็นการทำงานแบบต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการรันด้วยที่ต้องต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะทำอย่างไรให้ฝั่งของภาคธุรกิจได้ตื่นตัวด้วยว่ามีโครงการที่มีคุณภาพกำลังทำงานแบบนี้อยู่นะ ทำอย่างไรที่จะภาคธุรกิจจะช่วยให้คนในภาคสังคมสามารถทำงานได้แบบไม่ติดขัด และทำอย่างไรให้กิจกรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ทั้งการกิน ดื่ม เที่ยว กิจกรรม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ดำเนินการโดยภาคธุรกิจเป็นช่องทางในการอุทิศเพื่อที่จะสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมได้ในเวลาเดียวกัน นั่นเลยเป็นที่มาว่าเราอยากจะสร้างระบบนิเวศของการให้เพื่อให้คนทำดีได้อย่างโปร่งใสและทำได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใจดีที่เขามีใจในการทำดีให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กันได้ด้วย ไม่ใช่ทำในเชิงของภาพลักษณ์อย่างเดียวหรือทำครั้งเดียวแล้วจบ ส่วนสุดท้ายคือพี่อยากให้การทำงานอาสาของพี่มีความต่อเนื่องมากกว่าแค่เราไปทำในช่วงที่ว่างจากงาน ซึ่งถ้าเป็นพนักงงานออฟฟิศ ในปีๆ หนึ่ง พี่จะต้องแบ่งเวลาระหว่างงานประจำกับการทำงานอาสามากๆ แต่พี่อยากไปให้สุด”

แค่ช้อปก็ได้ช่วย

Socialgiver เป็นทั้งเน็ตเวิร์ก กลุ่มคน และชุมชนที่ถูกออกแบบมาให้การช้อปปิ้งและการช่วยเหลือคนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน คุณสามารถช้อปการบริการต่างๆ ขณะที่คุณก็จะได้ระดมทุนให้กับโครงการเพื่อสังคมด้วย โดย 100% ของกำไร เราจะนำไปบริจาคให้กับโครงการเพื่อสังคมทั่วประเทศไทยเพื่อให้พวกเขาสามารถเติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป แล้วเราก็เปิดช่องทางรับบริจาคอีกส่วนหนึ่ง โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าอยากบริจาคให้แบบ 100% ไหม ถ้าต้องการแบบนั้น เราจะโปรเสสให้แบบ 100% โดยที่ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ จากเราเลย

ธุรกิจผู้ใจดี

เราจะชวนแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี มีแฟนคลับที่ชอบโปรดักท์หรือเซอร์วิสของเขาอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีทั้งเจ้าของหรือผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่จะทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว กับแบรนด์ที่เขาอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้วนะ ซึ่งกลุ่มแบรนด์ประเภทหลัง เราจะไปเล่าให้เขาฟัง เพื่อให้เขาเห็นโอกาสในการซื้อขายกับลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ เราจะนำเสนอว่าทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงกลุ่มลูกค้านี้ได้มากขึ้น ลูกค้าสามารถซื้อของในราคาที่ดี แถมยังได้ช่วยเหลือภาคสังคมได้ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้กำลังขยายตัวทางภาคธุรกิจนะ ตอนนี้มีประมาณ 300 กว่าแบรนด์ที่เข้าร่วมกับ Socialgiver”

โครงการเพื่อสังคมต้องโปร่งใสและตั้งใจจริง

“สำหรับโครงการ ตอนนี้มีประมาณ 40 โครงการ โดยทาง Socialgiver จะเข้มงวดในส่วนนี้ เพราะว่าเขารับเงินทุนไปบริหาร ก็ต้องมีการชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจน มีการเซ็นสัญญากันเลยว่าใครเป็นคนรับบริหารเงินตรงส่วนนี้ต่อ ทางโครงการมีการใช้เงินในรูปแบบไหนอย่างละเอียด แล้วท้ายที่สุด Social Impact Unit ออกมาจะเป็นเท่าไหร่ โดยเราจะเข้าไปตรวจสอบส่วนนั้นด้วย ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่หนึ่งมาตรฐานทั้งแพลตฟอร์ม แต่เป็นหนึ่งมาตรฐานต่อแต่ละ KPI ของแต่ละโครงการด้วย เพราะแต่ละโครงการก็จะมีการวัดผลที่แตกต่างกัน

ถ้าลองยกตัวอย่างก็เช่น การทำถุงยังชีพ เขาจะต้องตีได้ว่าของที่อยู่ในนั้น บวกค่าขนส่ง ค่าจิปาถะต่างๆ แล้วทั้งหมดจะอยู่ที่กี่บาท ถุงยังชีพ 1 ถุงนั้นจะช่วยคนได้กี่คนต่อระยะกี่วัน หรือถ้าเป็นการระดมทุนสำหรับอาหารให้น้องๆ ในโรงเรียน การตีมูลค่าก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งว่าอาหารสำหรับเด็กจำนวนกี่มื้อ แค่มื้อกลางวันตอนที่เขามาที่โรงเรียน หรือทั้ง 3 มื้อ ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการที่เราไปช่วยดีไซน์ว่าอาหารของเด็กจะต้องเป็นอย่างไรเพื่อให้น้องๆ ทานแล้วได้โภชนาการเต็มที่จริงๆ ถ้าจังหวัดนี้มีวัตถุดิบแบบนี้ การที่คุณทำเมนูอาหารที่เต็มไปด้วยโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กกลุ่มอายุเท่านี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาเงินไปนะได้กี่มื้อนับมาแล้วจบ

Photo: Courtesy of Food4Good Project

เรามองว่าปัญหามันมีต้นตอที่ลึกกว่านั้น แล้วทำอย่างไรที่เราแก้ปัญหาจากต้นเหตุได้มากขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละโครงการก็จะต้องมีการอัพเดทในทุกก้อนเงินที่เราโอนไปให้เขา ในเว็บไซต์ของ Socialgiver จะมีระดับของเงินทุนด้วยว่าแต่ละระดับจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ คุณจะต้องมีการอัพเดทเรามาก่อนว่าความคืบหน้าของคุณเป็นอย่างไร คุณถึงข้ามไปสู่ระดับถัดไปได้ ไม่ใช่ให้เงินเขาก้อนใหญ่ๆ ก้อนหนึ่ง แล้วมาเช็ค KPI กันปลายปีว่าถึงเป้าที่ตั้งไว้ไหม เราต้องพยายามคิดไดนามิกของแต่ละโครงการค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร เพื่อทำให้โครงการนั้นโตอย่างมีคุณภาพจากเงินระดมทุนผ่านการช้อปและช่วย ขณะเดียวกัน ในแง่การทำงานเราก็ต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกันด้วย เช่น ถ้าโครงการสามารถซื้อของได้ในราคาที่ดีและมีคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปจี้เขาว่าฉันต้องเป็นคนซื้อเองนะ เป็นต้น”

Photo: Courtesy of Covid Relief Bangkok

Covid Relief Bangkok

Covid Relief Bangkok เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของมูลนิธิสติ และ Scholars of Sustenance เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งในด้านปัญหาสุขภาพและปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัว พี่รู้สึกประทับใจโครงการนี้ เพราะการทำงานของเขามีมาตรฐานมาก ทั้งความโปร่งใส่และความสามารถในการบริหารด้านการเงินภายในโครงการ คือถ้าขอบริจาคได้ เขาจะขอก่อน ไม่ใช่เอะอะใช้เงิน ขณะเดียวกัน เขายังมีระบบระเบียบในเรื่องการจัดการด้านอื่นๆ ด้วย โดยการทำงานของเขาจะผันแปรเฟสการทำงานตามความเหมาะสมของปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น มีความยืดหยุ่น เข้าใจ และสามารถประเมินปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยคนที่เข้ามาทำงานทั้งจากองค์กรและอาสาที่รวมกลุ่มเข้ามาไม่ได้มีอีโก้ในการมา หรืออยากได้อะไรจากการมาช่วยเหลือ การระดมทุนให้กับโครงการของเขา พี่ค่อนข้างอุ่นใจและพูดได้เต็มปากเลยว่าวิธีการทำงานของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับโครงการในภาคสังคม

ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นก็อย่างเช่น ถ้าใครจะมาช่วยเหลือ มาช่วยแพ็คของ ก็จะมีมาตรการเว้นระยะห่างที่เข้มงวด มีอาสาสมัครที่ไม่สมัครเล่นมากันทุกอาทิตย์แบบตรงเวลาและทำงานกันแบบมืออาชีพ อย่างการส่งมอบถุงยังชีพที่ไม่ได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบมายืนเข้าคิวรับของ แต่จะทำเหมือนซานตาคลอส คือไปหยอดถุงยังชีพตามบ้านเพื่อลดการรวมกลุ่ม และอาสาเองก็สามารถทำงานได้ไวขึ้น แล้วถุงยังชีพนี่หนักมากนะซึ่งอาสากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ออกกำลังกายกันอยู่แล้ว เขาก็ได้ใช้ทักษะที่มีอยู่ในการช่วยเหลือคน โดยมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่ติดค้างในไทยก็มาช่วยเหลือกัน

Photo: Courtesy of Covid Relief Bangkok

นอกจากเรื่องทางกายภาพแล้ว เมื่อลงพื้นที่ ก็พบว่าคนในชุมชนมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตค่อนข้างมาก แต่พวกเขาไม่มีเงินมากพอจะไปหาจิตแพทย์ ทาง Covid Relief Bangkok จึงทำโครงการ ‘หัวใจมีหู’ ขึ้นเพื่อเทรนอาสาสมัครว่าทำอย่างไรในการเป็นผู้ฟังที่ดี มี emphatic listening ในการฟังคนในชุมชน โดยโครงการมีการเทรนมากกว่า 20 อาทิตย์ เพื่อให้อาสาสมัครพร้อมทำหน้าที่นี้และสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านว่าในวันที่พวกเขามีเรื่องทุกข์ อย่างน้อยจะมีคนคนหนึ่งเป็นผู้รับฟังเขาจริงๆ ฟังแล้วไม่เอาไปพูดต่อ ให้เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเขาได้ แม้ว่าอาจจะในระดับหนึ่ง แต่เขาจะต้องไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แล้วก็ยังสามารถเฝ้าระวังได้ว่ามีใครบ้างที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษ หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทัน ในช่วงเวลานั้น ทางโครงการสามารถช่วยเหลือคนหลายหมื่นคนเลยนะ”

รู้จักตั้งคำถามเพื่อให้ผลลัพธ์เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่เรามองเห็นจากการทำงานก็คือ คนไทยตอบสนองเร็วมาก มีความอยากช่วยเหลือที่แรงกล้า แต่สิ่งที่พวกเรารู้สึกว่าจะต้องมีมากกว่านั้นคือการตั้งคำถาม เพราะหลายๆ ครั้งเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรก็ตามขึ้นมาและมีการระดมทุน สิ่งที่เรายังไม่รู้เลยก็คือเขานำเงินไปช่วยเหลือตรงไหนและอย่างไรบ้าง บางทีมาจากแค่เครดิตของบุคคลหรือชื่อองค์กรอะไรบางอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าเขากำลังทำอะไรไม่ดี แต่เขาอาจจะรีบทำ ก็เลยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดอะไรมาก รวมทั้งเรื่องของการวัดผลที่เราอาจจะไม่ได้ติดตามการวัดผลว่าเมื่อเขาระดมทุนไปแล้ว มีฟีตแบ็คไหมว่าเงินที่ได้รับไปนั้นเปลี่ยนไปสู่ความช่วยเหลือในรูปแบบไหนและความช่วยเหลือนั้นเป็นวิธีที่ใช้เงินที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นจริงหรือเปล่า”

ถูกและดีมีอยู่จริง

“อุปสรรคที่เจอก็มีอย่างต่อเนื่องเลยล่ะ หลายๆ ครั้ง คนจะชอบคิดว่ามันดีเกินจริง ประมาณว่าเป็นไปได้อย่างไรที่จะได้ราคาที่ดีในการซื้อขนาดนี้ บางคนเวลาคนเข้ามาอาจจะยังไม่เข้าใจได้ทันทีว่าการซื้อดีลผ่านเรา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่นไปด้วยอย่างไร โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเสียเพิ่มเลย เขามีแต่ประหยัดแบบนี้ เป็นต้น

ในส่วนองค์กรก็ขึ้นอยู่กับทีมงานหรือผู้บริหารว่าเขาคิดอย่างไร บางครั้ง เขาอาจจะคิดว่าทำไมฉันต้องช่วยตอนนี้ นี่คือการทำธุรกิจ ทำไมการทำธุรกิจต้องไปช่วยเหลือภาคสังคมด้วย นี่เป็นส่วนที่ยากสำหรับบางคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการที่เราจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม จริงๆ คำว่า CSR มันไม่ได้มาแค่ในมุมของการรับผิดชอบต่อสังคมในระดับองค์กร แต่ยังรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับบุคคลด้วย แม้ว่าเขาอยู่ในองค์กรใหญ่ ท้ายที่สุดก็เป็นการตัดสินใจของคนอยู่ดี เราอยากให้เขารู้ว่า โอกาสในการตัดสินใจในทางธุรกิจที่ส่งผลดีต่อภาคสังคมได้ด้วยมันทำได้นะ ซึ่งเรื่องนี้เราไม่โทษใครเลย เพราะในมุมของการช่วยเหลือภาคสังคมที่มีมาก่อนหน้านี้ เราอาจจะเห็นการช่วยเหลือเท่ากับการจ่ายออกอย่างเดียว แต่มันมีบริบทของการทำ CSR ในรูปแบบของการช่วยเหลือ แล้วยังช่วยแบรนด์ได้อีกเช่นกัน”

ยิ่งช่วยได้เยอะ ยิ่งได้กำไร

“ความสำเร็จสำหรับพี่เหรอ ถ้าตอบแล้วจะคิดว่าพี่เป็นนางงามได้เลยนะ (หัวเราะ) คือการจะทำงานตรงนี้ได้ พี่คิดว่ามันต้องบ้าในระดับหนึ่ง อย่างที่บ้านและคนรอบข้างไม่ได้เห็นด้วย และค่อนข้างกังวลที่พี่มาทำ Socialgiver เหมือนกัน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการช่วยเหลือคนอื่นหรือการทำงานอาสา บางครั้งคนจะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่พี่มีเป้าหมายนะ พี่อยากสร้างเครื่องมือบางอย่างที่ถ้าเกิดพี่ตายไปแล้ว มันก็ยังสามารถรันได้และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อยู่ แล้วก็มีกลุ่มของแบรนด์ที่มีวิสัยทัศน์แบบที่ใส่ใจลูกค้าและอยากเห็นโลกที่ดีกว่านี้ มีกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมเองที่ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากระบบนิเวศที่เราสร้างขึ้นมา

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พี่ได้หรือความสำเร็จที่พี่มองก็คือการที่ได้ทำแพลตฟอร์มแบบนี้ที่ไม่ใช่แค่จะหาเงินได้เยอะเหมือน tech platform รูปแบบอื่น แต่เป็นการหาเงินให้ได้เยอะๆ เพื่อช่วยคนได้อีกเยอะๆ ดังนั้นถ้าถามว่าการที่เราได้อะไรหรือมองความสำเร็จว่าเป็นอย่างไร พี่ว่าคือการช่วยคนให้ได้มากที่สุด พี่ยังคุยกับน้องในทีมเลยว่า รู้ไหมว่า แม้ว่าตอนนี้คือปี 2021 แล้ว แต่ก็ยังมีคน 400-500 ล้านคนที่ยังหิวโหย เขาไม่มีเงินที่จะมีอาหารกินทุกวัน ในยุคที่เราคิดว่าทุกอย่างมันอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ปัญหาที่เรากำลังแก้และต้องแก้มีเยอะมาก ถ้าเราไม่เริ่มเลยพี่ว่าจะยิ่งไปกันใหญ่ แล้วถ้าเราสามารถดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำตรงส่วนนี้ได้ ให้คนขับเคลื่อนโดยเม็ดเงินที่เขาจับจ่ายใช้สอยได้ นั่นแหละจะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการช่วยเหลือภาคสังคม ขณะที่ภาคสังคมเองก็ต้องพยายามสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้นในการทำงานด้วย ทุกอย่างต้องทำไปพร้อมๆ กัน”

สะพานสู่การทำดี

“สิ่งที่ได้จากการทำงานภาคสังคม อย่างแรกเลยนะคือได้ตีนกาค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ นะ บางครั้งเวลาเราเจออุปสรรคเยอะๆ หรือเหนื่อยกับงานที่เยอะมากๆ การทำความดีไม่ง่ายเลย เพื่อนรุ่นน้องพี่คนหนึ่งบอกว่า ถ้าจะทำชั่วเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการชวนคน เตรียมงาน ทุกคนเก็บความลับดี มี supply chain ที่แน่นมาก แต่เวลาคนทำความดี น่าแปลกที่มันไม่ง่ายที่จะทำ แล้วหลายๆ ครั้ง การร่วมมือเพื่อทำความดีเป็นสิ่งที่พี่อยากให้ทุกคนมาร่วมกันทำ ไม่ต้องแยกกันไปทำ และนั่นคืออีกเป้าหมายของ Socialgiver อีกข้อ พี่อยากให้แต่ละโครงการร่วมมือกันมากขึ้น อย่างเช่นประเด็นท้องไม่ท้อง แต่ละที่แยกกันทำหมดเลย เขาไม่ได้แบ่งข้อมูลกันว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์ก ถ้าคนที่สนใจในประเด็นเดียวกันมาร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูลกัน เพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหานั้นให้เบาบางลง พี่ว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ

ส่วนอีกสิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่พี่และ Socialgiver ได้คือ ‘โอกาส’ ในการเป็นสะพานที่เชื่อมให้คนได้ทำความดีมากขึ้น บ่อยขึ้น และไม่กลัวการทำความดี ถ้าเกิดมีผลลัพธ์ที่เราจับต้องได้ แล้วมาเล่าสู่กันฟังได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง พี่คิดว่าหลายๆ ครั้ง บางคนหมดศรัทธาในการทำความดี เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันไปจบที่ตรงไหน พี่เองก็มองว่าถ้าเราเป็นแรงขับเคลื่อนในการให้คนไม่ได้แค่ใช้ความศรัทธาในการอยากทำความดี แต่มองถึงเรื่องความยั่งยืนของการที่มีองค์ประกอบพวกนี้อยู่รอบตัว เป็น pillar ในการที่จะลดปัญหาในสังคมเราได้ ให้เราอยู่ดีมีสุข เราก็ควรจะช่วยให้เขาทำงานต่อ ถ้าคุณจะไม่ได้เป็นคนเก็บขยะ กรุณาทำให้ชีวิตคนเก็บขยะดีขึ้น อะไรแบบนั้น

พี่เจอหลายอย่างมากกับสิ่งที่ทำ แล้วก็ค้นพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการโฟกัสกับเป้าหมายให้ชัดเจน เราอาจจะเปลี่ยนกลยุทธ์ต่างๆ ระหว่างทาง แต่หัวใจหลักเรายังเหมือนเดิม ผลลัพธ์ในสิ่งที่เราอยากจะสร้างก็ยังเป็นแบบเดิม ดังนั้น ในสิ่งที่พี่ได้คือการได้ทำ ได้รับความอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น และพิสูจน์ได้ว่าการทำดีมันสามารถส่งผลดีต่อธุรกิจได้จริงๆ”

สิ่งเล็กๆ ที่เปลี่ยนโลก

“เชื่อไหมก่อนที่จะทำ Socialgiver ตอนปี 2011 พี่เคยทำโครงการศิลปะเคลื่อนที่ชื่อ ‘Idea Cube’ ซึ่งเป็นการนำศิลปะจาก 100 ศิลปินไปจัดแสดงตามที่ต่างๆ แบบไม่จำกัดเพศ อายุ รูปแบบงาน หรือแบ็คกราวด์ ไปติดตั้งตามที่ต่างๆ ซึ่งตอนนั้นคนยังไม่เก็ตเรื่องของการทำ mobile art exhibition ที่เราไม่จำเป็นต้องไปแกลเลอรี แต่แกลเลอรีจะมาหาคุณเอง แล้วฟีดแบคที่ได้ถือว่าดีพอสมควร มันเลยกลายเป็นว่าพี่เชื่อในแรงขับเคลื่อนของเรื่องไอเดียเล็กๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น

ถ้ายกตัวอย่างที่พี่คิดว่าน่ากลัวที่สุดตอนนี้ที่เราควรจะรีบทำคือเรื่อง Climate Change ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนนี้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือกำลังละลายและส่งผลกระทบมากมาย เพื่อนพี่บางคนที่อยู่ประเทศวานูอาตูจะไม่มีประเทศอยู่แล้ว เพราะว่าระดับน้ำในประเทศเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ และประเทศเขาไม่มีแผนสอง ซึ่งปัญหาที่ต้องคิดกันอย่างแรกเลยคือถ้าเหตุการณ์นั้นมาถึง ประชากรทั้งประเทศจะไปเป็นผู้ลี้ภัยที่ไหน พวกเขาเองก็ยังไม่รู้ ตอนนี้เราเหลือเวลาแค่ 9 ปี นั่นคือเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่พี่มองว่าทุกคนจะต้องช่วยกัน พี่คุยกับคนที่อยู่ในกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของไทย เชื่อได้เลยว่าจากปัญหานี้ คนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออากาศที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เราปลูกกันง่ายๆ จะไม่สามารถการันตีได้แล้วว่าจะปลูกง่ายและอร่อยเหมือนเดิม จากที่มีฤดูกาลชัดเจน ตอนนี้ฤดูต่างๆ เริ่มรวนมากและมีโอกาสที่จะฟื้นตัวให้เป็นแบบเดิมก็น้อยลงไปทุกที นั่นจะส่งผลให้ปัญหา food supply ตามมา เรื่องที่อยู่อาศัยว่าเราจะอยู่ที่ไหนได้บ้างจะตามมา ที่เราบอก GDP การท่องเที่ยวเราเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ถ้าเกิดไม่มีหาดทรายสวยๆ เพราะว่าน้ำสูงขึ้นจนชิดขอบแล้ว คุณเอาอะไรขาย ปัญหา Climate Change เป็นปัญหาระดับโลกและควรเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปัญหาอื่นก็แก้กันไป แต่เรื่องนี้พี่ว่ามันมาแล้ว หนักแล้ว และน่ากลัวมาก

ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะยังตีโจทย์ไม่ออกว่าต้องเริ่มตรงไหน อย่างที่บอกว่าพี่เชื่อในเรื่องของไอเดียเล็กๆ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราสามารถเริ่มได้ทุกคนที่บ้านของตัวเอง เพราะฉะนั้น เริ่มจากตัวเรา จากคนใกล้ตัว แล้วก็ค่อยๆ ขยายวงออกไปเพื่อทำให้โลกเรายังอยู่ได้”

From local to global and beyond

Socialgiver ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สิ่งที่เราจะต้องทำและทำให้ได้คือต้องหนักแน่นว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงและเจอกับความเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะต้องวางแผนให้ดี ต้องเตรียมใจและเตรียมแรงให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้วย แล้วก็สร้างพันธมิตรที่ดี ทำให้เขาเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกับเรา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขาเองและสร้างประโยชน์ให้กับโลกได้ด้วย พี่ว่ายิ่งเราตอบโจทย์ได้ในช่วงเวลานั้นได้ มันก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น พี่จะไม่มีความคาดหวังที่สูงเกินไป ถ้าล้มแล้ว ต้องลุกให้ได้ ให้ไว แต่พี่โชคดีที่พี่มีทีมที่ดี ทีมที่พร้อมลุยและมีพลังงานที่ดีให้กันตลอด ซึ่งก็น่าจะผ่านอะไรยากๆ ไปได้

นอกจากนี้ Socialgiver ก็มีความตั้งใจที่จะขยายไปในประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายๆ กับบ้านเรา ไม่ได้คิดแค่ในมุมของการช่วยคนไทยเท่านั้น เราเริ่มมองตัวเองในฐานะประชากรโลกมากขึ้น ซึ่งถ้ามันขยายตัวไปได้ มีธุรกิจเข้ามาเป็นหลักพันหลักหมื่นก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าว่าเราสามารถช่วยคนได้มากขึ้นและยาวขึ้นด้วย”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร / Saran Sangnampetch
ภาพเพิ่มเติมและอ้างอิง: www.facebook.com/socialgiver, www.socialgiver.com


ING
ING
อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.