‘Petition C190’ แคมเปญทรงพลังช่วยกัน ‘สู้ลบ’ คำพูดเหยียดเพศในที่ทำงาน

นี่ก็ปี 2023 แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผู้หญิงจำนวนมากยังตกเป็นเหยื่อของการกีดกันทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ และการล่วงละเมิดในที่ทำงาน เรื่องนี้แม้เราไม่ได้เห็นกับตา หรือเจอกับตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง 

ที่ประเทศเยอรมนี มีแคมเปญชื่อ ‘Petition C190’ ซึ่งริเริ่มโดยนักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวเยอรมันชื่อ เออร์ซูลา คาร์เวน ซึ่งพยายามเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการกีดกันทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน 

หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การติดตั้งชิ้นงาน Typography ที่ดูเรียบง่ายด้วยตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว มองแว้บแรกดูกลมกลืนเหมือนป้ายโฆษณาทั่วไป พอแว้บที่สองลองอ่าน ก็จะพบความหมายกระแทกตากระแทกใจ เพราะมันคือคำพูดเหยียดเพศที่ผู้หญิงมักเจอในที่ทำงาน ทั้งคำดูถูก ว่าไม่เก่งเท่าผู้ชายเอย หรือคำลวนลาม ที่เห็นผู้หญิงเป็นแค่วัตถุทางเพศเอย 

ต่อมาแว้บที่สาม ข้อความเหยียดเพศเหล่านี้ แท้จริงแล้วเป็นภาพเคลื่อนไหว ที่จะค่อยๆ ปรากฏลายเซ็นทับลงไปบนข้อความเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็บดบังข้อความไปหมด เป็นการสื่อให้เห็นว่าเสียงของแต่ละคนนั้นมีค่า ถ้ารวมกันมากๆ ก็มีน้ำหนักมากพอที่จะแก้ไขปัญหาได้

ดีไซเนอร์ตั้งใจใช้ฟอนต์ Bodoni ที่ดูเปราะบางเพิ่มความขัดแย้งทางความรู้สึกเมื่อมันอยู่กับข้อความที่สะเทือนใจ โดยเลือกติดตั้งไว้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานีรถไฟ หรือห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก

แว้บที่สี่ สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมรณรงค์กับแคมเปญนี้ บนบิลบอร์ดก็มีคิวอาร์โค้ดสำหรับสแกนเพื่อลงชื่อผ่านช่องทางเว็บไซต์ petitionc190.de ด้วย ปัจจุบันมีการรวบรวมรายชื่อไปแล้วกว่า 100,000 ชื่อ (เป้าหมายคือ 150,000 ชื่อ) ถือเป็นแคมเปญรณรงค์ที่สร้างสรรค์และทรงพลัง ทั้งในแง่ความหมายและการสร้างความร่วมมือร่วมใจ

“เมนส์มาหรือไง?”

“ใส่กระโปรงสั้นก็ต้องเจอแบบนี้แหละ”

“เป็นผู้หญิงทำได้ขนาดนี้ถือว่าเก่งนะ”

 

อ้างอิง: ifdesign.comdandad.org

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles