Soul Talk by Creative Citizen “ส่งต่อพลังครีเอทีฟ สู่การสร้างสรรค์สังคม สร้างความสุขให้หัวใจ” ในงาน Soul Connect Fest 2023

ปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์นับว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกยุคดิจิทัล และขณะเดียวกันทั่วโลกต่างกำลังมุ่งสู่การสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม (Creative Citizen) ได้มองเห็นถึงความสำคัญและพลังของนักสื่อสารสร้างสรรค์ จึงได้จัดพื้นที่ทอล์ก Soul Talk by Creative Citizen “ส่งต่อพลังครีเอทีฟ สู่การสร้างสรรค์สังคม สร้างความสุขให้หัวใจ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Soul Connect Fest 2023 มหกรรมพบเพื่อนใจ จัดโดยภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญามากกว่า 50 องค์กร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.

เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม Creative Citizen หัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดกิจกรรม เล่าถึงการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 11 ปี ว่าเริ่มต้นมาพร้อมวัตถุประสงค์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจผ่านการใช้ศิลปะและนวัตกรรม จนเกิดเป็นเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์

“เป้าหมายของโครงการ Creative Citizen คือการชวนคนสายครีเอทีฟ มาร่วมส่งต่อพลังการทำงานขับเคลื่อนสังคม ด้วยกรอบแนวคิดหลักคือ Inspiration สร้างแรงบันดาลใจผ่านกิจกรรมต่างๆ Education ให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพเขา ทำให้เขาทำงานให้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนสุดท้ายสิ่งที่สำคัญมากๆ Action การลงมือทำ เราอยากจะจัดกิจกรรมและพื้นที่เพื่อให้คนลุกขึ้นมาลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น การทำงานอาสาสมัครหรือการลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคมต่างๆ”

สำหรับทอล์กครั้งนี้ได้ 2 นักสร้างสรรค์ สุทธิดา แจ่มจันทร์ อาสาสมัครของ Creative Citizen ที่มาแชร์ความสุขจากการหันมาทำงานอาสา เพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจ และ ธนากร พรหมยศ ผู้ประกอบการ ยังแฮปปี้ YoungHappy มาร่วมแชร์ประสบการณ์การปรับธุรกิจทั่วไป สู่การเป็น Social Enterprise ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน แถมสร้างความสุขให้ตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งหากใครพลาดฟังสดๆ ในงาน เราได้เก็บแรงบันดาลใจดีๆ มาส่งต่อไว้ให้แล้ว

Creative Volunteer ค้นพบความสุขจากการให้
พลอย-สุทธิดา แจ่มจันทร์ เป็นครีเอทีฟอยู่ที่บริษัทวิจัยการตลาดแห่งหนึ่ง ผลิตผลงานสร้างสรรค์มากมาย ซึ่งในแต่ละวันก็จะได้พบความเครียดของงานประจำ จึงเริ่มต้นมองหาความสุขจากการหันมาทำงานอาสา เพื่อสร้างคุณค่าทางจิตใจ สู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ติ๊กต๊อก @PLOYJAN42 เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจเกี่ยวกับศิลปะ ที่มีคนกดถูกใจกว่า 1.7 ล้าน

“พลอยเริ่มทำงานอาสาครั้งแรกประมาณปี 2017 ของ Creative Citizen เกี่ยวกับการออกแบบสื่อสำหรับผู้ป่วยติดเตียง เป็นงานอาสาเกี่ยวกับงานดีไซน์ ซึ่งตรงกับงานที่ทำอยู่ เลยตัดสินใจลองทำดู ปรากฏว่าทำครั้งแรกผลกลับมาช่วยฮีลใจได้มาก ปีต่อมาก็ไปร่วมอีก เป็นทำการ์ดสุขภาพเพื่อน้อง ตอนนั้นไม่ได้ทำแค่กราฟิกอย่างเดียว ได้ทำงานเขียนด้วย แล้วก็จะมีวิทยากรมาช่วยบอกว่า เด็กๆ ชอบสีประมาณไหน ก็เรียกว่าเป็นความรู้ในการมาทำงานอาสา ที่พลอยหาไม่ได้จากทั่วไป”

จากนั้นพลอยได้ทำงานอาสาอีกหลากหลาย กับ Creative Citizen ทั้งการเพ้นท์กำแพง ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ รวมไปถึง Design for Health 2018 ที่ทาง Creative Citizen ร่วมกับ PlanToys ชวนอาสาสมัคร (Product Designer, Graphic Designer & Child Specialist) ออกแบบของเล่นเพื่อน้องไซต์ก่อสร้าง โดยเป็นงานอาสาที่ได้ผลิตงานไปใช้จริง และได้ร่วมทำงานกับหลายแวดวง ซึ่งทำให้พลอยได้ค้นพบความสุขระหว่างทางการทำงานอาสาสมัครที่ได้ช่วยเหลือผู้คนจริงๆ

“งานอาสา ทำให้พลอยรู้สึกเปิดประสบการณ์ตัวเองมาก ว่างานอาสาก็มีแบบนี้ด้วย แถมยังได้ทำประโยชน์ด้วย และเริ่มคิดอยากทำงานอาสาด้วยตัวเอง ตอนนั้นเห็นข่าวไฟป่าออสเตรเลียกับโพสต์รับบริจาค ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเงินมาก ก็เลยใช้ความสามารถการวาดรูป ทำโปสการ์ดขึ้นมา พร้อมกับชวนเพื่อนศิลปินที่รู้จักมาร่วมด้วย สรุปได้ยอดบริจาคประมาณหมื่นกว่าบาท ก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่เราสามารถทำได้ อันนี้เป็นการจุดประกายไฟในการเริ่มทำงานอาสาเอง

“ถ้าถามว่าก้าวแรกที่ทำงานอาสา กลัวไหม กลัวมาก เพราะว่าไม่มีเพื่อน แล้วก็ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหม แต่พอได้ลองทำจริงๆ มีคำหนึ่ง คือคำว่า แค่นี้เอง ทำไมเราไม่กล้าก้าวออกมาจากตรงนี้ตั้งนานแล้ว เพราะว่าสุดท้ายแล้ว เราก็มีแค่สองมือ ที่เราทำได้เท่านั้นเอง และจริงๆ ก็ได้เพื่อนเยอะมาก และก็มีความสุขมากเวลาเห็นคนที่ได้รับผลงานที่เราตั้งใจทำ แล้วได้ใช้จริง คือทำให้เรารู้เลยว่า งานนี้ได้ไปช่วยเหลือคนอื่นจริงๆ เหมือนยิ่งให้ ยิ่งได้ นี่คือคำพูดที่ไม่เกินจริง”

ปัจจุบันบนโซเชียลมีเดียติ๊กต๊อก @PLOYJAN42 ยังคงส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ด้วยการแชร์ความรู้ ความสามารถด้านการวาดรูป ผ่านคลิปสั้นๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานอาสาที่ทำระหว่างงานประจำ และขณะเดียวกันก็ยังช่วยชุบชูใจให้มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น

“สุดท้ายพลอยอยากแชร์ให้ใครก็ตาม ลองหันมาทำงานอาสาดู เพราะมันช่วยฮีลใจเราได้จริงๆ อย่างล่าสุด มีน้องมาคอมเมนต์ในคลิปที่พลอยทำ ว่าเพราะพี่เลย หนูเลยไปแข่งประกวด ได้ที่สอง พอได้อ่านแล้วรู้สึกฮีลใจมากเลย ก็อยากชวนใครที่ยังไม่เคยทำงานอาสาให้ลองทำสักครั้ง เอาที่ทำแล้วเราสบายใจด้วยนะ หรือจะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองก็ได้ อันนี้ไม่ต้องรอให้ที่ไหนรับสมัคร หรือเจอเพื่อนๆ ให้คำปรึกษาเขา ก็ถือว่าเป็นการเยียวยา ไม่ต่างอะไรกับการเราไปทำอะไรเพื่อกระจายไปหลายๆ คน มันไม่ใช่ที่จำนวนคนรับ มันอยู่ที่เราได้ให้ไปหรือยัง”

SE YoungHappy ธุรกิจทำดีและอยู่ดีได้
Young Happy คอมมูนิตี้ที่จับประเด็นเรื่องผู้สูงอายุ พร้อมกับตอบโจทย์คนสูงวัยให้กลับมาแข็งแรงทั้งกายใจ และแม้คอมมูนิตี้นี้จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่ก็สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปี ก่อตั้งโดย แก๊ป-ธนากร พรหมยศ ซึ่งจุดเริ่มต้นของความสนใจในการทำงานเพื่อสังคมนั้น เกิดจากความฝันตอนเรียนว่าหากวันหนึ่งประสบความสำเร็จจะตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือสังคม และอีกเป้าหมายใหญ่คือการดูแลคุณพ่อคุณแม่ให้สุขสบาย

แต่พอวันที่คุณพ่อเกษียณ ทุกอย่างกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง พ่อเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น จนเกิดความรู้สึกเหงาและเริ่มซึมเศร้า ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน ทำให้เขาคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้ และเริ่มลงมือทำทันที ด้วยการเข้าไปเป็นจิตอาสาสอนผู้สูงวัยให้ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในมือถือที่จำเป็น ตามมูลนิธิต่างๆ ก่อนเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม YoungHappy ขึ้นเพื่อมุ่งสร้างชุมชนที่จะเป็นเพื่อนคลายเหงา พร้อมช่วยเติมคุณค่า เพิ่มพลังใจให้ผู้สูงวัยกลับมามีความสุขอีกครั้ง

“ถ้าถามว่ายังแฮปปี้ทำอะไร จริงๆ เราสนใจ เรื่องปัญหาความเหงา ความว่างในผู้สูงวัย เพราะจากรายงานของ WHO พบสถิติว่าความเหงาอันตรายพอๆ กับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน และก็อยากให้ความสำคัญเรื่องของการเสริมสร้างผู้สูงวัยให้มีความเข้มแข็งของช่วงวัย (Active Aging) ดังนั้นกิจกรรมของเราจึงถูกออกแบบมาสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิต แล้วก็ง่ายๆ เลย ถ้าไม่ป่วยใจ ก็ไม่ป่วยกาย และหากถามว่า วันนี้ผมอยากจะแก่แล้วเป็นอย่างไร ถ้าผมโชคดีก็อยากเป็นคนที่สุขภาพดี และมีประโยชน์ต่อคนอื่น”

นอกจากการสร้างความแฮปปี้ให้ผู้สูงวัย และมุ่งสร้างสังคมแห่งความสุข ระหว่างทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมของธนากร ยังได้ค้นพบความสุขและสร้างรายได้ด้วย แม้ระหว่างทางจะเจอความท้าทายหลายอย่าง แต่หัวใจการบริหารธุรกิจของ Young Happy ที่ยึดมั่นคือเป็นองค์กรที่ทำดีและอยู่ดีได้ ด้วยการหาสมดุลระหว่างรายได้ การสร้างประโยชน์ รวมไปถึงความสุขให้ลงตัว เพื่อที่จะทำให้ยังอยู่ในเส้นทางที่จะเดินต่อไป

“จริงๆ การกระโดดเข้ามาทำธุรกิจ Social Enterprise ที่ทั้งทำดีและอยู่ดีได้ด้วย ผมได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือของ มูฮัมหมัด ยูนูส ที่ก่อตั้งธนาคาร Grameen Bank อ่านแล้วได้เข้าใจว่าในโลกนี้มีธุรกิจที่ทำให้คนทำดี อยู่ดีได้ แล้วสังคมก็ดีด้วย เพราะเมื่อก่อนจะชอบคิดเองว่างานจิตอาสาในบ้านเราอยู่ลำบาก แต่พอศึกษามากขึ้น ก็เห็นหลายโมเดลในต่างประเทศ ที่สามารถทำดีแล้วอยู่ดีได้ แล้วสุดท้ายผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าอยากรู้ ต้องลอง และก้าวแรกสำคัญเสมอ

“เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าการที่เห็นคนนั้นทำแล้วสำเร็จหรือเท่ แต่จริงๆ แล้วข้างหลังเป็นอย่างไร เราก็ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ลองเอง ผมก็ไม่อยากจะบอกว่า หนี้ผมมีเท่าไหร่ แต่เราทำต่อ เพราะอะไร คือคำว่าธุรกิจเพื่อสังคม ผมไม่อยากให้ทุกคนไปยึดติดกับแท็กไลน์ แต่ให้คำนึงถึงเป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไร อันนั้นคือแกน ผมเชื่อว่า ถ้าเราหาเจอว่าอยากทำมันไปทำไม ทำเพราะอยากแก้ปัญหาบางอย่างและอยากทำให้มันยั่งยืนได้ อันนี้อาจจะเป็นคำตอบก็ได้

“สุดท้ายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานเพื่อสังคมหรืองานอาสา ทำให้ผมมีมุมมองต่อผู้สูงอายุเปลี่ยนไป จากการได้ไปสัมผัส เรียนรู้ เหมือนสิ่งที่ทำได้กลับมาสอนตัวเรา…และถ้าถามว่า ยังแฮปปี้ ตอนนี้ความฝันผมคืออะไร ผมอยากทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืน จนถึงวันหนึ่งที่ถ้าโชคดีได้แก่ แล้วผมได้ใช้มัน”

นอกจากประสบการณ์ทำงานเพื่อสังคมจาก 2 นักสร้างสรรค์ เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์สังคม ยังฝากทิ้งท้ายวงทอล์กไว้ว่า อยากเชิญชวนทุกคนได้มีโอกาสลองทำอาสาในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยการยกโมเดล 3T ได้แก่ Time ให้เวลา, Treasure ให้ทรัพย์สิน และ Talent ให้ความสามารถและศักยภาพ ที่ทุกอาชีพสามารถลุกขึ้นมาใช้สกิลในการให้เพื่อสร้างสรรค์สังคมดีๆ ด้วยกันได้

ขอบคุณภาพจาก: Soul Connect Fest 2023

Creative Citizen

Creative Citizen เครือข่ายพลเมืองสร้างสรรค์

See all articles