ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล จับทิศ SE ไทยจะปรับตัวอย่างไรให้ไปต่อได้อย่างยั่งยืน

Reading Time: 3 minutes
1,157 Views

ในอดีต ก่อนที่จะมีคำจำกัดความของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise (SE) สิ่งที่เราสามารถสืบเสาะไปถึงกลุ่มคนทำงานที่มีเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งก็คือ DNA ขององค์กรเหล่านั้น ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยไม่ได้มองหาผลกำไรมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่คือเป้าหมายเพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจดังกล่าวถูกนิยามขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญของคุณค่าในการใช้ชีวิตและต้องการนำเอาองค์ความรู้ที่ตัวเองมีมาสร้างธุรกิจโดยไม่ได้ต้องการให้สิ่งที่พวกเขาปลุกปั้นขึ้นมีตัวเลขเป็นสิ่งวัดค่าความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ดอกผลที่เกิดขึ้นมีประโยชน์ในวงกว้างด้วย

ธุรกิจเพื่อสังคมกลุ่มใหม่ๆ ที่เราเริ่มเห็นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะพวกเขาทำให้ภาพขององค์กรรูปแบบดังกล่าวเปลี่ยนจากสิ่งที่สังคมเคยตีค่าว่าเป็นกลุ่มคนดีกินแกลบไปสู่ธุรกิจที่สามารถเติบโตและมีมูลค่าได้ ขณะที่ยังคงบทบาทในการตอบแทนสังคมได้ไม่น้อยไปกว่าอดีตที่ผ่านมา นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล นายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand) มาแบ่งปันเราในการพูดคุยครั้งนี้ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายๆ แง่มุมที่เราอาจไม่เคยรู้อยู่ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ด้วย .

เพราะอยากสร้างบ้านที่ทุกคนเข้ามาอยู่กันได้

หากมองไปยังสถานการณ์ของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่าแวดวงดังกล่าวเป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับความสนใจอยู่ไม่น้อย ทว่าน้ำหนักของความสนใจและการส่งเสริมนั้นเทไปที่คนนอกวง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานสนับสนุน โดยที่ยังไม่มีองค์กรสนับสนุนใดที่เกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการกันเอง  

“จุดเริ่มต้นจริงๆ ของ SE Thailand มาจากรายละเอียดในพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งวัดกันละเอียดยิบ แบบที่ผู้ประกอบการหลุดเข้าไปได้ยากมาก ก็เลยมีการตั้งคำถามว่า แล้วกลุ่มที่เข้าไปไม่ได้ล่ะจะไปอยู่ตรงไหน ใครจะช่วยพวกเขา แล้วผู้ประกอบการอยากได้ในสิ่งที่ พ.ร.บ. เสนอมาไหม จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ทั้งตัว พ.ร.บ เอง รวมถึงการประเมินความต้องการโดยร่วมกับผู้ประกอบการว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร ความท้าทายที่เจอ ไปจนถึงว่าจะมีวิธีการบริหารแบบไหน ว่ากันง่ายๆ SE Thailand เกิดขึ้นจากว่า พ.ร.บ. เป็นบ้านที่คนทุกคนยังไม่สามารถเข้าไปได้ เราเลยอยากจะสร้างบ้านสักหลังเพื่อให้ทุกคนเข้ามาอยู่กันได้ก่อน เป็นบ้านที่ไม่ได้โฟกัสว่าคุณเป็นใคร แต่ให้ความสำคัญว่าคุณทำอะไร เน้นเรื่องผลกระทบที่ดีที่จะเกิดขึ้นจริง”

(ที่มา: สำนักงานส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม)

งานของ SE Thailand ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 

Connect: การสร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมด้วยกันเอง รวมทั้งองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อม

Communicate: การสื่อสารและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในบริบทของประเทศไทยเพื่อให้เกิดทั้งความเข้าใจ ประโยชน์ ตลอดจนการรับรู้ในวงกว้างกับทั้งคนที่อยู่ในวงของ SE เองและคนวงนอกที่สนใจและต้องการสนับสนุน 

Catalyze: การผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อสังคมผ่านกิจกรรม การเรียนรู้ การแบ่งปันข้อมูล และการรวมกลุ่มที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน แก้ไขปัญหา และพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการ และมีความยั่งยืน 

“80/20” หลักการแบบ Pareto ที่ทำน้อยแต่ได้มาก

“อย่างที่บอก เมื่อมีการพูดคุยกัน เราก็เริ่มประเมินความต้องการและลำดับความสำคัญว่าผู้ประกอบการเขามองหาอะไร และพยายามที่จะทำให้เป็น 80/20 rule โดยหาวิธีว่าเราจะลงมือทำ 20% แล้วครอบคลุมปัญหา 80% ของกลุ่ม SE ได้อย่างไร จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาจัดเป็นโปรแกรมให้ความรู้ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างแบบจำลองธุรกิจ, เทรนด์ของผู้บริโภค, สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเข้าไปจับตลาดต่างๆ, เทรนด์ในอนาคตว่าธุรกิจของพวกเขาจะต้องไปจับตลาดไหนจึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปได้ ซึ่งเราต้องการขยายขีดความสามารถให้พวกเขามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งสนับสนุนพวกเขาในทุกๆ ทางด้วย   

หนึ่งในโปรเจ็กต์ไฮไลท์คือโปรเจ็กต์ที่เราทำร่วมกับทางธนาคารออมสินในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราพบว่าธุรกิจ SE หลายๆ แห่งมีปัญหาในเรื่องของการเงิน ซึ่งเวลาที่จะไปกู้เงิน เขาไม่สามารถที่จะเข้าถึงเงินทุนได้ เพราะว่ากฎของการปล่อยกู้ในทุกธนาคาร เราต้องเอาสินทรัพย์มาเป็นตัวค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่ว่า SE ทุกแห่งจะมีสินทรัพย์มาค้ำ หรือต่อให้มีสินทรัพย์ ก็คงไม่มีใครเอาสินทรัพย์ส่วนตัวมาค้ำเพื่อที่จะมารันธุรกิจ เพราะชีวิตตัวเองในเวลานี้ก็มีความเสี่ยงมากพอแล้ว เราเลยไปตั้งโต๊ะบูรณาการกับธนาคารออมสิน ซึ่งเขาให้ความช่วยเหลือมาด้วยการเปิดวงเงินให้ประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อปล่อยเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และใช้สินทรัพย์ค้ำประกันในเกณฑ์ที่ลดหย่อนขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสามารถทำให้ได้และเป็นความเสี่ยงที่เขารับได้ หลังจากนั้นเราก็ส่งต่อข้อมูลไปให้กลุ่มธุรกิจในเครือข่าย โดยใครก็ตามที่สามารถยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเงื่อนไขที่ดีในสถานการณ์นี้ ก็สามารถกู้เงินจากที่นี่ได้ แล้วก็มีธุรกิจหลายๆ เจ้าที่เข้ารับเงื่อนไขนี้ โดยเขาปล่อยกู้ไปทั้งสิ้นประมาณ 20 กว่าล้าน ซึ่งเราก็กำลังทำงานต่อเนื่องกับธนาคารออมสินอยู่ครับ”

เรียนรู้จุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน

ในขณะที่จุดแข็งของธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยคือความหลากหลาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการบ้านเราแทรกตัวอยู่แทบจะทุกๆ อุตสาหกรรม ตั้งแต่การเงิน เกษตรกรรม สุขภาพ เทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งยังมีคุณสมบัติเด่นอย่างความคล่องแคล่วและยืดหยุ่นในการทำงาน พ่วงท้ายมาด้วยศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลานี้ เรายังไม่เจอผู้ประกอบการที่เป็น unicorn นะ ที่เห็นว่าไปได้ไกลที่สุดก็คือ Local Alike (https://localalike.com) ซึ่งโตแบบพรวดพราดมากๆ แล้วถ้าไม่เกิดโควิดขึ้นเสียก่อนจนเศรษฐกิจซบเซา ผมเชื่อว่าที่นี่จะเติบโตไปได้แบบก้าวกระโดดเลย เพราะเขาสามารถเอาตัวเองเข้าไปแทรกอยู่ในภาคธุรกิจ แล้วยังมีชุมชนที่จะโปรโมตในสิ่งที่เขามีได้อีก แต่ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในไม่รู้กี่ร้อยแห่ง เพราะฉะนั้นเราต้องมานั่งดูปัญหาว่าทำไมผู้ประกอบการไทยถึงไประดับนั้นไม่ได้”

นอกเหนือไปจากเรื่องการขยายธุรกิจ (Scalability) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของประเทศที่หากวิธีการในการทำโมเดลธุรกิจไม่คมพอ ปัญหาที่ต้องการแก้ไขไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับองค์กรอื่นๆ จนไม่มีความ niche อันจะทำให้ธุรกิจเติบโตลำบากแล้ว จุดอ่อนที่สองในนิเวศของ SE เองที่แม้ว่าจะมีความคึกคักอยู่มาก แต่ในภาพใหญ่ของโลกธุรกิจก็เรียกว่ายังไม่แพร่หลายมากพอ 

“ถ้าลองวาดวงกลมของธุรกิจทั้งหมดที่มีในประเทศไทย เมื่อเทียบ SE กับวงธุรกิจใหญ่แล้ว ไซส์ของธุรกิจเพื่อสังคมยังเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่อยู่ในวงกลมวงใหญ่นั้นอยู่ ซึ่งถือว่าเล็กมากนะ แล้วนั่นก็ไม่เพียงแต่จะทำให้การรับรู้ต่อ SE ไม่มากพอ แต่ยังส่งผลให้การสนับสนุนน้อยตามไปด้วย นี่เป็นหนึ่งในมิชชั่นใหญ่ที่ SE Thailand ต้องพยายามทำ เพราะเมื่อคนรับรู้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ซัพพอร์ต SE ในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นตามมา 

อีกปัญหาสำคัญที่ผมเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของเซคเตอร์นี้คือผู้เล่นที่เป็นธุรกิจรายใหญ่กระะโดดมาเล่นเอง นี่ถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ SE ไทยเติบโตยากเลยนะ เพราะถ้าธุรกิจที่มีเงินทุนมากกว่า มีบุคลากรที่ดีกว่า ต้องการที่จะมาตั้งตัวทำเอง ก็เหมือนกับไม่ได้พยายามที่จะพาธุรกิจเหล่านี้เข้ามาให้อยู่ในกระบวนการด้วย สิ่งที่ผมอยากจะขอภาคธุรกิจคือการใช้ความกว้างของการทำธุรกิจของเขาเป็นฐานในการที่จะดึง SE ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจของเขา แล้วมันจะกลายเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเติบโตขึ้นได้ และเป็นการปรับระบบนิเวศของ SE ในภาพรวมได้เลย” 

ตีกรรเชียงอย่างไรให้พ้นวิกฤต

“วิกฤตหลักๆ ที่ผมคิดว่าเป็นที่สุดแล้วก็คือ การหดตัวของตลาด (Market Shrinkage) เพราะเมื่อระบบเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก ผลกระทบส่งไปเป็นโดมิโน่เลย เริ่มจากฐานล่างก่อนแล้วค่อยๆ สะเทือนขึ้นมาถึงข้างบน ซึ่งถ้าปัญหาลากยาวไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้สายป่านขององค์กรที่เดิมอาจจะพอจะสู้ไหวอยู่ที่ 5 เดือน 8 เดือน พอข้ามปีก็เริ่มส่งผลกับเขาด้วย และแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของ SE หลายๆ แห่งที่เป็น service-based และ interaction-based เพราะเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวมา เขาก็ไม่รู้จะรันธุรกิจอย่างไรต่อ แม้รัฐบาลจะส่งเสริมก็ตาม

เอาจริงๆ ปัญหาของการสเกล SE เพื่อให้เกิดอิมแพ็คที่กว้างขวางขึ้น ไม่ว่าจะเวลานี้หรือเวลาไหนก็ตาม เราต้องย้อนไปที่แผนธุรกิจนี่แหละ ถ้าแผนธุรกิจของคุณยังไม่คม คุณต้องไปแก้ตรงนี้ให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจที่คุณกำลังจะทำคืออะไร ทำเพื่ออะไร เพื่อใคร อยากแก้ปัญหาอะไรในลักษณะไหน สิ่งที่เราจะไปนำเสนอให้กับลูกค้าคืออะไร มีความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำกันอย่างไร ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่ชัดเจน เมื่อถึงเวลาที่ไปแข่งกับเขา เราจะไม่มีจุดเด่นที่จะแยกเราออกมาจากคู่แข่งคนอื่นๆ ได้เลย ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็จะกลายเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่ขายอยู่บนชั้น แล้วก็ต้องแข่งขันบนพื้นฐานของสินค้าชนิดเดียวกัน ทั้งเรื่องราคา รสชาติ โปรโมชั่น แต่ในแง่ของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราโฟกัสจะไม่ถูกบวกเข้าไปด้วย 

ส่วนเรื่อง market segmentation หรือการแบ่งส่วนตลาดก็สำคัญมากเช่นกัน เราจะเห็นว่าคนแต่ละรุ่นสนใจในเรื่องที่ต่างกัน เช่น เด็กรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญในมิติของสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ขณะที่คนรุ่นเก่าก็อาจจะให้ความสำคัญกับมิติของสังคมมากกว่า ดังนั้น เราต้องมองว่าโปรดักท์ที่เราทำนั้นตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมายไหนและเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือเปล่า

ในมุมมองผม สำหรับ SE ที่รันธุรกิจของตัวเองมาแล้ว เราเริ่มเห็นเทรนด์ที่เป็นดิจิทัลหรือออนไลน์เดลิเวอรี่ที่การซื้อไม่จำเป็นต้องเห็นของหรือจับของอีกต่อไปแล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องพยายามคือการปรับตัวไปใช้ช่องทางทางดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดจะทำให้ตัวเองตีกรรเชียงให้พ้นวิกฤตนี้ไปก่อน ส่วนน้องใหม่ที่ต้องการจะทำและมีความตั้งใจดี แต่แผนธุรกิจเราไม่แม่น ก็อย่าเพิ่งเริ่ม ผมคิดว่า go back to the drawing board ด้วยการคุยกับคนเยอะๆ ใช้เวลาในการคุย ในการเหลา สะท้อนมุมมอง แล้วก็เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ก็น่าจะทำให้เวลาที่เราเริ่มต้นสามารถที่จะไปได้ชัดเจนมากขึ้นนะครับ ในเวลานี้เป็นเวลาที่ธุรกิจทั่วไปยังยากเลย แล้วถ้าจะมาทำ SE ก็จะยิ่งยากมากขึ้นเลยนะ และต้องดูจังหวะให้ดีด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเราทำอะไรเสร็จเรียบร้อย เปิดบริษัทขึ้นมาแล้วต้องไปแข่งกับคนอื่น สายป่านของเรายาวพอที่จะสู้กับเขาไหม จุดนี้ต้องพิจารณาให้มากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจกันครับ”

ตัวช่วยที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยอยู่บนแผนที่โลก

“สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ธุรกิจเพื่อสังคมอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเลยล่ะ คู่แข่งของเราน่าจะเป็นอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ที่มี SE ที่ดีๆ ดังๆ อยู่หลายแห่งเหมือนกัน พอพูดถึงระดับโลก ผมมองว่าเราอาจยังไม่ได้ไปอยู่ในบริบทโลกเบอร์นั้น เราอาจมีน้องๆ หลายคนที่อยู่ในเครือข่าย World Economic Forum แต่ถามว่ามีอยู่ในเวทีโลกจนเป็นปกติเลยไหม ก็ไม่

ผมหวังอยู่มากเหมือนกันว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สถานการณ์ของ SE บ้านเรามีพัฒนาการในทางที่ดีมากขึ้น สำหรับสิ่งที่ผมมองไกลไปกว่านั้นอีกก็คือ การสนับสนุนจากฝั่งรัฐบาลที่ควรจะเล่นบทเป็น facilitator ที่มีบทบาทในการส่งเสริมและบูรณาการให้เกิดอิมแพ็คมากขึ้น เช่น การเร่งกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดกฎหมายลูกต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจนี้อย่างแท้จริง”

เมื่อได้รับโอกาสก็จะทำให้ดีที่สุด

“ส่วนตัว ผมไม่ได้มองว่าจะได้อะไร คิดแค่ว่าเมื่อได้มาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วก็ถือเป็นโอกาสที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาให้เกิดนิเวศของธุรกิจนี้ให้ดีขึ้น แต่จะบอกว่าไม่ได้อะไรเลยก็ไม่ใช่เสียทีเดียว แน่นอนว่าผมได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้ ได้เจอและรู้จักผู้คนในหลายแวดวงที่อยากทำสิ่งดีๆ ในประเทศนี้ นอกเหนือจากนั้นก็คือความสนุกสนาน ความท้าทาย และเมื่อเขาให้โอกาสเข้ามาทำ ก็ต้องพยายามทำให้ดีเพื่อให้ออกมาอย่างดีที่สุดในเวลาและความสามารถของผมและทีมงานจะทำได้”

ปั้น SE Thailand ให้เป็นสตรองยิม 

“สำหรับความคาดหวังที่ว่า SE Thailand จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ผมมองว่าจริงๆ โลกนี้กำลังมองหาธุรกิจแบบใหม่ๆ อย่างธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจเกื้อกูลสังคมที่มีเป้าหมายเพื่อตอบแทนสังคม ธุรกิจที่ทำแล้วไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง ไม่ทำให้รายได้กระจุก แต่ทำแล้วเกิดการกระจายรายได้ ผมคิดว่านี่จะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ SE Thailand สามารถที่จะเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่นๆ สามารถมาดูและนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของเขาได้

สำหรับ SE Thailand เอง เราพยายามจัดลำดับความสำคัญของมิชชั่นเราเสียใหม่ ยิ่งในเวลานี้ที่กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมเดือดร้อนกันอยู่ ถ้าเรายังไม่สามารถทำเทรนนิ่งโปรแกรมต่างๆ ที่จะตอบโจทย์พวกเขาในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าได้ เราต้องหันหัวเรือไปช่วยตอบโจทย์เขาในระยะสั้นก่อน ฉะนั้น สิ่งที่เราทำเยอะมากก็คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการจับคู่ธุรกิจเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเขา ช่วย engage กับพาร์ตเนอร์ที่มีศักยภาพเพื่อที่จะดูว่าภาคธุรกิจจะสามารถเข้ามาช่วยหรือเข้ามาซัพพอร์ตตัว SE ได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ เรายังอยากเห็น SE Thailand เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์รวมของสมาชิกจริงๆ ผมพูดเสมอว่าอยากให้ที่นี่เสมือนกับยิมที่มีเครื่องมือให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเทรนนิ่งโปรแกรม, การจับคู่ธุรกิจ, การสื่อสาร ถ้าถามว่าความสำเร็จของเราคืออะไร มันก็ต้องเป็นยิมที่คนเข้ามาใช้เครื่องมือที่เราเตรียมไว้ ไม่ใช่ยิมที่มีคนเข้าวันละ 2 คน ไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นยิมที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ถ้าเราเป็นยิมที่คนเข้าอย่างต่อเนื่อง engage ต่อเนื่อง แล้วสามารถที่จะไปสร้างเน็ตเวิร์กกันต่อได้ นี่ก็น่าจะเป็นภาพที่ทีม SE Thailand อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต เราอยากให้ที่นี่เป็นบ้านของเหล่าผู้ประกอบการทางสังคม เป็นที่ที่ถ้าตั้งธุรกิจขึ้นมาแล้ว พวกเขาอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายครับ”

ภาพ: สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Thailand Association: SE Thailand)
อ้างอิง: www.sethailand.org


ING
ING
อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.