ขณะที่กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำวันของใครหลายคน บางคนอาจพอใจที่จะจ่ายค่ากาแฟหลักสิบจนถึงหลักร้อย แต่รู้หรือไม่ว่าค่ากาแฟหนึ่งแก้วที่เราจ่ายจะถูกแบ่งไปให้ใครบ้าง
ในอุตสาหกรรมกาแฟมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน หากมองย้อนจากกาแฟหนึ่งแก้วที่เราได้รับจากมือบาริสต้า ราคาของกาแฟหนึ่งแก้วจะต้องผ่านมือเจ้าของร้านกาแฟ คนคั่วเมล็ดกาแฟ นายหน้ารับซื้อเมล็ดกาแฟ คนสีกาแฟ (กะเทาะเปลือกและเนื้อออกจนเหลือแต่เมล็ด) จนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในที่สุด กว่าค่ากาแฟแก้วนั้นจะถึงมือเกษตรกรก็จะเหลือเป็นเงินไม่มาก ในขณะที่เกษตรกรต้องใช้เวลาดูแลและรอคอยถึง 1 ปี กว่าต้นกาแฟจะออกผลและสร้างรายได้ในแต่ละรอบ ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกนายหน้าผู้รับซื้อกาแฟกดราคา
ร้านกาแฟ อาข่าอ่ามา ที่เชียงใหม่ จัดกิจกรรม The Coffee Journey ขึ้นทุกปี เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกาแฟได้ไปสัมผัสจุดเริ่มต้นถึงพื้นที่ปลูก ผู้ร่วมเดินทางจะใช้เวลา 3 วัน 2 คืน เพื่อเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟที่บ้านแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย ชุมชนชาวอาข่าบนดอยที่ไม่มีไฟฟ้า ประปา และสัญญาณโทรศัพท์ ผู้เข้าร่วมที่ไม่เคยได้เห็นต้นกาแฟก็จะได้เห็น ได้เรียนรู้ว่ากาแฟแต่ละกิ่งจะให้ผลกาแฟที่สุกไม่พร้อมกันจึงทำให้ไม่สามารถเก็บผลกาแฟด้วยวิธีการรูดหรือหักทั้งกิ่งได้ พวกเขาจะได้ทดลองคัดเลือกกาแฟที่สุกได้ที่และเด็ดจากกิ่งทีละผล กว่าจะเก็บได้ครึ่งตะกร้าก็ใช้เวลาไปกว่าหนึ่งชั่วโมง ได้เรียนรู้วิธีการ ‘สี’ กาแฟหรือการกำจัดเปลือกและเนื้อเพื่อให้เหลือแต่เมล็ด ด้วยวิธีการทั้งแบบ ‘แห้ง’ และแบบ ‘เปียก’ รวมไปถึงได้ลองชิมรสกาแฟซึ่งมีความแตกต่างไปตามพื้นที่และกระบวนการผลิต ความมีเอกลักษณ์ด้านกลิ่น รส รวมถึงกระบวนการปลูกที่เต็มไปด้วยความเอาใจใส่ของเกษตรกรอาข่าที่บ้านแม่จันใต้นี้ ทำให้กาแฟจากบ้านแม่จันใต้มีจุดขายในแบบที่เรียกว่าเป็น ‘กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee)’ จุดขายใหม่ในการดื่มกาแฟที่แม้แต่ร้านกาแฟระดับโลกก็เริ่มมีมุมกาแฟพิเศษที่บ่งบอกแหล่งปลูก เช่น เอธิโอเปีย รวันดา กาแฟจากแม่จันใต้ก็เป็นอีกแหล่งที่ร้านกาแฟเริ่มเสาะหาเมล็ดไปบริการลูกค้า
ผู้ร่วมเดินทางส่วนใหญ่ เป็นผู้มีความสนใจเกี่ยวกับกาแฟทั้งในฐานะผู้ขายและผู้ดื่ม มาเข้าร่วมกิจกรรมเพราะชื่อเสียงด้านคุณภาพกาแฟของร้านอาข่าอ่ามาซึ่งใช้เมล็ดจากแม่จันใต้ กาแฟของร้านได้รับเลือกเป็น 1 ใน 21 แบรนด์ทั่วโลกเพื่อใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติหลายปีติดต่อกัน กิจกรรม Coffee Journey นอกจากจะทำให้ผู้ร่วมเดินทางได้ความรู้เรื่องกาแฟ พวกเขายังจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของพี่น้องอาข่า อยู่อย่างอาข่า กินอย่างอาข่า การเดินทางตามรอยกาแฟครั้งนี้มีความสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนร้านกาแฟอาข่าอ่ามา ในฐานะ ‘กิจการเพื่อสังคม’ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ‘คนกินไม่ได้ปลูก คนปลูกไม่ได้กิน’ เป็นการสร้างความเข้าใจถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนอีกกลุ่มหนึ่งในอุตสาหกรรมกาแฟ ทำให้ผู้สนใจกาแฟได้รับรู้ว่าในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟมีใครที่อยู่เบื้องหลังและพวกเขาต้องเอาใจใส่ในการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพมากเพียงใด
ลี อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟอาข่าอ่ามาย้ำว่าเขาไม่ต้องการขายความน่าสงสาร เพราะเมื่อใดที่ผู้ซื้อซื้อด้วยความสงสาร โอกาสที่จะกลับมาซื้อซ้ำก็น้อยและไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน อาข่าอ่ามาจึงพยายามผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและผลักดันให้กาแฟจากแม่จันใต้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือเกษตรกรอาข่าที่แม่จันใต้ต้องสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง เราจึงได้เห็นถุงบรรจุเมล็ดกาแฟของร้านอาข่าอ่ามาเป็นรูปและชื่อของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่อยู่ในถุงนั้น เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเมล็ดกาแฟชั้นดีตามกลับมาซื้อได้ และเป็นที่มาที่เราต้องไปตามหาคุณค่าของเงินค่ากาแฟ…ไกลถึงแม่จันใต้
อ้างอิง Akha Ama Coffee, a day, a day bulletin,