Walkin’ & Rollin’ Costumes อาสาแปลงโฉมวีลแชร์สร้างรอยยิ้มสดใสให้เด็กน้อย

Walkin’ & Rollin’ Costumes คือชื่อขององค์กรไม่แสวงผลกำไรในรัฐแคนซัส ประเทศอเมริกา ที่รับอาสาแปลงโฉมเครื่องช่วยเดินและรถวีลแชร์ของเด็กๆ ผู้มีความพิการทางการเคลื่อนไหว โดยจุดเริ่มต้นแนวคิดสุดครีเอทีฟและมีประโยชน์ต่อสังคมนี้มาจากมันสมอง สองมือ และหัวใจของคุณพ่อ Lon Davis ผู้ซึ่งมีลูกชายที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับโรคมะเร็งกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เด็กน้อยไม่สามารถเดินได้และต้องเริ่มใช้รถวีลแชร์ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ

เมื่อถึงเทศกาลฮัลโลวีน คุณพ่อเดวิสจะบรรจงตกแต่งรถวีลแชร์ของลูกชายตามคาแรคเตอร์จากภาพยนตร์เรื่องโปรดของลูก คือ WALL·E โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกล่องคอมพิวเตอร์ เทปกาว ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น เมื่อเดวิสถ่ายรูปลูกชายในชุดคอสตูมรถวีลแชร์และโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ผู้คนก็เริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ตกแต่งรถวีลแชร์ให้ลูกๆ ของพวกเขาบ้าง และนั่นก็คือก้าวเล็กๆ ที่นำไปสู่รอยยิ้มแห่งความสุขของเด็กคนอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

เมื่อเสียงเรียกร้องเริ่มเพิ่มมากขึ้น (จากผู้คนในหลายๆ เมืองทั่วอเมริกา) องค์กร Walkin’ & Rollin’ Costumes จึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้สโลแกนว่า Exceptional Costumes for Exceptional Kids โดยจะผลิตชุดคอสตูมสำหรับเด็กๆ ที่ใช้เครื่องช่วยเดินหรือรถวีลแชร์ให้ฟรีแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้ หัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้จึงมาจากน้ำใจของอาสาสมัครและผู้บริจาคเงินสมทบทุนที่มาจากทั่วประเทศ ซึ่งทางองค์กรก็พยายามที่จะสร้างเครือข่ายนักออกแบบให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อที่จะได้เข้าถึงเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่อย่างถ้วนทั่ว สามารถเข้าไปวัดขนาดเพื่อผลิตงานได้อย่างแม่นยำพอดี และที่สำคัญช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและเดินทางไกล

หันกลับมาที่บ้านเราบ้าง ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2560 พบว่า ประเทศไทยเรามีจำนวนประชากรผู้พิการทั้งสิ้น 3.7 ล้านคน ประกอบด้วยผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการมองเห็น และผู้พิการด้านสติปัญญาการเรียนรู้ โดยในจำนวนทั้งหมดนี้ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมีจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้พิการทั้งหมด ซึ่งเป้าหมายหลักของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ (จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก็คือการช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ และสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปนั่นเอง

มองไปรอบๆ ตัว สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในเมืองไทยยังคงมีเรื่องให้ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทางลาดให้ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือการทำ ‘เบรลล์บล็อก’ แผ่นปูพื้นนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา (แบบที่คุณภาพดีมีมาตรฐานไม่นำทางไปชนเสา) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็เริ่มมีกิจกรรมและกิจการเพื่อสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้พิการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดประกวดออกแบบให้นักศึกษามาช่วยกันออกแบบรถเข็นผู้พิการที่คุณภาพดี ทนทาน และราคาไม่แพง เว็บไซต์ wheel-go-round แหล่งรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร สำหรับผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ หรือโครงการ Cart Wheel Chair Donate สร้างรถเข็นผู้ป่วยคุณภาพดีราคาไม่แพง โดยดัดแปลงมาจากซากรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตและเศษผ้าเหลือใช้ (ร่วมบริจาคหรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB: Cart Wheel Chair Donate) ต้องบอกว่างานออกแบบหรือโมเดลธุรกิจสำหรับผู้พิการนั้นรอคอยไอเดียใหม่ๆ อีกมากมาย

หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ Leaving No One Behind (เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง) สังคมจะเติบโตก้าวหน้าได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อคนทุกกลุ่มได้รับสิทธิ สวัสดิการ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน เราหวังว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้สำเร็จในสักวัน

 

อ้างอิง: Walkin’ & Rollin’ Costumes

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles