Studio Dialogue กับการเป็น Content Provider ที่สร้างประโยชน์และขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า

หากพูดถึงนักพัฒนาเนื้อหา หรือ content provider ในบ้านเรา ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงคงต้องมี Studio Dialogue อยู่ในลิสต์นั้นด้วย แป้ง-ณัฐจรัส เองมหัสสกุล และ แม็ก-กริชเทพ ศรศิลป์ สองผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้ถนัดในเรื่องการจัดการเนื้อหาและออกแบบกราฟิกหลากรูปแบบ ทั้งสิ่งพิมพ์ แคมเปญ ไปจนถึงงานนิทรรศการ สิ่งหนึ่งที่เราชอบในงานของ Dialogue คือกระบวนการทำงานที่มีดีเอ็นเอของคนในสายนิตยสารอยู่ในนั้น งานของพวกเขาไม่เคยฉาบฉวย แต่ลงลึกแทบทุกขั้นตอนตั้งแต่การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ จนกระทั่งขยายสิ่งที่ได้มาผ่านสื่อกลางรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจุดเด่นอีกอย่างก็เห็นจะเป็นการใช้ทักษะของงานออกแบบกราฟิกเข้าไปผสมผสานในตัวเนื้อหาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะเพื่อส่งเสริมให้แต่ละโครงการที่สร้างสรรค์มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานในสายพาณิชย์ หรืองานภาคสังคม ชุมชน และวัฒนธรรม เป้าหมายหลักของ Studio Dialgoue คือการทำชิ้นงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อถ่ายทอดสู่ผู้รับสารอย่างดีที่สุด โดยมีหลักชัยไกลๆ คือการให้ประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ทั้งแบบตัวบุคลลและส่วนรวม และนี่คือบทสนทนาเราหว่างเราและพวกเขาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้

จุดเริ่มต้นของ Studio Dialogue

แป้ง: เรา 2 คน ทำงานในนิตยสารด้วยกันมาก่อน แม็กเป็นนักเขียน แป้งเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และนักเขียนด้วย หลังจากนั้นแม็กได้ทำงานเป็นรอง บ.ก. ที่นิตยสารในเครือ Inspire ส่วนแป้งไปเป็น บ.ก. นิตยสาร Computer Arts แล้วก็กลับมาเปิด Studio Dialogue ด้วยกันเมื่อปี 2553

แม็ก: พอจะตั้งออฟฟิศ ก็คิดกันอยู่หลายชื่อ เนื่องจากเราทั้งคู่ทำงานนิตยสาร การได้มาซึ่งข้อมูลก็มาจากที่เราออกไปพูดคุยกับคน เลยคิดว่างานของเราคือสร้างบทสนทนาทั้งงานเขียนและกราฟิกดีไซน์ ก็เลยคิดว่า Dialogue น่าจะเป็นคำที่เหมาะ ในช่วงแรกเราเน้นหนักไปทางสิ่งพิมพ์ ทำหนังสือเป็นหลัก พอผ่านไปหลายปีเข้า รูปแบบงานก็หลากหลาย แต่พื้นฐานก็ยังอิงอยู่กับการทำงานคอนเทนท์และกราฟิกดีไซน์ ระยะหลังเราเริ่มขยับไปเป็นการทำงานนิทรรศการและแคมเปญต่างๆ ด้วย

แป้ง: เราเริ่มจากการรีเสิร์ชจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จากหนังสือ จากการสัมภาษณ์ผู้คน รวมไปถึงการลงพื้นที่จริงเพื่อให้เข้าใจบริบทได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเนื้อหาที่เราทำผ่านมาจะมีประเด็นที่แตกต่างและหลากหลายมาก ในส่วนดีไซน์ก็คล้ายกัน บางโปรเจ็กต์เราทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา บางโปรเจ็กต์เราทำหน้าที่ดูภาพรวมของงานในฐานะอาร์ตไดเร็กเตอร์ บางครั้งเราเป็นคนทำนิทรรศการ บางครั้งเป็นคนทำหนังสือ ให้อธิบายแบบสั้นๆ คือการผสมกันระหว่างคอนเทนท์กับดีไซน์

“New Heart New World” หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องคน ความคิด และชีวิต

แป้ง: New Heart New World เป็นโปรเจ็กต์แรกสุดที่เราทำ เป็นหนังสือสัมภาษณ์ซึ่งเป็นแคมเปญ โดยหน้าที่ของ Dialogue เริ่มตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์ร่วมกันกับลูกค้า หาคนสัมภาษณ์ เดินทางสัมภาษณ์ ซึ่งเนื้อหาในเล่มว่าด้วยเรื่องมนุษย์ ทัศนคติ ความคิดเห็นต่อชีวิต เป็นโปรเจ็กต์ที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเองมากที่สุดในการทำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับคนและมิติของความเป็นมนุษย์ 

แม็ก: จริงๆ New Heart New World น่าจะเป็นงานกึ่งเพื่อสังคมก็ว่าได้ เพราะในเบื้องต้น โจทย์ของงานจะเป็น CSR ของบริษัทบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทีนี้ด้วยรูปแบบ ด้วยวัตถุประสงค์จะเป็นการเผยแพร่แนวคิดอะไรบางอย่างออกไปสู่สังคม ซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นฐานความคิดและแนวทางการทำงานของเราในระยะต่อมา

เหมือนและต่างระหว่างงานพาณิชย์ VS สังคม

แป้ง: ในเชิงกระบวนการทำงาน เราว่ามีทั้งเหมือนและต่าง ที่ต่างก็คือว่าคือแมสเสจ เช่นว่า จุดประสงค์ของแมสเสจนั้นต้องสื่อสารเรื่องอะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นแบบไหน ถ้าเป็นลูกค้าในสายคอมเมอร์เชียล ก็หมายถึงเป็นลูกค้าโปรดักท์ อาจจะเป็นสินค้าหรือแบรนด์ ซึ่งจะมีเป้าหมายปลายทางที่มาร์เก็ตติ้งกำหนดมาอยู่แล้วว่าอยากให้สื่อสารเรื่องนี้กับใคร วิธีคิดอาจจะเป็น single message มากหน่อย อย่างงานล่าสุดในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราทำงานทำแคมเปญให้กับ Kerry แคมเปญแรกพูดเรื่อง “Keep calm and kerry on” เพื่อเป็นการส่งสารให้กำลังใจ ให้สู้เพื่อที่จะมีชีวิตกันต่อไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา เป็นการสร้างทั้ง awareness และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ซึ่งวิธีคิดจะเป็นวิธีแบบ output และคล้ายกับการทำคอนเทนท์ เพียงแต่จะเป็น single message มากกว่า และอิมแพ็คชัดเจนมากกว่าการทำหนังสือที่เป็นเล่มๆ ซึ่งต้องใช้เวลาอ่านนาน

แม็ก: ความต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งอาจอยู่ที่วิธีการทำงาน งานเชิงเพื่อสังคมเราจะต้องลงไปสัมผัสกับพื้นที่นั้นจริงๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจชุมชนและกลุ่มเป้าหมายที่เรากำลังทำงานด้วย อย่างโครงการหนังสือขบวนการสร้างเสริมสุขภาพตามกลุ่มประชากรที่เราทำให้ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ในชุดจะมีทั้งหมด 20 เล่ม เราต้องลงพื้นที่เพื่อไปดูว่าในแต่ละชุมชน แต่ละตำบล มีวิธีการดูแลงานด้านผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง เป็นการถอดบทเรียนการดูแลผู้สูงอายุของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ 20 ชุมชน ซึ่งจะถูกใช้เป็นชุมชนต้นแบบในการทำงานด้านนี้ให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานในช่วง 1-2 ปี เราลงพื้นที่บ่อยมาก ตามเขาไปดูในแต่ละหน่วยในพื้นที่ว่าเขาทำงานกันอย่างไรในการเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้าน ผู้สูงอายุติดเตียง การทำความสะอาดร่างกาย การทำกายภาพบำบัด ดูทุกอย่างเกี่ยวกับเนื้อหา เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อเป็นหนังสือที่จะถูกนำไปใช้งานจริง โดยกระบวนการคิดและทำงานไม่ได้ต่างไปจากการงานนิตยสาร แต่นิตยสารหรือการทำงานคอมเมอร์เชียลอื่นๆ เป้าหมายคือถ่ายทอดสารบางอย่างตามโจทย์ที่เขาต้องการ ขณะที่งานเพื่อสังคม ผลลัพธ์ของมันจะไปสร้างผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาอะไรบางอย่างต่อไป

แป้ง: หรืออย่างงานที่เราทำให้กับหน่วยงานกองทุนเพื่อความเสมอภาพทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเยาวชนและกลุ่มคนด้อยโอกาสทั่วประเทศ เรามีโอกาสได้ช่วยจัดทำชุดของขวัญปีใหม่ให้กับองค์กรนี้ โดยปีนี้จะต่างไปจากปีก่อนๆ โดยเราขอรายชื่อชุมชนที่ กสศ. ไปทำงานด้วย ทั้งกลุ่มด้อยโอกาส ไปจนถึงชุมชนในแนวชายแดน เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากชุมชนนั้นๆ มา จนได้มา 5-6 ชิ้น จากที่ต่างๆ หลังจากเลือกเรียบร้อย เราจะเดินทางไปที่นั่น พูดคุยกัน ซึ่งปลายทางนอกจากจะเป็นชุดของขวัญปีใหม่ก็ยังมี booklet เล่มเล็กๆ ที่อธิบายเพิ่มเติมว่าของขวัญที่คุณได้รับไปนั้นมาจากใครและเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น กาแฟจากวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งห่างจากชายแดนพม่าไปไม่ไกล พอเราไปถึง เราก็ได้เห็นว่าเขามีร้านกาแฟเล็กๆ พอมีโควิดก็ทำให้ไม่มีคนซื้อ และเขายังไม่มีองค์ความรู้ในการแปรรูปเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราเลือกผลิตภัณฑ์จากชุมชนเหล่านี้มาเป็นของขวัญปีใหม่ของ กสศ. ก็แปลว่า กสศ. ได้ช่วยชุมชนที่อยากจะช่วยจริงๆ เงินที่ กสศ. ต้องเสียไปในการทำของขวัญปีใหม่จะถูกจ่ายให้กับคนที่ควรจะได้รับจริงๆ ซึ่งเวลาผู้ได้รับชงกาแฟถ้วยนี้มา มันจะไม่ใช่แค่กาแฟ แต่คือความเสมอภาคและโอกาส เราเลยตั้งชื่อแคมเปญนี้ว่า “It is not just…”

เรื่องหินๆ ของการทำงานชุมชน

แม็ก: ผมคิดว่าอุปสรรคสำคัญคือพวกเรานี่แหละที่ยังไม่เข้าใจชุมชนและพื้นที่จริงๆ ตอนแรกที่เราเข้าไป เราจะตั้งเข็มไว้แล้วว่าเราลงพื้นที่เราต้องการอะไร ต้องการคำตอบประมาณนี้นะ แต่เมื่อทำงานมาหลายปี หลายที่เข้า เราทำงานแบบนั้นไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน หรือบางทีทำในประเด็นเดียวกัน แต่คนละพื้นที่ คนละความเป็นอยู่ คนละขนบธรรมเนียมประเพณี ผลที่ออกมาก็แตกต่างกันแล้ว ซึ่งต้องเป็นฝั่งเราที่ต้องปรับตัว ปรับความเข้าใจของเรากันเองว่าในแต่ละชุมชนเขาไม่เหมือนกัน เราก็ต้องลงไปแบบใจว่างๆ ก่อน

แป้ง: สำหรับแป้ง เวลาลงพื้นที่จะเป็นเวลาที่สนุก แป้งรู้สึกคอนเน็คกับคุณย่า คุณยาย คนต่างจังหวัดได้ง่าย ความยากอาจจะอยู่ที่ข้อจำกัดของเวลาในการทำงานกับเนื้องาน เช่น เรามีเวลาลงพื้นที่ 2 วัน แต่ต้องสัมภาษณ์ 20 คน เราก็ต้องจัดเวลาให้เพียงพอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เห็นเป็นภาพรวมทั้งชุมชน และเมื่อทำงานกับลุง ป้า น้า อา ความยากอีกอย่างก็คือเขาจะพูดไม่เก่ง เช่น เราไปโรงเรียนผู้สูงอายุ ถามว่า “มาโรงเรียน สนุกไหมยาย” ยายจะตอบว่า “สนุกจ๊ะ” แป้งว่าเพราะในชีวิต เขาอาจจะไม่เคยมีคนมาถามคำถามนี้กับเขา ก็เลยไม่ได้คิดมาก่อนว่าเขาจะต้องตอบว่าอะไร หรือไม่ได้มีคำตอบกับตัวเอง ซึ่งก็เป็นคำตอบสัมภาษณ์ที่สดและเป็นธรรมชาติมาก

แม็ก: ผมว่านี่คือความยากที่สุดในการที่เราจะได้เนื้อหาที่ในประเด็นที่ต้องการ แต่หลังๆ เราก็เรียนรู้วิธีการไปเอาเรื่องจากเขา เช่น อาจจะเริ่มจาการไปเดินเล่นกัน หรือกินข้าวร่วมกัน แล้วค่อยคุย หรือคุยไปเรื่อยๆ แล้วตบเข้าสิ่งที่เราอยากรู้ ซึ่งถ้าเราลงไปครั้งแรก แล้วเอากล้องไปตั้งเลย จะเกร็งเลยทีนี้ 

งานที่ได้มากกว่าผลงาน

แม็ก: เราให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่จริงๆ บางทีบางงาน เขาบอกว่าไม่ต้องลงไปก็ได้นะ โทรศัพท์ไปคุย ซึ่งเอาเข้าจริงมันทำแบบนั้นได้ แต่บทบาทของการเป็นนักเขียน กราฟิก มันสำคัญนะที่ต้องไปลุยหน้างาน ถ้าได้ไป เราจะได้เห็นอะไรมากกว่าที่เราคิด ได้คุย เพราะจะได้เห็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ เขาอยู่อย่างไร ทำไมเขาถึงคิดทำผลิตภัณฑ์นี้ออกมา ได้เจอกับสิ่งที่หาไม่ได้ในอินเทอร์เนต ได้รับน้ำจิตน้ำใจ บางทีไปคุยกับคุณยาย กลับมาได้ของฝากมาเต็มชะลอมเลย

แป้ง: แป้งว่านี่คือเสน่ห์ของงานชุมชนและสังคม เราจะเจอความสนุก ได้สัมผัสบรรยากาศที่ต่างออกไป เราได้กินข้าวที่แตกต่างกันใน 20 จังหวัด เป็นงานที่มีชีวิตชีวา เห็นเสน่ห์ของความชนบท มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่แทบจะหายากในกรุงเทพฯ ซึ่งสิ่งที่เราได้เจอจากการทำงานชุมชนมากๆ คือเขาเป็นครอบครัวเดียวกัน คนในชุมชนคือครอบครัวขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีสัมพันธ์กันทางสายเลือด

แม็ก: แล้วในแต่ละองคาพยพที่เราไปทำงานด้วย เขาจะตั้งใจมากเลยนะ พอรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง พยายามถ่ายทอดและตอบสนองสิ่งที่เราต้องการอย่างดีที่สุด แม้แต่คุณย่าคุณยายที่พูดไม่เก่ง ก็จะมานั่งให้กำลังใจ มาช่วยมีส่วนร่วม

แป้ง: การทำงานชุมชนมีหลายประเด็นมาก อย่างการทำงานกับผู้สูงอายุเพื่อถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการผู้สูงอายุในแต่ละตำบลให้กับทาง สสส. เราก็ได้ประสบการณ์และความรู้ที่หลากหลายไปตามพื้นที่ที่เราได้ไป ซึ่งแต่ละที่เมื่อมีความแตกต่างกันในทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรม และสุขภาพของเขาก็แตกต่างกันด้วย เช่น พื้นที่นี้มีผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้ามากเพราะว่าเด็กๆ วัยรุ่นไม่อยู่ในชุมชนหรือในชุมชนไม่ได้มีกิจกรรมที่ให้พวกเขาทำมาก ขณะที่อีกพื้นที่หนึ่ง ผู้สูงอายุมีความสุขมาก ทุกคนมีกิจกรรม ทุกคนมีความรู้ของตัวเอง มาถ่ายทอดกัน เรียนคอมพิวเตอร์กัน งานชุมชนถือว่าได้สร้างประสบการณ์แบบเข้มข้นในระยะเวลาสั้นๆ ให้กับเรา พอเราจบโปรเจ็กต์นี้เราก็เริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ที่มีประเด็นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แม็ก: ด้วยงานชุมชนที่เราทำมามีหลายรูปแบบ แต่ละงานก็ไม่เหมือนกันเลย ล่าสุดเราได้ร่วมงานในโครงการวัดบันดาลใจกับสถาบันอาศรมศิลป์ ที่เรามีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครทำพิพิธภัณฑ์ในวัดที่ถูกคัดเลือก เป็นงานที่สนุกมากอีกชิ้นหนึ่ง ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีสื่อสาร การพูดคุย การถ่ายทอดคนละแบบ วิธีการตีโจทย์ก็ไม่เหมือนกัน กลุ่มเป้าหมายก็ไม่เหมือนกัน แต่โจทย์แต่ละงานมันเอื้อให้เราสามารถสนุกได้ในการตีความ ในการถ่ายทอด ค้นพบความสนุกในเชิงค้นคว้า การอ่านหนังสือ การทำงานกับปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น ซึ่งทำให้เราต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ไปได้อีกเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ผมว่าเรายังได้ข้อคิดจากงานที่เราทำทุกๆ งาน ไม่ว่าจะเป็นการไปคุยกับคุณตาคุณยายในชนบทที่มีวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ได้ไปคุยกับคนแก่ติดเตียงที่กำลังอยู่ในช่วงวาระท้ายของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้กลับมาทบทวนและปรับปรุงแนวทางในการใช้ชีวิตของเรา

ความสำเร็จในมิติของงานเพื่อสังคม 

แม็ก: ผมคิดว่าพื้นฐานก็คงเหมือนงานทั่วไปนั่นคือเมื่องานนั้นมันเสร็จตามโจทย์ที่ทางองค์กรเขาต้องการ ระดับถัดมาก็คือ ถ้าคนเขาได้ใช้งานและบอกว่าได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ งานของเราไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ไปต่อยอดความรู้ มันน่าดีใจนะ อย่าง New Heart New World ที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว บางทีคนมาบอกกับเราว่า ที่รอดมาได้ก็เพราะว่าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งตอนที่เราทำ เราก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้นว่าสิ่งที่เราทำจะมีผลกระทบอะไรกับใครมากขนาดนั้น ซึ่งถ้าจะนับว่าเป็นความสำเร็จ ก็น่าจะได้

แป้ง: งานบางงานกว่าจะเสร็จขึ้นมาได้ จะต้องใช้ความร่วมมือของคนหลายๆ คน บางครั้งการที่ชิ้นงานเสร็จก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ดีมากแล้วนะ แต่ความสำเร็จที่มากกว่านั้นคือเรื่องที่เราพบในระหว่างการทำงาน เช่น ระหว่างที่กำลังประชุมเรื่องคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการของวัดดาวเรือง จังหวัดชัยภูมิกับคณะทำงานทั้งหมด ท่านเจ้าอาวาสวัดดาวเรือง ได้พิมพ์มาบอกว่า “คำถามที่แม็กถาม ชอบมาก โดนเลย เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันตอบ ชัด สั้น แล้วก็แจ่ม” เราเก็บข้อความสั้นๆ นี้เอาไว้ เพราะรู้สึกว่าเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงาน 

คุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างทาง

แป้ง: แป้งคิดว่าถ้าเราประคองให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกค้า ซึ่งลูกค้าคนนั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะงานเชิงพาณิชย์หรืองานสังคม มันเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนั่นหมายถึงว่าเราจริงใจต่อกัน เราตั้งใจทำงานที่ดีร่วมกัน เราปรารถนาให้เขาได้ในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะมี พอทำงานเสร็จก็เหมือนเราทำหน้าที่ของเราเสร็จแล้ว จะไม่รู้สึกติดค้างอะไร สิ่งเดียวที่เราคาดหวังในการทำงานในวัยนี้คือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ดีที่สุด

งานเขียนที่ดีคือ

แม็ก: ผมคิดว่างานเขียนจะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะงาน เช่น บทสัมภาษณ์อาจจะต้องการที่มาที่ไปหรือการร้อยเรียงที่น่าสนใจ งานก๊อปปี้ไรท์ในงานโฆษณาอาจจะต้องการความสนุกหรือความคิดสร้างสรรค์เพื่อดึงความสนใจจากลูกค้า งานเขียนนิทรรศการอาจจะต้องการเนื้อหาที่ความกระชับ ได้ใจความ ถ้างานไหนต้องการความสนุกและเราทำได้สนุก หรืองานไหนที่เราต้องการการค้นคว้าที่ละเอียดมาก แล้วเราสามารถค้นคว้าได้ถึงวัตถุประสงค์ที่งานนั้นต้องการ ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นงานเขียนที่ดีของงานนั้นๆ ไป แต่ถ้าพูดรวมๆ ว่างานเขียนที่ดีเป็นอย่างไร ผมคิดว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละงานนั้น รวมทั้งการสื่อสารได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย กับวัตถุประสงค์ที่เจ้าของงานต้องการ

งานออกแบบที่ดีคือ

แป้ง: เพราะออฟฟิศเราทำคอนเทนท์ด้วย แป้งเลยคิดว่าดีไซน์ที่ดีจะต้องนำพาเนื้อหาไปในจุดประสงค์ที่ถูกต้องและเหมาะสม เราทำภาพคู่กับเนื้อหา เพราะฉะนั้น เวลาที่เราทำภาพ เราจะต้องย้อนกลับมาดูว่าภาพที่เราทำไปสามารถสื่อความหมายของงานนั้นๆ ได้หรือเปล่า ซึ่งเวลาที่เราทำงาน เราพยายามอย่างมากที่จะทำให้แต่ละภาพสามารถเล่าเรื่องล้อไปกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอให้ได้ ทั้ง 2 ส่วนต้องมีความสัมพันธ์และสมดุลกันระหว่างงเนื้อหาและงานออกแบบ

ความสุขที่หลากหลายของ Studio Dialogue

แม็ก: ผมคิดว่าความสุขในการทำงานมีหลายระดับหลายแบบ ตั้งแต่ว่าเราตื่นมาทุกวันแล้วยังมีงานทำ นั่นก็เป็นความสุขที่มากแล้วสำหรับคนวัยเราที่ได้ทำงานและมีงานทำอยู่ การทำงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถที่เรามี ก็น่าจะเป็นความสุขในอีกระดับหนึ่ง แต่ถ้ามากไปกว่านั้นก็คืองานที่เราทำสามารถเป็นประโยชน์กับคนอื่น แล้วก็ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์กับตัวเราได้บ้างในบางแง่มุม งานที่หล่อเลี้ยงตัวเราและเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นก็น่าจะเป็นการทำงานที่ดีและเป็นความสุขแบบครบวงจร

แป้ง: แป้งมีความสุขตั้งแต่วันแรกของการทำ Dialogue จนถึงวันนี้เลย เอาจริงๆ เลยนะ ตั้งแต่เปิดออฟฟิศมา เราไม่เคยมี AE งานทุกงานที่เข้ามาเหมือนเป็นการต่อยอดสิ่งที่พวกเราทำไปเรื่อยๆ พูดกันขำๆ ว่าพยายามทำตัวเป็นคนดี แล้วรอโทรศัพท์ดัง ให้ลูกค้าโทรมาจ้างเรา (หัวเราะ) แต่นี่เป็นปรัชญาของออฟฟิศเลยว่า เราจะทำงานที่มีอยู่ทุกวันให้ดีที่สุด เราจะบอกกับน้องๆ ทุกคนว่า ที่เรามีงานเพราะทุกคนไว้ใจก็เลยโทรกลับมาให้เราทำงานให้อีก เพราะฉะนั้น ให้เต็มที่กับทุกโอกาสที่ได้รับมา เมื่อไหร่ที่รับงานมาแล้ว เราจะทำโจทย์นั้นออกมาอย่างสุดความสามารถ ความสุขของแป้งคือการได้ทำสิ่งที่รักและเห็นมันค่อยๆ เติบโตไปเรื่อยๆ

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล / Sudaporn Jiranukornsakul
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์ / Zuphachai Laokunrak
อ้างอิง: www.studiodialogue.com

 

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles