เมื่อพูดถึงกิจการเพื่อสังคมในยุคแรกเริ่มเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชื่อ วัลลภา แวน วิลเลี่ยนส์วาร์ด คือบุคคลแรกๆ ที่ใครต่างนึกถึง เพราะเธอคือผู้สร้างรูปแบบธุรกิจทางเลือกอย่าง ‘สวนเงินมีมา’ ที่ตอนนี้กลายเป็นสำนักพิมพ์ระดับตำนานและขึ้นแท่นสาธารณะสมบัติไปแล้ว แม้วันนี้เธอจะเกษียณตัวเองจากที่นั่นมาได้ 2 ปีเศษ แต่การประกอบสัมมาอาชีพที่ทำคู่ขนานไปกับแนวคิดในการยกระดับคุณภาพสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหาร เกษตรกรรม และชุมชน ยังคงถูกสานต่อมายังบ้านหลังใหม่กับกลุ่มคนทำงานกลุ่มเล็กๆ แห่งนี้ว่า ‘อินี่’ ที่ย่อมาจาก Innovation Network International หรือ เครือข่ายนวัตกรรมสากล
การนั่งฟังบุคคลที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนอย่างวัลลภา ทำให้เราเข้าใจคำว่า ‘ตกผลึกทางความคิด’ ได้ชัดเจนขึ้นอีกมากโข ในวัย 60 ย่าง 61 ของเธอ ไม่ได้มีท่าทีของความเหน็ดเหนื่อยหรือโรยราแม้แต่น้อย สิ่งที่สัมผัสได้มีแต่ความเก๋าในการแก้เกมในธุรกิจสายดังกล่าว ไปจนถึงการมองแบบระยะไกลเพื่อหาทางแก้ปัญหาสังคมที่ผิดๆ เพี้ยนๆ ณ เวลานี้ แน่นอนว่าเธอทำให้เรารู้สึกได้ถึงความหวังว่าเราทุกคนนั้นสามารถจะเป็นฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมและโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้จริงๆ
ย้อนรอย ‘สวนเงินมีมา’ หนึ่งในตำนานกิจการเพื่อสังคมของไทย
“ย้อนไปช่วงปี 2544 ตอนนั้นเรามีโจทย์ว่าเราไม่ได้อยากเป็น NGO ไม่ได้อยากเป็นองค์กรทางภาคสังคมอย่างเดียว แต่อยากหาสัมมาอาชีพของตัวเองด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น ลองทำธุรกิจรูปแบบใหม่ดูไหม ที่เลี้ยงตัวเองได้และยังสามารถทำกิจกรรมดีๆ ให้สังคมควบคู่กันไปได้ด้วย ในที่สุดก็ตั้งบริษัทสวนเงินมีมาขึ้น โดยที่นี่ทำงานใต้ร่มของมูลนิธิเสถียรโกเศศ – นาคะประธีป ซึ่งมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เป็นประธานมูลนิธิ ด้วยอาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้มีพระคุณ จึงหยิบชื่อคุณยาย 3 คน ของอาจารย์ คือ ยายเงิน ยายมี ยายมา มารวมกัน และตั้งเป็นชื่อ โดยตั้งใจที่จะทำสำนักพิมพ์ งานหัตถกรรม และมีแพลทฟอร์มสำหรับอบรมเทรนนิ่งต่างๆ ก็ทำมา 17 ปีนะ ล้มลุกคลุกคลาน สู้มาทุกรูปแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือตอนนี้สำนักพิมพ์เราอยู่ได้และได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์ที่ก้าวหน้าในสังคมไทย ส่งอาหารสมองให้กับสังคม ซึ่งแม้ว่าคนอ่านจะลดลงอย่างไร แต่สำนักพิมพ์ก็มีที่ทาง มีตำแหน่งในตลาดเรียบร้อยแล้ว”
ทางแยกสู่ INI (อีนี่) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินไปพร้อมๆ กับกิจกรรมทางสังคม
“พอถึงจุดหนึ่ง ด้วยระยะทางระหว่างบ้านกับสวนเงินมีมา ปลายปี 2559 จะเข้า 2560 พี่ก็บอกทีมงานว่า พวกเธอต้องบริหารกันเองแล้วนะ แต่เขาก็ไม่ประหวั่นพรั่นพรึง (หัวเราะ) ก็ดีใจที่น้องๆ ทีมงานเขาอยู่กันได้ เป็นคนรุ่นสองที่ทำงานได้อย่างดีและมีใจให้กับสิ่งที่ทำ โดยที่ไม่ต้องมายึดติดกับเรา
ทีนี้พี่ก็มานั่งคิดว่าแล้วตัวเราเองล่ะจะทำอะไร ก็ปรากฏว่าสามีพี่ คุณ Hans (van Willenswaard) เขาสนใจเรื่องนวัตกรรมสังคม ซึ่งเขามีมูลนิธิเล็กๆ ที่จดทะเบียนไว้ชื่อ Innovation Network International เราบอกดีเลย จึงเอาชื่อนี้มาใช้ และเรียกที่นี่ว่า INI (อินี่) เพราะฟังดูแสบดี อินังนี่ (หัวเราะ) พอเรามาสนใจเรื่องนี้ ก็มานึกว่า จริงๆ แล้ว ความคิดเรื่องนวัตกรรมสังคมเป็นเรื่องเดียวกับที่เราทำมาตลอดระยะเวลา 17 ปี เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเราไม่สามารถอยู่บนกระบวนความคิดอ่านแบบเดิมได้แล้ว โดยนวัตกรรมสังคมคล้ายๆ เป็นเครื่องมือให้เราเดินทางไปสู่วัฒนธรรมใหม่ หรือที่เรียกว่ากระบวนทัศน์ใหม่ นั่นทำให้เราไม่ได้อยากพิมพ์หนังสือในแบบสวนเงินมีมาแล้ว”
“ที่นี่จะทำ 4 อย่าง อย่างแรกคือสำนักพิมพ์ซึ่งแตกต่างไปจากสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา สอง เราขับเคลื่อนเรื่องการบูรณาการในห่วงโซ่อาหารให้เป็น integrated food system คือในระบบอาหารเราทุกวันนี้มันแตกเป็นเสี่ยงๆ แยกกัน ไม่รู้จักกัน คนกิน คนปลูกไม่รู้จักกัน เราจะทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการในระบบห่วงโซ่อาหาร ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดระบบอาหารที่ดี ที่มีสุขภาวะ สาม เราก็มีโครงการร่วมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่อยู่ภายใต้แผนอาหารอยู่ 60 โครงการ โดยเราทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชวนคนให้มาพูดคุยกัน มีวง dialogue มีวง design platform เพื่อที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้จากคนที่ไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างอยู่มาเชื่อมกัน รวมทั้งโครงการบูรณาการพื้นที่สุขภาพองค์รวมของพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน โดยสุขภาพองค์รวมจะเกิดขึ้นได้ก็ในพื้นที่ชุมชนที่เราจะเข้าไปทำงานด้วยซึ่งตอนนี้มีทั้งหมด 8 ชุมชน เรื่องที่สี่ คือเราทำเทรนนิ่งผู้ประกอบการสังคมแนวตลาดที่มีจิตสำนึกด้วย”
Innovative (นวัตกรรม) I Creative (ความคิดสร้างสรรค์) I Citizenship (หน้าที่พลเมือง): สามบุคลิกใหม่ภายใต้สำนักพิมพ์อินี่ บุคส์
“บุคลิกของหนังสือเรามีอยู่ 2-3 อย่างนะ เราอยากทำเรื่องนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และก็อยากทำหนังสือแนวที่เห็นพลังของพลเมือง ดังนั้นหนังสือทุกเล่มที่เราสนใจจะพูดเรื่องแบบนี้ที่พลังของชีวิตทุกวันของเรามีนัยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายสังคม หนังสือที่สร้างชุมชนและวัฒนธรรมใหม่ จะไม่เหมือนตอนอยู่สวนเงินมีมาที่เราจะทำหนังสือแนวจิตวิญญาณ เป็นหนังสือพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น วิธีเลือกหนังสือสำหรับที่นี่ก็จะเป็นหนังสื่อที่ทำให้เห็นพลังของคน ซึ่งไม่ได้อยู่ลำพังเป็น individualism นะ แต่ว่าเห็นพลังแล้วเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม เพื่อพยายามจะสร้างชุมชน เพราะอย่างที่เราเห็นคือทุกวันนี้ เราอยู่คอนโดมิเนียม มันง่ายที่จะทำให้เราแยกกันอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่สังคมแบบนี้จะไม่แข็งแรง ไม่มีคุณภาพ และจะไม่มีความสุขที่แท้จริง แต่เราไม่อยากพูดแบบสอนหรือฟังแต่เป็นแค่แนวคิด เราอยากเห็นการลงมือทำ”
สร้าง Organic Session ในการเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
“นอกจากเรื่องอาหารที่ อินี่ทำอยู่ 2-3 กิจกรรม ทั้งกิจกรรมบูรณาการอาหารของประเทศ 60 โครงการที่รับทุนจากแผนอาหารใน สสส. ที่เราชวนให้มีการจัดเวทีภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้คนในแวดวงอาหารของประเทศไทยมารู้จักกันและโครงบูรณาการด้านอาหารที่ทำร่วมกับชุมชนเพื่อเชื่อมเกษตรกรกับคนกินแล้ว เรายังเล่นขายของเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนกลางระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค เป็น Organic Session ที่เราวางแผนว่าจะเติบโตขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งหน้าที่คนกลางเอาจริงๆ เราอย่าไปรังเกียจนะ แค่เราต้องไม่ไปสนับสนุนคนกลางที่เอาเปรียบ ที่ตั้งราคาซื้อถูก ราคาขายแพง พูดง่ายๆ คือคนกลางที่ใช้การซื้อขายแบบเบียดเบียนและกดราคาเกษตรกร แต่อินี่ไม่ได้ทำแบบนั้น เราจะบอกเกษตรกรว่าเราบวกไปเท่าไหร่ ผู้บริโภคเองก็รู้ ซึ่งนั่นทำให้เขาเป็นห่วงเราเสียอีกว่าทำไมบวกน้อยจัง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น การเป็นคนกลางไม่ได้เสียหายและเราสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ด้วยการค้าแบบเป็นธรรมด้วยกันทุกฝ่าย ทุกคนในห่วงโซ่เข้าใจกลไกราคา แล้วทำให้ทุกคนอยู่ได้ เราเองก็อยู่ได้ อย่างในจังหวัดนนทบุรี ก็มี young smart farmer ซึ่งเราก็มาขายในละแวกบ้านและไม่ส่งไกล เพราะต้องการให้เกิด local food movement เพราะฉะนั้น เราจะส่งแค่ในพื้นที่เฉพาะ และใช้จักรยานไปส่ง ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เดี๋ยวจะค่อยๆ จัดการระบบต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น”
‘ออร์แกนิก’ ทำไมต้องแพง? แล้วคนทั่วไปจะเข้าถึงอย่างไร?
“ที่แพงก็เพราะอาหารในกระแสหลักถูกเกินจริง การผลิตอาหารกระแสหลักเป็นการผลิตที่ผลักภาระไปให้ระบบนิเวศ ผลิตบนต้นทุนของสิ่งแวดล้อม ผลิตแบบใช้ยาฆ่าหญ้า ทำให้ดินเสื่อม น้ำเสีย แต่เมื่อเราปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ก็จะเป็นระบบการผลิตแบบ human scale ที่ 1 ไร่ 2 ไร่ ปลูกผักตั้ง 40-50 อย่าง และเมื่อเป็น human scale ก็ไม่ได้สู้กันที่จำนวน แต่สู้กันที่คุณภาพ เมื่อปลูกแบบคุณภาพย่อมมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ว่าเราดันลืมนับต้นทุนสุขภาพกับต้นทุนสิ่งแวดล้อมไปด้วย ขณะที่เรากินเคมี เราก็ดันไม่นับต้นทุนของการไปหาหมอของตัวเองและเกษตรกรอีก เราอยู่ภายใต้ระบบที่ผิดๆ เพื้ยนๆ อยู่
“ถ้าเราจะทำให้เกษตรอินทรีย์ถูกลง หน้าที่หลักก็จะอยู่ที่พวกเราทุกคนซึ่งต้องช่วยกันทำหน้าที่พลเมือง พอพูดถึงคำว่าพลเมือง มิติเรื่องความรับผิดชอบจะติดมาด้วย ดังนั้น เราต้องลุกขึ้นมาถามตัวเองแล้วว่าเพื่อที่เราจะไม่อยู่ในวงจรที่ไม่ดีกับตัวเราและสังคม เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เราต้องหาระบบใหม่ ความคิด มุมมองแบบใหม่ไหม”
“เช่น ถ้าเราซื้อผักเคมีใน 20 บาท ผักอินทรีย์ 40 บาท แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ ใน 40 บาท เราจะไม่ผลักภาระให้กับสิ่งแวดล้อมแล้วนะ เอาล่ะ เมื่อตั้งต้นแบบนี้ได้ แต่พบว่าสตางค์ในกระเป๋าวันนี้ยังไม่พอจะซื้อผักในราคา 40 บาท สิ่งไหนที่เราทำได้บ้าง คำนวณบัญชีครัวเรือนดูไหม พี่เคยจัดเวิร์กช็อปนะ ปรากฎว่างบเสื้อผ้า ไปเที่ยว กินขนม แพงกว่างบทานข้าว 3 มื้อของเราอีก คืออาหารเราถูกมากเลยนะ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวพี่ พี่ลองลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ขณะที่ไปให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องอาหารที่เป็นเรื่องหลักในชีวิต เพราะว่าเราต้องการสุขภาพที่ดีและเราอยากรับผิดชอบกับนิเวศด้วย ซึ่งตอนนี้พี่พอใจนะ เพราะรู้สึกว่าเราได้ดูแลซึ่งกันและกัน การไปประหยัดค่าใช้จ่ายตัวอื่นของเรา แต่เราลงทุนกับอาหารที่ดี อาหารอินทรีย์ให้ตัวเรา คือเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดนะ ยิ่งพี่จัดตลาดสีเขียวหลายๆ ที่ ก็พบว่าผักในตลาดสีเขียวไม่ได้แพงกว่าผักเคมี ยิ่งถ้าไปตลาดสีเขียวในชุมชนต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นสุรินทร์ เชียงใหม่ พัทลุง สงขลา ยิ่งถูกเลย เพียงแต่ ปริมาณและแหล่งอาจจะไม่เพียงพอให้กับคนกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น คนกรุงเทพฯ ก็ต้องกระเสือกกระสนหน่อย แต่ไม่ได้แพงกว่าห้างเลย”
สร้างตลาดเขียวให้ยั่งยืน ไม่ใช่ scale up แต่ต้อง scale out
“คือตลาดพวกนี้ยั่งยืนในตัวเองนะ ไม่ได้ล้มหายตายจาก ถ้านับ นี่ก็ 10 ปี แล้วนะ ตลาดแบบนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ประเด็นคือคุณจะสเกลอย่างไรมากกว่า แต่การสเกลเราพูด 2 อย่าง คือ scale up และ scale out สิ่งที่เราสนใจ scale out มากกว่า เราสนใจที่จะขยายในแนวระนาบ เราต้องไปสร้างตลาดสีเขียวแบบนี้หลายๆ จุด เพื่อเพิ่มจำนวนคนให้เข้ามาแบ่งรับความต้องการ เพราะฉะนั้น การขยายให้มีปริมาณมากๆ หรือ scaling up ก็มาจากการ scale out ในการสร้างจำนวนย่อยๆ แล้วกระจายออกไปในชุมชนต่างๆ เช่น เราบอกว่าเกษตรกร 10 คน ในชุมชน A รองรับผู้บริโภคได้ 100 คน ตอนนี้ครบ 100 คนแล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปสร้างเกษตรกรในชุมชนนั้นเพิ่ม หรือเพิ่มสมาชิกให้กลายเป็น 500 คน แต่ไป scale out ในชุมชนอื่นแทน ไปสร้างจุดย่อยๆ ให้แนบอยู่ในชุมชนอื่นๆ มากขึ้น”
วิกฤตมา ปัญญาเกิด
“เอาจริงๆ นะ เป็นธรรมชาติของคนเลย ถ้ายังไม่เห็นวิกฤต ก็ยังไม่มีใครเห็นว่าจะต้องเปลี่ยน ความเจ็บป่วยไม่มาเยือน ย่อมไม่เปลี่ยนชีวิต แต่วิกฤตหรือปัญหาเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เราเห็นทางออกใหม่ๆ ไม่อย่างนั้น เราก็กินอะไรกันไม่รู้ที่บางทีก็สุดจะบรรยาย แล้วการจะทำให้คนมาตระหนัก จุดเริ่มต้นคือเขาต้องเห็นปัญหาก่อน ทีนี้คนที่จะเห็นปัญหาได้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนป่วยแล้ว มีญาติป่วย เริ่มรู้แล้ว แต่ว่าเราจะต้องไปให้มากกว่านั้น คือการแม้จะไม่ป่วย แต่ต้องเตรียมตัวที่เปลี่ยนชีวิต สร้างโครงการชีวิตของตัวเอง และพยายามสร้างความตระหนักให้เขาเห็นมากกว่าสุขภาพของตัวเอง และเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเองนั้นมีผลต่อโลกของเรา เริ่มจากความคิดแบบนั้นก่อน แล้วความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เกิดขึ้น”
อินี่กับบทบาทช่างเชื่อมชุมชนและบูรณาการพื้นที่สุขภาพองค์รวม
“เรามีโครงการกับทาง สสส. ภายใต้แผนอาหารอยู่ 60 โครงการ ซึ่งคนในแผนอาหารเพื่อสุขภาพของ สสส.เขาทำงานกันมา แต่ไม่รู้จักกัน หน้าที่ของเราคือไปอาสา สสส.ว่าเราอยากเห็นเขามาเชื่อมกัน ไปรับรู้ รับทราบว่า 60 โครงการ ไปถอดบทเรียนว่าที่เขาทำ เขาทำอะไร ทำอย่างไร ไปเข้าใจกลไก ไปสังเคราะห์ความรู้ในภาคี และนำมาฉายแสง มาไฮไลท์ มาขึ้นเวที เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกัน การบูรณาการกัน ทำงานร่วมกัน และทำงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้เราเป็น implementer
ขณะที่อีกฟากหนึ่ง เราเป็น mover เองเลย นั่นคือมีโครงการบูรณาการพื้นที่สุขภาพองค์รวม ที่เราเข้าไปทำงานกับทางชุมชน ในกรุงเทพฯ ก็จะมี เช่น เขตรองเมือง บางกอกน้อย คลองจั่น ลานกีฬา บางช้าง สมมติเขาอยู่รองเมือง เขาบอกว่าไม่มีพื้นที่ปลูกผัก เราก็ชวนเขาไปปลูกผักในกระถาง ช่วยหาพื้นที่โล่งในเขตเมืองที่สามารถไปปลูกโหระพา กะเพรา พริก ส่วนในจังหวัดนนทบุรี คืออำเภอเมือง ปากเกร็ด ไทรน้อย และบางบัวทอง แต่ว่าพิเศษตรงชุมชนในจังหวัดนนทบุรี เราจะชวนชุมชนตั้ง Nonthaburi Food Council ขึ้นด้วย คล้ายๆ กับสภาที่มีกลุ่มคนหลากหลายมานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรให้เราเกิดบริบทในการรู้ เพราะในจังหวัดนนนทบุรียังมีพื้นที่อาหาร มีแปลงเกษตรอยู่ตั้งประมาณแสนไร่ทั้งในอำเภอบางกรวยและไทรน้อย แม้ว่าจะมีคอนโดมิเนียมไล่ล่าไปทั่วแล้ว ซึ่งเราอยากให้เกษตรกรกับคนกินมาเจอกัน อย่างในจังหวัดนนทบุรีเราอยากให้คนทั้งสองฝั่งมาอยู่ในสภาอาหารแห่งนี้ อยากให้เกิดพลังของผู้บริโภค โดยการบูรณาการที่ว่านี้ เรามีเป้าหมายเพื่อให้คนเมืองและคนแถบชานเมืองจังหวัดนนทบุรีตระหนักเรื่องอาหารของตัวเอง แล้วการทานอาหารดีอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องมีกิจกรรมทางกายอย่างการออกกำลังกาย และต้องคิดถึงสุขภาพทางปัญญาด้วย”
อาหารในโรงเรียน เปลี่ยนชุมชนได้
“ถ้าถามว่าโครงการตัวอย่างแบบไหนที่พี่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนมุมมองและกระบวนความคิดพี่เหรอ ก็มีหนึ่งโครงการหนึ่งที่พี่ปิ๊งมากเลย นั่นคือ พลเมืองอาหารสู่วิถีการบริโภคที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนที่จังหวัดสุรินทร์ โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการตรวจเลือดเด็กๆ ในจังหวัดตัวแทนทั้ง 4 ภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สกลนคร พังงา และปทุมธานี ซึ่งพบว่า 70% ของเด็กมีสารเคมีในเลือด น่าตกใจนะ ที่มากที่สุดเลยก็คือจังหวัดปทุมธานีเพราะว่าการปลูกผักในจังหวัดใช้เคมีเยอะมาก ผักคะน้าอายุ 45 วัน ฉีดไป 30 วัน ฉีดกันจนเกษตรกรล้ม น็อค หรือสลบไปเลยก็มี ในจังหวัดสุรินทร์เขามีการรวมตัวกัน โดยชวนโรงเรียนประมาณ 3-5 โรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการ โดยนำโปรแกรม Thai School Lunch (www.thaischoollunch.in.th) จาก สวทช. ที่ออกแบบมาว่า ในระยะเวลา 1 เดือน เด็กนักเรียนจะกินเมนูอะไรบ้าง ซึ่งถ้าเลือกเมนูแล้ว โปรแกรมจะถอดรหัสออกมาเป็นรายการผัก แล้วคูณด้วยจำนวนนักเรียน เพราะฉะนั้น ใน 5 โรงเรียนนี้ โรงเรียนหนึ่งอาจจะมี 150 คน หรือ 200 คน ก็จะได้จำนวนผัก หลังจากนั้น ทีมงานก็จะเข้าไปคุยกับเกษตรกรว่า 3-5 โรงเรียนนี้ ใช้จำนวนผักเท่านี้ ทางเกษตรกรสนใจร่วมโครงการไหม โดยที่มีการเล่ารายละเอียดของโครงการว่าพวกเขาเจอปัญหาอะไร ตอนนี้ทั้งโรงเรียนและเกษตรกรเอาด้วย ก็อยู่ในขั้นตอนการไปพูดคุยกับทาง อบต. เพื่อทำครัวกลางในการรับซื้อผักจากเกษตรกรมาผลิตให้โรงเรียน ที่พี่ยกตัวอย่างโครงการนี้เพราะนี่คือตัวอย่างโครงการแห่งความหวัง เป็นโมเดลแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราทำให้โมเดลแบบนี้ไปอยู่ในทุกๆ ที่และทุกคนมาเห็นวิธีการสร้างระบบอาหารซึ่งเกิดจากการประสานร่วมมือแบบนี้ได้ เราจะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในประเทศเราตามมา”
ใช้ชีวิตให้สุขต้องไม่สิ้นหวัง
“ปัญหาเหรอ มีเยอะและตลอดเวลา (ยิ้ม) ทุกโมเม้นท์ พี่ก็ให้กำลังใจตัวเองทุกวัน แต่เวลามีปัญหา ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ๆ ความอดทนก็สอนให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราเผชิญ เราต้องยังมีความหวังอยู่เสมอนะ คนที่ทำงานทางเลือกต้องเชื่อว่ามีความหวัง ถ้าเราเป็นคนไม่มีความหวัง ก็คงไม่ทำทางเลือกมาจนวันนี้”
“ทางออกของพี่เวลามีปัญหา พี่จะสลดอยู่สักวันสองวัน จะเฉาอยู่พักหนึ่ง แต่เป็นอยู่ไม่นานก็ฟื้นได้ ภูมิที่ฟื้นขึ้นมาได้มาจาก self-motivation พี่เป็นคนที่มีการให้แรงบันดาลใจกับตัวเองเสมอ แล้วถามว่าแรงขับเหล่านี้มาจากไหน ก็มาจากการบ่มเพาะในครอบครัวและการอ่านด้วย พี่อ่านหนังสือในทุกช่วงชีวิตในที่เวลาท้อ ทุกครั้งที่มีปัญหาจะมีหนังสืออยู่กับเราตลอด สมัยก่อนไม่มีมือถือแบบนี้ พี่เป็นคนรุ่น 60 กว่าแล้ว และหนังสือเป็นเหมือนยาตัวหนึ่งของพี่เลย แล้วพอเราสั่งสมบารมีมาเรื่อยๆ ก็กลายเป็นมีภูมิขึ้นมา เดี๋ยวนี้เวลามีปัญหาอะไรที่แย่ๆ หรือใหญ่ พี่จะให้เวลา แล้วก็ค่อยๆ จัดการไปทีละขั้นละตอนซึ่งปัญหาคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเติบโต”
ตัวละครแห่งความหวัง ตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน
“จนถึงวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็น คือพี่ได้เห็นตัวละครแห่งความหวัง แบบที่เราไม่ได้คิดไปคนเดียว ไม่ได้ฝันไปคนเดียว ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีกลุ่มคนมาร่วมฝัน มาร่วมสาน มาร่วมถักถอกับเราด้วย นั่นทำให้เราเหนื่อยน้อยลง อย่างเรื่องสภาอาหาร เจ้า Hans สามีพี่ก็คิดดีนัก ไปเอาแนวคิดเรื่องนี้มาจากแคนาดา แต่เพราะเขาพูดไทยไม่ได้ พี่ก็ต้องไปติดต่อคนนู้นคนนี้เอง (หัวเราะ) แล้วตอนนี้ตัวละครมาละ ซึ่ง 6 เดือนแรก เราก็ลุ้น แต่ตอนนี้คนในสภาเขายุกันเองให้มาร่วมไม้ร่วมมือกันแล้ว เราก็เริ่มสนุกที่ได้เดินสาย ไปพูดอะไรตลอดเวลา พอจัดงานเสร็จ เราก็มานั่งดูรูป นั่งยิ้ม และมีความสุข”
เอาเข้าจริง ก็มีไม่กี่สิ่งที่ทำให้ชีวิตเดินต่อได้
“เพราะพี่ชอบทำงานและยังต้องการสัมมาอาชีพ ต้องเลี้ยงชีพ ต้องมีงานการ มีรายได้ แต่โชคดีที่สิ่งที่ทำเป็นอาชีพซึ่งมีความหมาย ทำให้ชีวิตพี่มีความหมาย นี่คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจมาจนวันนี้ สมมติว่าเราต้องไปทำงานอาชีพอื่น ก็ไม่รู้จะเห็นตัวเองในอาชีพอื่นอย่างไรเหมือนกัน พี่เคยทำธุรกิจมาแล้ว ก็ไม่ได้แฮปปี้ แต่ตอนนี้มีความสุขแล้ว อินี่ก็เป็นบริษัทนะ แต่เป็นบริษัทสามารถเลือกหนังสือที่อยากจะพิมพ์ เลือกโครงการที่อยากทำ และได้ทำงานที่สร้างผลกระทบต่อสังคมไปในทางที่เราอยากจะให้เป็น นั่นคือการได้สร้างสิ่งใหม่ มีวัฒนธรรมใหม่ร่วมกัน เพื่อให้เมืองน่าอยู่ สังคมน่าอยู่ แล้วก็ตอบโจทย์กับภาพใหญ่ที่เราอยากจะเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายออกจากโลกเดิมไปสู่โลกที่เราคิดว่าดีขึ้นได้ แม้สิ่งเหล่านี้จะยังไม่มีให้เห็น ณ ตอนนี้ แต่พี่คิดว่าเรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังยุคใหม่ แล้วพี่ได้เห็นหน้าที่ของเราชัดเจน เวลาที่เราเห็นหน้าที่ของเราต่อโลกชัดเจน พี่ว่าเราก็มาถึงจุดที่มองเห็นโอกาสว่าจะเป็นจริงได้นะ”
สร้างคุณค่าในชีวิตผ่านธุรกิจเพื่อสังคม
“ในการทำงานตรงนี้พี่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณค่าชีวิตและค่านิยมบางอย่าง ตอนที่ตัวเองเปลี่ยนมาทำงานภาคสังคมช่วงแรกๆ ก็อึดอัด รู้สึกไม่มีประสิทธิภาพ เราเคยอยู่ในธุรกิจมา 10 กว่าปี แต่เราพบว่าคนทางภาคสังคม เขามีจิตใจนำ อันที่สอง พี่ได้กระบวนการสนทนา คือคนในภาคสังคมดีอย่างหนึ่งคือเขาเคารพความแตกต่าง เขาให้เวลากับการคลี่คลายปัญหา ถ้าเราอยู่ภาคธุรกิจก็คงไม่มีเวลาให้ เพราะทุกอย่างต้องมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว นี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ตอนที่มาทำตรงนี้ พี่รู้สึกว่าเราไม่รู้อะไรเยอะมาก ก็ได้รับความเข้าอกเข้าใจ ได้ความรัก ได้กำลังใจ เวลาเราคุยกับชาวนา เกษตรกร นี่ทำให้เราเข้าใจสังคมไทยในระดับพื้นฐาน พี่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองทีละนิดทีละน้อย แต่ก็ยังมีเรื่องไม่เข้าท่าของตัวเองอีกหลายเรื่องเหมือนกัน (ยิ้ม)”
การเติบโตในแบบอินี่
“พี่อยากให้อินี่มีคนรุ่นสอง อนาคตเราอยากสร้างทีมอีกเจเนอเรชั่นหนึ่งที่จะดูแลในระยะยาว เราอยากเห็นอินี่เป็นผู้สร้างดีไซน์คัลเจอร์ เป็นผู้สร้างนวัตกรรมสังคม ในฐานะของผู้ยั่วยุให้เกิดการร่วมมือร่วมใจผ่านจากหนังสือที่เราพิมพ์ ผ่านกิจกรรมที่เราทำ กับโครงการของ สสส. และกิจกรรมที่เราสร้างเองด้วยนะ พี่ยินดีรอ เพราะเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เติบโตเพื่อสร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้สังคมและโลก”
ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: INI-Innovation-network-international
อ้างอิง: Facebook: INI-Innovation-network-international