Temple Snack Club วัดญี่ปุ่นชวนแบ่งปันของถวายพระให้ชาวบ้านผู้ยากไร้

ความยากจนกับประเทศญี่ปุ่นดูจะเป็นการจับคู่ที่เราไม่ค่อยคุ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า หนึ่งในปัญหาสังคมของญี่ปุ่นคือ ความยากจน จากผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการในประเทศญี่ปุ่นพบว่า มีเด็กญี่ปุ่นหนึ่งในเจ็ดตกอยู่ในสภาวะยากจน (นึกถึงหนังเรื่อง Nobody Knows ขึ้นมาทันที!)

รู้หรือไม่–ความยากจนของเด็กๆ ในญี่ปุ่นนั้น ทางเศรษฐศาสตร์ได้จัดอยู่ในระดับที่เรียกว่า Relative Poverty คือความยากจนที่ดูภายนอกแล้วเหมือนคนปกติธรรมดา ดูไม่ออกว่ายากจน แต่ความเป็นจริงแล้วรายได้ของครอบครัวนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เป็นความยากจนที่แตกต่างจาก Absolute Poverty ซึ่งเป็นระดับที่เราเห็นได้ชัด อย่างเช่นความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา

ความน่าเป็นห่วงของ Relative Poverty คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยากจนที่มองไม่เห็น’ คือการที่เรามองไม่เห็นและไม่ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา

ในปี 2013 เกิดเหตุการณ์ที่คนญี่ปุ่นทั้งประเทศต้องช็อคและเสียใจกันทั่ว เมื่อพบว่าคุณแม่วัย 28 คนหนึ่งและลูกชายวัย 3 ขวบของเธอที่อาศัยอยู่ในเมืองโอซาก้าเสียชีวิตจากความอดอยาก เหตุการณ์นี้ทำให้พระญี่ปุ่นชื่อ เซรุ มัตสุชิมะ ตัดสินใจที่จะทำอะไรสักอย่าง และผุดโครงการ ‘Temple Snack Club’ หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ ‘โอโตริโอะตะรุคลับ’ ขึ้นมาในปี 2014

โครงการนี้มีเป้าหมายในการบรรเทาปัญหาความยากจนผ่านความร่วมมือของวัดและผู้สนับสนุนทั่วประเทศ โดยวัดที่เข้าร่วมโครงการจะส่งต่ออาหารที่ประชาชนนำมาถวายพระหรือบริจาคให้วัดไปมอบให้ครอบครัวที่ประสบปัญหาด้านการเงินเพื่อประทังชีวิต ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากชุมชน สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากวัดทั่วประเทศถึง 980 แห่ง และกลุ่มผู้สนับสนุนอีกราว 393 กลุ่ม ปัจจุบันได้บริจาคอาหารไปให้กับเด็กๆ มากกว่า 10,000 คนแล้ว

นอกจากความช่วยเหลือทางตรง คือมอบอาหารให้กับผู้ประสบภาวะยากจนแล้ว โครงการนี้ยังช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาความยากจนที่มองไม่เห็น รวมถึงตัวของผู้ประสบปัญหาเองก็มีพื้นที่ที่สามารถส่งเสียงเพื่อขอความช่วยเหลือได้

ล่าสุด โครงการนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการ  Good Design Awards ซึ่งคณะกรรมการได้ชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์และการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อดึงจุดเด่นของสิ่งที่วัดมี นำมาใช้ช่วยเหลือสังคมได้ ขอปรบมือให้กับการร่วมแรงร่วมใจระหว่างวัดกับชุมชนที่กลมกลืนและลงตัว

 

อ้างอิง: Otaru Oyatsu Club

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles