“ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี” หากเอ่ยชื่อนี้ หลายๆ คนก็คงจะนึกไปถึง
… หนึ่งศิลปินสมาชิกวงคาราบาวในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด
… เจ้าของตำนานเสียงขลุ่ยในเพลง
“เมดอินไทยแลนด์”
… ครูดนตรี-คนดนตรี ผู้สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้แก่สังคมไทยในหลายวาระ
แต่ที่บางคนอาจยังไม่รู้ก็คือ อาจารย์ธนิสร์ทุ่มเทเวลากว่า 20 ปีในชีวิต มุ่งมั่นพัฒนา “ขลุ่ยไทย” จน สามารถเล่นผสานกับเครื่องดนตรีสากลได้ทั่วโลก ที่สำคัญชายวัยหกสิบสี่ปีคนนี้ไม่เคยหยุดความฝันที่จะพา “เสนาะเสียงแห่งความเป็นไทย” ออกไปประกาศศักดาให้โลกเห็น
วันนี้เราได้รับเกียรติพูดคุยกับ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในวันที่ท่านได้รับรางวัล SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ประจำปี 2557 (จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.) เชื่อแน่ว่าหลายๆ คนคงอยากจะรู้เหมือนกับเราว่า “คนของแผ่นดิน” คนนี้ ท่านคิดอ่านอย่างไร ดำเนินชีวิตแบบไหน ถึงได้มีลูกศิษย์ลูกหามากมายให้ความ “เคารพ-รัก” มาจนทุกวันนี้
Q : ชีวิตของอาจารย์กับเสียงดนตรีเริ่มต้นผูกพันกันได้ยังไงคะ
A : เริ่มตั้งแต่วัยเด็กครับ ตั้งแต่ยังไม่สิบขวบ ผมนี่เป็นเด็กบ้านนอกเลยนะ โตมากับวัวกับควาย ท้องไร่ท้องนา (ในจังหวัดสิงห์บุรี) ที่ได้รู้จักกับเสียงดนตรีและเสียงขลุ่ยก็เพราะผมไปวัดกับยายทวด สมัยเด็กๆ ผมไม่มีตังค์หรอก พ่อเป็นนักการภารโรง มีลูกหลายคน พอผมโตหน่อยอยู่ประมาณ ป.1 ก็เลยถูกส่งมาอยู่กับยายทวด ซึ่งความบันเทิงสมัยนั้นมันก็ไม่มีอะไรมาก หลักๆ ก็คือการไปวัด เพราะไฟฟ้าเราก็ไม่มีใช้จุดตะเกียงกัน เดินทางด้วยเรือ ด้วยเท้า ทุกงานที่เกิดขึ้นในวัด ทั้งงานศพ งานเทศน์มหาชาติ การไปดูลิเก ฯลฯ ถ้ายายทวดไปผมก็ไปด้วยหมด แต่สิ่งที่ติดตัวผมมา (จากวัด) ก็คือทำนองเพลง “ธรณีกรรแสง” ครับ (ฮัมเมโลดี้อย่างอารมณ์ดี) มันประทับใจผมมาก ตอนนั้นผมไม่มีเงิน ก็ได้แค่ไปซื้อขลุ่ยเลาละ 50 สตางค์มาเป่าเล่น เป่าอยู่ท่อนเดียวนี่แหละ สนุกมาก เป็นเด็กไม่รู้จักทุกข์ ชีวิตผมกับเสียงดนตรีมันก็เริ่มจากจุดเล็กๆ แค่นี้ เริ่มต้นด้วยความรัก ด้วยความสุข แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะก้าวไปเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่อะไร คิดว่าอยากจะเล่นอยู่แค่นั้นแหละ
Q : อาจารย์เคยพูดถึงปรัชญาที่ว่า “เสียงดนตรีที่ดีต้องเริ่มมาจากจิตใจที่ดี” ช่วยขยายความหน่อย
A : ช่วงที่ผมเป็นครูสอนเด็กเนี่ย ผมสังเกตว่าเด็กยุคนี้ขาดเรื่อง “การกระทำ” ไปเยอะเลยครับ คือเขาอยู่แต่กับโลกโซเชียล อยู่กับหน้าจอ ชีวิตจริงไม่ค่อยได้ทำอะไร ผมไม่ได้ว่าโลกโซเชียลไม่ดีนะ คือมันมีทั้งดีและไม่ดี แต่เด็กๆ ยังไม่รู้ไง ยังแยกแยะไม่ได้ ดังนั้น ผมจะเน้นย้ำเสมอว่าสิ่งที่จะทำให้เด็กๆ ของเราตัดสินได้ว่าอะไรดีไม่ดี พวกเขาควรจะได้ “ลงมือทำ” สิ่งต่างๆ มากกว่านี้ ชีวิตต้องได้ทำก่อนถึงจะเรียนรู้ (learning by doing) หน้าจอมันสอนชีวิตไม่ได้ทั้งหมดหรอก ซึ่งเสียงดนตรีที่ดีมันก็มาจากจิตใจที่ว่านี้ คือจิตใจที่รู้แล้วว่าอะไรคือดี อะไรคือสุข ผมชอบให้เขาได้ลองทำ ลองเล่น ให้ได้รู้จักความสุข แล้วความรู้สึกที่ดี (ต่อดนตรี) มันก็จะเกิดตามมา คือถ้าคนเราได้รู้จัก ความรักแล้ว จิตใจมันจะผ่องใส จะงดงามขึ้นเองโดยธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้เราไปบอกเขาไม่ได้หรอก เขาต้องลงมือทำและสัมผัสความรู้สึกนั้นด้วยตัวเอง ทีนี้เมื่อคนเรามีจิตที่สุข มีใจที่งดงาม เราก็จะแบ่งปันสุขนั้นผ่านเสียงดนตรีออกมาได้ มันจะทำให้ดนตรีของเราเข้าถึงคนฟังได้ลึกกว่า นี่ก็คือที่มาของปรัชญานี้
Q : แล้วเวลาที่ศิลปินเศร้าหมองหดหู่ ต้องทำยังไงถึงจะข้ามโมเมนท์แบบนั้นได้
A : ไม่ใช่แค่ศิลปินหรอก มนุษย์ทุกคนก็ต้องเศร้าทั้งนั้น นี่เป็นคำถามที่ดีนะ ส่วนตัวผมจะใช้คำสอนจากคุณครูทองดำ สิ่งที่สุข ซึ่งเป็นครูคนแรกของผม ท่านบอกว่าเมื่อเราจะขึ้นเวที เราจะต้องรับผิดชอบทุกตัวโน้ตที่เราเล่น ไม่ว่าคนฟังของเราจะเป็นใคร เขาจะไม่ชอบเรา หรือเราจะไม่ชอบเขา ก็ห้ามไปคิดอะไรทั้งนั้น คิดอย่างเดียวว่าเราจะต้องทำหน้าที่ส่งผ่านความสุขออกไปให้ดีที่สุด คิดและทำแค่นั้นพอ ส่วนคำสอนอีกข้อของอาจารย์ฤษีลิงดำก็คือ ให้เราวางทุกข์ในใจทิ้งไปก่อน โดยใช้วิธีนับลมหายใจ ทำจิตใจให้สบายๆ สิ่งนี้เราทำเพื่อตัวเอง ไม่ต้องไปอวดใคร ก็เป็นวิธีพุทธที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้หมดแล้ว
Q : อาจารย์เองเล่นดนตรีได้หลายชนิด ทำไมถึงหลงใหลกับการเป่าขลุ่ยมากที่สุด
A : สำหรับผมขลุ่ยก็คือชีวิต ชีวิตก็คือขลุ่ย จริงๆ ผมเรียนจบดน
ตรีสากลมานะ เมเจอร์ผมคือคลาริเน็ตแต่ขลุ่ยนี่มันอยู่ข้างกายมาโดยตลอด เศร้าก็เป่า สุขก็เป่า อกหักก็เป่า เหมือนมันมีอะไรขีดเส้นชีวิตผมมาแล้ว และในช่วงชีวิตต่อมา เพลงเดือนเพ็ญ กับ เพลงเมดอินไทยแลนด์ ก็ยิ่งทำให้หน้าผมผูกติดกับขลุ่ยมากขึ้นไปอีก คือสองเพลงนี้มันประสบความสำเร็จมาก เพราะมันเป็นการเล่นขลุ่ยแนวใหม่ เป็นสไตล์ร่วมสมัย (Contemporary) และเราก็เป่าแบบเทียบเสียงสากลได้แต่คุณรู้มั้ย สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ยอมทิ้งเลยก็คือ “สำเนียงแห่งความเป็นไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุข และภูมิใจอยู่ลึกๆ เสมอมา ความรู้สึกนี้มันไม่มีอะไรมาแลกได้ แม้ใครจะมองไม่เห็นก็ตาม แต่ผมรู้แล้วว่าผมจะทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ ใครจะมาชวนผมไปทำอย่างอื่นผมก็ไม่เอาแล้ว แม้ชื่อเสียงเงินทองอาจจะมากกว่านี้ แต่มันไม่ใช่เรา ผมเกิดมาชาตินี้ บนแผ่นดินนี้ และได้ทำสิ่งที่ฝันแบบนี้ ผมถือว่าชีวิตโชคดีที่สุดแล้ว
Q : กับเพลง “เมดอินไทยแลนด์” อาจารย์คิดว่าเพราะอะไรมันถึงสร้างพลังได้อย่างมากมายมหาศาล
A : ผมว่าเพราะเราใส่ “ความเป็นไทย” และ “ความจริงใจ” ลงไปในบทเพลงครับ หมายถึงความเป็นไทยที่ปรับให้ร่วมสมัยแล้วนะ พวกคุณจำไว้เลยทุกวันนี้แม้โลกโซเชียลจะมีพลังแค่ไหน แต่ถ้าขาดความจริงใจมันก็อยู่ได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวก็โรย มันไม่มีทางประทับตราตรึงเข้าไปในหัวใจของคนได้ ผมว่าคนไทยยังไงก็ชาตินิยมอยู่นะ ถ้าเพลงไทยเราปรับให้มันเท่ขึ้น มีความเป็นสากลขึ้น ใส่ความจริงใจลงไปไม่เสแสร้งดัดจริต แค่นี้คนก็ชื่นชมมากแล้ว
Q : นอกจากการเล่นขลุ่ยแล้ว ทราบว่าอาจารย์ยังพัฒนาและผลิตขลุ่ยไทยด้วย
A : ใช่ ผมขายด้วยครับ (หัวเราะ) นี่ก็คือส่วนหนึ่งของความภูมิใจ คือเวลาวงผมไปเล่นคอนเสิร์ตเนี่ย เราก็จะใช้เสียงขลุ่ยนำใช่มั้ย แล้ววัยรุ่นที่ได้มาฟังเขาก็เกิดประทับใจ เห็นความเจ๋งของขลุ่ย เขาก็อยากจะเล่นมั่ง ผมก็เลยคิดทำขลุ่ยในแบบของผมขึ้นมา คือออกแบบให้มันเล่นเข้ากับเครื่องดนตรีสากลอื่นๆ ได้ ทำให้มันมี “ครึ่งเสียง” อย่างแท้จริง จนเป็นขลุ่ยที่เล่นได้หลากหลาย และมีครบทั้ง 12 เสียงเลย แต่ไม่ว่าขลุ่ยของเราจะทำเสียงได้ตรงกับดนตรีฝรั่งยังไง เราต้องไม่ลืมนะว่า “เราไม่ใช่ฝรั่ง” สิ่งหนึ่งที่ผมจะยึดมั่นไว้เสมอก็คือเสียงแห่งความเป็นไทย แม้ผมจะไปเล่นกับวงออเคสตร้าทั้งวง ความเป็นไทยของเราก็ต้องนำฝรั่งได้ ผมภาคภูมิใจตรงนี้และจะต่อสู้เพื่อให้คนไทยได้ชื่นชมความเป็นไทยตรงนี้
Q : ในเส้นทางชีวิตของอาจารย์ อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดคะ
A : …วิกฤตชีวิตไง ทำยังไงถึงจะผ่านมันไปได้ เมื่อก่อนนี่ผมเป็นคนหนีปัญหานะ ไม่สู้ปัญหา แต่ประสบการณ์ชีวิตมันค่อยๆ สอนผมว่าเราต้องชนกับปัญหา ต้องสู้เท่านั้น ชีวิตผมมีวิกฤติมาเยอะครับ หนึ่งคือผมเสียลูก ลูกตกน้ำตาย สองคือเสียภรรยา เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ หลังจากนั้นผมช็อคไปเลยนะพยายามจะหนีไปอยู่ป่าเขา เก็บซ่อนตัว แต่งชุดขาว นั่งสมาธิ ทีวีก็ไม่ดู หน้าใครก็ไม่มอง กลายเป็นคนเคร่งเครียด ไม่สนใจโลก ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ทางออกนะ หลวงพ่อฤษีลิงดำท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ใครหนีสังคม แต่เราต้องอยู่กับสังคมให้ได้อย่างมีความสุขและถ้าเราหันหน้ามาเผชิญกับปัญหา หันมาสู้วิกฤติของเราแล้ว เราก็จะรู้เลยว่าชีวิตนี้เรามีเพื่อนดีๆ กี่คน ซึ่งผมเองได้พบกับความโชคดีนั้นแล้ว ตอนนี้ผมมองชีวิตสวยงามเลย ให้อภัยก็ได้ อโหสิก็ได้ ปริมาณความสุขเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
Q : อาจารย์คิดว่าทุกวันนี้วิชาชีพศิลปินสามารถจะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมยังไงบ้าง
A : ขอบคุณที่ถามข้อนี้ ผมว่าศิลปินต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อแผ่นดินและสังคมเสมอนะ เรามีบทบาทหน้าที่ที่ต้องสร้างความงดงามให้เกิดในจิตใจผู้คน ทำให้ผู้คนรู้สึกดีกับส่วนรวม กับประเทศชาติ ปลูกจิตสำนึกที่ดีต่อแผ่นดินเกิด นี่เป็นหัวใจสำคัญเลยนะ นักดนตรีไม่ใช่แค่เล่นดนตรีเย้วๆ ไปวันๆ …ใครมองแบบไหนไม่รู้ล่ะ แต่ผมมองแบบนี้
Q : อาจารย์มีความฝันอะไรต่อจากนี้บ้าง หลังจากที่ได้รับรางวัลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
A : ผมอายุ 64 แล้ว จากนี้คิดแค่ว่าจะทำอะไรตอบแทนแผ่นดิน แต่เราต้องทำได้จริงด้วยการปฏิบัตินะ ไม่ใช่แค่การพูดหรือการสร้างภาพ คือยุคโซเชียลนี่พรีเซนเทชั่นมันเยอะไปหมด เราเน้นแต่ภาพลักษณ์สวยงาม ทำจริงแค่นิดเดียว หรือบางทีทำไม่ได้เลย แต่สำหรับผมขอเน้นเรื่องการปฏิบัติให้ได้ผลดีกว่าคือเราไม่อยากให้ดนตรีไทยถูกเชิดชูอยู่แต่บนหิ้ง คนเจเนอเรชั่นต่อไปควรต้องสัมผัสเข้าถึงมันได้ วัฒนธรรมมันก็เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องมีรากแก้วนะ ถ้าเรามีรากมั่นคง แม้เราจะเปิดรับสิ่งใหม่เข้ามาผสมผสาน แต่ความเป็นเราที่แท้จริงมันก็จะไม่ถูกกลืน ผมไม่ใช่พวกชาตินิยมที่ไม่เปิดรับอะไรใหม่ๆ เลยหรอกนะ เรารับสิ่งใหม่เข้ามาพัฒนาตัวเองได้ แต่ให้รับอย่างมีเหตุมีผล และไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ผมอยากจะสร้างค่านิยมไทยให้โดดเด่นในดนตรีสากล เราจะทำดนตรีไทยเป็นเวิล์ดมิวสิคไปเลยก็ได้
Q : สุดท้ายอะไรคือสิ่งที่อาจารย์อยากบอกกับคนรุ่นใหม่มากที่สุด
A : มนุษย์เรามีสมองสองซีกนะ ซีกหนึ่งไว้คิดเรื่องตรรกะ เรื่องทำมาหากิน คือคิดเป็นวิชาธุรกิจ แต่อย่าลืมว่าเรามีสมองอีกซีกไว้ให้กับศิลปะด้วย เอาไว้คิดเรื่องวิชาชีวิตด้วย ทุกวันนี้บ้านเราใช้สมองซีกเดียวเกินไป คิดแต่จะกอบโกย หาประโยชน์เข้าตัว บ้านเมืองมันถึงเป็นแบบนี้ ดังนั้นผมก็อยากให้พ่อแม่ ทุกคนสอนลูกให้เรียนรู้ “วิชาชีวิต” ด้วย ให้เขาได้รู้จักกับศิลปะ จะเป็นดนตรี หรือการถ่ายรูป หรืออะไรก็ได้ สมองของเขาจะได้มีสิ่งที่งดงามเกิดขึ้นบ้าง ชีวิตกับศิลปะมันเป็นความสุขอีกอย่างที่ซื้อหาด้วยเงินทองไม่ได้ แถมเป็นสิ่งที่เราสามารถแบ่งปันกันได้ด้วย ท้ายสุดก็อยากให้คนไทยมีความสุขครับ แต่สุขจากการปฏิบัตินะ ไม่ใช่จากการสร้างภาพ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ถ้าเราเชื่อว่าเราทำดีกับแผ่นดินแล้ว ผลของความดีนั้นคือใจเราต้องเป็นสุข เราอย่าไปเคร่งเครียดกับผลของมัน และอย่าหวังผลตอบแทน ผมบอกคุณอย่างนี้นะ เราไม่ใช่เหลือบ อย่าทำดีเพื่อหาประโยชน์ ขอให้สิ่งดีๆ มันเกิดที่หัวใจของเราก็พอ
“ความรักเป็นพลังของทุกสิ่ง ถ้าเรารักอะไรแล้ว ใจเราก็จะเป็นสุข แล้วเราก็จะใฝ่หาความรู้
หาครูอาจารย์ หาทางพัฒนาตัวเองไปโดยอัตโนมัติ …รักที่ดี …จิตใจที่ดี
จะทำให้เราฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างได้”
—
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ได้รับรางวัลสุกรี เจริญสุข ผู้ทำความดีเพื่อสังคมด้านการส่งเสริมดนตรี ประจำปี 2557 จากโครงการ SET เชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะคนดนตรีต้นแบบผู้สร้างแรงขับเคลื่อนในการพัฒนางานดนตรี พร้อมทั้งอุทิศตนเป็นครูผู้ให้ ผู้อนุรักษ์ และผู้สร้างสรรค์ดนตรีไทยให้สืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจาก www.set.or.th/th/news/csr/csr_p1.html