Emoji 2019 เวอร์ชั่น 12.0 เพิ่มไอค่อนที่คำนึงถึงความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์

หลายคนอาจไม่เคยสังเกต แต่รู้ไหมว่า อิโมจิที่เราจิ้มใช้บนสมาร์ทโฟนกันอยู่ทุกวัน มีการปรับปรุงแก้ไขมาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 12.0 แล้วนะ

อิโมจิ หรืออักษรภาพ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ใช้สมาร์ทโฟนไปแล้ว นอกจากเข้ามาเสริมให้บทสนทนามีสีสันขึ้น ช่วยประหยัดเวลาในการพิมพ์คำยาวๆ บางครั้งยังทำให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผลดีกว่าตัวอักษรธรรมดาเสียอีก (คนเขียนหนังสือไม่ได้ หรือคนพูดภาษาต่างกันยังใช้อิโมจิคุยกันได้นะเออ) ความนิยมในการใช้อิโมจิมีเพิ่มขึ้นทุกวันจนได้รับฉายาว่าภาษาที่สามของมนุษย์ยุคดิจิตอลไปแล้ว

สำหรับ Emoji 12.0 ที่เปิดตัวออกมาล่าสุด มีการเพิ่มเติมไอค่อนอิโมจิขึ้นมา 230 ตัว ซึ่งทางกลุ่มผู้กำหนดตัวอิโมจิ คือกลุ่ม Unicode ได้ประกาศให้ผู้ประกอบการต่างๆ นำอิโมจิชุดใหม่ไปอัพเดทใช้กับระบบของตัวเองได้อย่างเป็นทางการแล้ว นี่เป็นการอัพเดทรายการอิโมจิเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งการอัพเดทแต่ละครั้งนอกจากเพื่อประโยชน์เพิ่มขึ้นในการสื่อสาร (ตามที่กล่าวในย่อหน้าบนแล้ว) มันยังสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความสนใจของคนทั่วโลกอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ในปี 2015 มีการเพิ่มไอค่อนรูปคนที่มีสีผิวหลากหลายมากขึ้น (ไม่ใช่ผิวขาวครองโลกอย่างเดียว) ส่วนในปี 2016 เพิ่มไอค่อนที่เป็นคาแรคเตอร์เพศหญิง (จากที่อะไรๆ ก็ดูจะเกี่ยวกับเพศชายไปหมด) ในปี 2017 เพิ่มไอค่อนที่แสดงความหลากหลายทางเพศ (เพศสภาพไม่ได้มีแค่ชายหรือหญิงเท่านั้น) ในปี 2018 เพิ่มความหลากหลายของสีผม (อย่าลืมว่าโลกเรามีคนกว่า 7 พันล้านคนจากหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์)

และล่าสุดในปี 2019 นี้ Emoji เวอร์ชั่น 12.0 มีการเพิ่มเติมไอค่อนที่เกี่ยวข้องกับความพิการ เช่น ไอค่อนผู้พิการทางสายตากำลังใช้ไม้เท้า ไอค่อนสุนัขนำทางของผู้พิการทางสายตา ไอค่อนสำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่มีทั้งรูปใบหูที่ใส่เครื่องช่วยฟัง ไอค่อนคนพูดภาษามือ ไอค่อนภาษามือ ไอค่อนวีลแชร์แบบธรรมดา วีลแชร์แบบไฟฟ้า และไม้เท้านำทาง เป็นต้น ซึ่งไอค่อนที่เกี่ยวกับคนทั้งหมดจะถูกแบ่งย่อยให้ครอบคลุมเพศ สีผิว และสีผมที่หลากหลายให้ครบ

อิโมจิที่มีความหลากหลายของสีผิว สีผม เพศสภาพ ลักษณะทางกายภาพของร่างกายไปจนถึงสภาพความพิการที่แตกต่างกันไปเหล่านี้ สะท้อนให้เราตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไม่ทอดทิ้งคนกลุ่มใดไว้เบื้องหลัง (อย่างเช่นเคย) ไม่ละเลยความสำคัญของคนที่แตกต่างกับเรา เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังตัดโอกาสของพวกเขาอย่างไม่ยุติธรรม รวมทั้งตัดโอกาสสิ่งดีๆ ที่พวกเขาอาจสร้างสรรค์ให้กับโลกอีกด้วย

อ้างอิง: blog.emojipedia.org

Tags

Tags: , ,

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles