‘สุทธิพงษ์ สุริยะ’ นวัตกรชุมชน สร้างชุมชนให้มีชีวิตผ่านพิพิธภัณฑ์อย่างยั่งยืน

อาคารไม้ขนาด 2 ชั้น ภายในอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ หลังนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นเรือนไทยแบบอีสานที่ยังคงถูกใช้งานในฐานะบ้านพักอาศัยของคุณตาสำอาง สุริยะ แต่ที่นี่เพิ่งได้รับหน้าที่ใหม่กับบทบาทพิพิธภัณฑ์ ในนาม ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ’

ขาบ – สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ระดับแนวหน้าของบ้านเรา ที่หมวกอีกใบของเขาคือนวัตกรชุมชน ตั้งใจก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมกับความพยายามที่จะรักษาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ชุมชนแบบเกื้อกูล ตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบอีสานของชุมชนในจังหวัดที่ 77 แห่งนี้ ให้คงอยู่และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป

พิพิธภัณฑ์ ‘สร้างชุมชน’ ให้มี ‘ชีวิต’   

“ถ้าย้อนกลับไป พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นได้ประมาณปีกว่าๆ แล้วนะ จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มาจาก 2 เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของผม เหตุการณ์แรกคือ การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน คุณแม่ของผมก็จากไป ช่วงเวลานั้นเป็นความสูญเสียบุคคลที่ผมเคารพรักมากที่สุดถึง 2 คน ในเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบกับที่ตัวผมเองมีโอกาสเป็นอาสาสมัครมูลนิธิโครงการหลวงมาก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จุดประกายให้ผมอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้จริงๆ เพื่อสานต่อพระปณิธานในการทำงานเพื่อส่วนรวม ซึ่งแม้ว่าพระองค์จะไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว แต่เราสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดช่วงชีวิตกลับมาพัฒนาประเทศและบ้านเกิดของตัวเองได้ นั่นคือที่จังหวัดบึงกาฬ”

“คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ แล้วเราจะเริ่มอย่างไรล่ะ? ผมก็คิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราลองเริ่มจากสิ่งที่มีก่อนก็แล้วกัน ซึ่งใกล้ที่สุดเลยก็คือบ้าน คือครอบครัวของตัวเองที่ต้องเสียสละก่อน โดยครอบครัวของผมมีบ้านไม้อยู่หลังหนึ่งที่บึงกาฬ เราเลยเริ่มจากโจทย์ที่ว่า เราจะทำอะไรที่ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้? รวมถึงเราจะทำงานนี้ไปในทิศทางและรูปแบบไหนเพื่อเป็นต้นแบบให้กับสังคมได้ด้วย? สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือผมได้หยิบเอาความชอบและองค์ความรู้ด้านออกแบบที่มีมาเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงสถาปัตยกรรมเรือนไม้อีสานหลังนี้ให้มีความน่าสนใจ โดยนำศิลปะร่วมสมัยเข้ามาใช้และทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้น ซึ่งที่นี่จะมีทั้งความดั้งเดิมและร่วมสมัยมาบูรณาการอยู่ภายใน และตั้งชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ’ โดยคำว่าพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตคืออะไร คือการทำพิพิธภัณฑ์ในช่วงเวลาที่ครอบครัวของคนคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ยังมีลมหายใจอยู่ ที่นี่คุณพ่อของผมยังอาศัยอยู่ในชั้นล่างของในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราต้องการให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้มาดูชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่ยังมีการใช้ชีวิตอยู่ และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในท่ามกลางชุมชนที่ล้วนมีเรื่องราวและเรื่องเล่าของแต่ละชีวิตมากมาย”

สะท้อนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

“เนื้อหาหลักที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์คือการบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอีสาน ตั้งแต่เรื่องบ้าน อาหาร เครื่องแต่งกาย วิถีเกษตรกรรมของอีสาน โดยในส่วนเกษตรกรรมนี้จะเป็นการส่งสารเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนในตัวด้วย ที่นี่จะมีการจำลองให้เห็นบรรยากาศห้องครัวซึ่งน่าจะเป็นห้องครัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดในอีสาน เนื่องจากข้าวของทุกอย่างภายในมีชีวิต มีลมหายใจ รวมทั้งเป็นข้าวของที่ยังใช้งานอยู่ด้วย ซึ่งลักษณะเหล่านี้แทบจะไม่มีเลยนะในอีสาน นอกจากนี้ แต่ละห้องมีการจำลองพื้นที่ภายในสถาปัตยกรรมอีสานว่ามีการตกแต่งอย่างไร ประกอบด้วยห้องอะไรบ้าง เช่น ห้องพระ ห้องจัดแสดงผ้าที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ผ้า มีโถงกลาง แล้วก็ระเบียง ในแต่ละห้องก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ส่วนพิพิธภัณฑ์ผ้าจะเป็นการนำผ้าไหมของตระกูลมาจัดแสดงให้ผู้ชมดูว่าผ้าของคนอีสานมีอะไรบ้าง หรือห้องระเบียงซึ่งในอดีตคือที่สำหรับตั้งสำรับทานอาหาร ตอนนี้เราก็มีบริการจัดสำรับทานอาหารเวลานักท่องเที่ยวติดต่อเข้ามา ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านนี่แหละที่จะเป็นคนจัดเตรียมให้ ใครอยากมาทานข้าวในชุดพาแลงก็สามารถสั่งได้ หรือก่อนทาน ถ้าอยากบายศรี ก็สามารถบายศรีตรงนั้นได้เลย ส่วนในหน้าที่ของเราคือการเอาชีวิตเข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้”

จากพิพิธภัณฑ์ชีวิตสู่กิจกรรมต่อยอดความคิดเพื่อชุบชีวิตชุมชน  

“สิ่งที่ผมพยายามทำคือการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นตัวเริ่มและค่อยๆ ผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นภายในหมู่บ้าน โดยดึงเอาคนในชุมชนเข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดชุมชน การทำงานหัตถกรรม การแสดง หรือวัฒนธรรมต่างๆ”

“นอกจากนี้ เรายังเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งกระบวนการของเราจะทำใน 2 รูปแบบ หนึ่งคือการส่งดีไซเนอร์เพื่อนำความรู้ลงไปปรับใช้กับสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีความร่วมสมัยและทันกับตลาดมากขึ้น เช่น กระติ๊บทรงรีชิ้นนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลผลิตที่เกิดขึ้น น่าจะรู้จักกระติ๊บข้าวของอีสานกันแล้วเนอะ แต่น่าจะยังไม่เคยเห็นกระติ๊บข้าวทรงนี้ นี่ไม่ใช่ไม้ไผ่นะครับแต่คือคล้า เพราะกระติ๊บจากไผ่เวลาโดนน้ำจะเป็นเชื้อราได้ง่ายและโดนแดดก็จะกรอบ ส่วนใหญ่มักทำเป็นทรงกลม ซึ่งทำกันแทบตาย แต่ขาย 100-120 บาท แล้วคนซื้อก็มีเฉพาะคนอีสาน คนภาคอื่นไม่ได้ใช้กัน เพราะเขาไม่ได้กินข้าวเหนียว แล้วกระติ๊บข้าวก็มีความทน ซื้อไปใช้อีก 5 ปี ค่อยมาซื้ออีกใบ ผมก็คิดว่าไม่ได้ล่ะ ถ้ารูปการแบบนี้เสียหายแน่ ในฐานะที่เราเป็นดีไซเนอร์ เลยขอปรับรูปทรงเสียหน่อย ให้เป็นทรงรี พอเป็นรีเสร็จ เราจะไม่เรียกว่ากระติ๊บข้าวแล้ว แต่เรียกว่าเครื่องประดับสำหรับเอกบุรุษและกุลสตรี ที่สามารถใส่กระเป๋าสตางค์และโทรศัพท์ลงไปได้ด้วย สามารถใช้แทนกระเป๋าได้เลย พอออกในรูปทรงใหม่ คนก็ให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น

สำหรับการพัฒนาแบบที่สอง เราให้ความสำคัญไปกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นสินทรัพย์ ตัวผมเองเชื่อในเรื่องการพัฒนาคนนะ เพราะนั่นคือวิธีที่ยั่งยืน แน่นอนว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ตัวผมเองก็อยู่ในวัยผู้ใหญ่และวันหนึ่งผมก็ต้องจากไป แล้วใครล่ะจะเป็นผู้มาดูแลและจัดการพิพิธภัณฑ์ รวมถึงชุมชน ถ้าไม่ใช่เยาวชนเหล่านี้ ซึ่งการที่เยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนจะทำให้เขาสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาชุมชนที่เขาอยู่อาศัยต่อไปได้ ตอนนี้เราทำเครือข่ายร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ซึ่งรับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสเพื่อเข้าไปศึกษาต่อ ทั้งในสายอาชีพและระดับปริญญา รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เริ่มเข้ามาเพื่อนำเด็กจิตสาธารณะไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีในกรุงเทพฯ ซึ่งเด็กๆ ที่นี่ พูดกันแบบตรงไปตรงมา โอกาสด้านการศึกษาเขาไม่เท่ากับในเมือง แต่สิ่งที่เขามีคือความตั้งใจและความพยายาม นี่คือสิ่งที่ผมได้ทำและกำลังทำกันอยู่”

‘วาดบ้านแปลงเมือง’ ความกลมกล่อมระหว่างอัตลักษณ์ท้องถิ่นกับจิตวิญญาณของผู้อยู่อาศัยในชุมชน

“เมื่อเราทำพิพิธภัณฑ์บ้านเสร็จเรียบร้อย ก็ทำให้ชาวบ้านเข้าใจแล้วว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หลังจากนั้น เราก็เห็นว่าในชุมชม มีกุฏิร้าง ซึ่งมีข้าวของที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาอีสานอีกหลายอย่างที่เราอยากจะนำเสนอให้เป็นแกลเลอรี่ ก็เลยไปขอหลวงปู่ว่าอยากจะทำ ท่านก็อนุญาต กลายเป็นว่านอกจากคนมาที่นี่จะได้ดูพิพิธภัณฑ์บ้านแล้ว งานพุทธหัตถศิลป์อีสานอีกด้วย ซึ่งมีความน่าสนใจและสะท้อนอะไรต่างๆ ออกมามากมาย ทั้งงานมงคล งานตาย มันคือวิถีที่ทำให้เราเห็นชีวิตคนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตาย ผ่านกระบวนการและพิธีกรรม”

“พอเสร็จสิ้นในส่วนพิพิธภัณฑ์วัดแล้ว เราก็มาที่โจทย์ใหญ่ที่สุดคือการทำชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คำถามก็เกิดอีกครั้งว่าแล้วจะใช้วิธีไหนกันล่ะ? ที่เราคิดคือการเปิดตัวหมู่บ้านทั้งหมด แต่จะเปิดด้วยอะไร เพราะสิ่งที่เลือกมาจะต้องว้าว แล้วว้าวเป็นอย่างไรล่ะ ก็คือคำว่า ‘ร่วมสมัย’ ซึ่งทุกเดือนที่ผมกลับบ้าน ผมจะลงไปประชุมกับชาวบ้านและเข้าไปสำรวจแต่ละบ้านว่าแปลนบ้านแต่ละหลังเป็นอย่างไร สัมภาษณ์ชาวบ้านแต่ละคนว่าทำอาชีพอะไรบ้าง โดยหลักๆ คนในท้องที่จะมีอยู่ 2 อาชีพ คือทำนากับทำสวนยางพารา แต่พวกเขามีอาชีพเสริมที่น่าสนใจมากเลย ทั้งทำสวนเกษตรพอเพียง ตัดผม ขายไอศกรีม ขายลอดช่อง บ้านนี้สนใจฟังธรรมะ บ้านนี้ชอบนั่งสมาธิ อีกหลังสานกระติ๊บข้าว ผมยังถามไปถึงว่าเขาคิดว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของพวกเขา ซึ่ง 90% เขาจะเอ่ยถึงพญานาค เพราะว่าในหมู่บ้านมีความเชื่อพญานาค”

“หลังจากนั้น ผมได้นำข้อมูลทั้งหมดมาทำเวิร์คช็อปที่คณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง ซึ่งผมเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ เพื่อหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ร่วมสมัย’ ให้ได้ ผลลัพธ์ของการประมวลข้อมูลคือการหยิบเอาพญานาคและจิตวิญญาณของเจ้าของบ้านแต่ละหลังมาสะท้อนผ่านงานศิลปะบนฝาบ้าน ที่นี่จะเป็นพญานาคเดียวในโลกนะครับที่ไม่เหมือนใครเลย เพราะว่ามีพญานาคกับอาชีพ แล้วพญานาคที่นี่จะมีคาแร็คเตอร์ที่มีคำว่า ‘ร่วมสมัย’ อยู่ในนั้น ไม่ใช่พญานาคที่อยู่ในวัดที่มีความดุดันและน่ากลัว พญานาคจะต้องเป็นพญานาคที่เป็นงานป๊อบอาร์ตแบบที่เด็กๆ จะวิ่งเข้าหา ไม่ใช่เห็นแล้วร้องไห้”

“เราทำดราฟท์ที่เด็กนักศึกษาลงรายละเอียดเชิงลึกให้เราดูจนได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วเราก็ลงพื้นที่ โดยการทำงานเกิดจากการสร้างเครือข่าย ซึ่งประกอบไปด้วยทีมงาน 3 ส่วน หนึ่งคือนักศึกษาปัจจุบันในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกันที่เขาเรียกว่าจิตรกรรมเพื่อสังคม สองคือกลุ่มศิษย์เก่าที่เหล่าอาจารย์จะไประดมลูกศิษย์กลุ่มที่ทำงานกราฟิตี้และสตรีทอาร์ตมาเข้าร่วมเวิร์คช็อปด้วย และสามคือคณาจารย์ โดยทั้งหมดจะมีการบริหารจัดการว่ากลุ่มไหนไปประจำที่ไหน ซึ่งทั้ง 22 จุด จะถูกบริหารภายใต้กระบวนการ 7 วัน ในหน้าฝน ซึ่งมีความท้าทายพอสมควรเพราะหนึ่งหน้าฝน เราต้องไปทำตอนเด็กๆ ปิดเทอม สองคือเวลาวาดจะต้องอยู่ที่สูง ซึ่งเราต้องทำนั่งร้านขึ้นไป ทำให้ช่วงกลางวันวาดไม่ได้เพราะแสงจะแยงตาและเด็กๆ อาจจะได้รับอันตราย ก็จะวาดได้ตอนเช้ากับตอนเย็นจนดึกดื่น ซึ่งต้องมีสปอตไลท์ แน่นอนว่าชุมชนก็เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งเรื่องเสบียง สิ่งอำนวยความสะดวก มาช่วยวาด เด็กๆ มาเต็มไปหมดเลย พอเราวาดบ้านแปลงเมืองกันเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือที่นี่กลายเป็นจุดรวมวัยรุ่นที่จะมานัดเจอกัน เดี๋ยวนี้เวลาผมกลับบ้าน ก็จะเห็นคนสะพายกล้องเยอะมาก มาถ่ายรูปบ้าง มาถ่ายหนังสั้นเพื่อส่งไปแข่งบ้าง (ยิ้ม)”

หนทางพิสูจน์ม้าว่าแกร่งกล้าหรือล้าอ่อน

“อุปสรรคมีแน่นอนและยังมีจนถึงปัจจุบัน อันดับแรกเลย ที่นี่ต้องบอกว่าในช่วงแรกผู้ใหญ่ในชุมชนเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นภาพ และไม่เปิดรับสิ่งที่เรากำลังทำ แต่ผมไม่ได้มองว่านั่นเป็นปัญหานะ เพราะเมื่อโฟกัสภาพรวมในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน ที่นี่คือหมู่บ้านที่ผมเกิด หน้าที่ของผมคือการทำให้หมู่บ้านและชาวบ้าน 45 หลังคาเรือน ให้เขามีความกินดีอยู่ดี ซึ่งปากท้องชาวบ้านเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญก่อน ฉะนั้นทีมงานจึงขับเคลื่อนมุมนี้ แต่เมื่อวันหนึ่งที่เราพิสูจน์ได้แล้วว่าสิ่งที่ทำลงไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันจึงค่อยๆ ละลายพฤติกรรมให้เขาเปิดใจได้ในท้ายที่สุด เพราะว่าไม่มีที่ไหนนะครับที่จะต่อต้านการพัฒนา และการพัฒนาชนบทก็เป็นเป้าหมายหลักของชาติที่จะเป็นฐานรากเพื่อทำให้ชาติไปต่อได้ด้วย”

กอบกู้เศรษฐกิจในครัวเรือน สร้างความภูมิใจให้ตนเอง

“สิ่งที่สัมผัสได้จากชาวบ้านคือพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงนะครับ อันดับแรกเลย เขามีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น สองเขามีบทบาทและสถานะทางสังคม ทุกคนรู้ว่าตัวเขามีคุณค่าในตัวเอง ยกตัวอย่างเวลาเราพาผู้หลักผู้ใหญ่ไปเดินตามบ้านที่วาดรูป ในชีวิตปกติ การมาเจอผู้ใหญ่ในจังหวัดไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดทุกวัน ซึ่งการที่ผู้ใหญ่เหล่านี้ไปเยี่ยมบ้าน ได้พูดคุย ได้ถ่ายรูปร่วมกัน โดยธรรมชาติของมนุษย์คือการให้เกียรติกันนะ อันนี้เขาเปิดใจเลย อันที่สามเมื่อมีเดียเข้ามาเวลามีกิจกรรมอะไรก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อมีชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในกระบวนการ โอ้โห ชาวบ้านเขาดีใจแบบโฆษณาคุยกันทั้งหมู่บ้านเลย (หัวเราะ) เพราะเขาได้ออกทีวี นี่เป็นความภาคภูมิใจและความดีใจของเขา รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปิดใจให้กับการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วนะ”

ต้นกล้าที่แข็งแรงเกิดจากฐานรากที่แข็งแกร่ง

“ภาพของบึงกาฬในอดีตมีความงามมาก เพราะเมื่อที่นี่เป็นจังหวัดใหม่ ทุกอย่างยังคงดิบ เป็นธรรมชาติ และถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ทำให้ผมเห็นภาพการพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพสามารถทำได้อีกเยอะมาก ซึ่งถ้าเรานำองค์ความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งในเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสมลงไปบูรณาการ ที่นี่ก็ไม่ด้อยไปจากที่อื่น ในความดิบที่เราเห็นคือเสน่ห์และจุดแข็งของบึงกาฬ ภาพที่ผมอยากเห็นในอนาคตคือการพัฒนาที่นี่ให้เป็นเมืองที่มีแต่คำว่า ‘มวลความสุข’ อยู่ทั่วไปหมด ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สามารถถูกอนุรักษ์ไว้ดังเดิม มีความรุ่มรวยทั้งในแง่ของศิลปะร่วมสมัยและวัฒนธรรมพื้นถิ่น เป็นเมืองที่คนสามารถเข้ามาสัมผัสและสนใจธรรมะอันเรียบง่ายและสมถะที่เรามี รวมไปถึงวิถีธรรมชาติแบบยั่งยืน ผมอยากให้ที่นี่สามารถช่วยจรรโลงใจคน ทำให้เขาเกิดความสุขที่แสนธรรมดา แต่เป็นความสุขที่แท้จริงได้”

 

ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมความท้าทายของโลกทุนนิยม

“อย่างที่บอกว่าที่นี่ธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างๆ ก็ยังอุดมสมบูรณ์และเข้มแข็งมาก ทุกอย่างที่มีชุมชนยังอนุรักษ์ไว้อย่างดี ถ้าเปลี่ยนก็คงประมาณสัก 20% ซึ่งถ้าประมวลผลทั้งหมดในจังหวัด แหล่งท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างหมดเลย ทั้งภูเขาหิน น้ำตก อะไรต่างๆ มีอันเดียวในบึงกาฬที่มนุษย์เป็นผู้สร้างคือพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ซึ่งแน่นอน เมื่อที่นี่เป็นที่รู้จักมากขึ้น ย่อมมีคนที่มองเห็นโอกาสในการทำอะไรต่างๆ เป็นปกติธรรมดา ผมเองก็คุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านทุกครั้งนะว่า หมู่บ้านเราเคยเป็นหมู่บ้านที่แทบจะร้าง จนวันหนึ่งถูกเปิดหน้าไพ่ออกมา แปลว่ามูลค่าทางหลักทรัพย์ของที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติของมันด้วย ซึ่งพื้นที่แบบนี้จะไม่มีอีกแล้วนะ ให้รักษาไว้ ยิ่งรักษาไว้พื้นที่ตรงนี้ไว้ได้ จะทำให้ลูกหลานเขาเห็นคุณค่า ลูกหลานที่เคยไปอยู่ ไปทำมาหากินในเมืองก็จะอยากกลับมาทำมาหากิน มาช่วยพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้สามารถสืบทอดและส่งต่อกันได้จากรุ่นสู่รุ่น แต่สิ่งที่ผมบอก ผมไม่ได้ไปกรอกข้อมูลฝั่งเดียว ผมจะบอกบนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งข้อดีและข้อเสียว่าถ้าความเจริญเข้ามาแล้ว อะไรจะสามารถเกิดขึ้นได้บ้าง แต่หลังจากนั้นเขาเองก็ต้องใช้กระบวนการเปรียบเทียบของตัวเองในการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ซึ่งเขาเข้าใจกันนะ”

สร้างชุมชนต้นแบบ พัฒนาถิ่นที่ ก่อร่างความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรม

“การได้มาทำพิพิธภัณฑ์บ้าน ได้ทำงานกับชุมชน และเครือข่ายต่างๆ อันดับแรกเลย ด้วยตัวผมในฐานะที่เป็นคนในหมู่บ้าน เมื่อเราเดินทางมาระดับหนึ่ง มีความพร้อมระดับหนึ่งที่เราประเมินตัวเองแล้วว่าเราพอจะช่วยชุมชนได้ ผมว่าอันนั้นคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งที่จะทำได้เลยนะ เพราะวันหนึ่งเมื่อผมไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้แล้ว แต่ยังมีชีวิตอีกเป็นร้อยเป็นพันที่มีลมหายใจต่อจากเรา การที่เราใช้องค์ความรู้ที่เรามี เครือข่ายที่เรามีลงไปสร้างความเจริญนั่นทำให้ผมเป็นมนุษย์ที่เต็ม สิ่งที่ผมวาดหวังไว้ก็คืออยากเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ กลับมาบ้านเกิดและนำเอาศักยภาพที่ตัวเองมีและเป็นมาทำบ้านเกิดตัวเองดีขึ้น ซึ่งการพัฒนามันมีหลายบริบทนะ เลือกทำในสิ่งที่คุณทำได้ ที่คุณถนัดและมีความชำนาญ”

“สำหรับผม ผมอยากให้ที่นี่สามารถเป็นชุมชนต้นแบบที่ใครก็สามารถหยิบยกนำไปใช้ได้ด้วย ที่อื่นอาจจะมองแค่สร้างให้มี สร้างให้เกิด แต่เราไม่มองอย่างนั้น การทำงานของเราเป็นการทำกระบวนการจัดการทั้งระบบ มีแผนงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถถูกถอดแบบเพื่อไปทำอัตลักษณ์ใน 8 อำเภอของบึงกาฬ ทั้งที่เมืองบึงกาฬ, พรเจริญ, โซ่พิสัย, เซกา, ปากคาด, บึงโขงหลง, ศรีวิไล และบุ่งคล้า รวมถึงยกระดับทั้งภูมิภาคอีสานเลย โดยเฉพาะในเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม เพราะผมมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ ของผู้คน ของสถาบันการศึกษา นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำและจะทำ ผมอยากเปิดพื้นที่ของผมให้ศิลปิน ให้คนที่เรียนออกแบบไหลเข้ามาพัฒนา ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ เพื่อให้เขาได้แสดงความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง เมื่อเขามีพื้นที่ เขาก็สามารถสร้างเงิน สร้างงาน สร้างความสุขในสิ่งที่เขาเป็นและเป็นอัตลักษณ์อีสานได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจไว้”

สร้างสรรค์เกษตรนวัต ปลูกต้นกล้าแห่งจิตอาสา ก้าวต่อไปของการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ตอนนี้ผมทำเฟสแรก คือตัวพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งในซีกดังกล่าวถูกพัฒนาไปแล้วแบบ 100% แต่อีกครึ่งหนึ่งของหมู่บ้านยังไม่พัฒนา เราจึงเห็นการเปรียบเทียบแบบ before และ after แต่ว่าเดือนสิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้ จะมีโครงการวาดบ้านแปลงเมืองครั้งที่ 2 ของคณะสถาปัตย์ฯ ลาดกระบังไปลงอีกครั้ง เฟสนี้จะเกิดอีกครึ่งหนึ่งและเฟสนี้จะไม่ใช่พญานาคกับอาชีพแล้ว แต่จะเป็นพญานาคกับอาหารและของฝาก พญานาคจะกินอะไรบ้าง เราจะนำเสนอ อาหาร 20 ชนิด ในหมู่บ้านที่ชาวบ้านรับประทาน ทั้งของกิน ของฝาก อันนี้ผมต้องลงไปหาอัตลักษณ์ต่อว่าอาหารหรือขนมว่างที่เป็นของในงานบุญมีอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เราคาดหวัง อันดับแรกคือซื้อกลับบ้าน อันดับที่สองคือการเพิ่มโอกาสให้มีคนสั่งทางเฟซบุ๊คเข้าไปขาย เฟสที่สองนี้เราจะกระเพื่อมของกิน รวมไปถึงข้าวสาร ซึ่งที่นั่นเขาปลูกข้าวเหนียว เราก็จะนำงานออกแบบไปเพิ่มมูลค่า ในส่วนการทำขนมของฝาก เราต้องหาทีมงานเพื่อมาดูแลในส่วนการแปรรูป ซึ่งก็จะเป็นอาจารย์ฝ่ายคหกรรมและ food science เมื่อแปรรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วอยากขายให้มีราคา ก็ต้องเป็นอาจารย์สายออกแบบเข้ามาดูแลเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอันนี้จะอยู่ในกระบวนการเชิงย่อย”

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังแพลนกันในเรื่องการท่องเที่ยวแบบเกษตรนวัต โดยจะใช้พื้นที่ด้านหลังพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัวสุริยะ มาทำต้นแบบศูนย์เรียนรู้การเกษตรยั่งยืน โดยจะนำเรื่องของเทคโนโลยี วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ รวมถึงกระบวนการยุทธศาสตร์ของจังหวัดเข้ามาใช้ แต่เรื่องของเกษตรและวิถีเกษตรเราต้องมาเริ่มจากศูนย์ใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ที่นี่เป็นวิถีเกษตรที่น่าสนใจ ซึ่งนี่จะเป็นโครงการที่ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังด้วย โดยผมจะพาคณาอาจารย์ลงพื้นที่ เมื่อโครงการไปได้ดีก็จะได้ทั้งการท่องเที่ยวและเกษตรนวัตที่เป็นรูปแบบของเกษตรสมัยใหม่”

“นอกจากการพัฒนาในเชิงรูปธรรมแล้ว เรายังตั้งใจสร้างทีมจิตสาธารณะเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาการให้ชุมชนไปพร้อมๆ กันด้วย ที่อื่นอาจจะมองแค่สร้างให้มี สร้างให้เกิด แต่เราไม่มองอย่างนั้น รูปแบบของเราจะเป็นกระบวนการจัดการทั้งระบบ เป็นการพัฒนาแบบองค์รวมและยั่งยืน โดยโจทย์ที่มากไปกว่านั้นคือเราก็ต้องมาคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่ในภาคอีสานอยากเข้ามาร่วมอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ได้ด้วย”

เก็บออมพลังงานชีวิตเพื่อพร้อมส่งต่อและสร้างสุขให้ทั้งตัวเองและส่วนรวม

“ความสุขของผมมาจาก ‘การให้’ นะ ให้อะไรก็ได้ที่ผมรู้สึกว่าผมมีความสุขนะครับ ณ ตอนนี้ การให้ของผม ผมมองสังคมเป็นที่ตั้ง สิ่งที่ทำให้ตัวเองอย่างเดียวคือประคองให้ตัวเองมีสุขภาพดีที่สุด เพราะการมีสุขภาพดี หมายถึงเราจะมีพลัง มีแรงมากพอที่จะไปทำงานเพื่อชุมชนเพื่อสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งปลายทางที่ผมอยากเห็นและทำให้เป็นจริงคือการทำให้ชุมชนเข้มแข็งแบบยั่งยืนให้ได้”

  

ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: Life Community Museum Buengkan
อ้างอิง: Facebook: Life Community Museum Buengkan

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles