‘Communitea: ชุมชนคนจิบชา’ ชวนศิลปินสร้างงานศิลป์สนับสนุนศูนย์ชาวจีนในลอนดอน

วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้บริษัทห้างร้านและองค์กรหลายแห่งจำต้องทยอยปิดตัวไป แต่สำหรับ London Chinese Community Centre (LCCC) สถาบันทางวัฒนธรรมจีนที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงลอนดอนนั้น สาเหตุที่ต้องรูดม่านลงไม่ใช่เพียงเพราะพิษโควิด แต่ยังเป็นเพราะการเติบโตของลัทธิเหยียดผิวและความเกลียดชังคนเอเชียที่กำลังแพร่หลายในโลกตะวันตก

แต่ก็ใช่ว่าชาวตะวันตกทุกคนจะเกลียดคนเอเชียเสมอไป อย่างน้อยก็มีดีไซเนอร์กลุ่มหนึ่งที่มองเห็นความเท่าเทียมของมนุษย์ไม่ว่าจะสีผิวหรือสีผมใดและเห็นค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าตะวันตกหรือตะวันออก พวกเขารวมกลุ่มกันในนาม Communitea เพื่อหาทางระดมทุนมากอบกู้ LCCC ไว้ โดยการที่ชื่อกลุ่มของพวกเขาใช้คำว่า tea (ชา) แทนที่จะเป็น Community ที่หมายถึงชุมชนเพราะต้องการสื่อถึงวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีน โดยเฉพาะเวลามีแขกไปใครมา ชาวจีนก็มักจะเสิร์ฟชาร้อนๆ เป็นการต้อนรับด้วยไมตรี ซึ่งบังเอิญว่าวัฒนธรรมการดื่มชานั้นมีอยู่ในอังกฤษพอดีเหมือนกัน

Communitea ชักชวนศิลปินมา 55 คน ทั้งที่เป็นชาวสหราชอาณาจักรและชาวเอเชีย เช่น Zipeng Zhu, Helen Li, Marylou Faure, Inga Ziemele เป็นต้น แล้วให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกแบบที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนในหลากหลายแง่มุม ผลงานที่ออกมานั้นมีทั้งภาพตัวอักษรจีน อาหารและเครื่องดื่มจีน วัฒนธรรมการเฉลิมฉลองแบบชาวจีน สมุนไพรจีน ฯลฯ โดยเรื่องราวทั้งหมดนั้นอยู่ในรูปลักษณ์งานดีไซน์ร่วมสมัยที่ใช้สีสันฉูดฉาด ลายเส้นแบบการ์ตูน รวมทั้งเป็นสไตล์การสร้างสรรค์เฉพาะตัวของศิลปินแต่ละคน

เมื่อได้ผลงานทั้ง 55 ชิ้นแล้ว Communitea ก็ไปจับมือกับ Roomfifty เพื่อผลิตออกมาเป็นงานพรินต์คุณภาพดีและวางจำหน่ายในราคาชิ้นละ 20 ปอนด์ โดยกำไรที่ได้จากการวางขายผลงานทั้งหมด พวกเขาจะนำไปมอบให้กับ LCCC เพื่อให้สามารถกอบกู้องค์กรไว้ได้ต่อไป

แต่นอกจากผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นงานศิลปะสวยๆ และจำนวนเงินที่ส่งต่อไปยัง LCCC แล้ว อีกสิ่งหนึ่งจากโครงการนี้ที่สวยงามที่สุดน่าจะเป็นความพยายามของเหล่าศิลปินนักออกแบบที่เข้ามาช่วยกอบกู้องค์กรที่แม้จะต่างวัฒนธรรมและต่างสไตล์กับพวกเขา แต่ก็ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กันและกันได้

“เช่นเดียวกับที่คนหลายคนทั่วโลกชื่นชมวัฒนธรรมจีนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร แฟชั่น ดนตรี ภาพยนตร์” Geo Law หนึ่งในสมาชิกของ Communitea กล่าว และ Kenn Lam สมาชิกอีกคนกล่าวสรุปไว้ได้อย่างสวยงามว่า “การเชิญชวนศิลปินนักออกแบบมาสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนและผู้ชมก็ชื่นชอบผลงานเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่าพวกเราต่างเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมของจีนในโลกตะวันออกไม่ว่าทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนชาวจีนหรือเพื่อนชาวเอเชียของเราถูกทำร้าย พวกเราก็เจ็บไปด้วยเหมือนกัน”

แปลและเรียบเรียงจาก: communitea.fundcreativeboom.com

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles