Genderation สื่อผู้โอบกอดและขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ

‘Genderation’ ก่อตั้งขึ้นโดย ต่าย – กัญญจันทร์ สะสม และ บี – บี ภูมิรัตน์ ที่ตั้งใจสร้างพื้นที่สื่อแห่งนี้โดยใช้วัฒนธรรมป๊อบมาเป็นเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผ่านเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ ทั้งข้อเขียน การ์ตูน คลิปวิดีโอ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ กับเป้าหมายอย่างการเป็นสื่อที่สามารถแสดงมุมมองเรื่องเพศที่หนักแน่น แต่อ่อนโยน เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนัก เข้าใจ ยอมรับ และเคารพตัวตนที่แตกต่างหลากหลายในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เรามีนัดกับต่ายและบี เพื่อมาบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของเพจน้องใหม่ แต่ไฟแรงมากแห่งนี้ รวมทั้งสิ่งที่พวกเขากำลังทำ ตั้งแต่ขุมพลังที่อยากจะขับเคลื่อนประเด็นทางเพศในมิติที่ละเอียดอ่อนอย่างไรให้แข็งแรง แต่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม ทัศนคติต่อความหลากหลายทางเพศในบ้านเรา ตลอดจนหลักชัยไกลๆ ที่พวกเขาจะเดินไปให้ถึงในสักวัน 

(ซ้าย) บี – บี ภูมิรัตน์ | (ขวา) ต่าย – กัญญจันทร์ สะสม

 

สร้างสื่อเพื่อการเรียนรู้และสร้างความตระหนักรู้

ก่อนหน้าที่ Genderation จะเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้ ต่ายมีพื้นฐานด้านอาชีพจากการเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์มาก่อน ทำเพจชื่อคุ้นหูอย่างสมาคมนิยมหนังหวาน เมื่อราวๆ 10 ปีก่อน ตั้งแต่โลกออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมมากแบบในปัจจุบัน อีกขาหนึ่ง เธอเป็นนักกิจกรรมตัวยง ออกค่ายมาตั้งแต่อยู่มัธยม กระทั่งได้มาเรียนรู้เพศศึกษากับกลุ่ม Life Skills Thailand ที่เวลานั้นใช้ชื่อ Love Pattaya นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องเพศที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว แต่ในแง่มุมอื่นๆ ด้วย

ส่วนบีสนใจเรื่องการสื่อสารมาต้ังแต่อยู่มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมกิจกรรมหนังสือทำมือที่ทำให้ตัวเธอได้รู้ว่าชอบสื่อสารและเล่าเรื่อง ได้ลองทำงานสารคดี สอนเด็กทำหนังสั้น เป็นฟรีแลนซ์ทำด้านสื่อ ก่อนที่จะมาเริ่มปลูกสตรอเบอรี่อินทรีย์ที่จังหวัดเชียงราย และ ณ ฟาร์ม แห่งนี้นี่เองที่ทำให้เธอมีโอกาสเป็นกระบวนกรที่ออกแบบกระบวนการให้เยาวชนได้มีประสบการณ์เชิงบวกกับการทำฟาร์มและสิ่งแวดล้อม โดยเวลาที่เหลือจากการทำฟาร์มสตอเบอรี่ บีมักจะเขียนขอทุนเพื่อไปเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ ตั้งแต่การจัดการภัยพิบัติ การจัดกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายเป็นต้นทุนให้เธอได้นำความรู้เหล่านี้ไปออกแบบกิจกรรมเพื่อชวนให้คนมาทบทวนตัวเองว่าสามารถทำอะไรให้ตัวเองและสังคมดีขึ้นได้บ้าง

บี: “หลังจากทำสตรอเบอรี่อินทรีย์ได้พักหนึ่ง บีสมัครเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator ไปด้วยสวนสตรอเบอรี่อินทรีย์ของบีนี่แหละ ซึ่งพี่ๆ อนุญาตให้พาพาร์ทเนอร์ไปเรียนด้วยได้ บีเลยชวนต่ายไป เป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์กับเราทั้งคู่มากๆ ด้วยเราสองคนแคร์มนุษย์ สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมทางเพศ และบีเองก็เป็นกลุ่มคนในชุมชน LGBTIQNA+  บีเชื่อว่าถ้าเราทำในสิ่งที่เราแคร์ เราจะต้องทำมันได้ดี นี่เป็นที่มาของการมาร่วมงานกันทำบริษัท Hippo Campus House ขึ้น”

ต่าย: “ตอนนั้นต่ายมีโปรเจ็กต์ใหญ่เข้ามาที่เราต้องสเกลทีม 10 คน แต่ระยะเวลาของโปรเจ็กต์ค่อนข้างสั้น งานจบเร็วกว่ากำหนด แต่เราไม่อยากให้ใครออก แล้วเราไปเรียนรู้เรื่องธุรกิจมา จึงเห็นความเป็นไปได้ที่จะเอามาประกอบร่างได้ เราเลยทำโมเดลบริษัท Hippo Campus House อย่างที่บีเกริ่นไว้ โดยแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เราทำเรื่องเวิร์กช็อป คือ Youth Empowering และ Adult Learner เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในประเด็นต่างๆ ซึ่งบีดูแลในฝั่งนี้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นส่วนการสื่อสารและการทำสื่อ เป็นส่วนที่ต่ายรับผิดชอบเป็นหลัก ซึ่งจะมีงานในส่วนที่ก่อนหน้านี้เรารับจ้างทำเป็นผู้วางแผนกลยุทธ์ให้กับ SME โดยเป็นบริการแบบเต็มรูปแบบที่เราจะดูแลตั้งแต่ pre-production, post-production งานกราฟิก งานวิดีโอ โพสต์ เขียนแคปชั่น เก็บสถิติ แบบครบลูป”

“สำหรับจุดเริ่มต้นของ Genderation ซึ่งอยู่ในส่วนสื่อ เกิดขึ้นเพราะมีความเชื่อว่า ถ้าเราอยากได้พื้นที่ทำงานแบบไหนเราต้องสร้างเอง ดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นสื่อเกี่ยวกับเพศแบบไหน ยิ่งในตลาดยังไม่มี เราจึงอยากสร้างขึ้นมาเอง โดยคำว่า ‘Genderation’ ประกอบขึ้นจากคำสองคำ คือ Gender และ Education เราอยากทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับนำเสนอความหลากหลายทางเพศ การให้ทั้งความรู้และสร้างความตระหนักรู้ ที่เราอยากขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเรามองว่าในเวลานี้ ระบบการศึกษาในโรงเรียนยังทำเรื่องเพศได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แล้วเราไม่อยากทำผ่านการศึกษาจ๋าๆ Generation เลยกลายเป็นสื่อที่จะใช้ความหลากหลายในการนำเสนอ เรามีสโลแกนคือ ‘Where diversity pop culture meets social change.’ เรามีความเชื่อมากว่าวัฒนธรรมป๊อบ ทั้งหนัง เพลง งานศิลปะ สามารถเป็นสื่อกลางที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ ถ้าเราทำงานหนักกับมันและจัดการได้ดีพอ”

 

เล่าเรื่องผ่านป๊อบคัลเจอร์

Genderation เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา มีกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปี กับจำนวนพนักงานรวม 12 ชีวิต ที่แม้จะเป็นกองกำลังขนาดย่อม แต่พวกเขาแข็งขันและตั้งใจทำงานเรื่องเพศกันอย่างเข้มข้น ผ่านวัฒนธรรมป๊อปจากงานหนัง ซีรีส์ ดนตรี วรรณกรรม และแฟชั่น เพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายและมากที่สุด

ต่าย: “เนื้อหาใน Genderation จะเป็นป๊อบเนิร์ดๆ เช่น การเล่าเรื่องเทพเควียร์ในปกรณัมทั่วโลก หรือถ้าเราจะรีวิวเซ็กส์ทอย เราจะเล่าถึงเรื่องวิศวกรรมและกลไกของมันด้วย เราแบ่งประเภทเนื้อหาออกเป็นสีๆ เช่น สีเทาจะเป็นเนื้อหาเชิงข้อมูลที่ให้ความแบบจริงจังและไม่สนุก ซึ่งต้องมีบ้าง เช่น เรื่องเพศในมาร์กซิสอะไรแบบนั้น สีส้มเป็นคอนเทนท์เชิงข้อมูลแบบสนุก สีเขียวเป็นการรีวิวไลฟ์สไตล์ทั่วไป ส่วนสีแดงจะเป็นเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวอัพเดทและข่าวทั่วๆ ไปที่เกิดขึ้น สีส้มจะเป็นคอมิค รวมถึงเรามีรายการชื่อ Diversity ที่สอนออกเสียงศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเพศ โดยอยู่ในคอนเทนท์สีฟ้า อย่างนี้เป็นต้น โดยกองบรรณาธิการจะเกลี่ยเนื้อหาในตารางให้ไม่มีสีไหนโดดจนเกินไป” 

บี: “นอกเหนือจากการที่ทำสื่อที่เนิร์ดแต่เล่าให้สนุก และครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย เพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน พฤติกรรม ทัศนคติคน ซึ่งจะสร้างความตระหนักในเรื่องเพศแบบค่อยเป็นค่อยไปรวมถึงสร้างบทสนทนาแล้ว Genderation ยังตั้งใจจะเชื่อมโยงให้ไปถึง Adult Learner นั่นคือการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ที่ทำให้คนเข้าใจตัวเอง เปิดรับ รวมทั้งมีวิธีคิดและทัศนคติที่ดีต่อความเท่าเทียมทางเพศในแบบที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ด้วย”

เพราะก้าวแรกยากเสมอ

บี: “ในมุมมองบี นอกจากเรื่องเงินทุนที่สำคัญมากๆ สำหรับการเริ่มต้นแล้ว อีกอย่างที่ท้าทายมากเช่นกันคือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ด้วยวิธีคิดในการทำงานที่เราอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนที่ทำงาน รวมถึงตัวพวกเราด้วย ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงเวลาที่เรากำลังหาทางบาลานซ์ให้ทุกคนในทีมรู้สึกดีทั้งต่อตัวเอง ต่องาน ต่อเพื่อนร่วมงาน โดยยังคงประสิทธิภาพและคุณภาพในการทำงานได้อยู่ เพราะบีว่ามนุษย์มีองค์ประกอบในชีวิตหลายอย่างที่เราต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเรื่องงานและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน”

ต่าย: “… และเคารพซึ่งกันและกันไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะที่ Genderation เราทำงานแบบ Work from Home 100% เรามีออฟฟิศเล็กๆ เพื่อให้คนที่อยู่กรุงเทพฯ ที่อยากจะเข้าออฟฟิศสามารถเข้ามาทำงานได้ สำหรับน้องๆ คนอื่นจะทำงานจากบ้านที่เชียงราย เชียงใหม่ และพิษณุโลก ซึ่งจะกระจัดกระจาย แล้วการทำงานที่นี่จะมีความยืดหยุ่น เช่น เราให้จัดการวันหยุดกันเอง ซึ่งการทำงานที่ยืดหยุ่น แต่ยังต้องมีวินัยและความรับผิดชอบที่ดีในการทำงาน โดยไม่เป็นภาระทางการงานกับใคร และยังต้องมีความสุขกับงานที่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน ต่ายคิดว่าเป็นความยากของยุคสมัยเลยนะคะ เราจะมาพูดปาวๆ ว่าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เราอยากจะ empower ผู้คนไปโดยที่เราไม่แคร์คนในองค์กรหรือคนที่ทำงานร่วมกับเรา แบบนั้นคงจะปากว่าตาขยิบไปสักหน่อย ความพยายามในการบาลานซ์เรื่องคนในทีม ซึ่งมีความหลากหลายกับประสิทธิภาพงานที่ต่ายอยากได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรเลย”

“อีกเรื่องคงจะเป็นในส่วนเนื้องาน ด้วยในบ้านเรามีสื่อที่ทำเรื่องเพศจ๋าๆ เพียงไม่กี่เจ้า เราจึงไม่มีใครที่จะเป็นต้นแบบได้ว่าเราสามารถทำแบบนี้ได้นะ ทำให้เวลาเรานำเสนออะไรก็ตามจึงเป็นเรื่องใหม่มาก แล้วก็ยากสำหรับ Genderation ด้วยในการทำโปรดักท์ออกมาในระยะเวลาอันสั้น แล้วต้องให้ได้คุณภาพอย่างที่เราตั้งไว้ เราถูกสอนในเรื่องธุรกิจมา เราคำนวณไว้ว่าเราจะเริ่มทำมาค้าขายได้น่าจะช่วงไหนถึงจะไหว แต่เราเชื่อมากว่าถ้าเริ่มต้นมาด้วยแบรนด์โมเดลที่ดี เราจะไปต่อได้ เพียงแต่เราต้องเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าเราต้องทำงานหนัก หนำซ้ำหลายคนยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า Genderation จะทำให้อะไรดีขึ้นอย่างไรเหรอ ตอนที่เราเขียนแผนธุรกิจ เราคิดว่านี่จะเป็น blue ocean แน่ๆ เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่เอี่ยม ปรากฏว่าในความเป็น blue ocean ของมันคือยังไม่เคยมีธุรกิจแบบนี้มาก่อนในบ้านเราเลย (หัวเราะ)”

บี: “แล้วพอเราจะเริ่มนำไปสู่การให้ความรู้เรื่องเพศที่หลากหลายและรอบด้าน คนมักจะบอกว่าแค่เรื่องเพศเอง ทำไมฉันจะไม่รู้ ความหลากหลายเหรอ ฉันก็รู้อยู่แล้ว ญาติฉันก็อยู่ในกลุ่ม LGBTIQNA+ นะ หรือแบบ เราจำเป็นต้องคุยกันถึงเรื่องที่ไม่สะดวกใจนี้เหรอ เราจะเห็นร่องรอยบางอย่างที่จริงๆ แล้วสังคมไม่อยากพูดถึงอย่างเปิดเผย หรือบางคนอาจคิดว่าเรากำลังโน้มน้าว ให้เป็นไปตามกรอบความคิดของพวกเรา การเริ่มต้นสื่อสารเกี่ยวกับทัศนคติทางเพศเลยยากพอสมควร เราจึงตัดสินใจใช้ป๊อบคัลเจอร์นำให้คนกล้าพูดเรื่องนี้กันก่อน”

นานาทัศนะกับเรื่องเพศๆ 

บี: “บีมองว่าคนเราเติบโตมา เราต่างเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะที่ถูกหล่อหลอมจากประสบการณ์ของเราเอง ดังนั้น บีเลยไม่แปลกใจที่คนต่างรุ่นไปจากเราจะมีวิธีคิด วิธีมอง และวิธีพูดแบบอื่น หรือคาดหวังแบบอื่นต่อคนต่างรุ่นกัน ยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวที่สุดเลย คือคุณลุงที่ไม่ได้สนิทสนมกันมาคุยธุระกับบีที่บ้าน ก่อนกลับเขาบอกว่า ‘ขอร้องนะ ลุงขอให้ไปเอาขนหน้าแข้งออกสักหน่อยเพราะว่าลุงเห็นแล้วมันจั๊กจี้’ เราคิดว่านี่เป็นเรื่องของเลนส์ในการมองคนอื่นอย่างไม่เคารพความเป็นมนุษย์ เป็นการกดทับทางเพศ แสดงให้เห็นหลายๆ อย่างที่เกิดจากประสบการณ์ ความคิด และความเชื่อ ตอนนั้นบียืนยันว่า นี่คือร่างกายหนู หนูอยากจะทำอะไรก็ให้หนูตัดสินใจเองเถอะ แต่พอเรามาคิดอีกที เราว่าจริงๆ แล้วมุมมองต่อเรื่องเพศน่ะถูกหล่อหลอมมาด้วยค่านิยมของแต่ยุคสมัย ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใครหรอก แต่เราทุกคนต้องรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดเป็นวิถีปฏิบัติที่เราทุกคนจะมีความสุขในโลกร่วมกันได้ ยังมีความคิดและความเชื่อที่เกี่ยวกับเพศอีกเยอะเลยที่นำไปสู่การละเมิด ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย และอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงทั้งทางใจและทางร่างกายด้วยค่ะ”

สิ่งสำคัญคือบีอยากให้คนรู้ว่านี่คือสิ่งที่พวกเราต้องเรียนรู้ อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้แล้วหรือรับรู้มามากพอแล้ว ตัวบีเองก็ต้องเรียนรู้ในแง่มุมเรื่องเพศอยู่เสมอเช่นกัน อย่างคำบางคำที่เราคิดว่าเราเรียกเขาถูก แต่เขาอาจจะไม่ยินดีให้เราเรียกเขาด้วยคำนั้น หรือบางเรื่องที่เรามองเห็นเป็นเรื่องตลก แต่มันคือตัวตนที่แท้จริงของคนๆ หนึ่ง เราก็ต้องเรียนรู้ และตระหนักว่าเราอาจเข้าใจผิดหรือแสดงออกไม่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากสิ่งที่เราเรียนรู้มาในประสบการณ์ของเรา ถ้าการสื่อสารของ Genderation ไปถึงตรงนั้นได้ ที่คนเริ่มยอมรับว่า สิ่งที่ฉันเรียนรู้มาเป็นแบบนี้นะ และนี่คือสิ่งที่ฉันตั้งใจจะเรียนรู้เพิ่มเพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งเรื่องเพศ และเรื่องอื่นๆ ด้วย ก็จะดีมากเลยค่ะ”

ต่าย: “ต่ายคิดว่าต่ายโชคดีมาตั้งแต่เด็กที่เรารู้ตัวว่า ‘ฉันอาจจะชอบผู้หญิงได้นะ’ รวมทั้งมีโอกาสได้ไปเข้ากระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ และต่ายยังมีครอบครัวที่ไม่มีปัญหาอะไรกับรสนิยมทางเพศ  แถมยังโตมาในกลุ่มผู้คนที่ไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้อีก ดังนั้น ต่ายไม่เคยต้องกังวลเรื่องการเปิดตัว ไม่เคยต้องก้าวข้ามผ่านว่าเป็นฉันแล้วผิดอย่างไร ไม่เคยมีอะไรแบบนั้นอยู่ในหัว แล้วก็เป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก เราเลยไม่เข้าใจในช่วงแรกๆ ว่าทำไมคนมีปัญหาอะไรกับประเด็นเหล่านี้ แต่หลังจากนั้น เราพยายามเรียนรู้ที่จะเข้าใจมาเรื่อยๆ ว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง อาจจะมาจากวิธีคิดเชิงสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ซึ่งเข้าใจได้ แต่เราไม่ยอมค่ะ ไม่ยอมในที่นี้หมายความว่า ไม่ควรมีใครบนโลกใบนี้จะต้องเจ็บปวดหรือต้องสงสัยในตัวเองว่าตัวเราว่ามีคุณค่าน้อยกว่าคนอื่นเพียงเพราะเราเป็นเพศอะไร นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ ดังนั้น สิ่งที่ต่ายทำมาตลอดเป็น 10 ปี ต่ายไม่เคยต่อสู้กับอะไรเลยนอกจากการต่อสู้ให้คนคนหนึ่งยอมรับตัวเอง คุณต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นสิ่งที่แย่ ต้องรู้ว่าคุณไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วนอกจากไม่ผิดแล้ว คุณไม่ต้องเป็นคนดีก็ได้ ที่เขาบอกว่าเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรเลย เมื่อเรายอมรับตัวตนของเราได้แล้ว เราจะเดินไปถึงจุดที่บีบอกได้”

บี: “บีขยายความจากของตัวเองและของต่ายนะคะ สาเหตุที่บอกว่าคนทุกคนจะต้องได้มาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเพศและองค์ประกอบของมันอย่างลึกซึ้ง ก็เพราะถ้าเราได้ค้นหาจากบริบททั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งความเป็นเพศ รสนิยม ความเชื่อ และประสบการณ์ที่ประกอบเป็นตัวเรา ทำไมเราถึงเป็นคนที่คิด เชื่อ และทำแบบนี้ เราจะเริ่มยอมรับในตัวตนบางอย่างของตัวเองที่สังคมบอกว่าไม่ควรเป็น แล้วถ้าเมื่อไหร่ที่เรายอมรับความหลากหลายทั้งทางกว้างและทางลึกของตัวเองได้มาก จะทำให้เรามีพื้นที่ให้คนอื่นแสดงความหลากหลายของเขาได้อย่างอิสระไปด้วย พื้นที่ในใจของเราจะกว้างขึ้นเพื่อโอบรับความหลากหลายอื่นๆ ในโลกได้มากขึ้น การตัดสินกันจะลดลง และมีความเห็นอกเห็นใจเพิ่มขึ้น เมื่อหลายคนเปิดใจและยอมรับ พื้นที่ที่ปลอดภัยนี้จะกว้างไปเรื่อยๆ ความเข้าใจในตัวเรากับการเปิดใจต่อสังคมมันเลยสัมพันธ์กัน เราเลยเริ่มจากการใช้สื่อเรียกให้คนมองเข้ามา และใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อให้คนได้ขยายขอบการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจร่วม ให้คนได้มีมุมมองว่าเขาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความหลากหลายในโลกใบนี้

ความเท่าเทียมกันทางเพศเกิดขึ้นได้ จริงหรือ? 

ต่าย: “ความเท่าเทียมกันทางเพศเกิดขึ้นจริงไหม ได้แน่นอนค่ะ เอาจริงๆ เราจะทำอะไรก็ได้นะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ ความจริงแท้ในโลกใบนี้มีอยู่ไม่กี่อย่างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ความเจ็บป่วยหรือความตายของคน แต่การเหยียด การให้คุณค่าว่าสิ่งนั้นดี-ไม่ดี ความคิดว่าคนตรงเพศมีสิทธิ์มากกว่าเพศอื่นๆ เหล่านี้เป็นเรื่องประดิษฐ์ขึ้นมาทั้งนั้น การประดิษฐ์โดยมนุษย์ต้องแก้ได้ ต่ายรู้ว่ามันยากและสะสมมานาน แต่ทำได้ค่ะ”

“องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เป็นการเรียนรู้ของต่ายเลย เราต้องแก่ขนาดนี้ถึงจะมองภาพได้ครบ เด็กกว่านี้ก็ไม่ได้ด้วย ต่ายคิดว่าคงต้องใช้ทุกอย่างในสังคมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ แต่ต่ายเชื่อใน 2 อย่าง หนึ่งเรื่อง การศึกษา เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานของการหล่อหลอมคน ถ้าการศึกษาสามารถกระตุ้นและผลักดันคนได้ เดี๋ยวอย่างอื่นจะมาเอง สองคือ สื่อ สื่อเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากเพราะมีอิทธิพลต่อมนุษย์ในแบบที่เหลือคณานับในโลกยุคนี้ ดังนั้น การศึกษาทำให้คนมีข้างใน สื่อจะเป็นส่วนข้างนอกที่จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ที่ดี เป็นการเติมส่วนที่ดีเข้าไป แล้วถ้าเรามีรัฐที่ดีที่เข้าใจเรื่องสิทธิ์ ต่ายคิดว่าทำได้แน่นอน”

บี: “บีมองว่าการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในวิถีของสังคมเป็นไปได้ค่ะ โดยอาศัย 2 อย่าง คือ ความรู้ Knowledge  กับ ความเมตตา Compassion คือ คนต้องเข้าถึงความรู้ได้ เป็นความรู้ที่เป็นจริง ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนมีข้อมูลที่ถูกต้อง การมีความรู้จะทำให้คนไม่สงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ มันช่วยสร้างทัศนคติที่ดี ทำให้มุมมองของเราต่อสังคมกลมขึ้น กับอีกอย่างคือความเมตตา ความเมตตาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนเปิดใจให้กับความแตกต่าง ทำให้มีความเห็นอกเห็นใจกัน บีคิดว่าถ้ามีสองอย่างนี้ในตัวคน จะนำไปสู่ความเท่าเทียมในสังคมได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ แต่เป็นความเท่าเทียมที่ลดการกดทับทางสังคมอื่นๆ ด้วย  เพียงแต่วิธีคิดและความเชื่อของเรามันมีวิถีทางเพศที่แข็งและเปลี่ยนยากมากำกับ เลยต้องเริ่มต้นสื่อสารจากเรื่องนี้ สุดท้ายบีอยากให้คนทุกคนมองว่า ‘เธอก็มนุษย์ ฉันก็มนุษย์ ฉันมีเรื่องดีและแย่ เธอก็เช่นกัน เราลองไม่เอากรอบอื่นมาลดทอนคุณค่าของเขา ตัดสินเขา แค่นั้นเอง”

ความสำเร็จไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน แต่สำเร็จแน่

บี: “การที่ Genderation เกิดขึ้นมาได้ต้องชื่นชมต่าย เพราะเขาเป็นคนที่เริ่มวางแผนมาก่อน พอต่ายชวนว่าเรามาทำสิ่งนี้กันเถอะ บีก็เข้ามาอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ต้น ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่เราอยากอยู่ ใน Genderation บีมีโอกาสได้วาด comic ได้เขียนรีวิว ได้นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เราเองเป็นคนในชุมชน LGBTIQNA+ ด้วยเนื้อหาและท่าทีจากเราเอง ซึ่งทำให้รู้สึกสาแก่ใจมาก (หัวเราะ) คือเราสื่อสารเนื้อหาของเราด้วยท่าทีที่ไม่รุนแรง เป็นท่าทีที่เรารู้สึกว่ากำลังพอดี เสริมสร้างกำลังใจ ยอมรับและมีพื้นที่ให้คนอื่น ในแบบที่จริงจัง หนักแน่น และอ่อนโยนด้วย ที่ให้ความสำคัญกับท่าทีในการสื่อสารมากเพราะต่อให้เป็นคำเตือนที่เป็นจริงดีงาม แต่ถ้าใครมาในท่าทีที่กระโชกโฮกฮาก หูคนฟังจะดับไปข้างหนึ่งแล้ว การมีพื้นที่ Genderation ที่เราออกแบบวิธีการสื่อสารได้มันเปิดโอกาสให้เราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย และเชื่อว่าเราจะได้เจอกลุ่มเพื่อนที่ทำและอินกับสิ่งเดียวกันค่ะ

“ในปลายทาง บีมองว่า Genderation จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนมั่นใจในทัศนคติเรื่องเพศและการสื่อสารในแบบที่ชัด ใช่ และเคารพคนอื่น ไม่ว่าจะผ่านทางมีเดียหรือจากเวิร์กช็อป เราจะเป็นทางออกเกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องเพศ ให้คนนึกถึง Genderation แล้วบอกว่า ‘ลองไปเช็คกับเขาสิ เขามีคำตอบนะว่าในกรณีอย่างนี้ต้องสื่อสารอย่างไร ถ้ามีสถานการณ์แย่ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือมีประเด็นละเอียดอ่อน ควรจะทำความเข้าใจอย่างไร’ เราจึงทั้งสื่อสารและสร้างการรับรู้ในหลายๆ ทางให้คนไว้ใจว่า Genderation เป็นเพื่อนที่มีข้อมูลและทัศนคติต่อเรื่องเพศอย่างเปิดกว้าง และเราตั้งใจสร้างสังคมที่ผู้คนได้เรียนรู้และยอมรับความหลากหลายด้วย

ต่าย: “ต่ายบอกน้องๆ ตั้งแต่วันแรกเลยว่าปลายทางของ Genderation คือต่ายอยากทำซีรีส์เอง เป็นซีรีส์ที่พูดถึงเรื่องเพศที่หัวก้าวหน้า ที่สนุก ที่เรามั่นใจว่าจะไม่ไปตีตรา หรือไปทำลายชุมชนของกลุ่มทางเพศทุกกลุ่ม จริงๆ เราไม่ได้รู้ทุกอย่างหรอกค่ะ แต่เพราะเราทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เราเลยสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ และเราพร้อมเปิดรับและเรียนรู้ไปด้วยกัน สิ่งไหนที่เราไม่รู้ เราสามารถไปถามผู้ที่รู้ได้ เรามีกระบวนการในการพูดคุยร่วมกันได้ เช่น ทำไมสื่อไม่ควรใช้คำว่า ‘แถมทอง’ เราลองมาพูดคุยกันดูไหมว่าเพราะอะไร เป็นต้น

“นอกจากนี้ เป้าหมายในระยะอันสั้นตามประสา head project ต่ายคิดว่า Genderation จะต้องอยู่ให้ได้เสียก่อน นั่นคือ การมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงองค์กรแบบที่สามารถทำต่อกันไปยาวๆ ได้ เพราะถ้าทำเงินไม่ได้ จะดีแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ เพราะมันไม่ยั่งยืน ดังนั้น เราต้องผลักดันให้องค์กรเป็นไปตามแผนในฝั่งมาร์เก็ตติ้งให้ได้เสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพวกเรา ส่วนเรื่องเนื้อหาหรือมีเดีย เรามั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของเรา ในระยะแรกนี้จึงเป็นการเตรียมโปรดักท์ให้พร้อม ให้คน scroll down ลงมาในแพลตฟอร์มของเราแล้วสามารถรู้จักกับเรา รู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร เราทำทั้งทางลึกและกว้างในหลากหลายมิติเรื่องเพศ และยังทำกันอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด

“สำหรับต่าย นี่เป็นงานที่พูดออกไปจากปากได้อย่างภูมิใจว่า เรามาจาก Genderation สื่อที่ตั้งใจส่งสารในเรื่องเพศและการศึกษา ต่ายรู้สึกว่าการทำสิ่งนี้ คือ Right thing to do คือจุดตรงกลางที่ถูกต้อง แม้จะหงุดหงิดและเหนื่อยมาก เพราะเป็นงานที่ยาก การทำสื่อออนไลน์ให้ดีไม่ใช่งานสบาย ต่ายได้สัมผัสด้วยตัวเองแล้วว่ามีองค์ประกอบมากมายที่เราต้องฝ่าฟัน แต่มันเป็นความเหนื่อยที่รู้สึกดีตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่างทาง และปลายทาง พวกเราไม่ได้นั่งฝันลมๆ แล้งๆ ว่าอยากจะไปถึงไหน แต่วางแผนหมดทุกอย่างแล้ว เราคิด เราพยายาม เราตรวจสอบ และมีกระบวนทำงานของเรา พวกเราจึงมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำจะสำเร็จได้ไม่วันใดก็วันหนึ่งค่ะ”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม: Genderation

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles