ไมโครซอฟท์ร่วมกับชาวฟูลานีในแอฟริกาประดิษฐ์อักษร ADLaM ก่อนภาษาและวัฒนธรรมจะสาบสูญ

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสื่อสาร ที่ช่วยให้มนุษย์สามารถแบ่งปันความคิดเห็นและความรู้ร่วมกันได้ และโลกใบนี้มีความหลากหลายของภาษากว่า 6,500 ภาษาทั่วโลก แต่ภายในสิ้นศตวรรษนี้ 90% ของภาษาทั้งหมดจะถูกใช้น้อยลงมาก จนถึงขั้นสูญพันธุ์ไปจากโลก เรียกว่า ‘ภาษาที่สาบสูญ’

ภาษาพูลาร์ (Pulaar) เป็นภาษาของชาวฟูลานี (Fulani) ที่ใช้ในภูมิภาคตะวันตกของแอฟริกา มีประชากรกว่า 40 ล้านคนใช้ภาษาพูลาร์ในหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย กินี มาลาวี เป็นต้น ภาษานี้ไม่มีตัวอักษรที่เป็นของตัวเอง แต่ใช้ตัวอักษรอาหรับและอักษรละตินในการเขียน

ในปี พ.ศ. 2532 สองพี่น้องชาวฟูลานี อิบราฮิมาและอับดูลายบาร์รี ได้ประดิษฐ์อักษร ADLaM สำหรับภาษาพูลาร์ เพื่อช่วยให้ภาษานี้สืบทอดต่อไปได้ เพราะภาษาที่มีตัวอักษรเป็นของตัวเองไม่เพียงแค่ช่วยให้ภาษายังคงอยู่ แต่ยังช่วยสงวนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า และเพลงพื้นเมือง รวมถึงปกป้องผู้คนและวัฒนธรรมไม่ให้สูญหายอีกด้วย

ชื่อ ADLaM (แอดลาม) มาจากอักษรสี่ตัวแรกคือ A, D, L, M มีการใช้ในโรงเรียนในกินี ไนจีเรีย ไลบีเรีย และประเทศข้างเคียง ซึ่ง ADLaM เวอร์ชั่นดั้งเดิมอยู่ในรูปแบบการเขียนด้วยมือ ค่อนข้างยากต่อการใช้งาน และไม่มีเวอร์ชั่นดิจิทัล ไม่มีอยู่บนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน สุดท้ายก็ต้องพึ่งพิงภาษาอื่นอยู่ดี

เมื่อการสื่อสารในโลกยุคปัจจุบันอยู่ในรูปแบบดิจิทัล การทำให้ตัวอักษร ADLaM เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้ในการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี เช่น ข้อความ อีเมล และเว็บไซต์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทำให้ชาวฟูลานีสามารถดำเนินธุรกิจ สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และค้นหาข้อมูลในภาษาของตนเองได้อย่างสะดวก พี่น้องอิบราฮิมาและอับดูลายบาร์รีจึงได้ร่วมงานกับ Microsoft เอเยนซี่โฆษณา McCann New York รวมถึงนักออกแบบตัวอักษร เพื่อร่วมกันพัฒนาตัวอักษร ADLaM เวอร์ชั่นดิจิทัลที่อ่านและเขียนง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญคือตัวอักษรเวอร์ชั่นใหม่ได้รับการปรับปรุงโดยที่คำนึงถึงวิวัฒนาการธรรมชาติของตัวอักษรภายในชุมชนของชาวฟูลานีด้วย ซึ่งเวอร์ชันดิจิทัลใหม่ของ ADLaM มีให้ใช้งานได้ในชุด Microsoft 365 บนเดสก์ท็อปและแพลตฟอร์มมือถือต่างๆ ทั้งยังสามารถดาวน์โหลดได้ที่ unlocked.microsoft.com เรียกว่า ‘ADLaM Display’

ปัจจุบัน อักษร ADLaM เวอร์ชั่นดิจิทัลได้รับความเชื่อมั่นและนิยมใช้จากชาวฟูลานี หลายโรงเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาพูลาร์มีหลักสูตรเรียนรู้เกี่ยวกับ ADLaM เด็กๆ จะได้เรียนในหลักสูตรด้วยภาษาแม่ของพวกเขา นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศมาลาวีและกินีกำลังดำเนินการรับรอง ADLaM ให้เป็นตัวอักษรอย่างเป็นทางการ

การลดลงของภาษาเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งมรดกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่อยู่ในนั้น โครงการ ADLaM จึงช่วยรับประกันว่าชาวฟูลานีรุ่นต่อไปจะยังคงใช้และสืบต่อภาษาแม่ของพวกเขาต่อไป


อิบราฮิมาและอับดูลายบาร์รี

อ้างอิง: Microsoft, LBBOnline

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles