ChuChu Design เปลี่ยนขยะล้นเมืองเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้ชุมชน

ดูเผินๆ อาคารหลังนี้อาจดูไม่ต่างไปจากบ้านพักอาศัยทั่วไปในดาลา เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของแม่น้ำย่างกุ้ง ในพม่า แต่เมื่อพินิจไปทีละส่วน ตั้งแต่หลังคาที่ทำจากยางรถยนต์เก่า หรือการใช้ขวดพลาสติกมาทำเป็นผนังบ้าน ยิ่งหากมีโอกาสได้เดินสำรวจภายในบ้านหลังนี้ก็จะพบกับความไม่ธรรมดามากขึ้นไปอีก เพราะที่นี่คือที่ตั้งของ ChuChu Design อันเป็นร้านค้า พื้นที่เวิร์คช็อป และแกลเลอรี่ที่โฟกัสกับการนำเอาขยะกลับมาสร้างสรรค์เป็นของใช้ที่มีประโยชน์ได้อีกครั้ง

ChuChu Design เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2013 จากความร่วมมือระหว่าง NGO สัญชาติอิตาลีชื่อ Cesvi องค์การบริหารเมืองตูริน (The City Government of Turin), Ithaca และแผนกควบคุมมลพิษและความสะอาด เทศบาลเมืองย่างกุ้ง (Yangon Municipality’s Pollution Control & Cleansing Department) ที่มีเป้าหมายใหญ่คือต้องการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการสร้างคุณค่าและหน้าที่ใหม่ให้กับภูเขาปฏิกูลจากย่างกุ้ง โครงการดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและกระทรวงต่างประเทศของอิตาลี โดยใช้เวลา 2 ปีเต็มในการสอนวิธีออกแบบ เทคนิค และงานฝีมือเพื่อพัฒนาทักษะให้ชาวบ้านผู้ยากไร้ในพม่าสามารถผลิตสินค้าด้วยตัวเอง ทั้งกระเป๋าสตางค์จากยางในรถยนต์และถุงมันฝรั่ง เข็มขัดจากยางมอเตอร์ไซค์ ซองใส่แล็ปท็อปจากถุงปูนซีเมนต์ ที่ใส่บัตร ถุงดินสอ ที่ใส่ขวด และกระเป๋าถือแบบต่างๆ รวมถึงจัดหาพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการกระจายสินค้าที่เกิดขึ้นด้วย

ณ ปัจจุบัน ChuChu มีสมาชิกกว่า 20 คน จาก 5 ครอบครัวที่มาจากดาลา รวมถึงเมืองชนบทที่ห่างไกลอย่างมิงกะลาดอนและอินไซน์ ซึ่งจะมีการนัดประชุมอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อพูดคุยกันเรื่องการพัฒนารูปแบบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการจัดเวิร์คช็อป ซึ่งมีนักออกแบบอาชีพในพม่ามาช่วยให้ความรู้แก่พวกเขา จนถึงตอนนี้ แม้เงินสนับสนุนสำหรับโครงการนำร่องจะหมดลงแล้ว แต่ชาวบ้านยังคงรักษาพื้นที่ทำกินแห่งนี้ต่อไป ด้วยการของบประมาณสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ การหัก 10% จากรายได้เพื่อมาเป็นกองทุนสำรองในการดำเนินโครงการ พร้อมๆ กับเปิดสอนประชาชนที่สนใจ โดยจะเก็บค่าบริการการสอนจำนวน 30,000 MMK (หรือราวๆ 770 บาท) ต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นส่วนเสริมให้องค์กรสามารถเลี้ยงตัวเองได้

นอกจากกระบวนการผลิตผลงานของชาวบ้านที่น่าสนใจ ตั้งแต่เรื่องการทำความสะอาดขยะทุกชิ้นอย่างถูกวิธีก่อนนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานจริงๆ การคัดสรรและแยกโทนสีของวัสดุต้นทางเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความสวยงามน่าใช้ ไปจนถึงความประณีตในขั้นตอนการตัดเย็บ การถักทอ จนกระทั่งแต่ละชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งแม้ว่านั่นจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาของชิ้นงานแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาด แต่ก็ไม่ได้ทำให้จำนวนลูกค้าลดลงแต่อย่างใดแล้ว โมเดลของ ChuChu ยังช่วยลดจำนวนขยะในเขตย่างกุ้งซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพม่า ทำให้เกิดหน้าที่ใช้สอยใหม่ๆ ของขยะ ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักเรื่องความสะอาดแก่คนในชุมชน รวมไปถึงสร้างงานให้ครอบครัวผู้ยากไร้อย่างยั่งยืนด้วย

ภาพ: Maro Verli, Lucy Wang

อ้างอิง: ChuChuYangon

 

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles