นวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นเรื่องที่คนเมืองยุคใหม่หันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการที่เครือข่ายชุมชนและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทยอยนำเสนอแคมเปญชักชวนผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม และแนะนำฟีเจอร์การใช้ชีวิตใหม่ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น
หนึ่งไอเดียนวัตกรรมที่ผ่านตาเราเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด บนคำถามง่ายๆ ของทีมนักสร้างสรรค์ในเมืองอัมสเตอร์ดัมที่ว่า “มันจะดีไหมนะ… ถ้าการขี่จักรยานของพวกเราจะสร้างพลังงานไฟฟ้าให้ชุมชนได้”
คำถามเชิง design thinking ข้างต้นได้นำมาสู่การออกแบบ S-Park เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากการปั่นจักรยานของชาวเมือง (หลายคนพอทราบว่าประชากรเมืองอัมสเตอร์ดัมนั้นใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในการเดินทางกันอยู่แล้ว) ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไอเดียนี้ถูกพรีเซ็นท์ออกไปก็แทบไม่มีใครปฏิเสธ เพราะนอกจากจะมันไม่ได้เรียกร้องให้ชาวเมืองเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว มันยังทำให้พวกเขารู้สึกดีกับบทบาทตัวเองในการช่วยเหลือชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย
ระบบการทำงานของเทคโนโลยี S-Park นี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ หนึ่งคือส่วนที่ติดตั้งกับ ‘ล้อหน้า’ มีทำหน้าที่สะสมพลังงานจลน์จากการปั่นจักรยาน ชิ้นส่วนนี้ถูกออกแบบให้ประยุกต์ใช้กับจักรยานได้ทุกรูปแบบ ส่วนที่สองคือ ‘ราวจอดจักรยาน’ ที่ติดตั้งไว้ในชุมชน ซึ่งมีหน้าที่แปลงพลังงานจลน์เป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำเข้าสู่ระบบไฟหลักของเมือง
Guillaume Roukhomovsky และ Blaž Verhnjak สองดีไซเนอร์ผู้ออกแบบระบบ S-Park คำนวณคร่าวๆ ว่าราวจอดจักรยานหนึ่งชุด (ที่จอดได้ 30 คัน) กับระยะทางการปั่นของชาวอัมสเตอร์ดัมที่ 2.2 ไมล์ต่อวัน จะสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าทุกคนในชุมชนปั่นจักรยานออกไปทำงานทุกวัน พวกเขาก็จะได้ไฟฟ้าเพียงพอสำหรับส่องสว่างให้ทั้งถนนเลยทีเดียว!
ล่าสุด S-Park ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Clean Energy Challenge ร่วมกับโครงการพัฒนาพลังงานสะอาดอื่นๆ อีก 65 โครงการในเมืองอัมสเตอร์ดัม (น่าแปลกใจอยู่ว่ามันเป็นโครงการเดียวที่โฟกัสมาที่การขี่จักรยานของผู้คน) อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ได้ เจ้านวัตกรรมนี้ก็ยังคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายต้องหาคำตอบกันต่อไปนั่นก็คือ “การเชื่อมต่อระบบนี้เข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของเมืองนั้นจะเป็นไปได้ง่ายแค่ไหน” เพราะมันจะมีทั้งปัญหาในเชิงเทคนิกและในแง่กฎหมายที่ต้องเผชิญ รวมถึงว่าสนนราคาของการเข้าถึงนวัตกรรมในขั้นต้น…จะแพงจนหัวหดหรือไม่ ฯลฯ
แต่อย่างน้อยที่สุด เรามองว่าไอเดียอย่างเจ้า S-Park นี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืนในสังคมที่น่าติดตาม เพราะมันทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตพื้นฐานของชาวเมืองที่ขี่จักรยานรวมๆ กันแล้วเกินกว่า 2 ล้านกิโลเมตรต่อวัน! แถมยังสอดรับกับนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่ก็วางเป้าจะอัดเม็ดเงินอีกกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาโครงข่ายจักรยานเมืองอัมสเตอร์ดัมให้เป็นที่หนึ่งของโลกในปี 2020
ก็ไม่แน่นะ ในอนาคตข้างหน้าบ้านคนเมืองนี้อาจจะไม่ต้องซื้อไฟฟ้าใช้แล้วก็ได้ เพราะแค่ปั่นจักรยานไปทำงานก็มีไฟกลับบ้านมาใช้ด้วย!
อ้างอิง: spark.amsterdam