“I’ m OCD” หรือ “ฉันเป็น OCD” กลายเป็นวลีฮิตบนโซเชียลมีเดียของวัยรุ่นที่ไว้แซวพฤติกรรมการย้ำคิดย้ำทำอะไรบางอย่าง เช่น ล้างมือบ่อย การจัดระเบียบสิ่งของมากเกินไป หรือตรวจเช็กอะไรบางอย่างเพราะกังวลมากเกินไป…แต่นั่นเป็นสิ่งที่ชาวเน็ตเข้าใจ OCD ผิดกันหมด
OCD (Obsessive Compulsive Disorder) เป็นโรคอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือความกลัวบางอย่างจนทำให้มีพฤติกรรมที่ซ้ำไปซ้ำมาหรือวนลูปหยุดไม่ได้ โดยอาการแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คืออาการย้ำคิด (Obsession) เป็นความคิดหรือความรู้สึกที่ต้องทำบางอย่างจากภายใน ไม่สามารถควบคุมหรือรู้ถึงเหตุผลของความคิดนั้นๆ ได้ และอาการย้ำทำ (Compulsion) เป็นพฤติกรรมที่ผู้ป่วยทำซ้ำๆ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความย้ำคิดของตัวเอง โดยหากไม่ทำจะเกิดความไม่สบายใจ กังวล หรือคิดว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้น
ซึ่งผู้ป่วย OCD สามารถมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้ โดยผู้ป่วยมักจะเป็นโรคนี้หรือแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นตอนต้นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และจะเป็นไปตลอดชีวิต และเนื่องจากโรคนี้มีลักษณะอาการที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่หากไม่ได้รับการบำบัดรักษา อาจทำให้อาการหนักขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น
International OCD Foundation องค์กรช่วยเหลือผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ จึงร่วมมือกับเอเยนซี่โฆษณา Ogilvy Denmark สร้างสรรค์แคมเปญ Escape the Loop เพื่อสร้างและปรับเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับ OCD และช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้จักสัญญาณเริ่มต้นของ OCD เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้ารับการรักษาก่อนที่โรคจะดำเนินไปจนมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต
แคมเปญประกอบด้วยคลิปที่เล่นเป็นลูปเล็กๆ หรือที่เรียกว่า gifs โดยคลิปทั้งหมดมีให้ใช้งานบน Giphy แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานประจำวัน 500 ล้านคนและมีการแชร์ gifs มากกว่า 7 พันล้านคลิปทุกวัน และ gifs นั้นโดยพื้นฐานแล้วคือ ลูปซ้ำๆ เหมือนกับอาการ OCD คลิปเหล่านี้แสดงลักษณะ OCD ที่พบบ่อยที่สุด และเมื่อผู้ชมกดคลิกจะเปลี่ยนเส้นทางไปยังเว็บไซต์ของแคมเปญ Escape the Loop ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับ OCD เพิ่มเติม ผลคือคลิปทั้งหมดถูกเรียกดู 4 ล้านครั้ง นับเป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาใดๆ
ถ้าไม่แน่ใจว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ นี่ใช่โรค OCD หรือเปล่า ให้ลองดูว่า การย้ำคิดย้ำทำนั้นทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและหยุดคิดไม่ได้ เสียเวลากับอาการคิดหรือทำวนลูปเป็นวันละหลายชั่วโมง จนเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวันหรือเปล่า เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ จนผิวหนังอักเสบ พูดขอโทษซ้ำๆ ตรวจเช็คว่าปิดประตู ปิดน้ำ ปิดแก๊สหรือยังบ่อยๆ จนแพนิค หรือแม้แต่มีความคิดยึดติด หรือเชื่ออย่างรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล
วิธีหยุดลูปความคิด OCD ไม่จำเป็นต้องสู้อยู่ลำพัง เบื้องต้นให้รีบไปพบแพทย์และหาทางรักษา ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัดแบบปรับความคิด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) คนส่วนใหญ่จะพบว่าการรักษาเหล่านี้ได้ผลดีและช่วยให้ชีวิตของพวกเขากลับมาเป็นปกติ
หากพบว่าตัวเองย้ำคิดย้ำทำจนวนลูปหยุดไม่ได้ ก็ยังมีวิธีการลดการเกิดของโรคที่สามารถทำเองได้ด้วย เช่น การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ท่องเที่ยว ผ่อนคลาย ก็เป็นตัวช่วยได้อย่างดี
อ้างอิง : Escape The Loop, Ogilvy