แม้โลกทุกวันนี้จะพัฒนาไปไกลและความคิดของผู้คนในสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเศร้าใจว่า ในอีกหลายมุมมืดบนโลกใบนี้ยังมีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเป็นจำนวนมาก สถิติที่เผยแพร่โดย WHO ระบุว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก หรือประมาณ 736 ล้านคนต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือไม่ก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และที่น่าตกใจไม่แพ้กันก็คือ ผู้กระทำส่วนใหญ่นั้นเป็นสามีหรือไม่ก็คนรู้จักกัน นั่นหมายความว่า ภัยร้ายที่เกิดกับผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมุมมืด ซอยเปลี่ยว หรือมาจากคนแปลกหน้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันอาจเกิดขึ้นได้ในสถานที่ที่คุ้นเคยหรือมาจากคนที่รู้จักและไว้ใจ
ลองนึกภาพเวลาที่ นางสาวเอ ต้องเดินผ่านซอยเปลี่ยวตามลำพัง สถานการณ์แบบนี้ทำให้ไม่แปลกเลยที่นางสาวเอ จะระวังตัว ห่วงหน้าพะวงหลัง และพร้อมจะหยิบสเปรย์พริกไทยในกระเป๋ามาฉีดใส่คนแปลกหน้าที่พุ่งเข้ามาโจมตี (หรือนางสาวเอ อาจจะโทรเรียกเพื่อนหรือพ่อแม่ให้มารับตั้งแต่เห็นแล้วว่าซอยนี้มันดูน่ากลัวก็ได้)
ตัดภาพมาที่ นางสาวบี ผู้ซึ่งต้องอยู่ทำโปรเจกต์ศิลปะที่คณะกับรุ่นพี่ผู้ชายที่รู้จักกันมานาน ขณะที่อยู่ด้วยกันก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกแปลกๆ เช่น มีการถูกเนื้อต้องตัวมากเกินไป หรือมีคำพูดที่ทำให้รู้สึกว่าโดนคุกคาม แต่มันก็ยังไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ครั้นจะขอกลับก่อนก็งานยังไม่เสร็จ จะต่อว่ารุ่นพี่ไปตรงๆ ก็อาจกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน และทำให้เสียความสัมพันธ์
เห็นไหมว่า–ในขณะที่สถานการณ์แรก นางสาวเอ สามารถตั้งการ์ดรอและพร้อมปล่อยหมัดใส่คนร้ายได้ทันที แต่สำหรับ นางสาวบี เมื่อเป็นคนรู้จัก และยิ่งเป็นคนที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน (เช่น เป็นรุ่นพี่ เป็นเจ้านาย หรือเป็นญาติผู้ใหญ่) ก็ยิ่งทำให้เกิดความลังเลไม่แน่ใจ ไม่กล้าปฏิเสธตรงๆ
และนี่ก็เป็นที่มาของ ‘Flare’ แบรนด์กำไลข้อมือที่เราสามารถเลือกส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในแบบต่างๆ ได้ ในเวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนางสาวเอ หรือแบบที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกบอกไม่ถูกว่ามันอันตรายหรือไม่ แต่ก็อยากไปจากที่นี่แล้วเหมือนนางสาวบี
Flare เป็นกำไลข้อมือที่ดูเผินๆ เหมือนเครื่องประดับทั่วไป แต่มันซ่อนปุ่มที่เราสามารถกดเพื่อส่งสัญญาณไปยังแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้ โดยเลือกส่งสัญญาณได้ 2 แบบคือ 1) โทรปลอม — เมื่อกดปุ่มที่กำไล แอป Flare จะส่งสัญญาณให้ทำสายเข้าหลอกให้ในโทรศัพท์ เหมือนมีคนโทรเข้ามาจริงๆ ใช้เป็นข้ออ้างให้เราออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นได้ โดยมีสคริปท์เสียงโทรเข้าให้เลือกหลายแบบ เลือกผู้โทรเข้าให้เป็นชายหรือหญิงก็ได้ 2) ส่งข้อความหาเพื่อน — ถ้ากดปุ่มค้างไว้ 3 วินาที ระบบจะส่งข้อความพร้อมตำแหน่งที่ตั้งไปยังเพื่อนที่เลือกไว้ล่วงหน้า 5 คน โดยเราจะต้องนัดแนะกับเพื่อนก่อนนะว่าถ้ามีข้อความส่งมาจากแอป Flare ให้เพื่อนรีบติดต่อกลับมาด่วน หรืออาจส่งข้อความเชื่อมต่อกับ 911 เลยก็ได้ (ถ้ามั่นใจว่าตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ!) แอป Flare จะส่งชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ และตำแหน่งปัจจุบันให้กับเบอร์ 911 ซึ่งเป็นหมายเลขที่ใช้สำหรับการโทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน (ในอเมริกาและแคนาดา)
จุดกำเนิดของ Flare มาจากเพื่อนสาวสองคน Sara de Zarraga และ Quinn Fitzgerald ที่พบกันตอนเรียนอยู่ที่ Harvard Business School ทั้งสองคนมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างธุรกิจที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น และต่างก็ให้ความสำคัญกับปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องการเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศและการทำร้ายร่างกาย โดยทั้งคู่เองก็เป็นเหยื่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน เป้าหมายในการสร้างกำไลข้อมือ Flare คือการทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และสร้างชุมชนที่ช่วยเหลือกันและกัน เป็นอีกทางเลือกที่เข้ามาตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่อย่างสร้างสรรค์และได้ผลจริง
ที่มา: Flare