The Divide: การทดลองทางสังคมเผยความจริงของอินเดีย ‘ผู้ชายเป็นใหญ่เรื่องการเงิน’

แม้โลกเราจะวิวัฒนาการไปแค่ไหน  แต่เชื่อหรือไม่ว่าความเท่าเทียมกันทางเพศยังคงไม่มีอยู่จริง โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก ด้วยทัศนคติทางสังคมแบบ ‘สังคมปิตาธิปไตย’ หรือสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอภิสิทธิ์เหนือสถานภาพทางเพศอื่นๆ ในขณะที่ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเลย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเสมอภาค

เนื่องในวันสตรีสากล  Dentsu Impact India จึงร่วมมือกับ Paytm ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์และอีคอมเมิร์ชรายใหญ่ในอินเดีย ได้ทำการทดลองทางสังคมหรือ Social Experiment แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างชายและหญิงในเรื่องความรู้ทางการเงิน โดยนำชายหญิง 30 คนที่อายุ หน้าที่การงาน และภูมิหลังต่างกันมาร่วมการทดลอง โดยการให้ทุกคนเข้าแถวแนวเดียวกัน จากนั้นถามคำถาม หากตอบว่าใช่ ให้เดินหน้าหนึ่งก้าว ถ้าไม่ใช่ให้ถอยหลังหนึ่งก้าว ช่วงแรกเป็นคำถามเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ขี่จักรยานเป็นก่อนอายุสิบขวบหรือไม่ รีดชุดนักเรียนเองหรือไม่ ได้เรียนดนตรีหรือไม่ ซึ่งช่วงคำถามนี้ ผู้เข้ารับการทดสอบส่วนใหญ่ตอบว่าใช่ และเดินหน้าขึ้นมาอยู่ในแนวเดียวกันเกือบทุกคน… ดูเหมือนบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุก ทุกคนคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่มายืนอยู่แถวหน้านำหน้าใครๆ

แต่ทุกอย่างเริ่มอึมครึมและอึดอัด เมื่อคำถามเริ่มเปลี่ยน เช่น คุณเป็นคนจัดการค่าใช้จ่ายในบ้านหรือไม่ คุณรู้มั้ยว่าเงินเดือนจะขึ้นเมื่อไหร่ คุณรู้ราคาทองคำปัจจุบันหรือเปล่า คุณซื้อรถซื้อบ้านด้วยชื่อคุณเองมั้ย คุณรู้จักการลงทุนในกองทุนรวมหรือไม่ คุณได้อ่านรายละเอียดเอกสารการเงินก่อนเซ็นต์ชื่อหรือไม่ และอีกหลายคำถามเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งผู้ที่ตอบคำถามว่าใช่และเดินก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ คือผู้ชายแต่ผู้หญิงกลับเดินถอยหลัง เพราะคำตอบของพวกเธอคือ “ไม่ใช่” แทบทุกคำถามที่เกี่ยวกับการเงิน และเมื่อผู้ดำเนินการทดสอบขอให้บรรดาคุณผู้ชายที่อยู่แถวหน้าหันหลังกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาต้องอึ้ง! เพราะผู้หญิงทั้งหมดอยู่ห่างออกไปหลายช่วงตัว และนั่นจึงเกิดคำถามสุดท้ายว่า เราปล่อยให้ระยะห่างของความเสมอภาคทางการเงินเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน?

การทดลองนี้ ช่วยเปิดตาให้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในอีกมิติ ที่ได้เหมารวมเอาเรื่องการเงินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะทัศนคติที่ว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” เชื่อว่าผู้ชายจัดการด้านการเงินได้ดีกว่า เพราะผู้หญิงไม่มีความรู้และการตัดสินใจไม่ดีพอ ทำให้เรื่องธุรกรรมทางการเงินกลายเป็นเรื่องของผู้ชาย

ถึงเวลาแล้วที่สังคมอินเดียควรแยกแยะเพศและการเงิน ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้หญิงควรมีเสรีภาพที่จะเข้าถึงความรู้ทางการเงินเท่าเทียมกันและมีอิสระที่จะจัดการการเงินด้วยตัวเอง

อ้างอิง: Brading In Asia, Marketech-Apac

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles