เมื่อแบรนด์แฟชั่นประกาศเปลี่ยนวิถีการผลิต! ไม่สร้างขยะใหม่ ไม่ทำลายทรัพยากรโลก

Everlane คือแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกันที่พยามยามสร้างจุดยืนการทำธุรกิจแบบโปร่งใสไม่มิดเม้ม บนเว็บไซต์ของพวกเขานอกจากจะมีคอลเล็กชั่นต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกสรรแล้ว พวกเขายังมีสตอรี่ที่เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการผลิต สถานที่ตั้งโรงงาน มีการอธิบายกลยุทธ์การตั้งราคาเปรียบเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงเหตุผลโน้มน้าวใจที่ทำให้ผู้บริโภคเล็งเห็นถึงข้อดีของสินค้าแฟชั่นคุณภาพที่ใช้ได้นานโดยไม่ต้องตามเทรนด์ คงไม่ผิดหากจะบอกว่า Everlane คืออีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นสวนกระแสที่มุ่งหวังจะล้างภาพเสียๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาต่อสิ่งแวดล้อมโลกมาอย่างยาวนาน

ความพยายามครั้งล่าสุดของแบรนด์นี้ (และอาจจะเป็นครั้งที่สร้างผลกระทบได้ชัดเจนที่สุดด้วย) ก็คือการออกมาประกาศพันธสัญญาว่า Everlane จะยุติการใช้ ‘พลาสติกใหม่’ ในกระบวนการผลิตสินค้าทั้งหมดให้ได้ภายในปี ค.ศ.2021 ผู้บริหารแบรนด์แถลงกับสำนักข่าวต่างๆ ว่า

“ภายในปี 2021 ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า แอคเซสซอรี่ และบรรจุภัณฑ์ของ Everlane ทั้งหมดทั้งปวงจะไม่มีส่วนประกอบของพลาสติกใหม่อีกเลย สินค้าทุกไลน์ที่มีส่วนผสมของวัสดุสังเคราะห์จะต้องปรับตัวมารองรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลเท่านั้น ซึ่งในที่นี้เราหมายรวมไปถึงเส้นใย ผ้าทอ และวัตถุดิบทุกชนิดที่มาจากใยสังเคราะห์ ทุกดีเทลของการผลิตจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้วัสดุรีไซเคิลแบบ 100%” นอกจากนี้ทางผู้บริหารแบรนด์ยังมีแผนที่จะปรับปรุงสำนักงานและหน้าร้านของแบรนด์ในอนาคตให้กลายเป็นเขตปลอดพลาสติกใหม่ทั้งหมด รวมถึงตั้งเป้าว่าจะใช้ถุงบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลในการขนส่งสินค้าให้มากที่สุดด้วย

สำหรับผลงานคอลเล็กชั่นล่าสุดที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญก็คือ The ReNew Colleciton ชุดเสื้อผ้ากันหนาวที่เปิดตัวมาใหม่ช่วงปลายปี 2018 ผลงานนี้มีไฮไลท์อยู่ที่การใช้ขยะขวดน้ำพลาสติกจำนวนกว่าสามล้านขวดมาเป็นวัสดุหลักในการผลิต เริ่มต้นจากการแยกขยะขวดน้ำจากเส้นทางการกำจัดขยะทั่วไป นำมาผ่านกระบวนการต่อยอดให้เป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์ จากนั้นก็นำเส้นใยที่ได้ไปออกแบบและผลิตขึ้นเป็นเสื้อผ้ากันหนาว อาทิ เสื้อฟลีซแบบสวมหัว เสื้อแจ็กเก็ตบุนวม และเสื้อคลุมพาร์กา เป็นต้น

นอกเหนือจากคอลเล็กชั่นแนวคิดก้าวหน้าอย่าง The ReNew ที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบแล้ว เรายังชื่นชมแบรนด์ Everlane จากมุมมองที่พวกเขาพยายามสื่อสารเรื่องการบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการยืนยันกับเหล่าลูกค้าว่าสินค้าแฟชั่นที่ดีควรต้องมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว และอยู่ในตู้เสื้อผ้าของเราได้เป็นสิบปี ซึ่งแม้จะเป็นแนวคิดที่สวนทางกับเทรนด์แฟชั่นหมุนเร็วของโลกปัจจุบันอย่างมาก (ทุกวันนี้ธุรกิจแฟชั่นกระแสหลักต้องการให้ผู้บริโภคเสพแฟชั่นแบบไม่แคร์โลก แทบจะใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วเร่งการซื้อใหม่ จึงเน้นทำการตลาดแบบฉาบฉวย ไม่เน้นคุณภาพ) แต่ Everlane ก็ยืนหยัดอยู่กับค่านิยมนี้มาตลอด ทั้งยังให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจแบบแฟร์เทรด สนันสนุนระบบการค้าที่สร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตั้งแต่คู่ค้า ลูกค้า มาจนถึงลูกจ้างในบริษัท

ยกตัวอย่างเช่นการแบ่งส่วนกำไรจากการขายในช่วงเทศกาลมามอบคืนแก่ลูกจ้างฝ่ายผลิตในประเทศเวียดนาม โดย Everlane ได้สร้างฟาร์มเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนที่เหล่าลูกจ้างพักอาศัย บนความหวังว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้นให้กับผู้คน

อ้างอิง: www.everlane.com

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles