ตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs โดยองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ทั้งหมด 17 ข้อ หนึ่งในนั้นว่าด้วยเรื่องการสร้างเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นที่ว่าครอบคลุมไปในหลายๆ ส่วน ตั้งแต่เรื่องของความปลอดภัย การยกระดับคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของพลเมือง ไปจนถึงการวางแผนบริหารจัดการเมืองและชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งในประเด็นหลัง นอกเหนือไปจากนโยบายการพัฒนาเมืองที่ออกโดยภาครัฐแล้ว สาขาอาชีพต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ขาย ชาวนา ช่างฝีมือ นักธุรกิจ วิศวกร นักออกแบบ สถาปนิก หรือนักวางผังเมือง ที่สำคัญคือประชาชนเอง ก็เป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียงการวาดวิมานในอากาศอีกต่อไป เช่นเดียวกันกับ ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ กับการเชื่อมรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อมาร่วมสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
จุดสตาร์ทของงานภาคสังคม
“จริงๆ ผมมีโอกาสเข้ามาทำงานด้านสังคมตอนที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องมักกะสัน ซึ่งผมได้เข้าไปช่วยงานภาคประชาสังคมในการทำภาพมักกะสันในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ในตอนนั้น แม้สังคมจะเห็นปัญหา แต่ว่ายังไม่มีคนเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว ประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมือง สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตก็อยู่ในความสนใจของผมเองอยู่แล้ว และเคยมองในมุมที่ว่า น่าจะสามารถขับเคลื่อนผ่านอาชีพที่ทำอยู่ได้
เมื่อเข้าไปทำมากขึ้นๆ ก็ทำให้เริ่มรู้จักเครือข่ายภาคประชาสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่มาทำโปรเจ็กต์ Friends of the River ตอนนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งของปัญหาเมือง ซึ่งทางภาครัฐกำลังจะสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเกิดประเด็นแบบนี้ขึ้น ก็มีเสียงเรียกที่ถามขึ้นมาว่า แล้วทางออกคืออะไร? ผมรู้สึกว่าในฐานะนักออกแบบ จริงๆ เรารู้แล้วว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมนั้นสามารถสร้างและเสนอทางออกที่ดีได้ เป็นต้นว่าออกแบบอย่างไรที่จะไม่ไปกระทบแม่น้ำ ไม่สร้างผลกระทบชุมชน ซึ่งเราก็น่าจะเป็นกระบอกเสียงหรือสามารถชวนคนเข้ามาทำข้อเสนอกับรัฐในประเด็นต่างๆ เหล่านั้นได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราใช้องค์ความรู้กับเครื่องมือที่เรามีเพื่อสื่อสารออกไป
จากตรงนั้น ผมก็ค่อยๆ เชื่อมกับผู้คน กับประเด็นสังคมอื่นๆ มากขึ้น แล้วก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมหรืองานภาคประชาชนมีมิติที่มากไปกว่าเรื่องออกแบบ ทั้งมิติของกฎหมาย คุณภาพชีวิต สิทธิ ความเหลื่อมล้ำ และอีกหลายๆ เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมนี้ เมื่อก่อนเราอาจจะรู้เพียงแค่บางมุม แต่พอเราลงมาทำ ก็ได้เห็นบทบาทของแต่ละฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคชุมชน ในส่วนของผู้คัดค้าน และนักรณรงค์มากขึ้น ทำให้เราเริ่มเห็นว่าการเข้าไปทำสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ก็เลยสนใจและทำมาต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน”
เป้าหมายที่ต่างกันของโครงการเชิงพาณิชย์กับงานภาคสังคม
“ในการทำงานเชิงพาณิชย์ แน่นอนว่าเราจะมองถึงกำไรเป็นที่ตั้ง ขณะที่ผู้ใช้งานที่เราพูดถึงในงานดังกล่าวมักจับต้องไม่ได้ เพราะเราจะไม่รู้ว่าคนคนนั้นที่เราทำงานเพื่อให้เขาเข้าไปใช้งานเป็นใครและอยากได้ในสิ่งที่เราทำจริงเท็จแค่ไหน ซึ่งโอกาสในการที่เราจะดึงผู้ใช้งานจริงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของเรา หรือแม้กระทั่งกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างที่ปรึกษาด้วยกันเองที่ทำให้การคิดโปรดักท์ที่ต่างออกไป ก็ถือว่ามีน้อยมากจนแทบจะเป็นศูนย์ แต่แน่นอน ข้อดีของงานเอกชนคือความพร้อมของทรัพยากร รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่มีไม่มาก ทำให้การทำงานสามารถขับเคลื่อนและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้เร็ว
ขณะที่การทำงานกับสังคม เราต้องเอาตัวเข้าไปอยู่กับชุมชน ไปพูดคุยเพื่อหาข้อเท็จจริง ดูศักยภาพของชุมชน และปัญหาที่พวกเขาต้องเจอ เราจะได้สัมผัสกับคนที่จะใช้พื้นที่นั้นจริงๆ ด้วยปลายทางที่เราไม่ได้หวังผลเชิงกายภาพเหมือนกับโครงการเอกชน แต่เราหวังผลผลิตในเชิงการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน รวมถึงการสร้างพลังให้กับคนด้วย เพราะฉะนั้น งานลักษณะนี้ก็จะใช้ระยะเวลาที่ยาวกว่า นี่คือความต่าง”
จุดตรงกลางระหว่างกำไรกับคุณภาพชีวิต
“เมื่อมาพิจารณาดู เราจะเห็นได้ว่า นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้ง 2 ประเภทนี้จะมีความต่างกันแล้ว ความคาดหวังก็เช่นกัน ฝั่งหนึ่งเน้นเรื่องกำไร อีกฝั่งหนึ่งเน้นเรื่องคน แล้วตอนนี้ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในเฟสที่ 3 ที่ทั้งสองประเภทโครงการสามารถที่จะมา merge ด้วยกันได้ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราจะเห็นได้ว่าเอกชนเองก็เริ่มคิดถึงเรื่องการหาสมดุลระหว่างกำไรในแง่ตัวเลขและการสร้างกำไรสู่สังคมมากขึ้น เพื่อที่จะทำอย่างไรให้ทั้งสองส่วนอยู่ด้วยกันได้ นี่จึงเป็นความท้าทายของนักออกแบบเองที่จะทำอย่างไรให้สามารถลดช่องว่างของทั้งสองประเภทงานนี้ด้วยทักษะและความรู้ที่เรามี ดึงข้อดีของแต่ละฝั่งมารวมกัน และลดข้อเสียของแต่ละฝั่งให้หายไปให้ได้
ณ เวลานี้ เราจึงพยายามใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในงานที่ทำกับภาคเอกชน โดยมีส่วนร่วมกันในทีมก่อนเลย ตั้งแต่การหา design thinking ที่มีความเป็นไปได้ หรือแม้กระทั่งทำรีเสิร์ชเพื่อให้เห็นว่าผู้ใช้งานต้องการอะไรจริงๆ หรือแม้กระทั่งโปรดักท์ที่ออกมาได้คำนึงถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชนและดึงชุมชนเข้ามาใช้ได้ด้วยหรือเปล่า หรือโครงการของคุณที่อยู่ในย่านนี้ แทนที่จะทำแค่ตัวโครงการ มันสามารถพัฒนาย่านร่วมกับชุมชนด้วยได้ไหม เราพยายามดึงเอกชนให้คิดเรื่องเมือง คน และโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในฝั่งชุมชนเอง เราก็พยายามจะดึงเขาออกมาเพื่อทำงานร่วมกันกับเอกชนมากขึ้น ซึ่งมันอาจจะได้ข้อดีของการสนับสนุนทรัพยากรทุน ทรัพยากรที่ดินต่างๆ แล้วก็มาทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน และชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งท้ายที่สุด ถ้าเราถอดหมวกออก ทุกคนก็คือพลเมืองที่อยู่ในเมืองเหมือนกัน คำถามคือคุณจะใช้ทรัพยากร ทักษะ และศักยภาพที่แต่ละฝ่ายมีเพื่อสร้างเมืองที่ดีด้วยกันได้อย่างไร ผมว่านี่คือสิ่งที่เป็นทั้งแนวคิดและความท้าทายในยุคนี้ที่เราเจอ”
เคสที่ 1: ลานกีฬาพัฒน์กับการปลุกชีพพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นปอดเขียว
“อย่างที่บอกว่าการทำงานในสายคอมเมอร์เชียล เรามักจะได้รับโจทย์แบบที่ไม่ได้เจอกับคนใช้งานจริงๆ ซึ่งสิ่งที่ทำไปก็ไม่รู้ว่าส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานไหมและอย่างไรเมื่อโครงการมีการใช้งานจริง โครงการลานกีฬาพัฒน์ที่เคหะชุมชนคลองจั่น เป็นหนึ่งในงานหลักๆ ที่เราเข้าไปพูดคุยกับคนในชุมชน รับความคิดเห็น และทำกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อออกแบบ การได้ทำงานนี้ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองให้ตัวผมเองว่า จริงๆ การเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มตั้งแต่การชวนและการพูดคุยแล้วนะ คนในชุมชนเขาจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของตั้งแต่มาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างแล้ว พอสวนเปิดใช้ ก็ทำให้เห็นว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นต่างออกไปจากวิธีเดิม ซึ่งการมีส่วนร่วมทำให้เขามีความรักและหวงแหนพื้นที่ แล้วก็เข้ามาช่วยกันดูแล เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่คุณภาพชีวิตจริงๆ ในมิติที่ว่า มีพื้นที่ออกกำลังกายและทำกิจกรรมแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนเวลาเราทำงานในสายคอมเมอร์เชียลคือการได้เห็นมิติของการสร้างภาวะพลเมือง ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของ ความผูกพันกับพื้นที่ เกิดความรักและอยากร่วมกันดูแล เป็นหูเป็นตาให้กับพื้นที่ ผมก็เลยรู้สึกว่านี่แหละคือพลังของการออกแบบที่เราสามารถทำได้โดยที่ผ่านการมีส่วนร่วมได้”
เคสที่ 2: Friends of the River โครงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
“สำหรับ Friends of the River จะเป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วคนในสังคมเขามีความคิดที่อยากให้เมืองดีขึ้นกันทุกคน แต่สิ่งที่ขาดคือพื้นที่ที่จะมาแลกเปลี่ยน รวมทั้งหาทางออกที่ดีเพื่อนำเสนอกับเมือง เมื่อมีการเปิดพื้นที่เพื่อทำหน้าที่สื่อสารองค์ความรู้และนำข้อมูลต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน ก็ทำให้เกิดการรวมพลังของคนจากหลากหลายวิชาชีพและพื้นที่มาร่วมกันทำข้อเสนอ ผมคิดว่านี่แหละคือพลังของการออกแบบในการเชื่อมโยงทรัพยากร สื่อสาร และทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การหยุดยั้งโครงการในแม่น้ำได้ แล้วก็ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องเมืองและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านกิจกรรมที่เราทำได้ด้วย”
เคสที่ 3: we!park ภารกิจสร้างโอเอซิสให้กับเมือง
“ส่วนแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า we!park จะเป็นโครงการคืนพื้นที่สีเขียว ปรับพื้นที่รกร้างให้กลับมามีชีวิต โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ทำงานมาสักกระยะหนึ่งแล้วเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว เมืองยังขาดกลไกในการเคลื่อนทรัพยากร บางคนอาจจะมีที่มีทาง บางคนมีเงิน บางคนมีองค์ความรู้ แต่ว่าทั้งหมดนี้จะมาเจอกันได้อย่างไร เราจึงพาทุกคนมาเจอกันเพื่อช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กในเมืองให้มีมากขึ้น พอแพลตฟอร์มเกิด ก็มีคนติดต่อเข้ามา มีการทำกิจกรรมกับนักศึกษา กับชุมชนในพื้นที่ ก็เหมือนเป็นการขมวดองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การสื่อสาร และการทำกิจกรรมมาเจอกัน แล้วก็สร้างแรงกระเพื่อม ซึ่งแรงกระเพื่อมนี้ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลแค่ในเชิงกายภาพอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อความรู้และความเข้าใจของคนต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกับเมืองด้วย ตอนนี้ เรากำลังขยับไปถึงการขอแก้ไขนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการทำสวนของภาครัฐเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมากขึ้นด้วย”
หนึ่ง: ริเริ่ม | สอง: สร้างความยั่งยืน | สาม: ก่อจิตสำนึกในใจประชาชน
“ผมว่าปกติพวกเราจะอยู่ใน comfort zone กันทุกคน เราเคยทำกันอย่างนี้ก็ดีแล้วหนิ ทำไมจะต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งที่ต่างออกไปหรือทำให้มากขึ้นล่ะ เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยน mindset ของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน หรือชุมชนให้มามองเห็นว่า การที่เราจะมาทำเรื่องแบบนี้ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการสร้างการมีส่วนร่วมนั้นจะทำให้ได้ผลที่ต่างออกไปนะ มันจะยั่งยืนกว่านะ ผมว่าต้องใช้เวลาและกระบวนการพูดคุยพอสมควรในการที่จะดึงแต่ละฝ่ายให้มาเห็นและมีส่วนร่วม อย่างแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ละคนจะมีมุมมอง ข้อจำกัด กฎระเบียบในภาคส่วนเขา เช่น ในมุมของภาครัฐก็จะมีกฎระเบียบมากมายซึ่งบางทีก็ทำให้เป็นข้อจำกัด พอเราเริ่มชวนกันมาทำและทำให้เขาเห็นว่าเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องใช้เวลามากหน่อย ต้องใช้กระบวนการพูดคุยเพิ่มเติม ในอนาคตอาจจะต้องแก้กฎระเบียบข้อนี้เพื่อทำให้ดีขึ้น ยั่งยืนขึ้น นี่คือความท้าทายแรกในการดึงคนออกจาก comfort zone และเปลี่ยน mindset เพื่อให้พวกเขาออกมาทำในสิ่งที่ต่างออกไป
เมื่อโครงการถูกริเริ่มขึ้นมา สร้างแรงบันดาลใจ และเกิดเป็นรูปธรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนได้ในระยะยาว ซึ่งจุดยากหนึ่งก็คือแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางพื้นที่ที่ชุมชนเข้มแข็ง เราก็สามารถส่งต่อให้ชุมชนเข้ามาดูแลและบริหารจัดการกันเองได้เลย ขณะที่บางชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง รัฐอาจจะต้องเข้ามาดูมากหน่อย หรือในกรณีที่รัฐและชุมชนไม่เข้มแข็งทั้งคู่ เราอาจจะต้องเป็นพี่เลี้ยงต่อไป
และตอนนี้เรากำลังเจอท้าทายในสิ่งที่สามก็คือ ทำอย่างไรเราถึงจะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีหรือที่รวบรวมมาจากสองสเต็ปข้างต้นมาส่งต่อและสร้างพลังให้กับคนอื่นๆ เพื่อให้เกิดงานเพื่อส่วนรวมมากขึ้น ดังนั้น กระบวนการที่เราทำ เราจึงเน้นเสมอว่า อยากให้การมีส่วนร่วมนั้น มีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เข้ามาเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา และเราเองก็สามารถส่งต่อทั้งองค์ความรู้และทัศนคติเพื่อให้พวกเขานำไปต่อยอดได้ในอนาคต หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน ซึ่งชุมชนเองก็อาจจะลุกขึ้นมาชวนคิด ชวนคุย ทำข้อเสนอกับภาครัฐเองได้ในอนาคตโดยไม่ต้องมีเราก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังและเป็นความท้าทายต่อไป”
เส้นชัยคือการลงมือทำโดยประชาชนเพื่อประชาชน
“การวัดความสำเร็จของงานภาคสังคม สิ่งแรกเลยที่สามารถวัดได้ตรงสุดก็คือ สิ่งที่เราทำตอบโจทย์กับสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการไหม ถ้าคุณทำสวนสาธารณะ 1 แห่งแล้วสามารถครอบคลุมความต้องการของชุมชนได้ครบถ้วน นั่นคือความสำเร็จแรก โดยระยะนี้เราอาจจะต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยงมากหน่อย
การวัดในลำดับถัดมาก็ต้องดูว่าโครงการที่เราทำ จะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่ยากกว่า ถ้าชุมชนสามารถดำเนินการต่อ มีการร่วมมือร่วมใจที่จะดูแลสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ของเขาต่อ นั่นถือว่าเป็นความสำเร็จในระยะที่ 2 โดยที่รัฐหรือคนภายนอกอาจจะมีส่วนอยู่ในนั้นด้วย
ส่วนเฟสที่เป็น ultimate เลยก็คือ ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้เองเลย เช่นว่า ถ้าในสวนนี้อยากจะจัดกิจกรรมอะไร อยากจะปรับปรุงตรงไหน เขาสามารถที่จะรวบรวมความคิดความเห็นเสนอต่อรัฐได้เอง ติดต่อเอกชนมาช่วยกันระดมทุนได้เอง เป็นการดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางอย่างเรา ซึ่งเราอาจจะถูกชุมชนเรียกตอนที่เขาต้องการเพียงแค่นั้น แต่จะไม่ใช่เราที่เป็นผู้เริ่มต้นในการทำสิ่งเหล่านั้นแทนชุมชนอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ความสำเร็จสูงสุดก็คือการที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งนั่นก็แสดงว่าเขาถูก empower ทางจิตสำนึก รวมถึงองค์ความรู้ ที่พร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องเหล่านี้ได้เองแล้ว”
สร้างวัฒนธรรมการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม
“ตอนนี้ ถ้าเราพูดถึงการทำงานในภาคสังคมมันถูกยกให้เป็นสิ่งพิเศษ แบบที่ยังไม่ได้เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำได้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมก็เลยพยายามทำข้อเสนอเพื่อไปบอกกับภาครัฐว่า ถ้าอย่างนั้น มันจะมีนโยบาย แนวทางปฏิบัติ หรือกลไกอะไรบ้างไหมที่การันตีว่า โปรเจ็กต์ดีๆ ที่เกิดขึ้นสามารถเกิดซ้ำได้อีกและยั่งยืนด้วย รัฐควรมีกระบวนการการมีส่วนร่วมลักษณะไหน บริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดผลตอบแทนแบบนี้ พอมันเกิดแนวปฏิบัติที่ชัด เกิดการทำซ้ำได้ คนเห็นประโยชน์ ก็จะเกิดเป็น domino effect ที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
ขั้นต่อไปที่จะดีมากกว่านี้ก็คือ จะไม่ใช่แค่เรื่องกฎหรือข้อระเบียบแล้ว แต่เป็นวัฒนธรรมในการสร้างเมืองอย่างมีส่วนร่วมในประเทศไทยเลย ยกตัวอย่างเช่นที่สิงคโปร์ที่เขาเริ่มจากกฎหรือข้อระเบียบก่อน มีแนวนโยบายที่ดี แต่มันได้พัฒนาจนกลายเป็นความตระหนักที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศเองว่า ต้นไม้เป็นสมบัติของทุกคน จะมาตัดไม่ได้ พื้นที่สีเขียวมีคุณค่าและประโยชน์ ทั้งช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดโลกร้อน เพิ่มพื้นที่ซึมน้ำมัน เมื่อเกิดเป็นเป็นจิตสำนึกได้ ก็จะนำไปสู่การเป็นวัฒนธรรมที่เราไม่ต้องไปบอกหรือเคี่ยวเข็ญว่าทำไมเราถึงต้องทำเรื่องพวกนี้ เพราะทุกคนต่างคิดได้เองว่านี่คือคุณค่าที่ควรจะต้องเก็บรักษา ควรจะต้องทำ และควรจะต้องมีส่วนร่วม
สิ่งที่จะต้องทำคือการเปลี่ยนในระดับ mindset ของทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ต้องทำ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิดในประเทศเรา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับการที่ให้รัฐเป็นผู้คุมทรัพยากรและอำนาจ ขณะที่เอกชนคุมทุน แต่ประชาชนไม่ได้คุมอะไรเลย เพราะฉะนั้น ประชาชนมีแต่การร้องขอและเรียกร้อง และเราไม่ได้อยู่ในโหมดที่จะทำอะไรได้ เพราะฉะนั้น กลไกสำคัญว่าจะทำให้โครงการสามารถประสบความสำเร็จได้สูงสุดได้นั้นก็คือ รัฐต้องกระจายอำนาจ นักวิชาการและวิชาชีพต่างๆ ต้องกระจายองค์ความรู้สู่ชุมชนและทำให้ทุกคนมีพลังที่จะรวมมือกันเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ด้วยกันได้ ซึ่งผมว่านี่เป็นพื้นฐานของวิธีคิดในการสร้างสังคมที่ดีในทุกๆ เรื่องได้ เป็นสังคมที่ทุกคนเป็นพลังสำคัญในการสร้างเมืองที่ดี ไม่ใช่สังคมที่แห่งการรอ บ่น หรือไม่ไว้ใจกัน ผมว่านั่นไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่”
พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น
“ผมรู้สึกว่าพวกเราขาดความเชื่อมั่นและเชื่อใจกัน มันอาจเป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เอกชนเอาเปรียบเรา สร้างและทำลายสิ่งแวดล้อม ฝั่งรัฐที่ทุจริตและกลไกการทำงานขาดประสิทธิภาพ นั่นทำให้ชุมชนและประชาชนเกิดการต่อต้านและคัดค้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้มาอาจมีถูกบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง แต่ภาพจำในแง่บวกแทบจะไม่มี ทำให้ความเชื่อใจถูกทำลายลง เราไม่เริ่มต้นจากศูนย์นะ แต่เราทุกคนเริ่มต้นจากติดลบหมดต่อมุมมองของการพัฒนาเมืองหรือเรื่องประเทศ เพราะฉะนั้น การที่จะสร้างความเชื่อใจขึ้นมาและนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการจะเดินไปด้วยกันได้ ไม่ใช่สิ่งง่ายเลย
ผมคิดว่าอันดับแรกที่จะต้องทำก่อนก็คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เราไม่ค่อยจะพูดจาหรือพูดคุยกันอย่างมีอารยะหรืออย่างสร้างสรรค์ จริงๆ บทเรียนนี้ผมได้มาจากการทำงานการมีส่วนร่วมกับชุมชน หรือการหาข้อเสนอจากข้อขัดแย้ง ผมว่าแต่ละคนมีมุมมองและข้อเสนอที่ดี เพียงแต่ว่าแต่ละคนไม่มาคุยกัน แล้วปัญหานี้พอได้มาคุยกัน มาแชร์ปัญหา ข้อจำกัด รวมทั้งสิ่งที่เขาอยากเห็น อยากเป็น เพื่อให้เจอข้อตกลงตรงกลาง ซึ่งมันหาได้แน่ๆ แหละ นั่นจะทำให้สังคมพัฒนาต่อไปได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน แต่ว่าด้วยการพัฒนาที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ไว้ใจไม่เชื่อใจกัน ก็เป็นสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้เราไม่เข้าอกเข้าใจกัน ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าตัดสินไปแล้ว เราไม่ให้โอกาสใครอีกต่อไปแล้ว ทุกคนอยู่ฝ่ายนี้ ทุกคนมีอุดมการณ์แบบนี้ เราไม่คุยกันแล้ว ซึ่งผมว่าอันนี้คือ lost ทีนี้ถ้าจะต้องพัฒนาต่อ เราต้องใช้ empathy นำ แล้วเป็น empathy ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในมุมของเราหรือเขาอย่างเดียว แต่คุณต้อง empathy ในภาพที่ใหญ่ ภาพของสังคม ของธรรมชาติ ของคนในรุ่นที่จะอยู่ต่อจากเรา สิ่งที่มีในสังคมมันไม่ใช่ของของเราคนเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่จะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ lost เราไม่ใช่ lost แค่ในคนรุ่นเรานะ แต่มัน lost ไปไม่รู้กี่รุ่นแล้ว
ปัญหาของเมืองและโลกมีอยู่เต็มไปหมด มันมาทุกขนาดและหลากหลายมาก ซึ่งถ้าเราไม่ร่วมมือ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่เข้าอกเข้าใจกันอย่างจริงจัง เราจะทะลวงความท้าทายนี้ไม่ได้เลย และที่สำคัญคือสังคมไทยไม่ค่อยคุยกัน ไม่คุยกันบนข้อมูลและข้อเท็จจริงแบบที่นำไปสู่แนวทางสร้างสรรค์หรือต่อยอดได้ แต่เราอาจจะมี emotion เยอะมากในบางกรณี ซึ่งผมว่าถ้าเราสมดุลทั้ง emotion และ innovation ได้ จะทำให้เราเห็นบางอย่างทะลุได้จริงๆ เรื่องบางเรื่องมันไม่สามารถชนะกันด้วยข้อเท็จจริง เราอาจต้องมองอย่างเข้าอกเข้าใจ เห็นปัญหา เห็นประเด็น ซึ่งบางครั้งมันต้องใช้ใจในการตัดสินด้วยซ้ำว่าคุณเห็นว่าอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะคลี่คลายถ้าได้คุยกันอย่างสร้างสรรค์”
โลกจะกว้างเมื่อมองความต่างอย่างเข้าใจ
“การทำงานในภาคสังคมทำให้ผมมองเห็นโลกที่ชัดขึ้นนะ เมื่อก่อนผมทำงานกับเอกชน ผมก็มองในมุมเอกชน พอไปทำงานกับรัฐก็มองในมุมรัฐ พอได้ทำงานในฐานะนักรณรงค์กับชุมชน ผมก็ได้เห็นมุมมองจากบทบาทตรงนั้น ดังนั้น เมื่อเราอยู่และเห็นในหลายๆ มุมแล้ว ก็ทำให้ภาพทั้งหมดชัดเจนขึ้นว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาของโลกหรือสังคมมีทางออกเสมอ ถ้าได้นำแต่ละมุมมาเจอกัน ปัญหาที่มีมันซับซ้อนกว่าที่เราเห็นมาก ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพอย่างเดียว แต่เป็นมิติทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ เรื่องกฎหมายด้วย พอได้เห็นโลกชัดขึ้น ก็ทำให้เราเห็นทางออกบางอย่างได้เหมือนกัน
เมื่อก่อนผมเชื่อมั่นในเรื่องของการออกแบบว่ามันคือคำตอบทั้งหมด เป็น powerful tool แต่ต่อมาผมเห็นแล้วว่าโลกของเราไม่ได้มีแค่เครื่องมือเดียว แต่มีอีกหลายเครื่องมือมากที่จะทำให้สังคมคลี่คลายไปได้ ด้วยการเป็นนักออกแบบก็อาจจะเป็นข้อดี เพราะเรามีทักษะในการจะหยิบจับเครื่องมือต่างๆ มาปรับใช้ สร้างภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม แล้วก็ชวนคนมาสนทนา เอาเครื่องมือที่แตกต่างมาใช้ แล้วก็ทำให้เราเห็นว่า สุดท้ายเราต้องร่วมมือกัน เราทำคนเดียวไม่ได้จริงๆ กับเรื่องนี้ เมื่อก่อนผมจะมองทุกอย่างว่า คนนี้คือผู้ร้าย คนนี้คือคนดี แต่สุดท้ายในโลกของความเป็นจริง เราต้องมองให้ออกว่าไม่มีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายเสมอไป แล้วการได้เห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวระหว่างเส้นทางสายนี้ก็ทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้นด้วย”
ก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
“การทำงานในภาคสังคมสิ่งสำคัญคือเราต้องไม่หยุดที่อยากจะทำเรื่องเหล่านี้ เราต้องหล่อเลี้ยงไฟตัวให้ครุกรุ่นตลอดเวลา ใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร คุณอาจเริ่มจากการเปิดตัวเองกับสิ่งที่เข้ามา แล้วก็นำพาตัวเราไปอยู่ในจุดที่เราอยากจะต่อยอดเพื่อไปสู่สิ่งที่เราอยากทำ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน สำหรับผม ผมก็อาจจะเริ่มจากการทำข้อเสนอบางอย่างโพสต์ลงเฟสบุ๊ก พอสักพักเมื่อเห็นเขามีกิจกรรมอะไร มีสัมมนาอะไร เราไปให้ความเห็น มีการรณรงค์อะไร เราก็ไปช่วย มีเวิร์กช็อปอะไร เราเข้าไปร่วม
สำหรับผม จิ๊กซอว์แต่ละตัวจะประกอบเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นและเปิดโอกาสกับเรามากขึ้น การเข้าไปร่วมทำกิจกรรมบางอย่างอาจจะนำให้เราไปรู้จักกับคนคนนี้ แล้วทำให้รู้จักกับประเด็นนี้ รู้จักกับคนอีกคน มองโลกได้กว้างขึ้น เช่น ถ้าคุณสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ลองเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เขามีเรื่องพวกนี้ แล้วลองดูว่าเราสามารถเป็นกระบอกเสียงหรือมีส่วนช่วยตรงนั้นได้อย่างไร แล้วมันจะสร้างประสบการณ์กับการเรียนรู้ ที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้เราทำสิ่งที่ใหญ่ขึ้น แล้วก็เชื่อมต่อไปกับคนได้มากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงจะเล็กหรือใหญ่มันไม่สำคัญนะ ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือการไม่ละทิ้งความตั้งใจของตัวเองและลงมือทำ แล้วก็ต้องกลับมาถามตัวเองด้วยว่า เส้นทางทั้งหมดที่คุณขีดขึ้นนั้น ในแต่ละก้าวที่คุณเดินไป มันตอบสนองกับเป้าหมายที่คุณตั้งใจไว้ไหมและมากแค่ไหน บางที stepping stone เล็กๆ ของคุณอาจจะเป็นการสร้างโอกาสบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนอื่นเลยก็ได้”
ภาพ: Courtesy of Creative Citizen
ภาพเพิ่มเติมและอ้างอิง: www.shmasoen.com, www.shmadesigns.com, Facebook: Friends of the River, Facebook: We Park