Song House บ้านประจำตระกูลของคนสามรุ่นเชื่อมสายใยจีนรุ่นเก่าเข้ากับรุ่นใหม่ได้อย่างงดงามลงตัว

เราล้วนอยู่ในยุคที่กระแสความเป็นเมืองได้กระจายความเจริญอย่างรวดเร็วจนไม่อาจปฏิเสธได้ จนเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิมไปมาก ในกรณีของสังคมแบบชาวเอเชีย โดยเฉพาะในสายวัฒนธรรมจีนจะนิยมอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ลักษณะบ้านแบบดั้งเดิมจะเป็นแนวแผ่ราบ มีลานกลางบ้าน ล้อมด้วยห้องต่างๆ ตัวบ้านจะมีลักษณะการใช้สอยเป็นบ้านล้อมลาน หลายครอบครัวในตระกูลเดียวกันจะอยู่ในลักษณะบ้านแบบนี้ ที่เรียกว่าบ้านประจำตระกูล หรือ communal house

แต่ในปัจจุบันที่สภาพเศรษฐกิจ สังคม ไม่ได้เป็นรูปแบบเดิมอีกต่อไป บ้านแบบนี้ได้ค่อยทยอยหายไปจากสังคมจีน เหลือไว้เพียงรายละเอียดในหนังสือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม

ในมหานครเซี่ยงไฮ้เอง ก็พบกับปัญหาการขยายตัวของเมืองที่กระทบต่อสังคมในชนบทเช่นกัน เหล่าคนหนุ่มสาวได้เดินทางมาทำงานในเมือง บ้านในชนบทมีแต่เหล่าพ่อแม่ที่เป็นคนชรา ทำให้ขาดชีวิตชีวา และขาดสายใยที่ผูกพันกันในครอบครัวแบบเดิม แต่เมื่อปัญหามีไว้แก้ การแก้ปัญหานี้จึงออกมาในรูปการณ์ออกแบบสถาปัตยกรรม

สำนักงานสถาปนิก AZL Architects รับโจทย์การแก้ปัญหามาจากช่างไฟฟ้าวัยเกษียณของครอบครัว เหลาสง ด้วยความต้องการที่จะดูแลแม่ของเขาในวัยชราให้มาอยู่ร่วมกันในชนบทของเมืองเฟิงเซียน เรื่องเริ่มต้นที่แม่ของเขาไม่สบายกับความแออัดของมหานครเซี่ยงไฮ้  และไม่สามารถปรับตัวกับอพาร์ทเมนต์ของเขาที่มีพื้นที่จำกัดได้ ตัวเขาจึงได้สนใจที่จะพาครอบครัวของเขา แม่ ลูกสาว และลูกเขย กลับไปใช้ชีวิตร่วมกันที่บ้านเกิดเขตชนบทของเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ยังได้เชิญพ่อแม่ของลูกเขยที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพมายังบ้านหลังใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

บ้านหลังนี้จึงประกอบด้วยสมาชิกกว่า 8 ชีวิตใน 3 ชั่วคน

ในบ้านหลังเดียวนี้ หัวใจคือความเข้าในพฤติกรรมของคนทั้ง 3 รุ่น และตีความมันออกมาสู่พื้นที่ใช้สอย สู่การออกแบบในที่สุด การออกแบบจึงได้รื้อฟื้นแนวคิดของการอยู่ร่วมกันแบบบ้านประจำตระกูล สเปซของทุกครอบครัว ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงเข้าหากันด้วยลานชั้น 2 ที่เป็นคล้ายกับลานกลางบ้านจีน และอีกพื้นที่เชื่อมโยงของบ้านคือห้องครอบครัวที่ชั้นล่าง ไม่ห่างจากห้องนอน จากชั้นนี้สถาปนิกได้ออกแบบให้มีทางลาดเชื่อมจากชั้น 1 ไปชั้น2 ได้สะดวก เพื่อให้แม่ของลูกเขยสามารถเดินทางมาดูแลย่าได้ง่าย ห้องน้ำของย่าได้ออกแบบให้มีความกว้างพิเศษ สามารถรองรับกิจกรรมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุได้ทุกเมื่อที่จำเป็น นอกจากนี้ยังเพิ่มสวนปลูกผักหลังบ้าน ให้ย่าออกมาดูแลสวนได้สะดวก หากมองดูไปยังรายละเอียด การออกแบบบ้านหลังนี้ก็คือการหยิบลักษณะของบ้านจีนแบบเดิมที่มีห้องล้อมลานมาปรับใช้กับบริบทปัจจุบัน แต่เปลี่ยนจากแนวราบสู่แนวดิ่ง เป็นบ้านจีนสมัยใหม่แบบ 3 ชั้นนั้นเอง

การออกแบบสถาปัตยกรรมคือการแก้ปัญหาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การให้สถาปนิกเข้าถึงหลายชนชั้นมากขึ้น เพื่อให้การออกแบบช่วยโลกมากกว่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะรักษาสมดุลของสังคมใหม่และเก่าอีกทางหนึ่งเช่นกัน

อ้างอิง: www.azlarchitects.comwww.dezeen.comwww.archdaily.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles