เปลี่ยนวัสดุ ‘ตามมี-ตามเกิด’ ให้กลายเป็นบ้านสำหรับผู้ประสบภัยในเอกวาดอร์

ปี ค.ศ.2016 อาจเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย แต่เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของผู้คนในวงกว้าง นั่นคือ เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเอกวาดอร์ ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศนี้ แต่ท่ามกลางความสูญเสีย ยังพบความงดงามที่เกิดขึ้นจากความพยายามของเพื่อนมนุษย์ในการช่วยเหลือกัน และหนึ่งในผลงานชิ้นที่เป็นรูปธรรมชิ้นหนึ่ง คือบ้านพักสำหรับผู้ประสบภัยเล็กๆ หลังนี้

แม้ตัวอาคารจะดูธรรมดา แต่ที่มาของอาคารหลังเล็กๆ นี้นั้น ไม่ธรรมดาเลย เริ่มจากหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติไม่นาน ทีมสถาปนิก Natura Futura Arquitectura ก็ได้ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรเพื่อการกุศลอย่าง cronopios-el oro ในการออกแบบอาคารเบื้องต้น จากนั้นจึงประกาศระดมเงินทุน วัสดุก่อสร้าง และอาสาสมัครจากทั่วทั้งประเทศผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อมาสร้างให้อาคารเพื่อผู้ประสบภัยหลังนี้ได้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

วัสดุหลักที่นำมาใช้ในอาคารนี้ จึงเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ท้องที่แบบ ‘ตามมี ตามเกิด’ ทั้งไม้ สังกะสี และ แผ่นไม้พาเลทจำนวนมาก จากวัสดุที่มีอยู่อย่างจำกัด ทีมสถาปนิกได้ใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ในการนำมาจัดวางให้เกิดเป็นบ้านพัก ซึ่งนอกจากจะสามารถสนองต่อประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ ภายในประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และพื้นที่สำหรับทำครัวและนั่งเล่นเล็กๆ โครงอาคารทั้งหมดทำจากไม้ หลังคามุงด้วยแผ่นสังกะสี ผนังอาคารเป็นแผ่นไม้พาเลท ที่นำมาจัดวางอย่างได้จังหวะ ข้อดีของผนังไม้พาเลทคือ ทำให้อากาศธรรมชาติสามารถถ่ายเทได้อย่างทั่วถึง ที่ว่างภายนอกอาคารถูกจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักขนาดเล็ก โดยใช้ยางรถยนต์ที่เหลือใช้

แม้จะเป็นอาคารหลังเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ ของการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มาแปรรูปโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ให้ออกมาเป็นงานที่นอกจากจะมีคุณค่าทางการใช้งานแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานอีกด้วย

อ้างอิง: designboom

Jaksin Noyraiphoom

จักรสิน น้อยไร่ภูมิ หรือ 'อ.แมลงภู่' จบการศึกษา ป.ตรีและ ป.โท ทางด้านสถาปัตย์ และ ป.เอก ด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และอาจารย์พิเศษในอีกหลายสถาบัน (https://www.facebook.com/Archtoshare/)

See all articles