ขยะพลาสติกเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล การแตกตัวของขยะพลาสติกไปสู่พลาสติกจิ๋วๆ ที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์
แล้วใครล่ะที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่นี้?
กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและการวางผังเมืองในตุรกีจีงออกภาพยนตร์โฆษณาชุด Let’s Change Before Our World Changes โดยมีความมุ่งหวังว่าที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คนเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลทุกปี เพราะมีคนน้อยมากที่สนใจกรณีนี้ และอีกหลายคนไม่ทราบว่า สิ่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและย้อนกลับเข้าตัวเอง
ภาพยนตร์ต้องการที่จะสื่อสารว่า “เปลี่ยนแปลงก่อนที่โลกของเราจะเปลี่ยนไป” เนื้อหาของภาพยนตร์เผยให้เห็นภาพกิจกรรมจับปลาของชาวประมง แต่ไม่เห็นปลาสักตัวเพราะถูกแทนที่ด้วยขวดพลาสติก แต่ดูเหมือนชาวประมงจะไม่ได้แปลกใจอะไร ประหนึ่งเหมือนขวดพลาสติกเหล่านั้นคือสัตว์ทะเลที่พวกเขาจะนำส่งขึ้นบก ขายเข้าตลาดประมง แล้วขยะพลาสติกเหล่านั้นก็ถูกนำเข้าสู่ร้านอาหารและครัวเรือน ประกอบเป็นอาหาร เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์เป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งภาพสุดท้ายที่พ่อทำอาหารจากพลาสติกให้ลูกชายตัวน้อยกิน ทำให้เกิดคำถามว่า…อนาคตของลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร?
โลกกำลังป่วย ทะเลกำลังวิกฤต เพราะพลาสติกกำลังล้นโลก กว่า 90% ของพลาสติกที่ผลิตไม่ถูกรีไซเคิล และมีขยะพลาสติก 8 ล้านตันในมหาสมุทรทุกปี หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ปริมาณขยะพลาสติกอาจเกินจำนวนปลาในปี 2593 และหลุดเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ สามารถเริ่มเปลี่ยนได้ง่ายๆ เช่น ลดการใช้พลาสติกให้น้อยลง เพิ่มการรีไซเคิลให้มากขึ้น…หากไม่เปลี่ยนวันนี้ สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์โฆษณาคงไม่เกินจริงแน่นอน!
อ้างอิง: The Drum, Ads of the World