There’s a Monster in My Kitchen: สัตว์ประหลาดในห้องครัวมาบอกความน่ากลัวของเนื้อสัตว์อุตสาหกรรม

แม้ในนิทานหรือเรื่องเล่าก่อนนอนที่พ่อแม่ขับกล่อมเด็กให้หลับฝันดีจะมาจากความหวังที่จะให้เด็กมีอนาคตที่งดงาม แล้วปัจจัยอะไรที่จะส่งเสริมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างรวดเร็วของโลก มันช่างห่างไกลจากความรู้สึกของคนยามที่ต้องอยู่ในบ้านที่ปิดมิดชิด ดูจะปลอดภัยตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมด หากมองอย่างหลวมๆ ก็คงเป็นเช่นนั้น ทว่าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมนั้นสะท้อนผ่านเข้ามาในบ้านอย่างใกล้ชิดแบบที่เราอาจไม่เคยคิดถึง เช่นในหนังอะนิเมชั่นเรื่องนี้ ‘There’s a Monster in My Kitchen’ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าต่อเนื่องจากเรื่องก่อน ‘the Ran-tang’ (อุรังอุตังน้อยในอินโดนีเซีย) บนแก่นแนวคิดเกี่ยวกับการทวงถามหาความสมดุลของธรรมชาติที่หายไปจากการบริโภคและอุตสาหกรรมของมนุษย์ โดยวางโครงเรื่องเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และด้วยบทบรรยายแนวบทกวีหรือนิทานสอนเด็กเพื่อสื่อสารถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

สำหรับ There’s a Monster in My Kitchen นี้ เรื่องเกิดขึ้นในคืนหนึ่งภายในห้องครัวของบ้านหลังหนึ่ง ที่หนุ่มน้อยกำลังค้นหาของกินแล้วพบว่ามีสิ่งปกติเกิดขึ้น ร่องรอยของแขกผู้ไม่ได้รับเชิญปรากฏตัวซึ่งก็คือ Jag-wah เสือจากัวร์จากป่าอเมซอน เป็นความน่ากลัวที่ชวนให้เกิดคำถามว่าทำไมถึงมาอยู่ในครัวของเขาได้ ในตอนเริ่มต้นแม้จะดูเหมือนภัยจากป่ากำลังคุกคามมนุษย์ ทว่าหลังจากมองผ่านนัยน์ตาของ Jag-wah ก็พบคำตอบที่บอกเล่าสาเหตุที่ต้องมาอยู่ในบ้านหลังนี้ยามวิกาล ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วของกินในตู้เย็นอาจจะน่ากลัวกว่า Jag-Wah หลายร้อยเท่า และแล้วจากความหวาดกลัวก็กลายเป็นความเห็นอกเห็นใจนำไปสู่บทสรุปที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร

งานชิ้นนี้เป็นผลงานของบริษัท Mather London ร่วมกับ Catoon Saloon Studio ผู้สร้างหนังอะนิเมชั่นที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสี่ครั้ง และได้นักแสดงชั้นนำจากบลาซิล Wagner Moura ซี่งรับบทเป็น Lord Plabo Escobar ในหนังสุดฮิตเรื่อง Nacros ของ Netflix มาเป็นผู้บรรยาย และได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Meet Free Monday ที่ดำเนินการโดย Pual, Marry และ Stella McCartney ซึ่งมีเป้าหมายต้องการจะสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นของสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ผลิตอาหารให้สัตว์ที่ถูกเลี้ยงในอุตสาหกรรมอาหารให้มนุษย์

ในปี 2020 นี้จากข้อมูลของสถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติประเทศบลาซิล Brazil’s National Institute for Space Research ซึ่งองค์กร Greenpeace UK ได้ทำการวิเคราะห์คำนวณว่า ป่าไม้ในอเมซอนถูกเผาทำลายไปเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วยจำนวนพื้นที่มากมายถึง 226,485 ตารางกิโลเมตร เทียบเท่ากับพื้นที่ทั้งหมดของของประเทศอังกฤษ ไม่ต้องสงสัยว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้าง ทั้งระบบนิเวศ ป่าไม้ ชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าป่าอเมซอนอาจจะสูญสลาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับปอดสำคัญของโลกกำลังจะหายไป ถึงเวลาที่ผู้บริโภคทั้งหลายต้องตระหนักและช่วยกันลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง…ไม่ใช่เพื่อใครอื่นนอกจากตัวเราเอง อนาคตของลูกหลาน และสุขภาพที่ดีขึ้นของโลกใบนี้

อ้างอิง: www.greenpeace.org, www.branding.news

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles