คุยกับสามทหารเสือผู้สร้าง Cheewid เพื่ออีกหลากหลาย ‘ชีวิต’ บนโลกใบนี้

‘Cheewid ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลทฟอร์มที่จะเข้าไปช่วยให้องค์กรทางสังคมสามารถเติบโตขึ้นได้ด้วยเครื่องมือดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลด้านข้อมูล การเงิน ทรัพยากรบุคคล รูปแบบการบริจาค ไปจนถึงการจัดการทุกๆ อย่างในเชิงออนไลน์ โดยองค์กรที่ Cheewid เข้าไปดูแลนั้นมีตั้งแต่มูลนิธิ กิจการเพื่อสังคม โรงเรียน โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ กับมีเป้าหมายสำคัญคือการทำงานโดยมีสังคมเป็นที่ตั้ง

หัวหอกหลักอย่าง คริษฐ์ ศุภวัฒนกุล (คริส) ประธานกรรมการผู้จัดการ (CEO), ญาณพล แก้วไพฑูรย์ (โจ๋ว) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และ พรสิมา ดวงรัตน์ (เอม) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายประสบการณ์ลูกค้า (CXO) เลือกใช้คำว่า Cheewid’ หรือ ‘ชีวิต’ เพราะความตั้งใจของพวกเขาคือการเข้าไปช่วยเหลือองค์กรที่มีกลุ่มเป้าหมายคือสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ ด้วยปลายทางคือการสร้างคุณภาพที่ดีให้ระบบนิเวศทั้งในสังคมและสิ่งแวดล้อม และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรากับสามทหารเสือผู้สร้าง Cheewid เพื่ออีกหลายๆ ชีวิตบนโลกใบนี้

การก่อร่างสร้าง Cheewid 

คริส: คอนเซ็ปต์ของ Cheewid เริ่มต้นมาประมาณปี 2014 ตอนที่ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทไอทีชื่อ Accenture ตอนนั้นผมไปช่วยดูโปรเจ็กต์ไทยแลนด์ 4.0 และ ดิจิทัลไทยแลนด์ (Digital Thailand) โดยครอบคลุมในเรื่องสวัสดิการและแรงงาน รวมทั้ง human transformation ต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมคิดว่า ถ้าหากรัฐบาลเริ่มมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามแผนได้จริงๆ ภาคเอกชนควรจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับการเติบโตในลักษณะนั้นได้ จึงมีไอเดียของการระดมทุนในเวลานั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว หากดูคอนเซ็ปต์ของ crowdfunding ซึ่งคือการระดมทุนโดยต้องผ่านคนกลาง ตอนนั้นผมเลยคิดว่า แล้วทำไมเราไม่สร้างระบบที่มัน decentralized ไปเลย ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าเยอะ และองค์กรเองก็สามารถรับบทบาททั้งการจัดการด้านการเงินและเป็นเจ้าของข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

จนกระทั่งปี 2015 ผมตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะออกมาช่วยเหลือคนไทย เพราะสิ่งที่ภาคสังคมยังขาดมีทั้งเรื่องเทคโนโลยีในการนำโครงการใหม่ๆ มาบอกต่อ งบประมาณสนับสนุนในช่วงการก่อตั้งองค์กรหรือโครงการ การซัพพอร์ตเรื่องทีมจัดการ ถ้าพูดง่ายๆ คือพวกเขาอยากช่วยสังคม แต่ไม่รู้จะเริ่มจากไหน ช่วยอย่างไร หรือที่ไหน ถ้าไปดูสถิติจากกรมสรรพากรจะพบว่าปีๆ หนึ่ง ยอดการบริจาคมีมากถึงประมาณแสนล้าน แต่ว่าเงินไปกระจุกตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง เราเองก็อยากที่จะเข้าไปช่วยคลี่คลาย และนำทางให้กับองค์กรที่ควรได้รับความช่วยเหลือให้สามารถรันกิจการของเขาได้

โจ๋ว: ผมเข้ามาทำงานกับ Cheewid ในปี 2018 ซึ่งตัวผมเรียนด้านวิศวะ ทำงานในสายเทคโนโลยี และสนใจงานด้านสังคมอยู่แล้ว ผมมีคำถามในใจมาตั้งแต่เด็กว่า “เอ๊ะ ทำไมฟุตบาทบ้านเราถึงไม่เรียบนะ ทำไมรถเมล์ของบ้านเราเก่าจัง หรือตอนที่บวชก็เห็นการบริจาคเงินแบบหยอดใส่กล่องที่ไม่รู้ว่าปลายทางของเงินจะไปอยู่ตรงไหน แล้วถ้าคนที่ไม่ได้ไปวัด แต่อยากบริจาคล่ะ” เลยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ดูว่าเราจะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ของเรามาช่วยในเรื่องที่เราสนใจได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่มีพาร์ทเนอร์ที่คิดว่าจะเดินไปด้วยกันได้ พอได้เจอคริสซึ่งสนใจทำธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้วและมีไพลอทโปรดักท์ ก็เลยบอกเขาว่าขอมาช่วยได้ไหม

จากมุมของผม ผมเห็นมูลนิธิและองค์กรที่ช่วยคนที่ปลายทางซึ่งเขาทำงานที่ดี แต่ผมอยากช่วยคนจากต้นน้ำมากกว่า คือช่วยมูลนิธิและองค์กรเพื่อสังคมให้เขามีศักยภาพในการช่วยผู้อื่นมากขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วเราก็อยากนำทักษะของพวกเราแต่ละคนมาใช้ โดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้น

คริส: พอโจ๋วเข้ามาปุ๊บ เราก็เริ่มปรับเทคโนโลยีของเราให้มีมาตรฐานที่ดีมากขึ้น และเข้าชิงทุนกับทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จนได้เงินทุนเพื่อมาทำงานกับนักพัฒนาท้องถิ่นต่อจนได้เวอร์ชั่นปัจจุบัน

สามทหารเสือทำให้ Cheewid มีชีวิต

โจ๋ว: ด้วยพื้นฐานที่แตกต่างของเรา 3 คน คริสซึ่งมาจากสายที่ปรึกษา ก็จะมีคัลเจอร์ไปในทางสตาร์ทอัพ หน้าที่หลักของเขาจึงเป็นการดูด้านการเงิน การจัดการ การตลาด จะเป็นเชิงธุรกิจเสียส่วนใหญ่ ส่วนผมอยู่ในสายคอร์ปอเรท หลักๆ จะดูในส่วนของเทคโนโลยี ขณะที่เอมมาทางดีไซน์และเป็นฝั่งที่ช่วยเรื่องรีเสิร์ชว่าผู้ใช้งานของเราเป็นคนอย่างไร ทำ customer journey แล้วมาเวิร์กกับทีมว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าของเรามีประสบการณ์ที่ดี รวมทั้งดีไซน์วิชวลและอินเตอร์แอคชั่นต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันของคนที่มีทักษะเฉพาะที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

การทำงานในแบบ closed conversation

คริส: ณ ตอนนี้เราเป็น closed conversation กับองค์กรที่เราเชื่อใจจริงๆ โดยพาร์ทเนอร์หลักๆ ที่เรามี เช่น สมาคม SE Thailand ซึ่งมีองค์กรในเครือข่ายที่ต้องการรับเงินอีกที เราก็จะติดต่อเข้าไปคุย ไปทำความเข้าใจถึง pain point ของเขา และกลับมาดูว่าเราจะช่วยตอบโจทย์เขาในรูปแบบไหนและทำอะไรได้บ้าง พอเป็นเฟสที่สอง เราจะคัดจากองค์กรที่เราเข้าไปคุยมาแล้วในระดับหนึ่งเพื่อมาดูว่าเราจะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง ดังนั้น ขั้นตอนของการ onbroading ณ ปัจจุบันก็คือเราเข้าไปคุย แล้วด้วยสถานณ์การโควิด เราจึงทำงานทุกอย่างแบบออนไลน์ทั้งหมด เรา onbroad user ให้เขาเข้ามาช่วยรันระบบและทดลองว่ามันเวิร์กจริงหรือเปล่า

โจ๋ว: ก่อนที่จะมีแพลตฟอร์มในวันนี้ เรามี community engagement ค่อนข้างดี วันนี้เราพูดถึงเทคโนโลยีเยอะ แต่จริงๆ แล้วเราก็มีมิติอื่นด้วย อย่างเช่น เราจัดงาน “Social Enterprise Meet-up มาเจอกันหน่อย SE” ที่เป็นตัวกลางซึ่งเปิดโอกาสให้คนมาเจอกัน เพราะฉะนั้น พวกเราสร้างพันธมิตรของเรามานานหลายปี ซึ่งพวกเขารู้อยู่แล้วว่า Cheewid มีเจตนาที่ดีและมีเป้าหมายที่อยากช่วยเขาจริงๆ

เอม: เราประสานกับทั้งองค์กรและผู้บริจาค แล้วมาดูว่ากระบวนการของพวกเขาคืออะไร แล้วดีไซน์ว่าโฟลวที่ดีในการให้เขามา onbroad ทำอย่างไร จากนั้นก็ทดสอบ ปรับปรุง และพัฒนาเพื่อให้รองรับและเหมาะกับการใช้งานของทุกฝ่าย

คริส: ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เราค่อยๆ สร้างเครือข่ายมาระหว่างทางอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ดังนั้น คนที่เห็นเรามาตั้งแต่แรกจะรู้ว่าเรามีเจตนาที่ดี มีศักยภาพและความตั้งใจที่อยากช่วยเขาจริงๆ ลักษณะที่เกิดขึ้นคือการบอกต่อให้กับองค์กรที่ต้องการความช่วยเหลือ กลายเป็นปากต่อปาก ทำให้เราทำงานได้ง่ายมากขึ้น

หนึ่งในความสำเร็จกับธุรกิจเพื่อสังคมนาม a-chieve

คริส: ณ ปัจจุบัน ออนไลน์แพลทฟอร์มของเราทำงานอยู่กับประมาณ 50 องค์กรด้วยกัน โดยหนึ่งในโครงการที่ผมภูมิใจที่สุดก็คือการช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคมอย่าง a-chieve (www.a-chieve.org) เป้าหมายหลักขององค์กรนี้คือเรื่องของการศึกษาและอาชีพ โดยจะช่วยและให้คำปรึกษากับเด็กๆ ตั้งแต่มัธยมต้นจนถึงมัธยมปลายว่า ถ้าอยากเรียนต่อในสายอาชีพนี้จะต้องทำอย่างไร ควรเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางด้านไหนบ้างเพื่อปรับตัวเองใน 10 ปีข้างหน้า

ตอนที่เข้าไปช่วย เราดูตั้งแต่การตั้งเป้าในการระดมทุนว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เป็นตัวแทนเข้าไปเจรจากับทางผู้สนับสนุน ทั้งในเรื่องรายละเอียดว่าลูกค้าอยากรู้อะไรบ้าง ช่วยพัฒนาโมเดลธุรกิจ ช่วยคำนวณค่าตั๋วว่าควรตั้งราคาอย่างไร ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นยอดการระดมทุน ฟีดแบคที่ดีจากน้องๆ ประโยชน์ที่พวกเขาได้รับ รวมทั้งทำให้ a-chieve สามารรันธุรกิจของตัวเองได้

ความท้าทายคือการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการ ธุรกิจ และสังคม

เอม: ด้วยแต่ละองค์กรจะมี pain point ที่แตกต่างกัน รวมทั้งความต้องการในโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการก็ไม่เหมือนกันด้วย เช่น อยากได้บริจาคอย่างเดียว หรืองานอาสาอย่างเดียว เราต้องทำอย่างไรในการรวมความต้องการที่แตกต่างนี้ให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ให้ยืดหยุ่นที่สุด เราอยาก automate สิ่งที่คริสเคยทำ ทั้งในเรื่องการจัดกิจกรรมและการให้คำปรึกษา เราจึงทำให้แพลทฟอร์มของเรามีความยืดหยุ่นและตอบโจทย์ของทุกคนให้เหมือนที่คริสเคยเป็น ซึ่งเป็นสิ่งไม่ง่ายสำหรับเราเหมือนกัน การตอบโจทย์หลายๆ อย่างในความแตกต่างนั้น เราต้องรีเสิร์ชเยอะๆ ต้องรู้จักคนเยอะๆ เพื่อจะเข้าใจว่าเขาต้องการอะไรบ้าง

คริส: ในเชิงของรีเสิร์ช เราเองก็ไปดูบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศที่ทำ non-profit tech tool มา 20 กว่าปี ว่าเขาประสบความสำเร็จจากอะไร เขาสร้างโซลูชั่นแบบไหน จากนั้นก็มากางดูของเรา แล้ววาง roadmap 10 ปี ว่าควรทำอะไรก่อน แล้วมาออกแบบว่าคอนเซ็ปต์แบบไหนน่าจะเหมาะและดีที่สุดกับองค์กรที่เราเข้าไปคุย แล้วให้เขาฟีตแบ็คมาเรื่อยๆ ก็เลยเป็นที่มาว่าสิ่งที่เราจะช่วยเขาคือการระดมทุน การจัดการด้านการเงิน และคนทำงาน เพราะช่วงเริ่มต้นพวกเขาจะขาดคนมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครีเอทีฟหรือเทคโนโลยี

โจ๋ว: มันยากอยู่เหมือนกันนะที่จะเริ่มต้นธุรกิจเพื่อสังคมด้วยทุนที่มีจำกัด หรือการหาแหล่งความรู้และคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีให้ตรงกับที่เขาต้องการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ถ้าเรามองหาคนที่มีสกิลด้านเทคโนโลยีในระดับจูเนียร์ ก็อาจอยู่ในงบประมาณ แต่คุณภาพอาจไม่ได้ หรือถ้าซีเนียร์มากก็อาจจะแพงเกินกว่างบ แต่ได้งานที่มีคุณภาพ แล้วคนกลุ่มที่มีฝีมือกลุ่มนี้ในไทยจะโดนดูดไปที่องค์กรใหญ่ๆ ทำให้การหาคนมาทำงานตรงนี้ยากขึ้น ซึ่งข้อดีของ Cheewid คือเรามีทีมอาสาสมัครที่อยากมาช่วยจริงๆ แต่ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดของเราคือเราจะไปเข้มกับเขามากไม่ได้ เพราะเขาไม่ใช่ลูกจ้างเราขนาดนั้น ทำให้เราต้องหาวิธีบริหารจัดการให้อยู่ในความพอดี งานเสร็จ และยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ได้ด้วย

คริส: ซึ่งสมดุลตรงนี้ก็เป็นความท้าทายของการทำ Cheewid ด้วยเหมือนกัน เราไม่ใช่สตาร์ทอัพ 100% เพราะว่าสตาร์อัพเองก็มุ่งที่จะทำกำไร ต้องสเกลอัพธุรกิจให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ใช่กิจการเพื่อสังคม 100% ด้วย แต่เรามีจุดยืนในส่วนของสังคม ถ้าจะนิยามก็คงจะเป็น social venture เสียมากกว่า ซึ่งคำนิยามนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูเสียเท่าไหร่ ทำให้การอธิบายว่า Cheewid คืออะไร ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องท้าทายสำหรับเราในการบอกกับอาสาและองค์กรที่เราร่วมงานด้วย พอๆ กับการรักษาสมดุลระหว่างฝั่งธุรกิจกับภาคสังคม

กำไรคือได้ช่วยเหลือและเห็นความสำเร็จของผู้อื่น   

โจ๋ว: ในมุมมองส่วนตัว ผมรู้สึกว่าคนเราเกิดมาแป๊บเดียวก็ตายแล้ว เลยคิดอยู่ในใจเสมอว่าสิ่งที่อยากทำคือทดแทนบุญคุณคนที่เลี้ยงเรามากับสร้างมรดกอะไรบางอย่างทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งถ้าเราทำ Cheewid ให้สำเร็จแล้วช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็รู้สึกว่านี่จะเป็นสิ่งที่เราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้แล้ว

คริส: คำว่ากำไรของผมคือ การที่ได้เห็นโปรเจ็กต์ประสบความสำเร็จและได้ช่วยเหลือปลายทางจริงๆ เหมือนที่เขาตั้งใจไว้ ขณะที่ในแง่หนึ่ง กำไรที่ผมได้คือ Cheewid ได้มาช่วยเสริมอาชีพหลักของผมที่เป็น Venture Capital Investor ของธนาคารด้วย ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่าผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเขาต้องต่อสู้กับอะไร ทุกๆ วันการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของเขายากขนาดไหน ได้เข้าใจว่าแหล่งทุนควรจะบริหารอย่างไร การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแรงควรจะมีโครงสร้างแบบใด รัฐบาลต้องมีบทบาทอะไรบ้าง เอกชนควรทำอย่างไรเพื่อเสริมให้กิจกรรมเพื่อสังคมที่มีอยู่รอดได้ ซึ่งถ้าผมทำแต่งานหลักอย่างเดียวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็คงไม่เข้าใจทุกอย่างทุกมิติแบบนี้

เอม: สำหรับเอม กำไรที่เอมได้คือการช่วยเหลือคนอื่นเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือคนอื่นต่อไปได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งนั่นทำให้เอมรู้สึกดีและมีความสุข ต้องยอมรับว่ามีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามคิดหาทางออกให้กับปัญหาเหล่านั้นและลงมือแก้ไขด้วยวิธีที่น่าสนใจและควรที่จะได้รับการสนับสนุนให้เติบโต พวกเราอยากเป็นคนที่ช่วยให้ไอเดียเหล่านี้เกิดขึ้นจริงเพื่อให้ถูกนำไปช่วยเหลือผู้คนต่อไป

สารพันปัญหาและอุปสรรคของการทำธุรกิจเพื่อสังคม 

คริส: เรื่องนี้น่าจะมีเป็นร้อยอย่างเลยครับ

เอม: แต่ที่เห็นชัดๆ ก็คือพวกเขามีเงินไม่พอที่จะทำให้กิจการของเขาอยู่อย่างยั่งยืนได้ ถึงแม้เขามีโครงการที่ดีและอยากที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ว่าเขาไม่มีคนมาช่วยสนับสนุน ยิ่งตอนนี้มีวิกฤต Covid19 เข้ามา จำนวนคนบริจาคก็ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งจะทำอย่างไรให้เขายังสามารถเข้าถึงทุนตรงนั้นได้อยู่

โจ๋ว: ถ้ายกตัวอย่างให้พอนึกภาพออก คนทำงานฝั่งสังคมส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากคนหนึ่งที่แบบ ผมอยากช่วยหมาครับ” แล้วลองสังเกตคนที่ทำงานเพื่อสังคมในไทย หรือถ้ายิ่งไปคุยก็จะพบว่าเขาทำงานเยอะมาก ลงไปช่วยเรื่องหมาทุกวัน แล้วก็มีคนไลก์ 10-20 คน การที่จะสเกลธุรกิจหรือองค์กร มันต้องมีทีมมาร์เก็ตติ้ง มีคนที่เก่งเรื่องการหาคน มีเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้เขาได้มากกว่านั้น หรือได้ไปเจอเพื่อนคนอื่นที่อยากจะช่วยหมาเหมือนกันแล้วสร้างทีมขึ้นมาให้ครบองค์ประกอบที่เขาต้องการและต้องใช้

อีกส่วนหนึ่ง ถ้ามองตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะมีคำว่า imperfection information ซึ่งในแง่ของการทำงานเพื่อสังคม ก็จะมีกลุ่มคน 2 ฝ่าย ผู้บริจาคฝ่ายหนึ่ง ผู้ทำฝ่ายหนึ่ง โดยทั้ง 2 ฝ่ายนี้ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน ผู้บริจาคกระจุกตัวส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาบริจาคให้กับองค์กรหรือโครงการที่เขารู้จักหรือไว้ใจ ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรหรอก เขาอาจจะคิดเพียงแค่ว่า ถ้าบริจาคกับองค์กรที่ไม่มีแทร็กกิ้ง การลดหย่อนภาษีก็ยาก หรืออาจจะคิดว่า เอ๊ะ เขาเอาเงินของเราไปทำอะไรบ้างนะ ในขณะที่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งในฝั่ง NGO เขาก็ไม่รู้จะไปหาผู้บริจาคที่มีกำลังทรัพย์มากๆ มาได้อย่างไร ไม่รู้จะสร้างเครดิตให้น่าเชื่อถืออย่างไร ซึ่งถ้าเกิดเขาอยู่กับแพลตฟอร์มที่ชัดเจน มีแทร็กกิ้งที่ดี เหมือนสินค้ามี มอก. เขาก็มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจริงๆ มันเป็น inefficient market เป็นตลาดที่ไม่ใช่ perfect market

ต่างความสนใจ บนเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือคุณภาพที่ดีของทุกชีวิต

คริส: ทุกวันนี้ในต่างประเทศจะมีองค์กรด้านสังคมที่ดำเนินกิจการมาจนตอนนี้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์กันแล้ว (Initial Public Offering – IPO) ซึ่งมีเยอะมากเลยนะที่เป็นองค์กรด้านเทคโนโลยีที่ไม่แสวงผลกำไร สิ่งที่ผมสนใจคือ ทำอย่างไรเราถึงจะผลักดันองค์กร early stage ในบ้านเราให้ไปถึงจุดปลายทางแบบเขาได้ ผมก็เลยเข้ามาดูว่าการเบิกจ่ายและการจัดสรรเงินเป็นอย่างไรเพื่อที่เราจะช่วยให้เขาสามารถสร้างและบริหารองค์กรที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ส่วนประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษนอกจากนี้ก็คือการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่าถ้าเรามีการศึกษาที่ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็จะเติบโต ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดน้อยลง ถ้าเป็นสิ่งแวดล้อม ในไทยเอง ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ทำในเรื่องน้ำมันและพลังงานทดแทน ซึ่งมีกลุ่มทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างเยอะ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก

เอม: ของเอมจะเป็นเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทั้งหลาย กับ Cheewid เอง ยังไม่มีการเข้าไปช่วยแคมเปญแบบที่เฉพาะเรื่องเหล่านี้ แต่เอมเคยทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับการช่วยให้คนหมุนเวียนทรัพยากรต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการส่วนตัวของตัวเองมากกว่า

โจ๋ว: แน่นอนว่า ผมต้องสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่อยากจะตอบกว้างกว่านี้อีกนิดหนึ่ง จริงๆ ผมมองเรื่องของ governance เป็นเรื่องสำคัญ การจัดสร้างกฎระเบียบและโครงสร้างให้เอื้อต่อการการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่เด็กแล้ว ผมอยากเป็นนักการเมือง รู้สึกว่าอยากกระจายอำนาจ อยากทำให้สภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ดีขึ้น ฉะน้ัน ถ้าเรามีโครงสร้างในการบริหารจัดการที่ดี ก็น่าจะช่วยเอื้อต่อการจัดการและทำให้ทุกๆ มิติในประเทศดีขึ้นได้

เสริมจุดแข็ง กำจัดจุดอ่อน กลยุทธ์สร้างความแข็งแกร่งให้สังคมไทย

คริส: คนไทยโดยรวมเป็นคนใจบุญนะ ถ้าสมมติเราไปดูในรายงานของ World Giving Report คนไทยนี่ติดอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องนี้เลย เราบริจาคเงินให้กับวัด มูลนิธิ อาจจะยังไม่ถึงกิจการเพื่อสังคม แต่ว่าโดยรวมแล้วก็ถือว่าเป็นนิเวศแห่งการให้ที่สมบูรณ์ระดับหนึ่ง แต่การที่เราให้นั้น ส่วนมากจะไปในแนว story driven, emotionally driven มากกว่า ซึ่งบางครั้งบางทีจะขาดความเข้าใจในแง่ของข้อมูล ข้อเท็จจริง ตัวเลขของโครงการหรืองค์กรนั้นว่าเขาทำองค์กรหรือโครงการนี้ไปเพื่ออะไร ผลประโยชน์ไปถึงคนที่สมควรได้มากน้อยแค่ไหน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมวงกว้างอย่างไร และยั่งยืนหรือไม่ ดังนั้น ผมอยากให้คนไทยตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะพวกเราเองก็มีส่วนในการรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน

ยกตัวอย่างในเคสต่างประเทศ เช่นข่าวของ Toms ที่เขาจะ pairing ว่าซื้อรองเท้า 1 คู่ เขาจะบริจาคอีก 1 คู่ไปให้กับชุมชนด้อยโอกาสหนึ่งชุมชนเพื่อให้เขามีรองเท้าใส่ แต่มีรายงานว่าโมเดลของ Toms ได้เข้าไปแทรกแซงธุรกิจทำร้องเท้าท้องถิ่นในประเทศนั้น เพราะทำให้ความต้องการในสินค้าดังกล่าวลดลง ผู้ซื้อได้ช่วยก็จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีด้วย เวลาช่วยองค์กรไหน ถ้าเรามีโอกาสได้ศึกษาเรื่องลักษณะนี้ด้วยก็จะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเหมือนกันนะ ซึ่ง Toms เองเขาก็มีการปรับปรุง business development เพิ่มเติมด้วยว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเขาไม่ไปกระทบเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถช่วยเหลือชุมชนที่ขาดรองเท้าได้ในเวลาเดียวกัน

โจ๋ว: ผมคิดว่าคนไทยมีจิตใจเอื้ออาทร ไม่เฉพาะแต่เรื่องบริจาคอย่างเดียว คนไทยเรา เวลามีปัญหาหรือเห็นความไม่ชอบธรรมในสังคมก็จะแอ็คทีฟ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘ทัวร์ลง’ ก็เป็นข้อดี ซึ่ง Cheewid เองก็คงเกิดขึ้นได้เพราะความเอื้ออาทรแบบนี้ แต่บางที ก่อนที่จะลุกขึ้นมาทำอะไร บางคนก็ท้อไปเสียก่อนด้วยแรงทัดทานจากคนรอบข้างหรือสังคม เช่น ผมบอกว่าผมอยากทำงานการเมือง ผมพูดกับคนเป็นสิบเลยว่าอยากทำงานด้านนี้ ก็มีแต่คนบอกว่าอย่าเลย ทำอย่างไรก็เข้าไปเปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น อย่างที่หนึ่งคืออยากให้คนไทยที่เห็นว่าตรงไหนของสังคม ของประเทศควรจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ผมเชียร์ให้ลงมือทำกันเลย อย่าเพิ่งกลัวหรือท้อ

อีกเรื่อง น่าจะเป็นเรื่องภาษา ซึ่งเอาจริงๆ นะ คนไทยทำงานดีเยอะมากๆ เลย แต่เรายังไม่สามารถที่จะสื่อสารไปสู่คนนอกประเทศได้มากนักด้วยข้อจำกัดทางภาษา บางอย่างที่เขาว้าวกันมากในต่างประเทศ ซึ่งพอมาดู งานแบบนี้ในเมืองไทยมีมานานแล้วนะ ที่สำคัญคือคุณภาพดีมากด้วย ผมอยากให้คนไทยลุกมาทำสิ่งที่คิดว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และพัฒนาเรื่องภาษาเพื่อสื่อสารให้กับคนทั่วโลกรู้มากขึ้นว่าเราเองก็มีดี

ความสุขของคุณเกิดเมื่อ…

เอม: สำหรับเอมคือได้ไปฟังองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับโครงการของเขาว่าเกิดจากอะไร เป้าหมายอะไร ปลายทางคืออะไร เวลาได้ฟังพวกเขาเล่า มันทำให้เอมฮึกเหิมมากเลยนะ รู้สึกว่าเป้าหมายในชีวิตของตัวเองชัดเจนมากขึ้นว่าต้องช่วยพวกเขาให้สำเร็จ

โจ๋ว: ผมชอบคุยกับคน ชอบความรู้สึกระหว่างที่เราได้ไปคุยกับคน จริงๆ แค่ฟังเขา ฟังแบบตั้งใจ เขาก็รู้สึกแฮปปี้แล้วนะ บางคนอาจจะแค่อยากจะพูดเฉยๆ เมื่อเห็นเขารู้สึกดี ผมก็แฮ้ปปี้ตามไปด้วย ได้เข้าใจเขามากขึ้น ทำให้ได้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน ที่สำคัญคือเราต้องไม่ใช่แค่คุยแต่กับคนนอกอย่างเดียว แต่เราต้องฟังคนในทีมด้วย

คริส: ทุกคนในทีมมีเป้าหมายที่จะช่วยสังคมหมด แล้วแต่ละคนก็มีไอเดียว่าเขาจะช่วยพัฒนาชีวิตให้ตรงจุดอย่างไรได้บ้าง พอได้คุยกัน ได้ทำงานกัน ก็ทำให้ Cheewid แข็งแรงขึ้น

โจ๋ว: แล้วคริสก็ให้เสรีภาพพวกเราในการทำงานอย่างเต็มที่ ว่าเราจะทำอะไรในส่วนของเรา ฝ่ายเทคฯ จะทำอะไรก็เปิดโอกาสเต็มที่ เรื่องการบริหาร day-to-day เราก็รันของเรา เพียงแค่เป้าหมายและทิศทางจะต้องได้

คริส: สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการผลักดันให้ทุกคนได้ทำงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีบรรยากาศที่รีเล็กซ์ด้วย นั่นคือข้อดีของ early stage startup ที่ไม่ได้มีโครงสร้างแน่นหนาที่จะมากีดกันเราได้ว่า ห้ามทำแบบนั้นแบบนี้ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว การสร้างธุรกิจที่ดีไม่มีสูตรสำเร็จ 100% มันควรที่จะไปตามจังหวะและการทำงานของเราแบบธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดเราจะเจอเองว่าการทำงานแบบไหนได้ดีที่สุดสำหรับองค์กรและสมาชิก

แล้วข้อดีอีกอย่างของการทำ early stage startup ที่มีภารกิจที่อยากจะทำดีเพื่อสังคม ก็ทำให้ทุกอย่างคุยง่ายขึ้น เป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดกว้างและผ่อนคลายมาก ซึ่งผมเห็นแล้วก็มีความสุขเพราะว่าทุกคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำและบรรลุเป้าหมายด้วย

นอกจากนี้ ทุกๆ ครั้งที่เราช่วยผู้ทำโครงการ องค์กร หรือมูลนิธิในเรื่องต่างๆ เช่นว่า เขาควรจะสร้างผลิตภัณฑ์แบบไหนเพื่อที่จะตอบโจทย์จริงๆ หรือการที่เราไปช่วยกันระดมความคิดร่วมกับเขา แล้วปลดล็อคปมบางอย่างได้แบบที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมและ Cheewid เหมือนกันว่า เราสามารถอยู่ในจุดที่ให้คำแนะและเป็นที่ปรึกษาได้อย่างดี ผมถือว่ามันเป็นความสำเร็จและเป็นความสุขที่เกิดขึ้น

Cheewid ที่เติบโตอย่างยั่งยืน 

คริส: การสร้าง Cheewid ขึ้นมา ในใจของเราคืออยากให้ที่นี่สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน และขยายผลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ท้ายที่สุด เราอยากเป็นบริษัทขนาดใหญ่เหมือนในต่างประเทศ มีพนักงานระดับพันคนและสามารถช่วยเหลือองค์กรทางสังคมให้เขาไปช่วยคนอีกมากมายข้างนอกนั่นได้

เป้าหมายของ Cheewid ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็คือการช่วยเหลือและส่งเสริมให้ทุกมูลนิธิที่ใหญ่อยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้นเป็นระดับโลก ทุกมูลนิธิที่เป็นระดับเล็กให้สามารถก้าวกระโดดไปเป็นมูลนิธิระดับกลางกับใหญ่ได้ ช่วยให้พิพิธภัณฑ์ อุทยาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านไหน ได้รับในสิ่งที่ต้องการเพื่อให้เขาสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก นอกเหนือจากประเทศไทย เราอยากขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือด้วยเหมือนกัน เพราะว่าปัญหาสังคมมีอยู่รอบตัวเรา ถ้าเราช่วยประเทศเพื่อนบ้านได้ นอกจากจะลดปัญหาแล้ว ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทั้งองค์กรและประเทศของเราด้วย

โจ๋ว: เราจะทำเหมือนกับพี่ตูน แต่เป็นพี่ตูนคูณร้อย (หัวเราะ) ในด้านของเทคโนโลยี เราอยากให้องค์กรของเรามีมาตรฐานที่สูงในด้านนี้ ตั้งแต่การบริหารด้านความปลอดภัยในเชิงเทคโนโลยีและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่เรามีทั้งหมด ตลอดจนการออกแบบให้ระบบของเรามีความยืดหยุ่นในการปรับแก้และตอบสนองความต้องการของตลาดให้ทันและสร้างพันธมิตรให้ได้มากขึ้นๆ นั่นจะเป็นวิธีเดียวที่เราจะ go global ได้ ทุกอย่างใน Cheewid จะต้องมีความปลอดภัย ทั้งกับองค์กรที่เข้าร่วม ไปจนถึงผู้บริจาคด้วย

เอม: ฝั่งดีไซน์เองก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตตลอด ใน 10 ปีก็คงจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเราต้องหาและรีเสิร์ชอย่างต่อเนื่องว่า สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องใช้มากสุดคืออะไร แล้วเราก็ปรับเปลี่ยน Cheewid ให้ไปแนวนั้น

คริส: ขอฝากเมสเสจปิดท้ายว่า ผู้ประกอบการด้านสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่นะ และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จได้ถ้าคุณมีเป้าหมาย มีความคิด มีความมุ่งมั่นที่ตรงกับสิ่งที่คุณอยากทำจริงๆ ตราบใดที่คุณมีเจตนารมณ์ที่ดีว่าสิ่งที่ทำลงไปคุณทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ทุกอย่างที่ดีจะเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

คริษฐ์ ศุภวัฒนกุล (คริส)

พรสิมา ดวงรัตน์ (เอม)

ญาณพล แก้วไพฑูรย์ (โจ๋ว)

 

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร / Saran Sangnampetch
ภาพเพิ่มเติมและอ้างอิง: cheewid.com, Facebook: Cheewidism

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles