‘a-chieve’ ธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยให้เด็กไทยเลือก ‘อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ’ ด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปี ก่อน นักศึกษากลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งได้เลือกการเดินทางชีวิตให้ต่างออกไป จากวิถีของเด็กจบใหม่ที่ต่างแข่งขันเพื่อให้ตัวเองได้ทำงานในองค์กรและธุรกิจกระแสหลัก สู่เส้นทางการพัฒนาด้านการศึกษาที่พวกเขาได้สร้างธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเองขึ้นในนาม ‘a-chieve’ (อะชีฟ) กับมุมมองที่ว่า ‘อาชีพและการประกอบอาชีพเป็นสิ่งบ่งบอกตัวตน มีความสัมพันธ์และมีบทบาทหน้าที่ รวมถึงสะท้อนประโยชน์ที่ตัวเรามีต่อคนรอบข้างและสังคม’ สิ่งที่สมาชิกทั้ง 7 อันประกอบไปด้วย นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย (วิน), ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย (เอิร์ธ), ภนิธา โตปฐมวงศ์ (ต่าย), กฤษฎิ์ ใบสิริกุล (ผิง), ณัฐกานต์ วงศ์พิมพ์ (โบ) ชญาภรณ์ ชัยพล (น้ำ) และ พิมพ์พร วิชาโคตร (พิมพ์) สนใจจึงเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการแนะแนวอาชีพ การสนับสนุนข้อมูลและสื่อที่จำเป็นต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการออกแบบกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการแนะแนวอาชีพในรูปแบบ Job Shadow ซึ่งเปิดกว้างให้เด็กมัธยมสามารถสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริง รวมไปถึงการพัฒนาฐานความรู้เรื่องอาชีพแบบออนไลน์เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้มีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตในอนาคต

นอกจากการบอกเล่าที่มาที่ไป ความคิด กระบวนการทำงาน และความคาดหวังของพวกเขาแล้ว การพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มนี้อย่าง นรินทร์ หรือ วิน ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายประเด็น ทั้งความเป็นไปในแวดวงการศึกษาของไทย ตลอดจนปัญหาและแนวทางแก้ไขในแบบ a-chieve ด้วย

(จากซ้ายไปขวา) ชญาพร ชัยพล (น้ำ), ณัฐกานต์ วงศ์พิมพ์ (โบ), นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย (วิน), ภนิธา โตปฐมวงศ์ (ต่าย), ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย (เอิร์ธ)

Q: อะไรเป็นแรงขับดันให้เลือกมาทำงานสายสังคม แทนที่จะไปในสายหลักหรือในสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา?

A: ต้นทางของ a-chieve มันเริ่มตั้งแต่ที่ผม เอิร์ธ และต่าย มีโอกาสได้ทำค่ายที่อาสาพัฒนาชนบสมัยที่ยังเรียนอยู่ที่เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความที่เราทำค่ายมาตลอด มันก็มี mindset ที่ตรงกันว่าเราอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ช่วงปี 4 เรามีโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ Climate Cool ที่จัดขึ้นโดย Youth Venture ร่วมกับ British Council และ นิตยสาร a day แล้วเราก็เสนอเรื่องรถเมล์ลดโลกร้อน โครงการนั้นพาพวกเราไปเจอพี่ๆ กลุ่มใหม่และได้รู้จักกับคำว่า Social Enterprise ในระดับหนึ่ง ได้รู้ว่ามีสถาปนิกที่ทำงานกับชุมชนชื่อ Open Space ได้เจอพี่ดาว (เพ็ญรพี ราอินทรา) จาก British Council และพี่นุ้ย (พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์) จาก Youth Venture ซึ่งกลายเป็นพี่ๆ ที่ปรึกษาของทีมมาตลอด เป็นการเปิดโลกเลยว่ามันมีการทำงานรูปแบบนี้อยู่ด้วยนะที่ทำเพื่อคนอื่นๆ แต่ก็สามารถอยู่รอดได้ด้วย ช่วงที่เรียนจบ เราแยกย้ายกันไปพักหนึ่ง จนกระทั่งต่ายมาชวนผมกับเอิร์ธว่าเราลองมาทำอะไรด้วยกันไหม อะไรที่สามารถแก้ปัญหาสังคมไปด้วย แล้วก็เลี้ยงตัวเองได้ด้วย

Q: เหตุผลที่เลือกทำงานด้านการศึกษาล่ะ?

A: จากนั้นเราก็เริ่มต้นหาประเด็นที่สนใจ ลงพื้นที่และลองรีเสิร์ชหลายๆ ปัญหาที่มีในสังคม แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ประเด็นไหนกันที่เราคิดว่าจะช่วยเขาได้จริงๆ ซึ่งก็มาเจอกับปัญหาหนึ่งจากน้องของต่ายที่กำลังจะขึ้น ม.4 แล้ว แต่ยังเลือกไม่ได้ว่าจะเรียนสายอะไร ไม่เห็นผลที่ชัดเจนว่าหากเลือกทางนี้แล้วมันจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าถ้าเลือกผิดจะส่งผลอะไร ไม่มีข้อมูลอะไรเลย ซึ่งพอพูดถึงปัญหานี้ ทำให้พวกเรามานึกย้อนว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เกิดกับน้องแค่คนเดียว พวกเราเลยลองวาดใส่กระดาษดู จนเห็นว่ามันเป็นปัญหาระดับประเทศเลยว่าเด็กมัธยมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าตัวเองสนใจหรืออยากจะทำอะไรในอนาคต เราเห็นมาตั้งแต่รุ่นตัวเอง รุ่นพี่ มันมีมาตลอด แต่ไม่มีใครแก้เลยทั้งที่มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เลยหยิบประเด็นนี้ไปปรึกษาพี่นุ้ยและพี่ดาว ซึ่งพี่ๆ ก็โยนโจทย์กลับมาว่า แล้วที่อื่นๆ ล่ะ เขาทำกันอย่างไร เราหาข้อมูลจนไปเจอโครงการหนึ่งที่เรียกว่า Job Shadow ที่เด็กมัธยมในอเมริกาจะไปนั่งสัมภาษณ์คนทำงานในแต่ละอาชีพ 1 วัน ซึ่งมันน่าสนใจและน่าจะตอบโจทย์ แต่ที่เราอยากให้เกิดคือนอกจากสัมภาษณ์แล้ว เราอยากให้เด็กๆ มีโอกาสได้ไปทำงาน ลงสนามจริงเลย เพราะเด็กไทยจะไม่ค่อยมีประสบการณ์แบบเด็กๆ ในต่างประเทศ ผมเอาประสบการณ์จากที่ได้มีโอกาสไปอยู่อเมริกาช่วงหนึ่ง ได้ไปคุยกับเด็กมัธยมที่นั่นซึ่งพอถามว่าอยากจะเรียนอะไร เขาจะไม่ตอบว่าเขาจะเรียนอะไรนะ แต่บอกเลยว่าจะเป็นหมอฟัน อยากเป็นทหาร ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมเขาถึงรู้ว่าอยากทำอะไรล่ะ ขณะที่เด็กไทยจะยังไม่ค่อยรู้ มันอาจเป็นเพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน การตั้งคำถาม มุมมอง การได้อยู่ในโลกการทำงานเร็วกว่าฝั่งเรา ซึ่งมันกลายเป็นจุดเริ่มของการเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากทำด้วย นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราอยากทำงานกับน้องๆ มัธยม เราเลยตั้ง a-chieve ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่กลางที่จะให้น้องๆ มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ในสนามจริง ซึ่งพี่นุ้ยก็แนะนำให้เราเข้าไปคุยกับพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) ซึ่งกำลังทำโครงการที่เกี่ยวกับสังคมอยู่ คุยจบวันนั้น พี่โหน่งบอกทำเลย นั่นคือจุดเริ่มต้น โดยมีพี่โหน่งช่วยในเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่งและได้ทำโครงการแรกชื่อ Future Prefect Project: โตแล้วไปไหน? ขึ้น

Q: เป้าหมายที่ a-chieve อยากจะเห็นคืออะไร?

A: a-chieve (อะชีฟ) มาจากคำว่า ‘achieve’ ที่แปลว่า ประสบความสำเร็จ และมันก็อ่านเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘อาชีพ’ ด้วย ความเชื่อหลักของเรา ก็คือการตามหา ‘อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ’ เพราะเรามองว่าอาชีพกับชีวิตมันเป็นเรื่องเดียวกัน คนคนหนึ่งถ้าได้เจออาชีพที่ใช่แล้ว มันก็คือชีวิตของเราแล้ว ทำให้ทุกวันที่เราทำงาน จะไม่รู้สึกว่าทำงาน แต่คือการใช้ชีวิต เมื่อได้ทำในสิ่งที่รักทุกๆ วัน วันจันทร์-ศุกร์ มันจะไม่มีแล้ว เราอยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ คืออยากให้เด็กมัธยมทุกคนรู้สึกว่าช่วงปิดเทอมหรือแม้กระทั่งช่วงเสาร์อาทิตย์เป็นช่วงที่เขาต้องออกมาค้นหาตัวเอง ที่ไม่ใช่เรียนอย่างเดียว เราอยากสร้างวัฒนธรรมและทัศนคตินี้ให้กับเด็กไทยที่เรียนไปด้วยและค้นหาตัวเองไปด้วยว่าคุณอยากจะเป็นอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร และสิ่งไหนที่เหมาะกับตัวคุณ

Q: การจะสร้างวัฒนธรรมแบบนั้นได้ a-chieve เริ่มจากอะไร?

A: อันดับแรกคือเราจะสร้างกระบวนการที่จะสนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กรู้สึกกันเองว่าเรื่องนี้สำคัญกับเขามาก ซึ่งมันควรจะมีกิจกรรมรองรับน้องๆ ให้ได้ทั่วประเทศ ถ้าเขาเรียนโดยที่มีเป้าหมาย เขาก็จะรู้ว่าทุกวันที่เรียน เขาเรียนไปเพื่ออะไร เมื่อมีกิจกรรม มีพื้นที่แล้ว อันดับต่อมา เราอยากสร้างฐานข้อมูลเพื่อรองรับความต้องการของพวกเขาด้วย สิ่งที่เราเตรียมถัดมาก็คือการสร้างข้อมูลอาชีพเพราะตอนที่เราเริ่มทำมันไม่มีข้อมูลเลย สมมติว่าเด็กคนหนึ่งอยากรู้ว่าอาชีพหมอมีหมออะไรบ้าง มีการเรียนเฉพาะทางกี่แบบ แต่ละแบบทำงานอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ทำงานแบบนี้เขาชอบและเหมาะกับเขาไหม สร้างเครือข่ายพี่ต้นแบบอาชีพ ทั้งในรูปแบบขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวบุคคลที่พร้อมจะให้ความรู้และประสบการณ์แก่เด็กๆ ในเรื่องของอาชีพ สุดท้ายก็คือหลักสูตรแนะแนวที่คุณครูแนะแนวสามารถนำไปใช้เพื่อเอาไปจัดการกับเด็กในโรงเรียนได้เลย

Q: โครงสร้างองค์กรของ a-chieve เป็นอย่างไร?

A: เราเป็นทีมเล็กๆ จึงแบ่งหน้าที่ตามความรับผิดชอบนะครับ วินจะดูการตลาดเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเรื่องโซเชียลมีเดียและการสื่อสารประชาสัมพันธ์งานต่างๆ กับคนทั่วไปและน้องๆ สำหรับเนื้อหาและกระบวนการทั้งหมดจะเป็นต่ายกับเอิร์ธที่จะคิดเนื้อหากิจกรรมทั้งหมดไปจนถึงการคิดวิธีการว่าทำอย่างไรให้คนเข้าร่วมได้รับประโยชน์สูงสุด มีผิงที่คอยช่วยคิดแผนการตลาดและทำให้ a-chieve มีความยั่งยืน มีน้องน้ำและน้องโบที่จะเป็นโปรเจ็กต์เมเนเจอร์ดูภาพรวมของแต่ละกิจกรรม และมีน้องพิม น้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาดูแลเรื่องงานออกแบบกราฟิกต่างๆ ของ a-chieve

Q: โครงการแรกที่เริ่มคืออะไร?

A: เราเริ่มจาก ‘a-chieve shadow: โตแล้วไปไหน?’ เป็นกิจกรรมแนะแนวอาชีพในรูปแบบ Job Shadow ที่จะเปิดพื้นที่ให้น้องๆ มัธยมที่สนใจสมัครเข้ามาเพื่อเรียนรู้การทำงานจริง ซึ่งปัจจุบันเรามีอาชีพที่เปิดรับสมัครมากกว่า 30 อาชีพ เช่น แพทย์ บรรณาธิการนิตยสาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เกษตรกร โปรแกรมเมอร์ ทีวีโปรดิวเซอร์ สถาปนิกชุมชน พีอาร์ อีเว้นท์ออร์แกไนเซอร์ นักจัดแต่งดอกไม้ กราฟิกดีไซน์ โดยเรากำหนดว่าให้เด็กไปไม่เกินอาชีพละ 2 คน และก่อนที่จะส่งน้องไปฝีกงานเราจะมีเวิร์คช็อปกระบวนการค้นหาตัวเองและเป้าหมายอาชีพ เพื่อให้เด็กได้มีวิธีคิดสามารถกลับไปค้นหาตัวเองและเป้าหมายด้วยตัวเองเขาเองภายหลังจากจบโครงการด้วย

Q: นอกจาก a-chieve shadow: โตแล้วไปไหน? มีกิจกรรมอื่นๆ อีกไหม?

A: นอกจาก โตแล้วไปไหน? ที่จะจัดปีละ 2 ครั้ง คือปิดเทอมเดือนเมษายนกับปิดเทอมตุลาคมแล้ว ก็จะมีอีกโครงการคือ ‘ฟักฝันเฟส’ (www.fukfunfest.com) เป็นเทศกาลสำหรับแนะแนวอาชีพที่เปิดพื้นที่ให้เด็กมัธยมจากทั่วประเทศเข้ามาค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยจะมีพี่ต้นแบบอาชีพมากกว่า 60 อาชีพมาให้ข้อมูลอาชีพของตนเองแก่น้องๆ ในงาน ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ประจำปีของเรา และเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2560 นี้ เราจะมีโครงการ ‘Openworld: เปลี่ยนความชอบเป็นอาชีพ (a-chieve.org) เป็นกิจกรรมแนะแนวอาชีพที่รวบรวมรุ่นพี่ต้นแบบอาชีพให้มาพูดคุย มาเล่าวิธีการทำงาน เรื่องราวอาชีพของตัวเองให้น้องๆ ได้เห็นภาพเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนอนาคตได้ ซึ่งเด็กๆ จะได้รู้ว่าถ้าเขาชอบภาษา ชอบเลข ชอบเคมีชีวะ หรือแม้กระทั่งชอบสัตว์ ความชอบของเขาจะนำไปสู่อาชีพอะไรได้บ้าง

ที่จะเพิ่มมาอีกสองสามส่วนคือ ส่วนแรก เราพัฒนาหลักสูตรแนะแนว ซึ่งเรากำลังนำหลักสูตรแนะแนวนี้ไปทดลองที่โรงเรียนบ้านเกาะรัง จังหวัดลพบุรี เพื่อให้หลักสูตรนี้สามารถนำไปใช้ขยายผลต่อทั่วประเทศ ส่วนที่สองคือเรากำลังทำข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ ซึ่งเราสัมภาษณ์รุ่นพี่ต้นแบบทุกคน หรือแม้กระทั่งคนที่เคยเข้าร่วมกับเราก่อนหน้านี้เพื่อทำเป็นข้อมูลออนไลน์ให้น้องๆ โดยจะปล่อยในปีนี้เพิ่มเติมอีก 100 อาชีพ จากก่อนหน้าที่มีประมาณ 30 อาชีพ และส่วนที่สามคือการสร้างเครือข่ายกับพี่ๆ ต้นแบบ เราส่งรายงานที่ทำสรุปให้เขาเห็นตลอดว่าแต่ละปีเราทำอะไร และสิ่งที่น้องๆ ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับความรู้จากพวกเขาเป็นอย่างไร สำหรับเวลาที่จะมีกิจกรรม เราก็จะเชิญพี่ๆ เหล่านี้มาให้ความรู้กับน้องๆ ได้ต่อไป

Q: ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง เป้าหมายหรือความคาดหวัง?

A: สำหรับงาน โตแล้วไปไหน? สิ่งที่น้องๆ ได้คือจะเข้าใจมุมของอาชีพต่างๆ เยอะขึ้น เพราะได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ได้เจอคนทำงานจริงๆ ในช่วง 2 อาทิตย์ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาสงสัย อยากรู้ อยากเห็น ก็จะได้รู้ทั้งหมด การปรับมุมมองหรือแม้กระทั่งความรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดคือหลังจากที่เขาได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง เช่น มีน้องคนหนึ่งมาบอกเราว่าเวลาอาจารย์สั่งการบ้านว่าพรุ่งนี้ต้องส่งงานนะ ถ้าเป็นแต่ก่อน เขาก็จะเหมือนกับเพื่อนๆ ที่ขอเวลาอาจารย์มากกว่านี้ แต่ตอนนี้เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะรู้สึกว่าในอนาคต ถ้ามันเป็นเรื่องของการทำงาน คุณต้องส่งงานพรุ่งนี้ก็คือพรุ่งนี้ จะไปโอดโอย ต่อรองไม่ได้ ซึ่งทำให้เราเห็นเลยว่าความคิดเขาเปลี่ยนไป
สิ่งที่เป็นผลพลอยได้คือเด็กๆ จะได้เจอเพื่อนใหม่ที่มีความสนใจหลากหลาย ทั้งแพทย์ เกษตรกร กราฟิกดีไซน์ เอเจนซี่โฆษณา สถาปัตย์ ซึ่งเมื่อพวกเขาอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน มันจะกลายเป็นคอนเน็คชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าอยากทำงานศิลปะหรือสร้างสรรค์ให้ไปติดต่อเพื่อนคนนี้นะ รวมถึงการเชื่อมสัมพันธ์กับพี่ๆ ต้นแบบด้วย อย่างพี่กราฟิกดีไซน์รุ่นล่าสุดก็มาเล่าให้เราฟังว่ายังมีน้องๆ มาคุย มาถาม มาปรึกษาสิ่งที่พวกเขาอยากรู้ หรือแม้กระทั่งน้องบางคนตอนฝึกงานก็กลับไปฝึกกับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่พวกเขาได้จากโครงการนี้จริงๆ

Q: ผลลัพธ์ที่เราเห็นจากเด็กๆ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีรูปแบบไหนบ้าง?

A: ที่เราเจอจะมี 2 แบบ แบบแรกคือคนที่ตัดสินใจเลยว่า เฮ้ย ทางนี้ใช่ อาชีพนี้ใช่แน่ๆ เขาก็จะไปสุดเลย ตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมที่มันเกี่ยวกับงานสายนี้ มีคนหนึ่งสนใจด้านพีอาร์เอเจนซี่ หลังจากที่ได้รู้ว่าอาชีพนี้เป็นอย่างไร พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นเด็กกิจกรรมและทำงานเลยตั้งแต่ปี 1 ทำจนเลี้ยงที่บ้านได้ตั้งแต่ปี 1 ปี 2 แบบนี้คือเขามาพร้อมความตั้งใจซึ่งก็ทำให้เขาไปได้แบบสุดมาก

กับแบบอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือเป็นเด็กที่ที่บ้านอยากให้เรียนหมอ แต่ตัวเองสนใจด้านนิเทศศาสตร์ ก็ไปตามพี่ต้นแบบที่เป็นบรรณาธิการ พอได้รู้ด้านนี้แล้ว เขาก็ยังรู้สึกว่า…แต่เรื่องหมอเขายังไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไรก็เลยไปโอเพ่นเฮ้าส์แพทย์ จนกระทั่งได้เจออาชีพที่อยู่ระหว่างนิเทศศาสตร์กับแพทย์ เขาก็เลือกเข้าคณะนั้นที่ทำสื่อทางการแพทย์ ซึ่งได้เรียนทั้งที่เกี่ยวกับแพทย์ ความรู้เรื่องร่างกายทั้งหมด พร้อมๆ กับงานด้านสื่อทุกอย่าง ทั้งการตัดต่อวิดีโอ ถ่ายรูป อินโฟกราฟิก ตอนนี้ก็กำลังทำธีสิสจบอยู่

Q: a-chieve มีการติดตามผลของน้องๆ หลังจากจบโครงการแต่ละครั้งบ้างไหม?

A: เมื่อจบแต่ละโครงการ เราจะติดต่อกับน้องๆ ตลอด ตั้งแต่รุ่น 1 ก็ยังได้เจอกันอยู่ ซึ่งเราจะมีกรุ๊ปในเฟซบุ๊คที่ใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อม a-chieve กับเด็กๆ อย่างเวลาที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เราจะเปิดรับอาสาสมัคร ก็จะมีน้องแต่ละรุ่นสนใจเข้ามาช่วยเป็นสต๊าฟให้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เขาได้มาเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอได้แล้ว มันก็เป็นโอกาสให้พวกเราได้อัพเดทชีวิตกับน้องๆ ด้วยว่าตอนนี้เป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ เจอปัญหาอะไรไหม อยากให้พวกเราช่วยอะไร ซึ่งมันเป็นสิ่งเรารู้สึกดีนะที่เวลาพวกเขามีปัญหาแล้วกลับมาคุย เห็นเราพึ่งพาและให้คำปรึกษาได้ พอเป็นแบบนี้มันเลยกลายเป็นอีกบทบาทที่เราจะติดตามน้องๆ ไปเรื่อยๆ


Q: การเริ่มทำองค์กรของตัวเองแบบที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานจริงมาก่อนสำหรับ a-chieve ได้เรียนรู้อะไรระหว่างในตลอด 7 ปีที่ทำงานบ้าง?

A: หลักๆ ก็คือเราได้เจอปัญหาของ Social Enterprise ที่เราต้องมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมและต้องทำให้ธุรกิจอยู่รอดไปด้วย เรามีคอนเทนต์ที่แข็งแรง เราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กๆ ประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากกิจกรรมที่เราจัดก็จริง แต่โมเดลธุรกิจ ทีมผมอ่อนมาก (หัวเราะ) แต่ละคนไม่ได้มาจากสายธุรกิจ แล้วพอเรียนจบก็เริ่มทำกันเลย ไม่มีใครมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรภาคธุรกิจมาก่อน know how เรื่องธุรกิจนี่แทบเป็นศูนย์ แต่เราได้พี่ๆ ทั้งที่ School of Changemakers ที่ให้คำปรึกษาเรื่องนี้ รวมถึงพี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) มาช่วยเรื่องแบรนดิ้ง ทำให้ a-chieve มีจุดยืนที่ชัดเจน จนถึงตอนนี้เรายังรู้สึกอยู่เลยว่าเราโชคดีมากที่ได้เจอพี่ๆ เจอคนที่คอยช่วยเหลือ และทุกคนตั้งใจอยากจะช่วย แล้วก็ช่วยเราได้จริงๆ

Q: แล้ว business model ของ a-chieve เป็นอย่างไร?

A: เรื่องธุรกิจ ด้วยเราทำงานกับเด็กๆ มันต้องคิดเยอะ ทั้งเรื่องการเก็บสตางค์ รวมถึงทำการตลาดอย่างไร สื่อสารอย่างไร เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของงานนั้นๆ ตรงนี้ก็ยังเป็นส่วนที่เรายังจัดการได้ไม่ค่อยดีมากนัก ตอนนี้โมเดลรายได้ของเรามาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกจะมาจากกิจกรรมที่เก็บค่าเข้าจากคนเข้าร่วมโดยตรง อีกส่วนจะเป็นโมเดลที่มีสปอนเซอร์เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าร่วมได้ฟรี และแบบ CSR ที่เราจัดร่วมกับบริษัทต่างๆ โดยเข้าไปทำกิจกรรมภายในโรงเรียน

Q: ในช่วง 7 ปี ที่อยู่ในภาคการศึกษาของไทย เห็นปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้สุดท้ายแล้ว มันต้องมีองค์กรอย่าง a-chieve เกิดขึ้น?

A: ถ้ามองในมุมของงบประมาณ ต้องถือว่ามันล้มเหลว งบประมาณที่แทบจะเป็นอันดับหนึ่งหรือสองของประเทศ เราใช้ไปกับการศึกษานะ แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ อย่างเรื่องที่เราทำอยู่ เด็กจะเลือกสายการเรียน ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าอยากเรียนอะไร เพราะอะไร หรือคณะนี้จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง มันเหมือนเป็นการผลิตแรงงานที่ไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ ออกมาเป็นคนที่ไม่ได้อยากทำอาชีพนี้ ทำให้เราได้คนที่ไม่พร้อมที่จะออกไปทำงาน 8 ชั่วโมงแบบเต็มที่ หรือแม้กระทั่งอยากที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกๆ วัน

ปัญหาที่เจอจริงๆ เรามองว่ามันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของแนะแนวหรือเด็กไม่ได้ค้นพบตัวเอง มันมีเรื่องอื่นๆ อีกอย่างเช่น ความไม่เท่าเทียมกันของมาตรฐานการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนต่างจังหวัด ยกตัวอย่างหนึ่งที่ได้เจอตอนไปทำค่ายที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2 ปี ที่แล้ว น้องกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็มาปรึกษาว่าเขาอยากเป็นหมอ แต่เขาหาหนังสืออ่านยากมากเลย แต่พอมาถามเด็กๆ ในเมืองที่โรงเรียนมีเอกสารทุกอย่าง ในห้างมีร้านหนังสือที่พร้อม หรือบางวิชาที่เด็กต่างจังหวัดก็ไม่ได้เรียน ไม่มีสอนในโรงเรียนถ้าเขาไม่ได้ไปเรียนพิเศษ ถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่านหนังสือเอง แต่เด็กในเมืองมีเพราะได้เรียนพิเศษ นี่แค่จังหวัดที่อยู่ห่างกันแค่ 3 ชั่วโมง เราเห็นเลยว่าต่างกันมากแค่ไหน

Q: ในมุมของ a-chieve อะไรคือทางแก้?

A: ถ้ามุมของ a-chieve เราอยากผลักดันสิ่งที่เราทำไปอยู่ในหลักสูตร คือจะทำอย่างไรให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพ มีข้อมูลเรื่องอาชีพ ให้เขาได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง เพราะมันเป็นจุดเริ่มให้เด็กได้รู้จักตัวเอง รู้ว่าที่กำลังเรียน เรียนไปทำไม ถ้าเด็กได้รู้ตรงนี้ เรื่องเกรด เรื่องเรียน หรือความมุ่งมั่นที่อยากพัฒนาตัวเองมันจะตาม ถามว่าในหลักสูตรมีไหมเรื่องการแนะแนว – มีอยู่นะครับ แต่ยังไม่ได้รับความสำคัญมากนัก อย่างเช่น ในโรงเรียนที่มีเด็กประมาณ 500-1,000 คน มีครูแนะแนวไม่เกิน 2 คน ซึ่งนั้นหมายความว่า ครู 2 คน ต้องดูแลเด็กจำนวนเท่านี้ ซึ่งเรื่องของการแนะแนว มันเป็นรูปแบบการพูดคุย ให้คำปรึกษา มันต้องใช้เวลาและต่อเนื่องด้วย

Q: แล้วปลายทางที่ a-chieve อยากเห็นคืออะไร?

A: จุดสุดท้ายที่เราอยากเห็นคือการเกิดวัฒนธรรมที่เด็กต้องอยากออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากเห็นโรงเรียนและองค์กรในทุกๆ จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐหรือเอกชน มีโครงการในลักษณะของ Job Shadow ของตัวเองที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ สามารถมาเรียนรู้วิธีการทำงาน หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละอาชีพ ได้แลกเปลี่ยนกับคนในแวดวงนั้นจริงๆ ซึ่งผมคิดว่าองค์กรเหล่านั้นนี้แหละที่พร้อมที่จะให้ความรู้น้องๆ ได้จริง

Q: ที่เราเห็นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเช่นกิจกรรม open house ยังไม่เพียงพอหรือ?

A: อาจะเป็นเพราะ open house ไม่ได้ให้ภาพหลังจากเรียนจบ เพราะคนที่มาให้ภาพก็ยังเป็นน้องๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งที่เด็กต้องการน่าจะเป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ภาพการเรียนการสอนทั้งคณะ รายละเอียด หรือความแตกต่างของคณะที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เช่น เด็กบางคนยังสับสนอยู่เลยว่าหากเขาชอบเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เขาจะต้องไปเรียนคณะไหน ระหว่างวิศวะคอมฯ หรือวิทย์คอมฯ แล้วสองคณะนี้เรียนต่างกันอย่างไร เรียนเพื่อไปทำอะไรได้บ้าง หรือแม้กระทั่งการให้พี่ๆ ที่จบจากคณะเหล่านี้มาเล่าถึงกระบวนการทำงาน ถ้า open house ให้ภาพลักษณะนี้ได้ ก็จะทำให้เด็กๆ เข้าใจและตัดสินใจได้มากขึ้น

Q: จนถึงตอนนี้ได้อะไรจากการทำงานบ้าง ทั้งในภาคสังคมและภาคธุรกิจ?

A: ในมุมสังคม – การมีโอกาสได้ฟูมฟักให้เด็กคนหนึ่งเจอเป้าหมาย หรือมากไปกว่านั้นคือการได้เจอชีวิต ได้ทำสิ่งในที่มีความสุข มีโอกาสได้เปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งให้ไปในทางที่เหมาะกับเขา แค่นี้เราก็รู้สึกมีความสุขมากแล้ว แต่นี่เราไม่ได้ทำให้แค่คนเดียว แล้วก็ยังเจอหน้าพวกเขาทุกๆ ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ได้เห็นว่าชีวิตแต่ละคนกำลังดำเนินไป เรารู้สึกว่าถ้าอนาคตตอนที่เราแก่ตัวแล้วเห็นน้องๆ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เราคงมีความสุขมาก ซึ่งนี่มันเป็นผลที่มีต่อสังคมและต่อตัวเราเองด้วย

ถ้าในมุมธุรกิจ – เราได้เจอเรื่องใหม่โจทย์ใหม่ทุกวันและทุกปี แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหานะครับ แต่รู้สึกแค่ว่ามันต้องทำเพื่อให้อิมแพคมันขยาย สิ่งต้องทำคือการเรียนรู้และพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้มันถูกต้องและเหมาะกับพวกเรา ให้มันไปต่อได้

ถ้าในมุมของคนทำงาน – อย่างที่บอกคือเป้าหมายของเราคืออยากเห็นปัญหาถูกแก้ เราคงรู้สึกดีมากๆ ถ้าได้เห็นภาพว่าสิ่งที่เราทำมันเกิดขึ้นทั่วประเทศ แล้วเป็นเด็กที่อยากที่จะทำมันเอง หรือแม้กระทั่งตัวผู้ประกอบการอยากจะให้น้องๆ เอง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้ เราก็ไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว นั่นคือปลายทางที่เราอยากเห็นมากครับ

Q: ถ้าวันหนึ่งความสำเร็จมาเกิดขึ้น a-chieve จะไปอยู่ตรงไหน?

A: ถ้าปัญหานี้มันโดนแก้แล้ว เราก็คงขยับไปแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อ เพราะแต่ละคนที่ทำ a-chieve ไม่ได้มีแค่ปัญหาเดียวที่อยากแก้ ถ้าเรื่องการศึกษาตรงนี้สำเร็จ ก็อยากจะขยับไปแก้ปัญหาอื่นด้วย ซึ่งถ้าเราทำได้อันหนึ่งแล้ว ทำไมจะทำอีกปัญหาอื่นๆ ไม่ได้ล่ะwatch Free Fire film online now

ภาพ: ZUPHACHAI LAOKUNRAK, www.a-chieve.org
อ้างอิง: www.a-chieve.org

ชญาภรณ์ ชัยพล (น้ำ)

ณัฐกานต์ วงศ์พิมพ์ (โบ)

นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย (วิน)

ภนิธา โตปฐมวงศ์ (ต่าย)

ภูมิสิทธิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย (เอิร์ธ)

กฤษฎิ์ ใบสิริกุล (ผิง)

พิมพ์พร วิชาโคตร (พิมพ์)

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles