Pay It Forward: การให้ไม่สิ้นสุด ลดบาดแผลให้สังคมด้วยความเอื้อเฟื้อที่ไม่หวังผลตอบแทน

ใครจะเชื่อว่าเพียงคำถามไม่กี่ประโยคและการบ้านบนกระดานดำในชั้นเรียนวิชาสังคมศึกษาของเด็กประถมจะมีอิทธิพลต่อเขาไปตลอดชีวิต โลกคืออะไร…มีความสัมพันธ์กับชีวิตอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่ เป็นคำถามธรรมดาทว่ายากเหลือเกินที่จะมีคำตอบได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในเมื่อโลกที่เห็นอยู่เต็มไปด้วยความบกพร่องและรอยแผลเป็น บางทีพระเจ้าไม่ได้สร้างโลกมาให้สมบูรณ์แบบอย่างที่เข้าใจกัน หรือบางทีพระองค์อาจประสงค์จะทดสอบมนุษย์ท่ามกลางความทุกข์ เราจะหาทางขับเคลื่อนให้โลกไปสู่ทิศทางใด…และแล้วการบ้านไม่กี่บรรทัดนั้นก็แสดงพลังออกไปนอกห้องเรียนได้อย่างเหลือเชื่อ แบบที่หนังเรื่องนี้กำลังบอกเรา ‘Pay It Forward’

การจัดวางองค์ประกอบของการเล่าเรื่องทั้งโครงเรื่องและตัวละครสะท้อนให้เห็นความใฝ่ฝันของเด็กตัวเล็กที่เอื้อมสุดมือเพื่อจะคว้าโลกที่สวยงาม ท่ามกลางหลายชีวิตที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี คนชั้นกลาง หรือแม้แต่คนจรจัด ต่างรอโอกาสที่จะเปิดหน้าต่างหัวใจเพื่อให้แสงแห่งความเห็นอกเห็นใจกันส่องผ่าน คำถามก็คือ คนเราจะทำอะไรเพื่อใครโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนได้จริงหรือ เราจะไม่ผิดหวังแม้ว่าการช่วยเหลือนั้นจะเหมือนกับการโยนก้อนหินลงในน้ำแล้วจมหายไปอย่างไร้ค่าได้จริงๆ หรือ สำหรับคนทำหนังย่อมไม่คิดแบบนั้น หนังจำต้องมีความเอนเอียงที่จะสื่อสารความหวังไปสู่โลกที่ทึมทึบดังที่เป็นข่าวให้เห็นทุกวัน เช่น ข่าวอาชญากรรม ความรุนแรงและทำร้ายกัน การเหยียดคนทั้งสีผิว เชื้อชาติ และจากอาชีพการงาน ฯลฯ แล้วเราจะยอมจำนนกับภาพเหล่านั้นโดยไม่มีความหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นเลยกระนั้นหรือ

ด้วยกลวิธีการวางเส้นเรื่องไปสองเส้นขนานกันระหว่างปัญหาชีวิตครอบครัวของ Trevor เด็กนักเรียนเกรด 7 และ Ariene แม่ของเขาที่มีอาชีพเป็นพนักงานตัวเล็กๆ ในสถานบริการยามค่ำ ทั้งคู่อยู่กันเพียงลำพัง (โดยที่พ่อผู้ซึ่งติดสุราเรื้อรังและชอบใช้ความรุนแรงโดนขับออกไปจากครอบครัว) Ariene รู้สึกอ้างว้าง บ่อยครั้งก็ต้องพึ่งสุราเช่นเดียวกัน แม่ลูกคู่นี้กำลังรอความอบอุ่นจากใครสักคนที่จะช่วยเติมเต็ม และด้วยความพยายามจะเป็นกามเทพของ Trevor ในที่สุดก็เจอจนได้ ซึ่งคนนั้นก็คือ Eugene Simonet ครูวิชาสังคมของเขานั่นเอง หนุ่มวัยกลางคนผู้มีแผลเป็นจากไฟไหม้บนใบหน้าและเผาลึกลงในใจที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังรักษาแผลนั้นให้หายสนิทไม่ได้ หลังจากที่ Trevor เรียนกับครู Eugene Simonet เขาก็พยายามจะทำการบ้านบนกระดานโดยการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นตามกำลังที่พอจะทำได้ ซึ่งผลที่ตามมากลายเป็นบทสรุปสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด

อีกเส้นหนึ่งคือเรื่องของนักข่าว ‘Chris Chandler’ ผู้ดวงซวยสุดเพราะรถส่วนตัวต้องมาพังยับเยินขณะทำข่าวอาชญากรรม ทว่าในจังหวะนั้นเอง เศรษฐีคนหนึ่งโยนกุญแจรถจาร์กัวให้ แล้วบอกเขาให้เอาไปใช้โดยไม่ต้องจ่ายอะไรเลย เหตุการณ์นี้ทำให้เขาเกิดความสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไม เศรษฐีคนนั้นจึงตัดสินใจเช่นนั้น วินาทีนั้น ‘Chris Chandler’  จึงตั้งใจจะสืบหาที่มาของความเชื่อของเศรษฐีคนนั้น ยิ่งสาวก็ยิ่งพบเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเส้นเรื่องทั้งสองเส้นก็มาประสานกันในตอนจบ

เทคนิคการเล่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ โดยการปิดบังเรื่องราวบางตอนไว้ในลักษณะจิ๊กซอว์ แล้วค่อยๆ เผยให้คนดูรับรู้ เพิ่มความสงสัย ชวนติดตาม จนเกิดภาพสะท้อนว่าทุกเหตุการณ์ที่แวดล้อมอยู่ ล้วนเป็นห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์ทางสังคมเสมอ Pay It Forward นำเทคนิคนี้มาใช้ได้ดีสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้กับผู้ชม ซาบซึ้งในพฤติกรรมตัวละครแม้จะมีความเศร้าลึกปนอยู่ด้วยก็ตาม

มีคำถามให้ขบคิดต่อว่า เราจะเปลี่ยนโลกด้วยวิธีไหน เราจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่อนาคตที่ดีได้อย่างไร หรือไม่ก็อาจเป็นแนวคิดที่ดูจะอุดมคติจนเกินไป สำหรับการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่ท่ามกลางโลกและชีวิตที่บกพร่องนี้ ทุกคนต่างต้องการการเยียวยาบาดแผลในใจอยู่เสมอ ไม่แน่นะการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนนั่น…เราอาจกำลังให้โอกาสตัวเองเยียวยารอยแผลในใจของตัวอยู่ด้วยก็เป็นได้

Pay it Forward สร้างขึ้นจากนวนิยายชื่อเรื่องเดียวกันของ Catherine Ryan Hyde ดัดแปลงเป็นบทหนังโดย Leslie Dixon กำกับการแสดงโดย Mimi Leder ผู้คว่ำหวอดกับวงการบันเทิงมายาวนานทั้งในทีวีและจอใหญ่ งานหนังที่เธอถนัดก็มักเป็นสไตล์ดราม่าพูดถึงปัญหาสังคมและชีวิตของผู้คน และด้วยการแสดงของนักแสดงรางวัลออสการ์ทั้งสามคน Kevin Spacey รับบทเป็นครู Eugene Simonet, Helen Hunt รับบทเป็น Ariene แม่ของ Trevor ซึ่งรับบทโดย Haley Joel Osment ที่โด่งดังจากการรับบทเด็กใน Forest Gump และ The Sixth Sense ฯลฯ (ทุกวันนี้โตเป็นหนุ่มเครางามไปแล้ว) หนังจึงประสบความสำเร็จได้รับคำชื่นชมจากสถาบันหนังและนักวิจารณ์มากมาย แม้เรื่องนี้จะออกฉายมาตั้งแต่ปี 2000 แล้วก็ตาม แต่ประเด็นของเรื่องไม่ได้เก่าตามยังคงเป็นคำถามให้กับโลกปัจจุบันอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

อ้างอิง: en.wikipedia.org, www.warnerbros.com, www.imdb.com

Tags

Tags:

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles