After Work: วันข้างหน้า… งานยังคือเป้าหมายของชีวิตอีกหรือไม่

ในปัจจุบันคนในสังคมโลกมีความสัมพันธ์กับการทำงานอย่างไร ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และสภาพเศรษฐกิจ เป็นที่ยอมรับว่าชีวิตกับงานเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ เราต่างหางานที่ดีเพื่อสนองตอบคุณค่าชีวิต ทว่าโลกกำลังเดินมาสู่ความโกลาหล เพราะหาสมดุลของทั้งสองสิ่งนั้นไม่ได้ คนจำนวนมากทำงานอย่างไร้ชีวิตชีวา ไม่รู้ว่าทำไปทำไม บางงานเหมือนจะมีความสุข ทว่าอยู่ในสายตาของกล้องวงจรปิดที่คอยจับผิดอยู่ตลอดเวลา มีสักกี่คนที่ทำงานอย่างมีความสุข นี่คือภาพความสับสนในเป้าหมายของการมีชีวิต ดังเช่นในสารคดีเรื่อง After Work นี้ที่กำลังกระตุกต่อมคิดให้กับเรา

ในตอนเริ่มต้นผู้สร้างพาเราไปพบกับบรรยากาศที่เคร่งเครียดบนโต๊ะทำงานและจอคอมในห้องแคบ การเสพติดงานของนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ พร้อมกับคำถามที่ว่า “นั่นคือชีวิตที่ดีแล้วหรือ?” เห็นได้ชัดว่านั่นคือ ความอึดอัด เงียบงัน ไร้เพื่อน ซึ่งเจ้าตัวกลับรู้สึกว่า เพราะการใช้ชีวิตทุ่มเทให้กับงานนั่นเองที่สร้างทุกอย่างให้กับครอบครัว สลับมุมมองไปยังอีกด้านหนึ่งของโลก ในคฤหาสน์ของทายาทเศรษฐีในยุโรปที่ไม่มีความเดือดร้อนทางการเงิน แต่พวกเขากลับทนไม่ได้กับความว่างเปล่า ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไป พยายามหากิจกรรมทำ สำหรับในอเมริกากำลังวัดมาตรฐานของคนทำงานผูกติดไว้กับ ‘จริยธรรมของการทำงาน’ นั่นคือความขยัน ทำงานสม่ำเสมอ และกระตุ้นพนักงานให้ทำงานมากๆ เพื่อจะได้ใกล้ความสำเร็จ ก่อนจะย้อนรอยเราด้วยข้อเท็จจริงว่า มีงานหลายรูปแบบที่ไม่เหมาะกับมนุษย์ เช่น ในโรงงานการคัดแยกขยะ และผู้ที่จะมารับหน้าที่แทนคือ หุ่นยนต์ โดยมีคำพูดของผู้มีชื่อเสียงอย่าง นอม ชอมสกี้ นักปรัชญาและนักกิจกรรมทางการเมือง หรือ อิลอน มัสก์ มาสนับสนุนมุมมองว่าความทันสมัยจำเป็นต่อโลก แต่ไม่เพียงในโรงงานแยกขยะหรอก อีกหลายงานที่หุ่นยนต์จะมาทำงานแทนเรา สิ่งที่จะตามมาก็คือภาวะคนตกงานมหาศาลในอนาคต

ที่เหนือความคาดหมายกว่านั้นคือ คนงานในประเทศคูเวตที่ร่ำรวยจากน้ำมัน คนจำนวนหนึ่งถูกจ้างมานั่งเฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แถมมีรายได้สูง พวกเขาใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลืองและไร้คุณค่า เช่นเดียวกับที่คนหนุ่มสาวในอิตาลีซึ่งเป็นกลุ่ม Neet (Youth not in education, employment, or training) คือกลุ่มวัยรุ่นผู้ใช้ชีวิตสนุกสนานไปวันๆ โดยไม่อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ถูกจ้างงาน และไม่ได้รับการฝึกงาน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกปี

“ถ้าคุณมีเงินใช้มากพอโดยไม่ต้องทำงาน คุณจะใช้ชีวิตอย่างไร” เป็นคำถามสุดท้ายของหนังที่ยิงตรงมาสู่ผู้ชม และคงอยากถามเราว่า… ความสุขในชีวิตนั้นอยู่ที่ไหน ภาพยนตร์ After Work ผลิตโดย Fasad จากสตอกโฮล์มและร่วมผลิตโดย Propaganda Italia ร่วมกับ Rai Cinema, SVT, Film I Väst, Indie Film Norway โดยร่วมทุนจาก VPRO และ Geo Television โดย Erik Gandini เป็นผู้กำกับฯ และ Fredrik Wenzel มารับหน้าที่เป็นตากล้อง โดยใช้ประเทศเกาหลีใต้ อเมริกา อิตาลี และคูเวต เป็นสถานที่ถ่ายทำ เรากำลังเผชิญหน้ากับศตวรรษแห่งเทคโนโลยีก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังมาถึง เราพร้อมจะรับมือกับมันหรือยัง?

อ้างอิง: vipa.me, variety.com

Tags

Tags: , ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles