THINKK Studio สตูดิโอช่างคิด กับงานออกแบบที่ใส่ใจทุกคนและนิเวศรอบตัว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เป็นปีที่เราได้รู้จัก เดย์ – เดชา อรรจนานันท์ และ พลอย – พลอยพรรณ ธีรชัย รวมถึงแบรนด์ชื่อ THINKK Studio ของพวกเขา สตูดิโอที่ทำงานออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองตั้งแต่ก้าวแรกที่ทั้งคู่ก้าวลงมาอยู่ยังสนามงานออกแบบบ้านเรา เดย์และพลอยเริ่มสร้างสรรค์ผลงานต้นแบบออกมาเพื่อทดลองตลาดและแสดงตามงานแฟร์ต่างๆ ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ไปจนถึงการส่งผลงานเข้าไปชิมลางในหลายเวทีการประกวดระดับโลก กระทั่งชื่อ THINKK Studio ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในดีไซน์สตูดิโออันดับต้นๆ ที่สามารถสร้างและดำรงมาตรฐานงานออกแบบที่เรียบง่าย แต่มีดีเทลเข้มข้นมากที่สุดแห่งหนึ่งของวงการออกแบบไทย งานของ THINKK ไม่ใช้ผลงานที่ต้องวิ่งตามเทรนด์โลก หรือการใช้รูปลักษณ์มากำหนดสไตล์งานเพื่อสร้างความน่าจดจำ ทว่าในทุกๆ ชิ้นงานเกิดขึ้นจากการย้อนไปมองสิ่งที่มีอยู่ จากนั้นจึงนำมาตีความเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้น แน่นอนว่าต้องแก้ไขปัญหาบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ การใช้งาน หรือการนำไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ๆ โดยมีแนวทางการสื่อสารและรายละเอียดการผลิตที่ผสมผสานคุณลักษณะท้องถิ่นและสากลที่พวกเขาเก็บเกี่ยวและเรียนรู้มาระหว่างทางจนเกิดเป็นนวัตกรรมการออกแบบของตัวเอง 

THINKK Studio ในเวอร์ชั่น 2023 มีเป้าหมายที่เปลี่ยนไปและมาไกลจากวันแรกที่เริ่มต้น ไม่ใช่การออกแบบเพื่อสนองแพชชั่นของพวกเขาเท่านั้น แต่ในวันนี้ ในสมการการออกแบบของเดย์และพลอยมีคน สังคม สิ่งแวดล้อม และการส่งต่อแรงบันดาลให้กับคนรุ่นใหม่อยู่ในนั้นด้วย วันที่ได้เจอทั้งคู่หลังจากห่างหายไปหลายปีดีดัก เราเลยถือโอกาสอัพเดทเรื่องราวจาก Day-1 ของ THINKK สู่ปีที่ 14 กันแบบครบรส ว่าแล้วก็ขอเชิญผู้อ่านไปท่องโลกช่างคิดของ THINKK Studio ด้วยกันผ่านบทสัมภาษณ์ฉบับนี้เลย 

จาก Day-1 ถึงปีที่ 14 ของ THINKK Studio  

พลอย: “จริงๆ เราเริ่มต้นทำ THINKK มาก็ 10 กว่าปีแล้ว เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ตั้งแต่ตอนแรกกับตอนนี้ค่อนข้างจะเปลี่ยนไปเหมือนกัน ตอนเริ่มต้น เราโฟกัสไปกับการออกแบบเพื่อแพชชั่นมากๆ เพราะเราชอบการออกแบบ จะมีความคาดหวังว่าอยากให้ผลงานของพวกเราไปสู่ระดับนานาชาติ ได้ร่วมงานกับแบรนด์ที่เป็นสากล มองว่าการไปสู่เป้าหมายนั้นคือความสำเร็จอย่างหนึ่ง ซึ่งเราค่อยๆ ผ่านแต่ละเป้าหมายมาเรื่อยๆ จนได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่เราเคยคิดตอนเด็ก เคยวาดหวังไว้ กับการทำงานในชีวิตจริงอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะมีความท้าทายและเป้าหมายใหม่ๆ ที่เราอยากลองสัมผัสและไปให้ถึงอยู่ระหว่างทางด้วย 

“งานช่วงแรกๆ เราโฟกัสไปกับงานออกแบบเพื่อไปจัดแสดงที่งานโชว์ในแฟร์ต่างๆ งานดีไซน์วีคตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของโลก พอเราเริ่มโตขึ้น ได้ทำงานกับคนเยอะและหลากหลายขึ้น เช่น การได้ทำงานกับชุมชน กับคนในท้องถิ่น พวกเรารู้สึกว่าการทำงานกับชุมชนก็มีความสนุกและท้าทายไม่น้อยเช่นกัน เป็นการทำงานที่เราต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนซึ่งกัน เขาสามารถทำงานให้เราได้ เรานำไปขายได้ รายได้ที่เกิดขึ้นก็จะกระจายหมุนเวียนไปที่ชาวบ้านด้วย หรืองานที่ทำเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม งานเหล่านี้ทำให้เราเริ่มคิดมากขึ้นว่า ในฐานะนักออกแบบ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง”

เดย์: “ตอนที่เริ่ม คงเป็นเหมือนการเรียนรู้แบบที่ว่า เราทำอะไรบางอย่างได้นะ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกไปกับการสำรวจแง่มุมต่างๆ ที่ยังไม่เคยทำ จนพบกับความสำเร็จ ความท้าทาย เกิดโจทย์ และเป้าหมายใหม่ขึ้นตลอดเวลา ทั้งงานประกวด ได้รางวัล สื่อยอมรับ เป็นที่รู้จักของสาธารณชน ค่อยๆ เติบโตขึ้น ถามว่าเปลี่ยนมาเป็นประมาณไหน ผมว่าตอนนี้ถึงจุดที่เราเริ่มมองถึงคนอื่นๆ มากขึ้น เช่น อยากทำอะไรให้กับคนอื่น สิ่งอื่น อยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้น้องๆ แนะนำ ให้ความรู้ และเริ่มมองในแง่มุมที่อยากสร้างประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนมากขึ้น งานของเราในทุกวันนี้เลยไม่ได้โฟกัสเพียวๆ ไปที่ความสนุกในการออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มมองผลกระทบในแง่อื่นๆ หรือดีไซน์ที่ดีควรจะหยุดที่ตรงไหน ประมาณไหน คนอื่นได้อะไรบ้าง ไม่ได้จบที่ความมันของการออกแบบเหมือนตอนเด็กๆ อีกแล้ว” 

City Materials, Bangkok Design Week 2019

 

เมื่อ คน/ชุมชน/สิ่งแวดล้อม คือ ตัวแปรต้นในสมการการออกแบบ 

เดย์: “เราเริ่มเข้ามาสนใจและคลุกคลีเรื่องสิ่งแวดล้อมประมาณปี 2019 ตอนนั้นเป็นงาน Bangkok Design Week ที่เราเริ่มเห็นปัญหาของการเป็นนักออกแบบอย่างหนึ่ง นั่นคือการที่เราเลือกหยิบใช้วัสดุที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองใหญ่ของการใช้ทรัพยากรโลกมากมาย เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ แล้ว นักออกแบบสามารถมีส่วนร่วมกับการออกแบบหรือกระบวนการที่ทำให้วัสดุที่เป็นเศษเหลือทิ้งถูกดึงกลับมาใช้ในระบบได้นะ จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ที่ชื่อ ‘City Materials’ ขึ้นมาในปี 2019 ที่เรานำวัสดุซึ่งเป็นขยะทางเลือกของกรุงเทพฯ ทั้งหมด 6 ประเภทมาทดลอง จากนั้นก็เริ่มประกาศเรียกคนเข้ามาช่วย มาทำเวิร์กช็อปร่วมกัน จนเกิดเป็นนิทรรศการดังกล่าวที่เรานำแต่ละวัสดุที่มีความเป็นไปได้หลากหลายมาจัดแสดง ซึ่งเราชอบและภูมิใจกับโปรเจ็กต์นี้มาก

พลอย: “ก่อนหน้าเราโฟกัสไปที่ดีไซน์ที่ต่างประเทศ ในระยะหลังๆ เรามาสนใจกับงาน Bangkok Design Week มากขึ้น แต่ละปีเราจะมาคิดกันว่าอยากให้มีมูฟเม้นท์อะไรเกิดขึ้น อยากทำอะไร อย่างโปรเจ็กต์ที่เดย์เล่าก็จากประสบการณ์ของพวกเราที่เริ่มเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก และอยากนำประเด็นนี้มานำเสนอแนวคิดเพื่อส่งสารให้กับสังคม งานนี้น่าจะเป็นงานแรกที่เราโฟกัสกับเรื่องการนำเศษวัสดุมาใช้อย่างจริงๆ จังๆ ซึ่งไม่ใช่งานดีไซน์เพียวๆ อย่างเดียว แต่เป็นงานดีไซน์เพื่อที่จะชี้นำว่าสังคมหรือผู้คนน่าจะทำอะไรกับเรื่องขยะ ทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้บ้าง และการออกแบบก็สามารถมีส่วนในการช่วยสังคมได้เหมือนกัน”

DEWA/DEWI 2021

‘DEWA/DEWI’ หรือ DEsign from Waste of Agriculture and Industry (กิจกรรมพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล) คือโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อนำการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือใช้ที่ไร้ค่าและอาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์เป็นผลงานออกแบบที่มีความโดดเด่น ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ DITP ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักวิจัย โดยมี THINKK Studio เข้ามารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบให้กับผู้ประกอบการในปี 2021 และล่าสุดในปี 2023 นี้ด้วย 

เดย์: “แนวทางที่เราใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการทั้ง 15 ราย ในงาน DEWA/DEWI จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเศษวัสดุ ทักษะ เครื่องมือ เครื่องจักร บุคลากร ขนาดองค์กร ไปจนถึงเรื่องตลาด กลุ่มลูกค้า การสื่อสาร การบริการ โดยพวกเราจะประเมินข้อมูลจากพื้นฐานดั้งเดิมที่ผู้เข้าร่วมโครงการมี แล้วนำมาประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อนำเสนอและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ในทุกๆ มิติของผู้ประกอบการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”

DEWA/DEWI 2021

 

พลอย: “ผู้เข้าร่วมมีทั้งชุมชน โรงงาน ที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งจากอุตสาหกรรมและการเกษตร หน้าที่ของเราคือการเป็นที่ปรึกษาและช่วยออกแบบให้กับผู้ประกอบการ ไปวิเคราะห์แต่ละผู้ประกอบการว่าเขามีเศษวัสดุอะไร ตลาดของเขาคือใคร เพราะฉะนั้น เศษวัสดุจะต้องถูกแปลงไปเป็นอะไรได้บ้างที่สามารถส่งต่อไปยังตลาดเขาได้ง่าย การทำงานในโครงการนี้ เรายังเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เข้ามาให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมด้วย อย่างเช่น เรื่องการขอสิทธิบัตรหรือเรื่องของนักวิจัยต่างๆ ที่มีประสบการณ์กับการทำงานกับเศษวัสดุว่าเราควรทำงานอย่างไร หรือแม้กระทั่งเรื่องการตลาดอย่างที่เดย์บอก เพราะผู้ประกอบการบางราย โรงงานเขาหรือธุรกิจของเขาเป็นธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น เราจึงต้องให้เขาเห็นภาพว่าเขาจะทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยก้าวเข้าไปแบบอยากที่จะเข้าไปขาย ก็จะได้รับความรู้ตรงนี้ว่าจะนำไปขายในตลาดแบบไหนและควรขายอย่างไร”

เดย์: “สิ่งที่เราได้รับจากการทำโครงการ คือการได้รู้ว่าบ้านเรามีความน่าสนใจในแง่ของวัสดุค่อนข้างเยอะ มีความได้เปรียบหลายๆ ประเทศในแง่ต้นทุนทางวัสดุจากขยะเพราะมีทั้งขยะจากทางการเกษตรที่ปริมาณเยอะ รวมถึงจากอุตสาหกรรมอย่างไม้ เหล็ก เศษวัสดุจากโรงงานด้วย ในขณะที่หลายๆ ประเทศไม่มี รวมทั้งเรามีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่มีวัสดุเหล่านี้อยู่ในมือก็ไม่น้อยเหมือนกัน เพียงแต่เรายังขาดการร่วมมือกันระหว่างคนที่เป็นเจ้าของเศษวัสดุและนักวิจัยที่จะมาพัฒนาร่วมกันให้กลายเป็นผลลัพธ์ที่มีคุณภาพเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งหน่วยงานต่างๆ ก็ยังต่างคนต่างทำ ค่าใช้จ่ายของแต่ละคนก็สูงมากด้วย เรามองว่านี่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดจริง ถือว่าเป็นงานที่เปิดประสบการณ์และได้รับความรู้มากขึ้นเยอะเลยครับ”

DEWA/DEWI 2023

ผลจากการคิดถึงทุกคนในห่วงโซ่สังคม

เดย์: “พอเราทำงานที่ไม่ใช่ตอบสนองแค่แพชชั่นตัวเอง แต่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งที่ได้อย่างแรกคงเป็นเรื่องของความรู้สึกดีที่ได้ช่วยคิด แก้ปัญหา หรือหยิบสิ่งที่มีปัญหาอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยน มาทำให้กลายเป็นประโยชน์แทนที่จะเป็นปัญหาทับถมไปเรื่อยๆ แต่ถึงตอนนี้ผมยังรู้สึกว่าตัวเรายังช่วยได้ไม่เยอะมากเท่าไหร่ในบทบาทของนักออกแบบ เลยอยากช่วยมากขึ้นด้วยการกระจายความรู้ต่อ อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกดีมากๆ คือเราสามารถทำให้ขยะหรือของเหลือจากกระบวนการผลิตสร้างมูลค่าได้ และได้เยอะเลย อย่างวัสดุชื่อ Crab Terrazzo ที่เราพัฒนากันเองในบ้านของ THINKK Studio ซึ่งเป็นการนำกระดองปูเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศมาพัฒนาต่อ จนแบรนด์แฟชั่นจากสวีเดนอย่าง COS สนใจและชวนมาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเป็นโต๊ะกาแฟให้กับพวกเขา และถูกนำไปใช้ในการตกแต่งร้านสาขา 4 ของ COS ในกรุงเทพฯ พอเราก้าวไปถึงจุดนั้น แบบ ‘เราทำได้แล้วนะ’ ก็รู้สึกว่าดีมากๆ เลยครับ”

พลอย: “พลอยรู้สึกดีที่ได้รู้จักผู้ประกอบการและชุมชนที่มีความตั้งใจที่ดีในการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาคิดมากขึ้น เรียกว่านำมาคิดในกระบวนการผลิตสินค้าของเขาเลย เช่น การนำเศษวัสดุต่างๆ กลับมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตสินค้าอะไรที่สามารถนำไปพูดต่อได้ หรือจริงๆ แล้ว กระบวนการการผลิตของเขาสามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือในฟากฝั่งของผู้บริโภคเองที่เริ่มตระหนักมากขึ้น เริ่มพลิกดูว่าสิ่งที่เขาจะซื้อรีไซเคิลได้ไหม จะจัดการเรื่องการทิ้งอย่างไร ถ้าจะนำกลับไปใช้ใหม่ จะใช้อย่างไรอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แต่เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักและปลูกจิตสำนึกให้กับทั้งผู้ผลิตเองและผู้ใช้งานรู้สึกสนใจตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม สินค้าใหม่ที่เกิดจากสิ่งของรีไซเคิลถูกเพิ่มมูลค่า คนเห็นคุณค่า เต็มใจที่จะจ่ายเพื่อซื้อสินค้านั้นอย่างรู้คุณค่าและใช้มันอย่างดี เราเองในฐานะของนักออกแบบก็รู้สึกดีที่งานดีไซน์เข้ามาช่วยตรงนี้ได้ (ยิ้ม)

“นอกจากในเรื่องสิ่งแวดล้อม พวกเรายังมีโอกาสได้ทำงานกับชุมชนด้วย ซึ่งให้อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตการเป็นนักออกแบบ ตั้งแต่ช่วงที่พวกเรากลับมาจากเรียนต่อต่างประเทศใหม่ๆ ที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ สศท. (สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย องค์การมหาชน) ในการเป็นหนึ่งในทีมดีไซเนอร์ที่ร่วมลงพื้นที่เพื่อช่วยพัฒนาสินค้า การทำงานเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่ดีเพราะเวลาเราเรียนออกแบบล้วนๆ เราจะทำงานกับวัสดุที่คุ้นเคย เช่น ไม้หรือเหล็ก แต่พอไปทำงานร่วมกับชุมชนที่ใช้วัสดุท้องถิ่น ทำให้เราเจอวัสดุและเทคนิคต่างๆ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่เยอะมาก ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น ได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตัวเองโดยมีงานออกแบบเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อน” 

 ถ้า

จะดี ก็อยากให้ดีแบบรอบด้าน

เดย์: “จนถึงตอนนี้ นิยามของการออกแบบที่ดีสำหรับผม อย่างน้อยๆ จะต้องมีคุณสมบัติที่เบสิกสุดคือเมื่อทำออกมาแล้วทำให้คนรู้สึกมีความสุขที่จะใช้ หลังจากนั้นคือการดีไซน์ฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ ช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ สิ่งที่เราคิดก็เริ่มจากต้นทาง เช่นว่า การออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือในโรงงานให้สามารถทำงานได้แตกต่างหรือดีขึ้น เพื่อให้ผลที่ตามมาคือเมื่อขยับออกจากโรงงานไปสู่ผู้บริโภคที่ซื้อไปว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ถัดไปจากนั้นคือผลิตภัณฑ์ไปช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปมีผลกระทบทางบวกกับคนและสังคม หรืออาจเลยไปถึงว่า งานชิ้นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคได้มีส่วนสนับสนุนชุมชนด้วย หรือดีไปกว่านั้นอีกคือเราแก้ปัญหาสังคมหรือชุมชนได้ด้วย เช่น การสร้างงาน สร้างอาชีพ” 

พลอย: “สิ่งที่พลอยคิดเสมอคือเราอยากออกแบบข้าวของเครื่องใช้หรือพื้นที่ที่ทำให้คนรู้สึกอยากได้ อยากใช้งาน และอยากเก็บไว้กับตัวนานๆ เป็นของที่เขาจะภูมิใจที่เลือกซื้อสิ่งของชิ้นนี้มา เขาใช้งานแล้วชีวิตเขาสะดวกมากขึ้น นั่งสบายมากขึ้น มีความสุขที่ได้ใช้มัน อย่างที่เดย์พูดถึง แน่นอนว่ามันสวยแน่ๆ มุมอื่นๆ อีกคือมันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนะ หรือเป็นของที่ช่วยชุมชน ส่งต่อคุณค่าของวัฒนธรรมได้นะ มีเรื่องราวเล่าถึงแรงบันดาลใจหรือที่มาของงานชิ้นนี้มาจากอะไร มีเรื่องราวที่ทัชใจคน จริงๆ ความสุขของการเป็นนักออกแบบง่ายมากเลยนะคะ แค่เวลาทำของสักชิ้นหรือออกแบบสเปซสักแห่ง แล้วคนใช้ของหรืออยู่ในพื้นที่นั้นแล้วพวกเขามีความสุข รู้สึกได้สิ่งที่เขาต้องการจากของหรือสเปซนั้นๆ นั่นแหละคือการประสบความสำเร็จสำหรับพลอยแล้ว”

ส่งไม้ต่อ 

พลอย: “THINKK ตอนนี้เป็นเหมือนธุรกิจที่จับคู่มาตรงกันพอดีในทุกด้าน เพราะเรายังสามารถทำงานที่เราชอบ เลี้ยงตัวเองได้ ได้ทำงานที่ดีกับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อก่อนเรามองว่าเป้าหมายของเราคือการได้ออกแบบให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างที่บอก ซึ่งเรามีโอกาสได้ทำถึงจุดนั้นแล้ว ในอนาคตเราอยากรักษามาตรฐานการทำงานของเราที่มีอยู่แบบนี้และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ก็อยากทำงานที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เป็นงานที่ทำให้พื้นที่ตรงนั้น ชุมชนนั้น สิ่งสิ่งนั้นดีมากขึ้น น่าจะเป็นทิศทางของ THINKK Studio ในอนาคตค่ะ” 

เดย์: “ที่ THINKK เราจะมีขาหนึ่งของออฟฟิศที่ไม่ทำเงินตลอดเวลา เราจะเจียดเงินจากการทำงานหลักมาทดลองทำต้นแบบเอง ไปแสดงงานเอง มันเป็นเหมือนแพชชั่นของเรา พอถึงวันหนึ่งแพชชั่นตรงนี้ดันกลับมาสร้างรายได้ให้เราเฉยเลย ทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานที่เป็นตัวตนเรามากขึ้น โดยยังรันธุรกิจไปได้ มีน้องๆ อยากมาทำงานกับเราเพราะเห็นผลงานของเรา ไม่ใช่แค่มาแล้วจากไป

“เวลานี้ นอกจากการทำงานโดยรักษามาตรฐานที่ดีและพัฒนาไปให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ผมและพลอยยังสนใจเรื่องการให้ความรู้ด้วย เราคิดมาสักพักแล้วว่าอยากมีคอร์สช่วงสุดสัปดาห์หรือซัมเมอร์คอร์สให้เด็กๆ สามารถเข้ามาฝึกหรือสร้างพอร์ตในสิ่งที่ THINKK ทำและถนัด เราอยากถ่ายทอดสิ่งที่เรามี ทั้งความรู้ ประสบการณ์ เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ ที่อยากทำงาน และอยากทำงานออกแบบที่ดีเยอะๆ ในวงการ อยากให้วงการออกแบบของไทยมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น และอยากให้งานออกแบบสร้างสิ่งที่ดีและความสุขให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ กับสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย นี่ก็เป็นอะไรที่เราอยากทำให้ได้ในอนาคตครับ (ยิ้ม)”

 

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
เพิ่มเติม: thinkkstudio.com 

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles