จากเศษจีวร ‘ไร้ค่า’ กลายมาเป็นกระเป๋าผ้า ‘คูลๆ’

ผู้ผลิตตั้งใจให้กระเป๋าผ้า ‘เอม’ เป็นกระเป๋าที่ดีไซน์มาเพื่อโลก เพราะใช้แต่วิธีทางธรรมชาติในการผลิต เย็บด้วยมือ ใช้ไม้แทนพลาสติกบริเวณเชือกหูรูดเพื่อกันรอยแตก ใช้การผูกและมัดสายสะพายเพิ่มความแข็งแรง ออกแบบให้ใช้งานเพื่อลดโลกร้อน ด้วยช่องกระเป๋าด้านหน้าให้พกขวดน้ำมาจากบ้านลดการซื้อขวดน้ำพลาสติก และถ้าพลิกดูด้านในจะเห็นรอยเย็บรูปสามเหลี่ยมไขว้กันไปมา ผ้าสามเหลี่ยมสีเหลืองที่ถูกนำมาเย็บต่อกันคือไฮไลท์สำคัญเพราะมันคือ ‘เศษจีวร’ แต่เป็นเศษที่ต้องตัดทิ้งในกระบวนการตัดเย็บก่อนที่จะนำไปถวายพระ อาจสงสัยว่านี่เป็นแค่ไอเดียรักโลกเก๋ๆ แต่ไม่สามารถใช้งานได้หรือเปล่า ความเป็นจริงคือกระเป๋าผ้าเอมมีราคาขายอยู่ที่ใบละ 650 บาท และขายดีขนาดมีคนมาโพสต์ถามในหน้าเพจว่าเมื่อไหร่จะผลิตมาขายอีก จนล่าสุดผู้ผลิตได้ออกคอลเล็กชั่นใหม่ที่นำแพทเทิร์นการต่อเศษผ้าออกมาโชว์ไว้ด้านนอกของกระเป๋า ไม่ต้องแอบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป

เศษผ้าเหลือทิ้งที่ถูกนำมาใช้เป็นกระเป๋า ได้มาจากอาชีพตัดเย็บผ้าไตรของคนในชุมชนวังกรมพระสมมติอมรพันธ์ ย่านสังฆภัณฑ์ที่เก่าแก่ในกรุงเทพฯ เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับของที่ดูไร้ค่าไปแล้ว ถ้ามองให้ลึกซึ้งจะเห็นว่าเศษผ้าที่ถูกทิ้งก็เหมือนกับปัญหาที่คนในชุมชนวังกรมฯ ต้องเผชิญ ชุมชนเก่าแก่กำลังถูกรุกรานจากการพัฒนาพื้นที่ให้ทันสมัย หลายชุมชนในกรุงเทพฯ ถูกไล่รื้อ วิถีชีวิตและอาชีพดั้งเดิมกำลังจะถูกละทิ้ง ทำให้คนในชุมชนขาดรายได้ กระเป๋าผ้าเอมที่เป็นการนำต้นทุนที่มีอยู่ดั้งเดิมในชุมชนมาเพิ่มมูลค่าก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหานี้

เอมเป็นผลิตภัณฑ์ของ Trawell Thailand กิจการเพื่อสังคมที่ต้องการแก้ปัญหาชุมชนที่กำลังถูกลดคุณค่า ให้สามารถเข้มแข็งด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเอง สร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวในชุมชนควบคู่ไปกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋าผ้าเอมจากเศษจีวรในชุมชนวังกรมฯ เมื่อมีรายได้จะจัดสรรให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชนเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการจัดตั้งธุรกิจที่มีคนในพื้นที่เป็นเจ้าของร่วมในอนาคต โดยตั้งเป้าที่จะใช้ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ที่พัก ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจุบันทราเวลทำงานใน 4 พื้นที่ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ คือ  นางเลิ้ง บ้านบาตร ป้อมมหากาฬ และวังกรมพระสมมติอมรพันธ์แหล่งที่มาของกระเป๋าผ้าเอมนั่นเอง

ก่อนตัดสินใจทิ้งอะไรไปเพราะรู้สึกว่า ‘หมดคุณค่า’ ลองทบทวนอีกที มันอาจซ่อนความ ‘คูล’ เอาไว้

อ้างอิง: Trawell Thailand

Bhanond Kumsubha

ภานนท์ เคยฝันอยากทำงานภาคสังคมแต่ถูกคนรอบตัวตั้งคำถามว่า "แล้วจะมีอะไรกิน" เลยเลือกมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าเป็นจุดลงตัวระหว่าง "การมีกิน" กับ "การได้แบ่งปันกับคนอื่น" วันหนึ่งเมื่อแนวคิด "กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่ตอบโจทย์ของ "การมีกิน" กับ "การแก้ปัญหาสังคม" เริ่มเป็นรูปร่าง จึงอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้คนที่มีฝันเหมือนๆ กัน ได้ทำฝันให้เป็นจริง

See all articles