ปมคลาสสิคหนึ่งซึ่งพบเห็นในครอบครัวโดยเฉพาะชนชั้นมีอันจะกิน ที่พ่อแม่มักจะคาดหวังในความสำเร็จของลูก และพยายามเคี่ยวเข็ญให้พวกเขาเดินไปในทิศทางที่พ่อแม่เชื่อว่าดี แต่กลับไม่เคยสนใจเลยสักนิดว่ากำลังสร้างแรงกดดันให้พวกเขาเครียด และไม่เคยคิดถามว่าพวกเขาชอบในสิ่งที่ถูกผลักดันให้เป็นอยู่หรือไม่ A Perfect Turn เรื่องเล่าจากเกาหลีใต้ของผู้กำกับหญิง Minha Kim กำลังสะท้อนภาพนั้นอีกครั้งด้วยลีลาเฉพาะตัวกับมุมมองการถ่ายภาพที่โดดเด่น ดึงอารมณ์ความรู้สึกด้านลึกของตัวละครออกมาได้อย่างน่าติดตาม
Hyun Ah เด็กหญิงอายุสิบขวบและแม่ของเธอ ทั้งคู่กำลังเดินทางพา Hyun Ah ไปร่วมซ้อมเพื่อแสดงบัลเล่ต์ในกรุงลอนดอน โดยระหว่างทาง บรรยากาศเต็มไปด้วยความอึดอัดในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ผ่านพฤติกรรมที่แสนดื้อดึงของเด็ก ดูท่าเด็กหญิง Hyun Ah จะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ Hyun Ah สร้างความลำบากใจให้คุณแม่จนแทบอยากร้องกรี๊ดดังๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ที่มาที่ไปหรือเบื้องหลังของทั้งคู่มากมายนัก อะไรทำให้สาวน้อยแสดงพฤติกรรมกับแม่เช่นนั้น เชื่อได้ว่าในฐานะผู้ชมผู้ใหญ่จะเห็นอกเห็นใจแทนคุณแม่ที่ต้องอดทนกับพฤติกรรมแข็งขืนไร้เหตุผลของ Hyun Ah ซึ่งถ้าเกิดรู้สึกเช่นนั้นก็เท่ากับเรากำลังมองภาพผ่านมุมมองของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเข้าใจเด็กเข้าให้แล้ว ช่องว่างระหว่างแม่กับลูกคู่นี้มีจุดพลิกผันที่เราคิดไม่ถึง เป็นบทสรุปของเรื่องซึ่งซ่อนอารมณ์ขันไว้อย่างร้ายกาจ
Minha Kim เกิดที่ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในลอนดอน เรียนจบด้านการทำภาพยนตร์จาก The National Film & Television School ที่ประเทศอังกฤษ หนังหลายเรื่องของเธอก่อนหน้านี้ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงหนังอะนิเมชั่นสั้นเรื่อง Sea Child (2015) ที่เล่าเรื่องด้วยสไตล์ดิบสะท้อนภาพสังคมและการกดขี่ทางเพศ เจาะลึกถึงจิตใต้สำนึกความเป็นผู้หญิง ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังต่างๆ กวาดรางวัลจากเทศกาลทั่วโลก เช่น Palm Springs, Rhode Island, Montreal World, Melbourne, Edinburgh International Film Festivals และ AFI FEST สำหรับ A Perfect Turn นี้ได้รับรางวัลด้านการถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากสถาบันภาพยนตร์แห่งประเทศอังกฤษ BFI Film London showcase 2018 และได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลหนังนานาชาติ แอสเซน ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วย
สิ่งที่ Kim สนใจมักจะเป็นเรื่องแรงกดดันที่สังคมกระทำต่อเพศหญิง การเรียกร้องหาเสรีภาพและการตามหาตัวตน ‘A Perfect Turn’ นี้ก็สะท้อนปมดังกล่าวออกมาเช่นกัน โดยเลือกมุมความขัดแย้งของครอบครัว ด้วยลีลาการนำเสนอทั้งภาพและเพลงที่กดดันผู้ชมและแอบแทรกอารมณ์ขัน เย้ยหยันสถานการณ์ไว้อย่างเนียน ทั้งหมดตั้งคำถามถึงคำว่า “ความสำเร็จ” นี้เป็นของใครและอยู่ตรงไหนกันแน่ ระหว่างความภาคภูมิใจของพ่อแม่ กับความสนุกสนานและความสุขง่ายๆ ของเด็ก
อ้างอิง: www.minha.co.uk, www.shortoftheweek.com