ขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน ผู้วางกลยุทธ์ให้ชีวามิตรกับงานสื่อสารเพื่อชีวิตอยู่ดีและตายดี

จะว่าไป ‘ความตาย’ นับเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับชีวิตของคนเรามาโดยตลอด แต่เรามักมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องไกลตัว ไม่เป็นมงคลของชีวิต เป็นสัจธรรมของชีวิตที่ใครหลายคนรู้สึกว่ายากเกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ ความตายจึงเป็นเรื่องท้ายๆ ที่เราให้ความสำคัญและแทบจะไม่นึกถึงจนวันที่การจากลามาเยือน ตัดภาพมาในยุคหลังโควิดที่คนทั้งโลกได้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิตและเห็นแล้วว่าความตายคือเรื่องใกล้ตัวที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กับใคร และที่ไหนก็ได้ วลีอย่าง ‘อยู่ดี ตายดี’ จึงถูกพูดถึงในหมู่สาธารณชนเป็นวงกว้างมากขึ้น วันนี้ เราเลยชวน นุชชี่-ขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน Chief Operating Officer (CEO) จาก ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม มาคุยกันในประเด็นของการอยู่อย่างมีคุณค่าและจากลาอย่างมีความสุข ผ่านภารกิจหลักขององค์กรที่เธอทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ สร้างความตระหนัก และพัฒนาองค์ความรู้ 5 มิติ ที่ครอบคลุมในเรื่องการแพทย์ จิตใจ กฎหมาย เศรษฐกิจ ตลอดจนสังคม เพื่อใช้ในการออกแบบชีวิตให้อยู่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ปลายทางของการตายดีแบบที่ทุกคนสามารถเลือกได้เอง

เพื่อนชีวิตผู้เดินเคียงข้าง 

ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ Chief Operating Officer (CEO) ให้กับชีวามิตร นุชชี่เคยทำงานอยู่ในแวดวงโฆษณามาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งขยับบทบาทมาดูแลงานด้านการตลาดให้กับ MTV Thailand และ MTV Asia ทั้งยังเคยทำงานในบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางการตลาดอย่าง INTAGE (Thailand) โดยปัจจุบัน นอกจากยังเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์ให้กับโครงการพอแล้วดี The Creator แล้ว เธอยังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับอีกหลายๆ องค์กร จน ปวีณา วิริยประไพกิจ เพื่อนสนิทที่คณะอักษรศาสตร์และผู้ถือหุ้นของชีวามิตรชวนไปร่วมงานด้วย

“หลังจากทำงานมาอย่างยาวนาน ก็ถึงจุดที่คนเห็นความชัดเจนของทักษะด้านแบรนด์และการสื่อสาร รวมถึงงานช่วยเหลือสังคมของเราจากการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงคุณเปี๊ยก (ปวีณา) เพื่อนสนิทของเราด้วยที่มาชวนไปทำงานที่ชีวามิตร จริงๆ เขาชวนอยู่ 4-5 ปี แต่จังหวะยังไม่ได้ จนกระทั่งวันที่ตัดสินใจออกจากงานประจำช่วงก่อนโควิด แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจเข้ามาทำ ทางชีวามิตรเลยให้ลองมาร่วมกิจกรรมสักครั้งสองครั้งก่อนเพื่อดูว่าชีวามิตรคืออะไรและเป็นอย่างไร สารภาพเลยว่าตอนมาร่วมกิจกรรมแรกๆ เรารู้สึกว่าตัวเองยังไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศชีวามิตร แต่พอเริ่มคลุกคลีกับเขา ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น และบอกกับตัวเองว่า ‘เอาล่ะ คงถึงเวลาแล้ว’ เราเลยได้นำสิ่งที่ถนัดไปช่วยทำกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ ทิศทางของแบรนด์ และแบรนด์ดีเอ็นเอ เพื่อให้ชีวามิตรสามารถนำไปเป็นแนวทางในการทำงานได้ 

“พอส่งแผนไปยังผู้บริหาร ทั้งน้าศรี คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ และศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ท่านพูดเหมือนกันว่าแผนนี้ดีนะ แต่ยังไม่มีคนทำ เพื่อนเราเลยกลับมาชวนอีกครั้งว่า ไม่ทำจริงเหรอ แผนดีมากเลยนะ จนตัดสินใจมาทำงานกับชีวามิตร แรกเริ่ม เราทำงานแบบ 30% ของชีวิตให้กับชีวามิตร แบบทำอาทิตย์ละ 2 วัน แต่ทำไปทำมา เราว่าตอนนี้เกินร้อยไปแล้ว (ยิ้ม)”

ในเพจอย่างเป็นทางการของ ‘ชีวามิตร’ อธิบายถึงองค์กรของพวกเขาว่า คือเพื่อนที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันจนก้าวเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมาพร้อมภารกิจในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน และให้คำปรึกษากับผู้สนใจในการเตรียมตัวเตรียมใจทั้งตัวเองและคนรอบข้างให้พร้อมเผชิญความเจ็บและความตาย ในมิติของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ความสัมพันธ์และการจากพราก ไปจนถึงกฎหมายและทรัพย์สิน ผ่านกิจกรรมหลากหลายประเภท ตั้งแต่การจัดอบรม สัมมนา นิทรรศการ การผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ในช่องทางออนไลน์ ไปจนถึงพัฒนาระบบจัดทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิตแบบออนไลน์ (e-Living Will) เพื่อให้ชีวิตปลายทางของทุกคนมีทางเลือกที่เหมาะสม พอดี สมศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์

“สิ่งที่เราทำให้ชีวามิตรคือการทำให้เขาเห็นกลยุธย์ชัดเจนว่าจะไปทางไหน คำว่า ‘อยู่ดี ตายดี’ แปลว่าอะไร รวมถึงหาวิธีให้สองคำนี้จะถูกส่งต่อออกไปสู่สาธารณชนอย่างไร จนเกิดแท็กไลน์อย่าง ‘อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ ขึ้นมา เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาที่ชีวามิตรจะให้กับทุกคนที่เป็นเพื่อน ชีวิต พอเราทำกลยุทธ์ของแบรนด์เรียบร้อย เราจึงนำไดเร็กชั่นนี้ใส่เข้าไปว่า การจะอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข เราต้องทำอะไรบ้าง”

การตายดีเตรียมได้จากการอยู่ดี

“กลยุทธ์แรกๆ ที่เราหยิบขึ้นมาทำคือการตีความหมาย ‘การอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ ว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง – คุณต้องอยู่ให้ดี เพราะเมื่อเราอยู่ดี ส่วนใหญ่เราจะตายดี แผนแรกคือการทำให้คนเข้าใจว่า เขาต้องอยู่ดีอย่างไร ทั้งหมด 5 มิติด้วยกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวามิตรต่างไปจากองค์กรภาคีที่เข้มข้นในมิติของการแพทย์ และจิตใจ/จิตวิญญาณ โดยเราเพิ่มเติมความเข้มข้นในอีก 3 มิติ เข้าไปด้วย อย่างกฎหมาย เศรษฐกิจ รวมถึงสังคม/การสื่อสารด้วย ซึ่งสามมิติหลังนี้ชีวามิตรสามารถทำได้เนื่องจากพาร์ทเนอร์ของเราเกือบทั้งหมดเป็นนักธุรกิจ เรามีภาคีเครือข่ายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ อาจารย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม เครือข่ายประกันชีวิต และเรามีทีมด้านสื่อสารและสังคมที่แข็งแกร่งมาก โดยมีผู้นำอย่าง น้าศรี ซึ่งเป็นอาร์ติสตัวจริง และคุณหญิง (ไขศรี วิสุทธิพิเนตร) ซึ่งเป็น Head of Content Creator ของเรา เพราะฉะนั้นในสามมิติที่เหลือ เราจึงสาารถสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย พูดง่ายๆ คือทำคอนเทนต์ออกมาเป็นหนังสือ วิดีโอ ยูทูปได้โดนใจ นี่เลยทำให้เราโดดเด่นและแตกต่าง”

“อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือการที่ชีวามิตรเอาคำว่า ‘อยู่ดี’ นำหน้า ‘ตายดี’ เพราะเรื่องของการตายในสังคมไทย ยังคงเป็นเรื่องที่คนมักมองว่าไกลตัว ไม่เป็นมงคล ยังไม่ต้องนึกถึงหรอก ถ้าพูดเรื่องตายดีก่อน หลายคนบอก ฉันอายุ 18 เอง ฉันอายุ 25 เอง ฉันเพิ่งแต่งงานเอง ความตายคืออะไรเหรอ หรืออย่ามาพูดเรื่องนี้นะ ฉันฟังแล้วไม่เป็นมงคลเลย เราจึงเปลี่ยนใหม่จากเดิมคือ ‘การอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข’ มาสู่กลยุทธ์ของการสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘การทำชีวิตให้อยู่ดี เพื่อไปสู่การตายดี’ อยู่ดีคือการอยู่ดีให้ครบทั้ง 5 มิติ เราอยากให้คนเข้าใจว่าคุณต้องวางแผนชีวิตนะ เพราะว่าความตายเป็นเรื่องไม่แน่นอน นี่คือสิ่งที่พาให้วันนี้ชีวามิตรมีกลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยลงเยอะมากเลย แต่ก่อนเราจะแน่นอยู่แถวๆ คนอายุ 50 แต่ตอนนี้โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้คนกลับมาคิดเรื่องความตายมากขึ้นและเข้ามาเป็นเพื่อนชีวามิตรมากขึ้นด้วย แล้วเวลาที่เราสื่อสารหรือพูดคุยเรื่องการอยู่ดีก่อน จะเห็นได้เลยว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความเศร้า รวมถึงสีที่ชีวามิตรใช้จะเป็นสีทอง น้ำตาล เหลือง ส้ม เป็นสีแห่งความสดใส จากนั้นเราจึงสร้างกิจกรรมต่างๆ ตามแนวทางดังกล่าว”

เครดิต: Cheevamitr

วิชาการออกแบบชีวิต 

“พอเราพูดว่า ‘อยู่ดี = ตายดี’ กิจกรรมที่เราออกแบบ ณ เวลานี้จะมี 2 กิจกรรมหลักๆ ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป กิจกรรมนั้นจะชื่อว่า ‘วิชาชีวิต’ ที่จะเราจะสอน 5 มิติที่บอกโดยแบ่งออกเป็น 3 คลาส หนึ่งคือมิติเศรษฐกิจและกฎหมาย สอง – มิติการแพทย์ และสาม – มิติจิตใจและมิติสื่อสาร/สังคม จะเป็น 5 มิติใน 3 คลาสนี้ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะสอน ‘วิชาเพื่อนตาย’ เวิร์กช็อปด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) และทักษะการสื่อสารในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างต้นแบบการอบรมที่สามารถขยายผลต่อไปได้ เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่สุดของบุคลากรทางการแพทย์คือการสื่อสาร พวกเขาอยากให้คนมาช่วยเพื่อให้พวกเขาสื่อสารได้ดีขึ้น 

“ในส่วนของวิชาชีวิตเราทำมา 2 ปีแล้ว ปรับแก้กันจนลงตัวแล้ว แต่วิชาเพื่อนตาย เราเริ่มต้นด้วยการไปสอนเรื่องการสื่อสาร ไปทำสื่อให้ ซึ่งพอไปใช้งานจริงแล้วยังพบว่ามีปัญหาอยู่ เช่น พอเจอเรื่องแรงๆ แล้วแก้กันไม่ถูก ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่จะเรียนในรูปเวิร์กช็อปค่อนข้างเต็มที่ แล้วจะไม่ใช่แค่บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น แต่จะรวมเอาจิตอาสาในพื้นที่มาร่วมเรียนด้วย เพราะกลุ่มจิตอาสาจะลงพื้นที่และใกล้กับคนมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ เราเลยคิดว่าอาจจะต้องขยายให้กลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น เราอยากสร้างนักบริบารชุมชนให้มากขึ้น โดยในอนาคตกำลังจะทำอีก 2 วิชา ตอนนี้เราเริ่มสร้างคอร์สกันอยู่ค่ะ 

“อีกอันหนึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เรามองมา 2-3 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มลงมือทำในปีนี้ เราพบว่าในหมู่ประชาชนมีการขยายผลที่ดีขึ้นจากฟีดแบคผู้เข้าร่วมกิจกรรมและจำนวนของสมาชิกเพจ แต่อย่างไรก็ไม่มีทางที่คนจะเข้าใจเรื่องที่เราสื่อได้ถึง 20 ล้านคนใน 1 ปี เพราะนี่ไม่ใช่นโยบายชาติ เราไม่มีเงินทุนที่จะไปประชาสัมพันธ์ในสื่อกระแสหลัก เราเลยวางแผนว่าอยากเพิ่มยุทธศาสตร์ทางการตลาดอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือนำวิชาเหล่านี้เข้าไปสื่อสาร ทำเป็นคลาสในองค์กรต่างๆ ซึ่งมีบริษัทที่สนใจให้เราเข้าไปทำคลาสให้แล้ว 

“ถ้าถามว่า การนำคลาสเข้าไปในองค์กรต่างจากประชาชนทั่วไปอย่างไร ภาพรวมจะไม่ต่างค่ะ แต่สิ่งที่เวลาเราเข้าองค์กร หนึ่งคือเขาจะช่วยเราระดมพลคนในองค์กรให้มาฟังได้ แต่ไม่ใช่ในลักษณะของการบังคับนะคะ เป็นการประชาสัมพันธ์ที่สามารถส่งตรงได้แบบเจาะไปที่พนักงานของเขาโดยตรงได้เลย อะไรแบบนั้น เช่น ถ้าเป็นองค์กรโปรโมทกิจกรรม เมื่อพนักงานเดินผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ที่ติดไว้บนบอร์ดของออฟฟิศ พนักงานก็สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น หรือ HR อาจเป็นคนส่งอีเมลไปถึงพนักงาน 3,000 คน โดยตรงได้เลย 

“เรื่องที่เราอยากทำในองค์กรมีอยู่ 2-3 เรื่อง หนึ่ง เราพบว่าพนักงานองค์กรมักเจอปัญหาใหญเรื่องหนึ่ง คือเวลาคนทำงานประจำแล้วมีใครสักคนในครอบครัวป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือแบบกะทันหัน พนักงานท่านนั้นๆ และองค์กรจะเจอผลกระทบทันทีเลย เช่น คุณพ่อไม่สบาย ลูกคนไหนจะลางาน เราจึงอยากทำคลาสที่จะช่วยให้ความรู้เรื่องการวางแผนชีวิตเวลาที่มีคนป่วยในบ้าน เพื่อให้เขาจะสามารถบริหารจัดการทั้งเรื่องของครอบครัวและเรื่องของการทำงานให้เดินคู่กันไปได้ เราคิดว่าจะส่งผลดีทั้งต่อตัวพนักงานและองค์กรด้วย ตอนนี้เราคิดไปถึงขั้นที่ว่า ถ้าองค์กรไหนสนใจ เราอยากจะชวนสร้างคล้ายๆ กับเป็นชุมชนของนักบริบาลองค์กรแบบจิตอาสา เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับเพื่อนในองค์กรด้วยกัน เช่นว่า ‘ใน 1 ปี ฉันมีวันหยุด 15 วัน นอกจากเที่ยวแล้ว ฉันขอยก 2 วัน ไปทำกิจกรรมจิตอาสาให้กับเพื่อนในองค์กรนะ’ โดยสามารถลงชื่อไว้กับทางฝ่ายบุคคลได้ว่า ถ้าบ้านไหนต้องการคนดูแลสมาชิกในครอบครัวในวันที่พนักงานท่านอื่นๆ ติดภารกิจเรื่องงาน ฉันอาสาไปดูแลให้ได้นะ โดยเราจะช่วยเทรนความรู้ต่างๆ ให้  

“สุดท้าย เราอยากผลักดันในเรื่อง ‘Home Palliative Care Insurance’ (ประกันสำหรับการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน) โดยครอบคลุมในเรื่องของการมีคุณหมอมาตรวจที่บ้าน คุณหมอมาดริฟมอร์ฟีนให้ที่บ้าน เพราะปัจจุบันยังไม่มี หลายคนอยากกลับมาอยู่ต่อที่บ้าน แต่กลับมาบ้านต้องจ่ายสตางค์เอง ทำให้คนหลายคนกลับบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ ฉะนั้น นี่เป็นยุทธศาสตร์ภาคนโยบายอีกหนึ่งอย่างที่เราอยากจะทำและกำลังผลักดันอยู่ค่ะ” 

เครดิต: Cheevamitr

เครดิต: Cheevamitr

จิ๊กซอว์ชีวิตที่หายไป

“การทำชีวามิตรเรียกว่าเป็นความสุขสำหรับเราเลย ครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ผ่านมาของเรา คือการช่วยผู้คนให้ทำธุรกิจให้ดี แล้วธุรกิจของพวกเขาจะไปช่วยคนอื่น ช่วยโลก ช่วยสังคมต่อไป ส่วนพาร์ทของชีวามิตรถือเป็นจิ๊กซอว์ที่มาเติมอีกครึ่งหนึ่ง ถ้าฝั่งหนึ่งเป็นชีวิต ชีวามิตรคือจิตวิญญาณอย่างนั้นเลยค่ะ อย่างในคลาสเรียนของเรา จะมีคนเยอะมากเลยที่เมื่อเข้าเรียนเสร็จแล้ว เขาเขียนว่า ‘วันนี้ขอบคุณมากๆ เลย คำตอบของคุณหมอ คำสอนของพระอาจารย์ หรือแม้แต่วิธีอธิบายของอาจารย์ทางเศรษฐกิจและอาจารย์ทางกฎหมายทำให้เขาปลดล็อกความรู้สึกผิดต่อพ่อแม่’ หรือฟีดแบคล่าสุดที่เพิ่งได้รับคือ น้องคนหนึ่งไปเข้าคอร์สชีวามิตรมาเล่าให้ฟังว่าได้นำสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตัวเองจากกิจกรรมไปเล่าต่อให้เพื่อนคนหนึ่งฟัง และเพื่อนของเขาได้นำไปใช้กับครอบครัวตัวเอง จนทำให้คุณพ่อที่กำลังป่วยหนักสามารถลุกขึ้นมากินข้าวได้เอง การป่วยหนักในบางครั้งมาจากรอยโรค แต่ในบางครั้งมาจากใจ ในกรณีนี้ คุณพ่อกับพี่ชายของเพื่อน มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจกัน พี่ชายได้มาขอขมาพ่อ ร้องไห้กอดกัน วันรุ่งขึ้นคุณพ่อลุกขึ้นได้ นี่จะเป็นแรงฮึดสุดท้ายไหม เราตอบไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ลูกๆ รู้แล้วว่า นับจากนาทีนั้น ถ้าคุณพ่อจะเป็นอะไร การจากไปของคุณพ่อจะเป็นการตายดี เพราะสิ่งที่อยู่ในใจได้ถูกปลดล็อกแล้ว 

“3-4 ปีนี้มานี้ตั้งแต่ทำชีวามิตรและงานอื่นๆ เชิงสังคม อยากจะบอกว่าเรามีวันหยุดไม่น่าจะถึงเดือนตลอดทั้งปี แต่เชื่อไหมว่าไม่รู้สึกเหนื่อยเลยค่ะ คงเพราะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เลยไม่มีวันไหนเป็นวันทำงาน ทุกวันเป็นวันที่สนุก มีพลังที่อยากจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อไปเรื่อยๆ อันนี้เป็นเรื่องขำๆ แต่จริง มีแต่คนทักว่าหน้าใสมาก ไปฉีด ไปทำอะไรหรือเปล่า (หัวเราะ) ซึ่งเราไม่ได้ทำอะไรเลย”

เครดิต: Cheevamitr

3P เคล็ดไม่ลับของชีวิตที่มีความหมาย 

“หนึ่งในหลักที่ใช้นำทางชีวิตของเราคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบไปด้วย 3P (Profit, People, Planet) เรารักในหลวงรัชกาลที่ 9 รักในวิธีคิดของพระองค์ท่าน แต่เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบกินข้าวกับผัก กินมังสวิรัติ หรืออาหารปลอดสารพิษ เราใช้ชีวิตเต็มที่ เรามี Profit แต่ก็ช่วย People และ Planet ด้วย เราเชื่อว่า 3 สิ่งนี้ ถ้าเราเบลนให้ดีในชีวิตได้ เราจะประสบความสำเร็จไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม เช่นเดียวกันกับการอยู่ดีของเราที่ต้องมี 3P อยู่ในสมการนั้นด้วย Profit คือความสุขของตัวเรา People คือคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา คนในสังคม และสังคมโดยรวม แล้วถ้าไปถึงโลกหรือ Planet ได้ก็จะยิ่งดี ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกอะไรขนาดนั้น เราทำเท่าที่ทำได้ มันอาจจะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ที่การปลูกจะช่วยรักษาดินและดินจะช่วยโอบอุ้มน้ำ แล้วเราก็นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3P นี้มาผนวกเข้ากับเรื่อง 5 มิติ เพื่อให้ชีวิตเราอยู่ดี เพราะฉะนั้น อยู่ดีของเราคืออยู่เพื่อตัวเอง เพื่อคนรอบตัว และเพื่อสังคม ซึ่งจะกลับมาสู่การทำให้เราอยู่อย่างมีความหมาย เป็นชีวิตที่มี ‘Heartbeat for Other’ แบบที่นอกจากจะเป็นการเต้นของหัวใจเพื่อตัวเองแล้ว ใจของเรายังมีเผื่อคนอื่นด้วย (ยิ้ม)

“พอเรารู้ว่าเราอยู่แล้วชีวิตมีความหมาย เราเลยเชื่อว่าตอนที่เราจากไป เราจะไม่มีอะไรค้างคา เพราะได้พยายามทำทุกอย่างในชีวิตอย่างที่ดีที่สุดแล้ว และการจะจากไปอย่างมีคุณค่าของเราในเวลานี้ หนึ่งในนั้นคือการที่เราพยายามจะสร้างกลไกอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คน เป็นต้นว่า การทำชีวามิตรให้สามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้ การทำให้ชีวามิตรเป็นแพล็ตฟอร์มที่จะบรรจุองค์ความรู้ขนาดใหญ่ในเรื่องของการอยู่ดีเพื่อไปสู่การตายดีที่ใครๆ สามารถเข้ามาหาความรู้ แลกเปลี่ยน มาเจอเพื่อน เจอคำแนะนำได้ และอยากจะไปถึงจุดที่ความรู้นั้นสามารถไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่ได้อยากให้ชีวามิตรลุกขึ้นมาเพื่อรักษาอะไร แต่เราอยากจะเชื่อมทุกโรงพยาบาล ทุกหน่วยบริการสาธารณสุขให้คุณได้ เป็นที่ที่จะตอบคุณได้ว่าถ้าคุณเกิดปัญหานี้แล้ว นอกจากความเข้าใจที่เรามีให้ คุณยังสามารถไปติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ ได้นะ แล้วเกิดการติดต่อและบริการนั้นไปสู่ประชาชนจริงๆ ฉะนั้น คำว่า Knowledge and Service Platform ของชีวามิตรคือสิ่งที่เราต้องการจะทำให้ได้ ถ้าทำได้ก่อนที่จะตาย คงเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยค่ะ (ยิ้ม)”

เรื่อง: สุดาพร จิรานุกรสกุล
ภาพ: ศุภชัย เหล่ากุลรักษ์
เพิ่มเติม: www.cheevamitr.com, www.facebook.com/Cheevamitr 

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles