Come Back Anytime: หนึ่งปีกับรสชาติราเม็งที่ทุกคนถวิลหา

ขณะที่เราชมสารคดีเกี่ยวกับร้านอาหารดังที่มีเมนูเด็ดขึ้นชื่อ ก็มักยั่วน้ำลายเกิดอยากตามไปชิมร้านนั้นบ้าง และสำหรับคนที่ชอบการทำอาหารก็อาจอยากจะรู้เรื่องสูตรอาหารจานเด็ดนั้น แต่สำหรับที่นี่ ‘บิเซนเต’ (Bizentei) ร้านราเม็งเล็กๆ แห่งหนึ่งในโตเกียว เราจะได้พบกับเรื่องเล่าที่ละเมียดละมัยกว่าแค่เรื่องรสชาติอาหารมากเพราะนี่คือวิถีชีวิตที่ปรุงลงในชามราเม็งได้อย่างกลมกล่อม

Come Back Any Time เป็นการติดตามชีวิตในหนึ่งปี ของ มาซาโตะ และ คาสุโกะ อุเอดะ สองสามีภรรยา ผู้เป็นเจ้าของร้านราเม็ง ‘บิเซนเต’ เริ่มจากพาเราไปรู้จักกับอุปนิสัยเรียบง่ายประณีตในการทำอาหารและทำงานด้วยใจรัก แล้วตามสัมภาษณ์ลูกค้าที่มาทานราเม็งของเขา ซึ่งมีความพิเศษกว่าที่อื่นไม่เพียงรสชาติอร่อยและมีเอกลักษณ์หาทานได้ยาก แต่เป็นตัวตนของเจ้าของร้านเองที่อบอุ่นเป็นกันเองสร้างมิตรภาพให้กับลูกค้าทุกคน นอกจากจะเป็นที่ฝากท้องแล้วก็ยังเป็นที่พักใจด้วย ผู้คนมาร้านนี้เพื่อพบปะพูดคุยสร้างบรรยากาศรื่นรมย์ บางครั้งก็รับฟังคำแนะนำสะกิดเตือนใจจากเจ้าของร้าน และเมื่อมีเวลาว่างตรงกันเขามักจะชวนลูกค้าที่สนใจไปช่วยกันเก็บผัก ผลไม้ เพราะพืชผักที่นำมาใช้ทำอาหารมาจากสวนออแกร์นิกที่ปลูกเองโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง การได้ร่วมกิจกรรมกันในชนบทนั้นเป็นความผูกพันที่หาชมได้ยากของร้านอาหารเล็กธรรมดาซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแนบแน่น

ทั้ง มาซาโตะและคาสุโกะ สองสามีภรรยา ทำงานด้วยใจรักนั้นเป็นแก่นของชีวิตที่คนจำนวนมากมักเดินไปไม่ถึงเพราะเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่าง แต่สำหรับเรื่องเล่าของพวกเขานี้อาจช่วยประโลมใจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจผู้ชมได้อย่างดี อาหารจานหนึ่งไม่ใช่เพียงรสชาติอาหารหากแต่ซ่อนความหมายชีวิตมากมายลงในนั้น ลูกค้าบางรายรู้สึกเสียดายหากจะไม่มีร้านนี้ หรือบางคนก็พูดว่า ต่อให้ร้านเลิกทำไป เขาก็ยังอยากจะคบค้ากับเจ้าของร้านต่อไป และนี่เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่มากกว่าเงินทอง เป็นรอยยิ้มและความสุขที่ส่งผ่านไปสู่ผู้คนไปไม่รู้จบ สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานกำกับฯ ลำดับภาพโดย จอห์น แดชบาร์ค ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมและนักวิจารณ์มากมาย

อ้างอิง: www.comebackanytime.com, vipa.me

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles