Dastkar ชวนเหล่าศิลปินพื้นบ้านชาวอินเดียอัญเชิญเทพเจ้าบอกเล่าวิธีป้องกันภัยจากโควิด-19

เพื่อความปลอดภัยในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศอินเดียออกมาตรการล็อคดาวน์เมืองสำคัญเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาด ถึงอย่างนั้นสถานการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นนัก ล่าสุดจากสถิติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มียอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 8 ล้าน 3 แสนกว่าราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ล้าน 2 แสนกว่าราย นับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ขณะที่โลกยังไม่สามารถหาวัคซีนมาแก้ปัญหานี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น วิธีการที่จะช่วยได้ซึ่งสังคมต่างรู้กันดีก็คือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้หากมีความสำนึกรับผิดชอบ แต่หากยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นทุกวันเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าสังคมอาจยังไม่ตระหนักเพียงพอ จึงจำเป็นต้องช่วยกันกระตุ้นเตือนให้เกิดสำนึกกันขึ้นอย่างเร่งด่วน

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 องค์กร Dastkar ริเริ่มทำโปรเจ็กต์ปลุกจิตสำนึกให้ชาวอินเดีย โดยนำเหล่าศิลปินพื้นบ้านและช่างหัตถกรรมร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพี่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ถึงวิธีการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ในสไตล์งานเชิงวัฒนธรรมพื้นบ้านและประเพณีนิยมที่ศิลปินแต่คนถนัด และดึงเอาเหล่าทวยเทพในตำนานมาใช้เป็นตัวละครในการนำเสนอ ให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ศิลปะพื้นบ้านที่เคยใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา เช่น จิตรกรรมฝาผนัง หรือ ภาพเขียนบนผ้าขนาดใหญ่ม้วนพับติดตัวผู้แนะนำไปเผยแพร่ศรัทธาเพื่อความอยู่รอด

ศิลปิน Ambika Devi จากหมู่บ้าน Rashidpur ซึ่งอยู่ทางเหนือของรัฐ Bhihar ใช้รูปแบบศิลปะประจำถิ่นที่เรียกว่า Madhubani ซึ่งเป็นการเขียนภาพในกระดาษขนาดใหญ่ติดฝาบ้าน, Apina Swain ศิลปินนักวาดภาพจากหมู่บ้าน Raghurajpur ทางด้านตะวันออกของรัฐ Orisa ใช้ภาพเขียนบนผืนผ้าใบที่เรียกว่า Pattachitra ซึ่งมีรากวัฒนธรรมโบราณมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 หรือผลงานของศิลปิน Tulsidas Nimbark โดยเขียนภาพสีในสไตล์งานย้อนยุคศตวรรษที่ 17 ใช้ภาพสื่อความหมายเชิงศาสนาอย่างนาฏกรรมแห่งองค์กฤษณเทพเพื่อสอนคนให้รู้ถึงการเว้นระยะห่าง ฯลฯ

Daskar คือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเน้นสนับสนุนช่างฝีมือชาวอินเดียและผู้หญิงตามหมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ช่างฝีมือชนบทขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงล็อคดาวน์คงจะโดนผลกระทบกันถ้วนหน้า งานนี้จึงนับเป็นการเชื่อมต่อความสำคัญระหว่างความเชื่อ วัฒนธรรม และเรื่องของสุขอนามัย รวมถึงการผสมผสานระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม โดยหวังว่าจะช่วยเตือนสติผู้คนและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ไม่มากก็น้อย

อ้างอิง: www.bbc.com, dastkar.org, www.covid19india.org

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles