แคมเปญสีเลือด “The Bloody Data” เผยสถิติผู้หญิงถูกฆ่าเปรียบเทียบกับเลือดประจำเดือน

ถ้าคุณเห็นเลือดประจำเดือนจากร่างกายผู้หญิงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เลือดของผู้หญิงที่ไหลนองเพราะถูกฆ่าจากคนที่เธอรัก มันน่ารังเกียจกว่าหรือไม่ แล้วทำไมยังปล่อยให้มันไหลออกมาโดยไม่ช่วยเหลืออะไร

The Bloody Data แคมเปญสีเลือด จากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (AIPR) เปอร์โตริโก้ เปิดตัวในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นวันสากลเพื่อการขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง (International Day for the Elimination of Violence against Women) เผยสถิติข้อมูล “Femicide” ซึ่งมีความหมายว่า การฆาตกรรมบนพื้นฐานของความเป็นผู้หญิง แสดงเป็นอินโฟกราฟิกเปรียบเทียบสถิติผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมจากคนใกล้ตัว ผู้หญิงที่ถูกทารุณทางเพศ และผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากความรุนแรงในครอบครัว กับเลือดประจำเดือนที่ยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามในเปอร์โตริโก้ และหลายคนคิดว่าน่ารังเกียจ เช่น 38% ของผู้หญิงที่เสียชีวิต ถูกฆาตกรรมในที่สาธารณะ เปรียบเทียบกับปริมาณเลือดบนผ้าอนามัยแบบสอด เป็นต้น ซึ่งเป็นภาพที่นับว่ารุนแรงต่อสายตาผู้คน แต่เหตุที่ต้องนำภาพเลือดประจำเดือนมาแสดงต่อสาธารณะ เพราะปัญหานี้ถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลเปอร์โตริโก้ แม้จะมีการรณรงค์เรียกร้องจากองค์กรสิทธิสตรีและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายแคมเปญ ก็ไม่เกิดผล ครั้งนี้จึงขอเรียกร้องความสนใจกันให้แรง กระตุ้นสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หากคิดว่าเลือดประจำเดือนของผู้หญิงน่ารังเกียจ การนองเลือดของผู้หญิงจากความรุนแรง ไม่ได้สร้างความรังเกียจเช่นนี้หรืออย่างไร? ทำไมยังเพิกเฉยกันอยู่

แคมเปญ Bloody Data เผยแพร่ทั้งบนสื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณากลางแจ้ง สื่อสังคมออนไลน์ และยังมีเว็บไซต์ www.thebloodydata.com ที่ให้ประชาชนสามารถลงนามเรียกร้องรัฐบาลของเปอร์โตริโกให้จริงจังต่อปัญหา ซึ่งตอนนี้สามารถรวบรวมคำร้องได้ครบและได้รับการสนับสนุนในกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลภาพชุดนี้ยังได้รับความสนใจสื่อมวลชน จนสะท้อนถึงรัฐบาลในเวลาเพียงสองเดือนหลังการเปิดตัว Pedro Pierluisi ผู้ว่าการรัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับความรุนแรงทางเพศในเปอร์โตริโก้ มีคำสั่งของฝ่ายบริหารจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเรื่องเพศในทุกหน่วยงานของรัฐ โดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการสอนเรื่องความเสมอภาคทางเพศในระบบการศึกษา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ปฏิบัติต่อผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงอย่างมีศักดิ์ศรี และจัดสรรเงินจากงบประมาณของประเทศเพื่อจัดการกับความรุนแรงที่น่ารังเกียจนี้อย่างเป็นรูปธรรม

เป็นความสำเร็จของแคมเปญ ที่เรียกว่า เลือดต้องเรียกร้องด้วยเลือด! เลยทีเดียว

อ้างอิง : Ads of The World,  The Bloody Data

 

 

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles