Simple Music Player เครื่องเล่นเพลงสุดเรียบและง่าย ให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมเปิดฟังเพลงได้เอง

การฟังเพลงเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายๆ แค่ฟังเพลงที่ชอบก็ช่วยให้เราปลดปล่อยความรู้สึกบางอย่างได้ หรือช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ แต่ที่ยิ่งไปว่านั้น งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าเสียงเพลงนั้นมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดระดับความเครียด ลดอาการซึมเศร้าวิตกกังวล ช่วยให้รับมือกับความเจ็บปวดทางกายได้ดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น รวมไปถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลทางความคิด และช่วยกระตุ้นความจำ ด้วยข้อดีหลายอย่างเช่นนี้ที่ทำให้เกิดกิจกรรม ‘ดนตรีบำบัด’ ขึ้นมา และกลายเป็นอีกทางเลือกในการรักษาเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความสนใจไม่น้อย

และนี่ก็เป็นที่มาของเครื่องเล่น Simple Music Player ที่ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้สูงวัยที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความจำหรือภาวะการรับรู้ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยอัลไซเมอร์  หรือผู้มีภาวะออทิสติก ซึ่งหลายคนไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยทางกาย มีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ด้วยปัญหาที่เกี่ยวกับการรับรู้และความจำจึงมักจะประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาควรจะต้องนอนติดเตียง ไม่ต้องไปไหน หรือไม่ควรทำอะไรเลย ในทางกลับกัน การได้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติให้มากที่สุด จะยิ่งส่งผลดีต่อการกระตุ้นความทรงจำและการรับรู้ได้

เครื่องเล่น Simple Music Player ทำให้กิจกรรมการฟังเพลงเป็นเรื่องง่าย ด้วยหน้าตาและการใช้งานที่ลดทอนความยุ่งยากให้เหลือน้อยที่สุด ไม่มีปุ่มหรือลูกบิดมากมายชวนให้ตาลาย มีแค่เพียงแผ่นไม้ที่เขียนว่า Lift to play music หรือ ยกขึ้นเพื่อเปิดเพลง เมื่อยกขึ้นแล้ว เพลงที่ถูกโปรแกรมไว้ในเครื่องก็จะเล่นทันที และเมื่อจะหยุดเล่น ก็แค่ปิดแผ่นไม้นั้นลงมา หรือถ้าอยากกดข้ามก็ให้กดปุ่มสีดำใหญ่ๆ ขั้นตอนการฟังสุดแสนจะง่ายดายมีเพียงเท่านี้เอง เครื่องเล่นนี้สามารถจุเพลง MP3 ได้ 4GB หรือเกือบ 1,000 เพลง และสามารถอัพเดทรายการเพลงได้อย่างง่ายผ่านสาย USB

นอกจากนี้ผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ก็ยังคิดไว้อย่างรอบคอบ โดยออกแบบปุ่มปรับระดับเสียงแยกออกมาต่างหาก โดยซ่อนอยู่ตรงส่วนฐานล่างของเครื่องเล่น จะมีรูให้นำแท่งดินสอไปเสียบกดค้างไว้ประมาณ 5 วินาทีก็จะช่วยลดหรือเพิ่มเสียงได้ เหตุผลที่ต้องซ่อนแอบไว้แบบนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยไปเปิดเสียงจนดังลั่นหรือปิดเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจ วิธีนี้ผู้ดูแลจะเป็นคนตั้งระดับเสียงที่เหมาะสมไว้ให้ จากนั้นก็ปล่อยให้ผู้ป่วยได้เอ็นจอยกับเครื่องเล่นด้วยตัวเอง

การได้ยินเพลงโปรดที่คุ้นเคยอาจช่วยกระตุ้นให้ความทรงจำอันมีค่าที่เริ่มจางหายไป ค่อยๆ กลับชัดเจนขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย และนอกจากผลเรื่องความจำ การฟังเพลงที่ชอบก็ช่วยสร้างบรรยากาศให้เพลิดเพลิน ทำให้ผู้ป่วยอารมณ์ดี นี่ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นสุขภาพกายใจและความจำให้ดีขึ้นได้ไม่แพ้กัน

 

อ้างอิง: mindcarestore.com, dmh.go.th

Tags

Tags: ,

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles