‘ตุลย์ ปิ่นแก้ว’ เริ่มต้นการทำงานในสถานะนักข่าวสายสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองให้กับ Bangkok Post และ Reuters ประเทศไทยด้วยความเชื่อที่ว่า ‘นักข่าวเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้’ แต่เมื่อการเขียนข่าวยังไม่สามารถเข้าถึงและถ่ายทอดความต้องการและปัญหาของคน ตลอดจนสังคมได้อย่างแท้จริง การเดินของเขากับเส้นทางสายใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น เรามีโอกาสได้พูดคุยกับตุลย์แบบตัวต่อตัวถึงชีวิตของเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทย เว็บไซต์เพื่อการรณรงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และล่าสุดกับหน้าที่ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ในองค์กรเพื่อสังคมใหม่แกะกล่องที่เขาเพิ่งก่อตั้งอย่าง SIDEKICK แห่งนี้ด้วย
Q: เรารู้จักตุลย์ในฐานะของผู้อำนวยการ change.org ก่อนหน้านั้นตุลย์เรียนจบอะไรและทำอะไรมาก่อน?
A: ผมเรียนจบมาทางด้านรัฐศาสตร์กับวรรณคดีภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือสนใจทั้งด้านงานเขียนและการเมือง ด้วยความที่ผมได้รับอิทธิพลจากคุณแม่มาเยอะพอสมควร คือแม่ผมเป็นนักเขียนและจะบอกเราตลอดว่าการเป็นนักข่าวสามารถช่วยคนได้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้นะ ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ก็เลยมุ่งที่จะเป็นนักข่าวจนสอบได้ที่ Bangkok Post ตอนนั้นก็โฟกัสไปที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ข่าวสิ่งแวดล้อมคือชอบที่สุด แล้วก็มาทำข่าวการเมืองช่วงหลังๆ จนขยับมาเป็นนักข่าวอยู่ Reuters ดูข่าวการเมืองของประเทศไทย
Q: อะไรคือจุดเปลี่ยนให้ผันตัวเองมาทำงานเพื่อสังคม?
A: พอเริ่มเป็นนักข่าว ก็เริ่มสนใจเรื่องราวของคน คนตัวเล็กๆ ในสังคมเนี่ยแหละ รวมถึงปัญหาของเขา ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปมันเป็นแค่มุมมองหนึ่งเท่านั้น ผมเลยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่มันสะท้อนถึงความต้องการของคนและปัญหาได้จริงหรือเปล่า จนวันหนึ่งก็รู้สึกว่าการเขียนข่าวยังไม่สามารถอธิบายถึงความต้องการของคนเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง ก็ตัดสินใจย้ายจากการเป็นนักข่าวมาทำงาน NGO ให้กับองค์กร NGO ระหว่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นช่วงปี 2005-2006 โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้ว ผมก็เริ่มนำเรื่องสื่อออนไลน์มาประยุกต์ใช้กับเรื่องของงานเขียนและการรณรงค์มากขึ้น เอาสื่อออนไลน์ไปช่วยให้ชาวบ้านสามารถสื่อสารปัญหาของตัวเองได้ ให้สามารถเข้าถึงคนเมืองหรือคนชั้นกลางได้ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันมากขึ้น พอผมเริ่มเชี่ยวชาญการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ก็มีโอกาสได้ดูแลโปรเจ็กต์การใช้สื่อออนไลน์ในระดับเอเชีย จนในที่สุดก็ได้ไปทำงานที่อังกฤษดูเรื่องของโซเชียลมีเดียของทั้งองค์กรสำหรับทำงานในเชิงการรณรงค์ต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมด้วย เช่น ทำอย่างไรถึงจะรวมพลังของคน ผลักดันพลังงานของคนให้ได้มากที่สุดด้วยการใช้สื่อออนไลน์ โดยนำมาผสมกับการรณรงค์แบบเดิม งานตรงนั้นทำให้เราเกิดความเข้าใจสูงสุดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้ต้องเกิดจากคนตัวเล็กๆ เกิดจากการที่คนธรรมดามารวมตัวกันแล้วก็สร้างความเปลี่ยนแปลง ในช่วงนั้น Change.org กำลังเปิดรับคนที่จะขยายงานตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก็เลยสมัครเข้าไปเพื่อที่จะนำมาเปิดในประเทศไทย ซึ่งงานตรงนี้ถือว่าเป็นจุดรวมความรู้สึกของเราทั้งหมดแล้ว
Q: แล้ว Change.org ช่วยอะไรในสังคมบ้าง?
A: แนวคิดและการทำงานของ Change.org จะเป็นการผลักดันให้เกิดการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ผ่านคนธรรมดา โดยที่ทีมงานจะเข้าไปช่วยประชาชนไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด การวางแผน รวมถึงช่วยองค์กรต่างๆ ในการทำให้เรื่องที่เขาอยากจะรณรงค์สามารถเข้าถึงประชาชนมากขึ้น งานตรงนี้ทำให้เรามีโอกาสได้ใช้ความคิดทั้งหมดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการทำงานในเรื่องการใช้สื่ออะไรต่อมิอะไรมาช่วยให้คนธรรมดาสามารถสร้างแคมเปญด้วยตัวเองได้ จากที่ Change.org มีไม่กี่พันคนจนล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วคือมีผู้ใช้ล้านสองล้านสามคน และมีแคมเปญใหม่ๆ เกิดขึ้นกว่า 30-40 เรื่องทุกเดือน
Q: หน้าที่ของตุลย์ที่ Change.org คืออะไร มีระบบการทำงาน การวัดผลความสำเร็จ รวมไปถึงการต่อยอดจากแคมเปญต่างๆ อย่างไร?
A: หน้าที่ผมก็ทำทุกอย่างเลยครับ (หัวเราะ) เพราะทีมค่อนข้างเล็ก มีแค่ 2-3 คน เราก็ต้องทำตั้งแต่การกำหนดทิศทางนโยบายของตัว Change.org ไปจนถึงการเข้าไปช่วยแคมเปญต่างๆ ทางทีมงานก็จะเข้าไปช่วยดูว่าเรื่องรณรงค์ของเขาเป็นอย่างไร ต้องปรับอย่างไร ต้องเขียนเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ทุกอย่างจะเริ่มที่ออนไลน์ นั่นคือการนำพลังของคนที่อยู่ออนไลน์มาอยู่ในโลกจริงได้อย่างไรเพื่อทำให้ผู้ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายหรือว่าผู้ที่มีอำนาจเห็นถึงพลังนั้นจริงๆ เราจึงต้องดึงพลังจากออนไลน์ลงมาสู่ออฟไลน์ให้ได้ต่างๆ ซึ่งความสำเร็จที่วัดผลได้ชัดเจนก็คือมีการเปลี่ยนนโยบายตามข้อเรียกร้อง
Q: โปรเจ็กต์สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เราคาดไม่ถึงมีบ้างไหม?
A: น่าจะเป็นการรณรงค์เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องแรกที่คนเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างคนในเมืองและคนต่างจังหวัด เพราะว่าเรื่องก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในเมือง เช่น เรื่องจักรยาน ฝาท่อ ทางเท้า บันไดเลื่อนรถไฟฟ้า แต่เรื่องโรงเรียนเล็กเป็นการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายที่จะปิดโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เป็นการรณรงค์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ 5 วัน สามารถระดมชื่อได้ 20,000 ชื่อ มันเป็นประเด็นชนบทที่สะกิดใจคนเมือง มันเป็นเรื่องของความรู้สึก เรื่องของการศึกษา เรื่องของเด็ก มีคนลงชื่อเยอะมาก เป็นข่าวหน้า 1 ทุกวัน ท้ายที่สุดคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ให้ทางกลุ่มผู้รณรงค์ที่เป็นอาจารย์โรงเรียนชนบทเข้าพบ แล้วก็ยกเลิกนโยบายที่จะยุบโรงเรียนไป จากแนวคิดที่จะยุบกลายไปเป็นการพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทางของโรงเรียนขนาดเล็กแทน แคมเปญนี้เป็นเรื่องแรกที่เชื่อมระหว่างเมืองกับชนบท และทำให้คนเห็นถึงพลังของสื่อออนไลน์ว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้ ไม่ใช่ในระดับเมืองอย่างเดียว
ผมเองจะมองเรื่องขนาดกลางเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องใหญ่ๆ นะครับ เพราะมันเป็นจุดที่ทำให้คนเข้ามาหาเรื่องของประเด็นการเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องการรณรงค์ให้ ขสมก. จัดซื้อรถเมล์พื้นต่ำเพื่อให้คนพิการสามารถเข็นรถขึ้นได้ เรื่องที่ตำรวจจัดตั้งศูนย์เด็กหายหลังจากเกิดคดีของน้องการ์ตูน ซึ่งเป็นการรณรงค์ของมูลนิธิกระจกเงาร่วมกับประชาชน จริงๆ การณรงค์เรื่องนี้มูลนิธิกระจกเงารณรงค์ทำมา 3 ปี แล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมสักที พอเกิดเรื่อง ก็เลยแนะนำให้ทำเป็นแคมเปญออนไลน์เพื่อที่จะดึงความสนใจของประชาชน ตอนนั้นมีคนลงชื่อเยอะมาก เกิดการแชร์ การทำอินโฟกราฟิกเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง และท้ายที่สุดตำรวจก็จัดตั้งศูนย์คนหายในทุก สน. ทั่วประเทศ ผมคิดว่าแคมเปญขนาดกลางเหล่านี้ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าฉันเองก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ ทุกคนมีโอกาสที่จะสร้างอะไรที่ดีๆ ในสังคมได้ ซึ่งมันสามารถต่อยอดไปสู่แคมเปญใหญ่ๆ ระดับเขื่อนแม่วงก์ที่มีเป็นแสนๆ คนได้
Q: เพราะอะไรถึงออกจาก Change.org แล้วมาก่อตั้ง SIDEKICK?
A: ประสบการณ์ที่ Change.org เป็นส่วนสำคัญในชีวิตผมมากเลยนะครับ เพราะทำให้เรารู้วิธีที่จะช่วยคิด ช่วยวางแผน เพื่อให้เคมเปญต่างๆ เข้าถึงสังคมได้มากขึ้น มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ทีนี้เรามานั่งคิดต่อไปอีกว่า ถ้าเราทำได้มากกว่านั้นล่ะ มันจะดีแค่ไหน ผมเลยตัดสินใจออกจาก Change.org แล้วมาก่อตั้ง SIDEKICK โดยมุ่งไปที่การสร้างให้คนเป็นนักรณรงค์ เพราะว่าแคมเปญของ Change.org เราสามารถเปิดตัวนักรณรงค์หน้าใหม่ขึ้นมาได้เยอะ ขณะที่ SIDEKICK เราสามารถฝึกอบรม สอนให้คนใช้เครื่องมือเองได้ สามารถให้คนรถรณรงค์ด้วยตัวเองได้ แล้วก็สร้างคนที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมเยอะและเร็วขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน SIDEKICK เองก็จะทำงานรณรงค์ขององค์กรใหญ่ๆ ให้มองเห็นถึงคนตัวเล็กๆ มากขึ้น เช่น ปรับให้การณรงค์ขององค์กรที่บางทีอาจจะมองเรื่องของภาพใหญ่ แต่ว่ายังขาดเรื่องของการรณรงค์ที่จะดึงประชาชนธรรมดาเข้าไปร่วม ให้พวกเขามองเห็นความสำคัญของพลังคนเล็กๆ เหล่านี้ เป็นต้น
Q: อยากให้เล่าถึงวิธีการทำงานและโครงการที่ SIDEKICK ดูแลอยู่?
A: ตอนนี้ก็ถูพื้นครับ (หัวเราะ) ตอนนี้มีอยู่ 3-4 โปรเจ็กต์แล้ว คือแนวคิด อย่างที่เล่าให้ฟังก็มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเราสนใจมากกับการที่จะทำให้แคมเปญขององค์กรใหญ่ๆ เข้าถึงประชาชนมากขึ้น สนุก เข้าใจง่าย เป็นเรื่องรณรงค์ที่ประชาชนทั่วไปที่อาจจะไม่ใช่ activist ฟังแล้วรู้สึกว่าตัวเองก็สามารถเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงได้ แคมเปญที่เรากำลังทำอยู่จะเป็นโครงการเรื่องหมวกกันน็อคเด็ก ซึ่ง 2 องค์กรที่เราร่วมงานด้วยเขามุ่งเป้าชัดเจนเลยก็คือ การรณรงค์ให้โรงเรียนปรับหมวกกันน็อคให้เป็นหนึ่งในเครื่องแบบนักเรียน มีการดึง Change Fusion เข้ามาร่วมในการออกแบบหมวก มีการดึงภาคประชาชนและกลุ่มโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สนใจเรื่องของการออกแบบ เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เข้ามาร่วมกันคิดแคมเปญให้มันเข้าถึงคนมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เรามีการปรับเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น ทำให้คนมาร่วมมากขึ้น ทำให้สนุก และมีส่วนความคิดของภาคประชาชนเข้าไปรวมอยู่ในความคิดของการรณรงค์ด้วย
ส่วนที่สองคือการฝึกอบรม เราต้องการฝึกให้คนใช้เครื่องมือเก่งขึ้น และหาวิธีที่จะทำให้คนสามารถเป็นนักรณรงค์ได้เอง ใช้เครื่องมือในการรณรงค์ได้เอง สร้างแคมเปญเองได้ สามารถที่จะรวมพลัง ใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นมากขึ้น
Q: สำหรับคนที่ทำงานด้านสังคม ก็มักจะมีคำถามเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างใน SIDEKICK มีวิธีการจัดการอย่างไรเพื่อให้องค์กรดำเนินไปได้?
A: เนื่องจาก SIDEKICK เป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นลูกค้าของเราจะเป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคม มีประเด็นทางสังคมโดยเฉพาะ ส่วนเรื่องของรายได้ คือเรามองตัวเองเป็นครีเอทีฟเอเจนซี่ เหมือนเอเจนซี่โฆษณา แต่ว่าเราเอาทักษะความรู้ความสามารถของเราของคนในทีมของเราที่มีทั้งคนทำกราฟิก มีทั้งเรื่องของการสร้างกลุ่มประชาชนให้เป็นนักรณรงค์มารวมตัวกัน เรามองเรื่องของการเอาความสามารถของคนเหล่านี้มาเพื่อช่วยในการสร้างแคมเปญให้กับองค์กรที่ NGO เข้าถึงคนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรามองงานส่วนนี้เป็นเซอร์วิส เป็นรายได้หลักของเรา และเมื่อเราทำตรงนี้ได้แล้ว เราก็มีรายได้มากพอที่จะนำมาทำงานที่เป็น non-profit ที่ไม่ต้องเสียตังค์มาให้กับองค์กรขนาดเล็กลงมาหรือให้กับประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเข้ามาฝึกอบรมฟรีได้
Q: แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบไหน สิ่งที่ทุกคนต้องเจอเลยก็คือ ปัญหา ยิ่งการทำงานกับคน กับสังคมด้วยแล้ว น่าจะมีอุปสรรคไม่น้อย สิ่งที่ตุลย์ต้องเผชิญเป็นอย่างไรและแก้ไขมันอย่างไร?
A: ขอเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังแล้วกันนะครับ คือเรามีโอกาสได้ทำงานใหญ่ๆ ที่คุมแคมเปญ ‘การหยุดการตายของเด็กต่ำกว่าวัย 5 ขวบ’ ที่ต้องดู 19 ประเทศ แล้วต้องไปที่นิวยอร์ก ต้องประสานงานเยอะมากเพื่อทำให้คนอยู่ในทิศทางเดียวกัน ทำให้การรณรงค์เป็นภาพเดียวกัน แล้วก็มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมกัน อุปสรรคสำหรับผมก็คือจะทำอย่างไรให้งานออกมาน่าตื่นเต้น สนุก ในขณะเดียวกันก็ตรงกับความต้องการขององค์กรด้วย รวมทั้งจะทำอย่างไรให้ปัญหาของคนถูกสะท้อนออกมาได้อย่างแท้จริง ผมคิดว่านี่คืออุปสรรคแบบหนึ่งที่เจอมา พอมาทำ Change.org อุปสรรคจะเป็นเรื่องที่ว่า ใครจะทำแคมเปญอะไรก็ได้ จากที่เราเคยอยู่เบื้องหน้า ไปช่วยวางกลยุทธ์ต่างๆ เป็นคนรันแคมเปญเองภายใต้องค์กรมาสู่บทบาทการเป็นเบื้องหลัง ช่วยวางแผน ช่วยคิด ช่วยสอน ช่วยฝึก เพราะฉะนั้นตัวเราเองจะไม่ได้อยู่ด้านหน้าเลย สิ่งที่เจอก็เช่นแคมเปญนี้เขาไม่อยากทำแล้ว หรือว่าประเด็นน่าสนใจแต่คนเขียนได้ไม่น่าสนใจ เราจะทำอย่างไรให้ดึงความสนใจได้ หรือว่ามีเรื่องเยอะมากมาย เราจะช่วยเรื่องไหนดี บางเรื่องเป็นปัญหาใหญ่ เช่น แคมเปญมักกะสันที่รณรงค์ให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นสวนสาธารณะ แล้วเจ้าของเรื่องก็รู้สึกว่าเกรงผู้มีอำนาจหรือคนกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ เราก็ต้องหาวิธีว่าจะช่วยเขาอย่างไรให้ผ่านจุดเหล่านั้นไปได้ จะทำให้แต่ละเรื่องผ่านไปสู่เส้นชัยได้อย่างไรบ้าง
Q: หลังจากที่ทำงานเพื่อสังคมมาพักใหญ่ๆ ตุลย์ได้อะไรจากการทำงานตรงนี้บ้าง?
A: จริงๆ ค่อยๆ เปลี่ยนมาเรื่อยๆ นะครับ จากตอนเป็นนักข่าว ผมมองอะไรแบบมองจากข้างบน แล้วก็เขียนในมุมที่คิดว่ามองผ่านๆ เพราะว่าเป็นการมองในเชิงนโยบาย บางทีอาจจะมีสะท้อนปัญหาของชาวบ้านขึ้นมาบ้าง แต่พอได้มาลงทำงาน NGO ได้ไปสัมผัสปัญหาของชาวบ้านจริงๆ สิ่งที่เป็นจุดแรกที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเราเองเปลี่ยนก็คือหลังจากที่ได้ไปทำโครงการที่เขมร ได้คุยกับชาวบ้าน ทุกคนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมัยเขมรแดงหมด มันทำให้รู้สึกว่าปัญหาของตัวเองเล็กน้อยมาก แล้วก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มศึกษาเรื่องอะไรแบบนี้มากขึ้น เริ่มคิดแล้วว่าถ้าจะนำเสนอปัญหาของเขา เราจะสะท้อนขึ้นมาอย่างไรให้คนหันมาฟัง เพราะผมมองตัวเองว่าเป็นคนคนหนึ่งที่อาจจะเคยฟังแต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง ผมก็เลยลองมองว่าตัวเองก็เป็นเหมือน target คนนั้นที่ตัวเองจะสื่อสารเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งท้ายที่สุดก็เลยมุ่งมาที่การทำงานรณรงค์กับคน กับเมือง กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ผู้เข้าถึงสื่อออนไลน์ ว่าจะทำอย่างไรให้เขาฟังปัญหาทางสังคมมากขึ้น
Q: แล้วอย่างคนต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ ตุลย์จะมีวิธีการอย่างไรที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของพวกเขา?
A: ก็จะมี 2 ส่วนนะครับ ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่าสื่อออนไลน์เริ่มเข้าถึงคนมากขึ้น เช่น มีตอนที่ผมอยู่ Change.org จะมีแคมเปญรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านเขาเห็น Change.org ในทีวี เขาก็ลุกขึ้นมาเองเลยว่า เราต้องทำแคมเปญที่นี่ คิดกันเองเลย เรียกประชุมในหมู่บ้าน เขียนแคมเปญขึ้นมา โทรมาหาเราให้ช่วยสอนว่าจะเขียนอย่างไร ทำอย่างไรให้คนเข้าใจถึงปัญหาของพวกเขา คือชาวบ้านเริ่มเข้าถึงเครื่องมือโดยเฉพาะผ่านโมบาย การปรับให้เทคโนโลยีเข้าไปสู่โมบายได้มากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือก็เร็วขึ้น ดาต้าก็ถูกลง อีกส่วนหนึ่งก็คือการหาจุดเชื่อม อย่างเช่น จะทำอย่างไรให้องค์กรหรือหน่วยงานภาคสนามสามารถเข้าไปแนะนำชาวบ้านได้ อย่างเช่นแคมเปญเรื่องของเรืออวนที่ภาคใต้ที่มีการจะให้เรืออวนผิดกฎหมายสามารถดำเนินการประมงได้เหมือนเดิม ชาวประมงต้องการรณรงค์แต่ว่าไม่รู้วิธี เราก็เข้าไปช่วยแนะนำว่าเขาสามารถสื่อสารด้วยวิธีอะไรบ้าง สอนให้ชาวบ้านรู้ว่าพวกเขาสามารถดึงเรื่องของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไรเพื่อให้องค์กรภาคประชาชนสามารถนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาสู่คนเมืองได้ ซึ่งในโครงการนี้เราก็สามารถช่วยให้คนเมืองเชื่อมโยงกับปัญหาโดยการผ่านกลุ่มดำน้ำ กลุ่มที่สนใจเรื่องของการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่องของอะไรต่อมิอะไรจนมันเกิดการประสานงานกันได้ เพราะฉะนั้นก็จะมี 2 ส่วนคือเครื่องมือที่เข้าถึงมากขึ้นและสอนให้ชาวบ้านรู้จักใช้เครื่องมือ กับทางที่ 2 คือช่วยให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานภาคประชาชนซึ่งอยู่ใกล้กับชาวบ้านใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นมากขึ้นเพื่อที่จะนำเสนอปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาได้
Q: ในความคิดของตุลย์ อะไรคือจุดแข็งของสังคมไทยและจุดแข็งที่ว่านี้จะช่วยสังคมได้อย่างไร ขณะเดียวกัน จุดอ่อนของสังคมไทยมีอะไรบ้างที่เราต้องเข้าไปสร้างความแข็งแรง?
A: ข้อดีก็คือคนไทยค่อนข้างจะสนใจเรื่องของคนอื่น ถ้าดูจากสถิติทุกปีว่าประเทศไหนในเอเชียที่ชอบให้คนอื่น คือเป็นประเทศที่บริจาคอะไรต่อมิอะไรเวลาที่สังคมต้องการ ประเทศไทยเนี่ยอันดับต้นๆ ผมหมายถึงเราไม่ใช่ประเทศที่มีรายได้สูง แต่เป็นประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ที่ช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามีคือเราค่อนข้างเป็นห่วงคนอื่น สนใจคนอื่น แล้วก็ถ้าเราสามารถนำความรู้สึกแบบนี้ของคนไทยมาใช้เพื่อให้เข้ามาสนใจประเด็นทางสังคมที่แบบเป็นรูปแบบมากขึ้น ผมคิดว่ามันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบมากขึ้นได้ ส่วนจุดอ่อนของเราคงเป็นเรื่องความกล้า ผมทำ Change.org มา 2 ปี ตอนแรกๆ คนก็จะบอกว่า Change.org เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย ไม่มีทาง เพราะว่าใครจะมากล้าทำแคมเปญ ใครจะมาคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไร ซึ่งท้ายที่สุดมันสามารถเกิดขึ้นได้จริง แล้วก็เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ทุกคนเน้นตรงนี้ ให้กล้าที่จะทำดีแล้วก็ไม่ต้องอาย ความดีมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะแค่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกคนสามารถทำได้
Q: อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ตุลย์ยังคงทำงานเพื่อสังคมมาจนทุกวันนี้?
A: ผมสนุกกับการที่จะทำอย่างไรให้เรื่องของคนที่ถูกมองข้ามถูกนำเสนอในที่สาธารณะ ตั้งแต่ตอนเป็นนักข่าวแล้ว ผมก็จะชอบเขียนเรื่องที่คนมองไม่เห็นหรือว่ารู้สึกว่าไม่เป็นอะไรหรอก ช่างมัน ให้ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ทำอย่างไรให้องค์กรใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นว่าเรื่องเล็กๆ มันก็ต้องฟังนะ หรือว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงคนตัวเล็กๆ เข้ามามีส่วนด้วย ตรงนี้ครับที่ผมรู้สึกสนุก บางคนอาจจะชอบประเด็นสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิสตรี หรือแรงงาน แต่ผมแค่อยากจะให้เรื่องของคนถูกนำเสนอ ซึ่งนั่นเป็นส่วนที่สนุก มันท้าทายตลอดเวลา เพราะว่ามันมีอุปสรรคให้เราต้องข้ามผ่านไปตลอดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องเล็กๆ เหล่านี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
Q: แล้วอนาคตกับการเปิดตัว SIDEKICK จะเป็นอย่างไรต่อไป?
A: ผมอยากจะรีเฟรชตัวเรา อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามองว่าการรณรงค์ในช่วงปี 2000 มันเปลี่ยนไปเยอะมากจากยุค 70 80 90 ที่อาศัยเรื่องของออฟไลน์ค่อนข้างเยอะ เรามองว่านี่เป็นการรณรงค์ของยุคใหม่ เราจะทำอย่างไรให้คนทุกคนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือประชาชน ว่ามันมีเครื่องมือเหล่านี้นะ มีเทคนิคแบบนี้นะ จะทำอย่างไรให้องค์กรต่างๆ เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการรณรงค์ ในขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ผมมอง ผมอยากจะเข้าไปทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าแค่ในไทย อย่างตอนนี้ SIDEKICK มีงานในเดือนมิถุนายนที่อินโดนีเซียและกับฟิลิปปินส์ด้วย เราเห็นว่าในอาเซียนโดยเฉพาะ 3 ประเทศทั้งไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเป็น 3 ประเทศที่มีเรื่องของภาคประชาชนที่ชัดเจน แล้วก็มีความสนใจเรื่องของตรงนี้ชัดเจน แล้วจะทำอย่างไรให้ 3 ประเทศนี้เปิดความคิดเรื่องของการรณรงค์แบบออนไลน์มากขึ้น เรื่องของการรณรงค์ด้วยคนได้มากขึ้น
อ้างอิง: sidekick.asia, change.org/th
ภาพ: Ketsiree Wongwan, Tul Pinkaew