Junkbot สร้างนักประดิษฐ์ตัวน้อยด้วยของเล่นจากขยะส่งเสริมจินตนาการ

ในขณะที่พ่อแม่ยุคปัจจุบันหลายคนเลือกเลี้ยงลูกด้วย gadget ประเภทแท็บเลต เพราะหวังให้ลูกๆ ของตนซึมซับเรื่องเทคโนโลยีตั้งแต่ในวัยเด็ก ก็มีพ่อแม่และครูอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า การให้เด็กเล่นเกมในแท็บเลตที่ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นเป็นภาพอย่างชัดเจนและกำหนดกฎเกณฑ์มาหมดแล้ว จะเป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็กในการสร้างสรรค์และสร้างกฎเกณฑ์ของตนเองขึ้นมา

แน่นอนว่าความเชื่อในการเลี้ยงลูกทั้งสองฝั่งที่ต่างกันสุดขั้วนี้ มีเหตุมีผลน่ารับฟังด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมีวิธีเลี้ยงลูกแบบไหนไหมที่วางอยู่บนทางสายกลางระหว่างสองแนวคิดที่ว่า?

ในประเด็นนี้ Junkbot ของเล่นที่คิดค้นขึ้นโดย Startup จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ ในกล่อง Junkbot กล่องนึงจะประกอบไปด้วยเครื่องมือทั้งประเภทฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และส่วนประกอบต่างๆ ที่ใช้สำหรับสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา นอกจากนั้นก็ยังมีแบบร่างที่ให้ไอเดียคร่าวๆ แก่เด็กๆ ว่า พวกเขาจะสามารถประกอบหุ่นยนต์ที่ว่าขึ้นมาจากขยะหรือข้าวของเหลือใช้ในบ้านได้อย่างไร เพราะไอเดียหลักที่สำคัญของ Junkbot นั้นได้เดินตามรอยคำกล่าวของนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ Thomas Edison นั่นคือ “การเป็นนักประดิษฐ์ คุณต้องสามารถใช้จินตนาการประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาจากขยะให้ได้” และไอเดียการสร้างสรรค์หุ่นยนต์ขึ้นมาจากข้าวของเหลือใช้ที่เด็กๆ ต้องเสริมกลไกในการเคลื่อนไหวใช้งานเข้าไปนี้เอง ก็นับเป็นการสนับสนุนเด็กๆ ทั้งในเรื่องจินตนาการและความรู้ทางเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน

กลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของ Junkbot คือเด็กในวัย 5 ปี ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองหรือใครก็ตามที่สนใจในเรื่องการประดิษฐ์สร้างสรรค์และเทคโนโลยี ก็สามารถอุดหนุน Junkbot ไปสนุกที่บ้านได้เหมือนกัน ผู้ที่ได้ทดลองเล่น Junkbot บอกว่า Junkbot มีคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่าย และการประกอบหุ่นยนต์จากของเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็น ขวดน้ำ แกนทิชชู่ กระดาษลัง ฯลฯ เข้ากับกลไกที่ Junkbot ให้มา ก็ทำได้ง่ายเหมือนการต่อเลโก้ ที่สำคัญ นี่เป็นการฝึกทักษะพื้นฐานด้าน STEM (Science, Technology, Engineering และ Mathematics) ให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง: www.junkbot.coFacebook:iamjunkbot

Tags

Tags: , , , , , ,

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles