สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติ การเดินในระยะเวลา 6 นาทีเป็นเรื่องง่ายๆ ชิลล์ๆ บางครั้งก็น่ารื่นรมย์ด้วยซ้ำไป แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง หรือ PAH (Pulmonary Arterial Hypertension) การเดิน 6 นาทีนั้นอาจหมายถึง ทางเดินสู่ความสิ้นหวัง
PAH สามารถพบได้ร่วมกับโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะหลักในร่างกายได้แก่ หัวใจ ปอด รวมถึงระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายแม้ทำกิจกรรมง่ายๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอาจพาไปสู่คุณภาพชีวิตที่แย่ลงจนถึงเสียชีวิตได้ แต่ PAH ก็สามารถรักษาได้ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอผ่าน ‘การทดสอบการเดิน 6 นาที’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้หายใจไม่ออกจนผู้ป่วยอาจรู้สึกสิ้นหวังและท้อแท้ จนบางรายลังเลหรือปฏิเสธที่จะทำการทดสอบ
Janssen Pharmaceutical บริษัทผู้จัดหายารักษาสำหรับการรักษา PAH ด้วยจุดยืนที่จะยืนหยัดกับผู้ป่วย ร่วมกับเอเยนซี่โฆษณา McCann Health ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอแคมเปญ ‘6 Minutes Together’ เพลย์ลิสต์บทเพลงที่มีความยาว 6 นาทีซึ่งถูกออกแบบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของ PAH มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยน 6 นาทีแห่งความสิ้นหวังให้เป็น 6 นาทีแห่งความหวัง โดยได้รับความร่วมมือกับ Spotify แพลตฟอร์มฟังเพลงอันดับหนึ่งของโลก มีศิลปินดัง 14 คนในญี่ปุ่นและทั่วโลกรวมกว่า 40 คนได้นำเสนอเพลงความยาว 6 นาทีของพวกเขาแบบต้นฉบับให้กับ 6 Minutes Together ซึ่งทุกเพลงมีจังหวะต่อนาทีที่แน่นอน (BPM) เพื่อให้ตรงกับความเร็วในการเดินของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้ฟังเพลงระหว่างการเดิน 6 นาที ดนตรีจะช่วยทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ลดความกังวล และยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยมีความหวังและกำลังใจที่ดี เพราะรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้กับความเจ็บป่วยอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป
และเพราะดนตรีคือภาษาสากล จึงไม่เฉพาะผู้ป่วย PAH ในญี่ปุ่น แต่ผู้ป่วยจากทั่วโลกก็สามารถเข้าถึงเพลย์ลิสต์แห่งความหวังนี้ได้ ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ‘6 Minutes Together’ ปรากฏบนสื่อต่างๆ ถึง 118 ล้านครั้ง นับเป็นสถิติที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับแคมเปญเพื่อโรคที่หายากแบบนี้ นอกจากนี้ 6 Minutes Together ยังทำให้ PAH เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยปกติกว่าจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ อาจต้องต้องใช้เวลาหลายปี โรคก็อาจดำเนินไปมากเกินรักษาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของ PAH มีความหวังว่า 6 Minutes Together จะช่วยส่งเสริมการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การรักษาที่เร็วขึ้นได้