เมื่อดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เปลี่ยนโฉมผ้าไทยให้ดูร่วมสมัยในคอลเลกชั่นพิเศษ

พูดถึงผ้าไทยแล้ว ในสายตาของคนรุ่นใหม่อยู่บ้างอาจจะมองว่า ‘เชย’ หรือ ‘ล้าสมัย’ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ผ้าไทยก็เหมือนกับงานฝีมือดั้งเดิมแบบอื่นที่หาก ‘ทวิสต์’ ให้ถูกทางแล้วก็สามารถดูร่วมสมัยและมีอัตลักษณ์โดดเด่นในสังคมยุคใหม่เช่นกัน อย่างเช่นคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าชุดล่าสุดที่ออกแบบโดย ดร. กฤษณ์ เย็นสุดใจสิ ใครจะไปคิดว่าผ้าไทยก็สามารถออกมาในรูปแบบนี้ได้

ด้วยเชื่อว่าหนึ่งในวิธีที่จะทำให้งานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิมยังมีที่ยืนอยู่ในสังคมยุคใหม่ คือการประยุกต์งานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิมให้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของคนปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จึงผุดแนวคิด From Weaving Streets to Today Life’s Craft โดยได้มอบหมายให้ ดร. กฤษณ์ เย็นสุดใจ ผู้ชนะเลิศโครงการประกวด Innovative Craft Award 2016 หนึ่งในโครงการประกวดงานออกแบบของ SACICT ให้สร้างสรรค์คอลเล็กชั่นแฟชั่นขึ้นด้วยผ้าไทยจาก 5 ชุมชนที่ดูแลโดยครูช่างและทายาทศิลปหัตถกรรม อันได้แก่ ผ้าฝ้ายย้อมครามจากสกลนคร ผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝายจากขอนแก่น ผ้าฝ้ายทอมือบ้านไร่จากอุทัยธานี ผ้าไหมแพรวาจากกาฬสินธุ์ และผ้าบาติกจากกระบี่ เกิดเป็นคอลเล็กชั่น Absolute Beginner ที่ช่วยเชิดชูให้ผ้าไทยโดดเด่นสวยงามยิ่งกว่าเดิม ด้วยการจับคู่วัสดุที่แปลกใหม่ อย่างการแมตช์ผ้าไหมกับไวนิลหรือผ้าฝ้าย รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นผ่านรูปแบบที่นำมาประยุกต์ใช้ได้หลายแบบและสไตล์ยูนิฟอร์ม หนึ่งในไตล์คลาสสิกของวงการแฟชั่น

ซึ่งหลังจากได้เห็นการเปิดตัวไปในงานแฟชั่นโชว์ที่จัดขึ้นร่วมกับนิตยสารลอฟฟีเซียล ไทยแลนด์ ไปเมื่อ 14 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา เชื่อว่าคอลเล็กชั่นนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยที่สุดก็ชวนให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า…แบบนี้ก็ได้ด้วย! และยิ่งเทรนด์ดีไซน์ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ย้อนกลับมาหา ‘รากเหง้า’ ของตัวเองกันมากขึ้น แนวคิดแบบนี้น่าจะช่วยผลักดันให้วงการออกแบบงานฝีมือไทยก้าวไปข้างหน้าได้อีกไกล

ดร. กฤษณ์ เย็นสุดใจสิ

บันทึก

Chidsupang Chaiwiroj

ชิดสุภางค์ ฉายวิโรจน์ ปัจจุบันทำงานเป็นบรรณาธิการบทความของนิตยสารเล่มหนึ่ง เธอชอบงานคราฟต์และเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรม รวมถึงรักการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ tasteofwander.wordpress.com

See all articles