EyeHarp เครื่องดนตรีดิจิทัลที่ช่วยสานฝันเส้นทางนักดนตรีให้ผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว

เครื่องดนตรีบนโลกนี้มีหลากหลายรูปแบบและมีวิธีเล่นที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะดีด สี ตี หรือเป่า แต่ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือเครื่องดนตรีที่ใช้ ‘สายตา’ และ ‘การเคลื่อนไหวศีรษะ’ ในการเล่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แขน ขา หรือนิ้วมือเหมือนเครื่องดนตรีทั่วไป 

เพราะนี่คือเครื่อง Eyeharp ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายสามารถเล่นดนตรีได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเส้นโลหิตตีบด้านข้าง (ALS) ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อเสื่อม ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนต้องสูญเสียอวัยวะในร่างกาย หรือมีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลังจนควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา 

งานนี้ต้องขอชื่นชมคุณ Zacharias Vamvakousis นักวิจัยด้านเครื่องดนตรีดิจิทัลสำหรับคนพิการ ผู้ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิต EyeHarp ขึ้นมาในปี 2010 เมื่อเพื่อนนักดนตรีคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์จนอยู่ในภาวะอัมพาตครึ่งซีก ไม่สามารถเล่นดนตรีได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

EyeHarp เป็นเครื่องดนตรีดิจิทัลที่ผู้เล่นสามารถสร้างเสียงดนตรีผ่านการจ้องมองโดยใช้เทคโนโลยี Eye tracking จากบริษัท Tobii ซึ่งเป็นกล้องชนิดพิเศษที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจับความเคลื่อนไหวของดวงตา โดยนักดนตรีจะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ Eyeharp เพื่อใช้ร่วมกับระบบ Eyetracker นี้​ เวลาเล่นก็ให้จ้องมองไปที่หน้าจอที่จะมีโน้ตเพลงให้เล่นตาม โดยอินเทอร์เฟซของ EyeHarp มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้ เพื่อให้เหมาะกับการข้อจำกัดทางร่างกายและประสบการณ์ทางดนตรีที่แตกต่างกันของแต่ละคน บนหน้าจอสามารถปรับเปลี่ยนจำนวนโน้ต ขนาดของโน้ต และข้อมูลอื่นๆ ได้ด้วย

ต้องบอกว่าผู้ผลิตมีความพยายามที่จะปรับปรุงพัฒนาเครื่อง EyeHarp อยู่ตลอด เพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุดและเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากที่สุด ภายในซอฟท์แวร์นอกจากจะมีคอลเลกชันเสียงเครื่องดนตรีมากกว่า 20 รายการเพื่อให้เลือกเล่นตามความถนัด และโน้ตเพลงสำหรับเล่นกับเครื่อง EyeHarp หลากหลายเพลง ยังมีเครื่องมือช่วยสอนการเล่นดนตรี ระบบประเมินการเล่นดนตรี และมีเกมความจำด้านดนตรีอยู่ด้วย เรียกได้ว่า แม้จะเริ่มต้นจากความรู้เป็นศูนย์ก็สามารถสนุกเพลิดเพลินและเล่นดนตรีผ่าน EyeHarp ได้ทุกคน

นอกจากนี้ Zacharias และทีมงานก็ได้ก่อตั้ง EyeHarp Association ในฐานะองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรขึ้นมาด้วย เพื่อช่วยเรื่องเงินทุนสนับสนุนจะได้นำไปพัฒนา EyeHarp ต่อไป และมีเป้าหมายที่จะจำหน่ายซอฟท์แวร์ในราคาถูกที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้จริงๆ 

น่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่คุณ Zacharias เป็นนักศึกษาภาควิชาสารสนเทศและโทรคมนาคม จากนั้นก็เรียนต่อปริญญาโทสาขาดนตรีสารสนเทศ และมาจบปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ ‘เครื่องดนตรีดิจิทัลสำหรับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว’ แถมยังเรียนจบหลักสูตรดนตรีในวิชาเอกแอกคอร์เดียนคลาสสิกด้วย เรียกได้ว่าเขาผสมผสานความสนใจในศาสตร์ทั้งสองนี้ได้อย่างลงตัว

นี่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สายวิทย์กับสายศิลป์ไม่จำเป็นต้องแยกกันคนละทาง แต่สามารถจับคู่กันได้โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นสื่อกลาง อยากให้นักเรียนไทยได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดความคิดข้ามค่ายเช่นนี้เยอะๆ เราอาจได้ผลงานเจ๋งๆ มาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นมากกว่านี้

 

 

   

คุณ Zacharias Vamvakousis นักวิจัยและนักดนตรีผู้คิดค้น EyeHarp

อ้างอิง: eyeharp.org

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles