‘พีรดา พีรศิลป์’ บอกรักมะเร็งผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’

“คุณจำโมเม้นท์ที่ทำให้หัวใจคุณพองโตครั้งสุดท้ายได้ไหม
มันอาจนาน…จนเราลืมไปแล้ว
อะไรที่ทำให้หัวใจคุณพองโต
อะไรที่ทำให้คุณมีความสุขอย่างแท้จริง…”

หลิง – พีรดา พีรศิลป์ บรรณาธิการอิสระและบรรณาธิการบทความที่ CreativeCitizen.com ของเรา เคยตั้งคำถามนี้ในบทความ “จงมีชีวิตเพื่อความรักและความฝัน” ของเธอ คำถามง่ายๆ ที่ทำให้เราเองก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่า อะไรที่ทำให้หัวใจของเราพองโตและเราหลงลืมความรู้สึกนั้นไปนานแค่ไหนแล้วนะ

สำหรับพีรดาเอง เราคิดว่าความพองโตนั้นคงมาจากการได้ทำในสิ่งที่เธอรักและสิ่งที่เธอรักนั้นสามารถส่งต่อประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ทั้งการเป็นนักเขียนที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ รอบตัว การได้โลดแล่นอยู่บนถนนที่ทอดยาวกับพาหนะ 2 ล้อของเธอ รวมทั้งการปลุกปั้น ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ นิทรรศการภาพถ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2563 นี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

กว่าจะมาเป็นนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่อง ‘มะเร็งที่รัก’

“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา พี่ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งที่รังไข่ ครั้งนี้เป็นมะเร็งครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งก่อนนี้เป็นมะเร็งเต้านม 2 ครั้ง พี่กลัวว่ามะเร็งอาจกลับมาอีกที่เต้านมอีกข้าง พอถึงรอบคิวหาหมอเต้านมเดือนสิงหาคม พี่คิดว่าหาหมอทั้งที ทำทีเดียวให้จบไปเลย แล้วเนื่องจากตุลาคมจะเป็นเดือนรณรงค์มะเร็งเต้านมสากล พี่เลยตัดสินใจขอคุณหมอผ่าเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการกลับมาของมะเร็งเต้านม และตั้งใจจะถ่ายรูปโพสต์ทางเฟสบุ๊กของตัวเองเพื่อรณรงค์ในเดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึง

จริงๆ การรณรงค์เรื่องมะเร็งเพื่อสร้างความตระหนัก พี่ทำต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว อย่างโปรเจ็กต์ภาพถ่ายที่ชื่อ ‘Never Give Up’ ซึ่งได้เม้ง – สิทธิชัย กิตยายุคกะ ช่างภาพและสไตลิสต์ที่ชวนพี่มาถ่ายรูปหลังจากจบการรักษามะเร็งรังไข่ได้หนึ่งเดือน จากนั้นเราก็โพสต์ลงในเฟสบุ๊กของตัวเองเพื่อรณรงค์เรื่องมะเร็งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โปรเจ็กต์นี้เองได้จุดประกายให้เกิดเป็นนิทรรศการภาพถ่าย ‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ ขึ้น”

‘Dear Cancer: แด่มะเร็งที่รัก’ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพีรดาที่อยากให้ภาพถ่ายตัวเธอจากมุมมองของช่างภาพทั้ง 5 ท่าน อันได้แก่ จอร์ช – ธาดา วาริช, โจ – นิกสิทธิ์ วงศ์สวัสดิ์, เม้ง – สิทธิชัย กิตยายุคกะ, ตาล – ธนพล แก้วพริ้ง ร่วมกับศิลปิน JORRA และโน้ต – นวลตา วงศ์เจริญ เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อสร้างพลัง สร้างกำลังใจ สร้างการรับรู้ใหม่ๆ ตลอดจนสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับโรคมะเร็งให้กับทั้งผู้ป่วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจโรคดังกล่าวให้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากขึ้น

“เนื่องจากตัวเองเป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งซึ่งเคยป่วยเป็นมะเร็ง คนไม่ได้รู้จักเราในวงกว้าง ภาพถ่ายในครั้งนี้จะมีทั้งภาพก่อนและหลังผ่าตัดเต้านมออก แต่การจะถ่ายภาพแบบ topless เปลือยท่อนบนหลังผ่าตัดอาจเป็นภาพที่ไม่น่ามองในสายตาคนทั่วไป ตรงนี้เองก็ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญและน่าสนใจเช่นกัน การได้ช่างภาพมืออาชีพที่มีชื่อเสียงมาถ่ายทอดผ่านมุมมองในเชิงศิลปะ ก็ช่วยให้ภาพถ่ายเหล่านี้งดงาม ทรงพลัง และสร้างอิมแพ็คได้พอสมควร

จุดประสงค์หลักของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ตั้งใจส่งสารถึงผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและผู้หญิงทุกคน อยากให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจเต้านมของตัวเอง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรตรวจเป็นประจำทุกปี เพราะเมื่อคุณเฝ้าระวังได้เร็วขึ้น หากตรวจพบ โอกาสในการรักษาให้หายก็มีมากขึ้น เพราะอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมและการเสียชีวิตมีสถิติเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี พี่ไม่อยากให้ใครประมาทว่าฉันไม่เป็นหรอก ฉันไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เอาจริงๆ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรอก แม้กระทั่งตัวผู้ป่วยเอง

ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยด้วย เพราะเมื่อเป็นมะเร็งเต้านมก็ส่งผลกระทบหลายอย่าง บางคนไม่มั่นใจในตัวเอง บางคนเก็บตัว บางคนแฟนหรือสามีขอแยกทาง พอชีวิตเปลี่ยน บางคนดิ่งลงเลย พี่อยากให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมองโรคมะเร็งในแง่ดี แม้จะสูญเสียเต้านมไป แต่อย่าสูญเสียตัวตนของคุณไปด้วย อยากให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นตัวเองอย่างที่คุณเป็น”

เพราะร่วมแรงลงใจจึงเกิดขึ้นได้

“ในงานครั้งนี้ นอกจากพลังใจจากช่างภาพทั้ง 5 ท่านที่อาสาถ่ายรูปให้โดยไม่คิดค่าตัวแต่อย่างใดแล้ว พี่ยังได้ทำงานร่วมกับ Art for Cancer by Ireal ภายใต้ บริษัท อาร์ต ออฟ ไลฟ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม และ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง และส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกในการรับมือกับโรคมะเร็งในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นแบบไม่ได้มีเงินทุนใดๆ แต่ได้การระดมทุนระดมใจจากเพื่อน พี่ น้อง และผู้สนับสนุนต่างๆ มาช่วยให้เกิดนิทรรศการฯ นี้ขึ้น โดยทางทีมผู้จัดหวังว่าจะได้จัดเป็น roadshow นำนิทรรศการนี้ไปจัดแสดงยังสถานที่อื่นๆ ต่อไป เช่น  แกลเลอรี โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ตามโอกาสและกำลัง เพื่อรณรงค์ออกไปให้ได้มากที่สุด”

ของขวัญจากมะเร็ง

“มุมมองของพี่ที่มีต่อมะเร็งเปลี่ยนไปทุกๆ ครั้งเลยนะ ตอนปี 2546 พี่เป็นมะเร็งเต้านมครั้งแรก พี่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมะเร็งเลย รู้แค่ว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตาย ทรุดโทรม ผมร่วง ตอนนั้นก็คิดว่าตัวเองต้องเป็นอย่างนั้นแน่ๆ จนสุดท้ายพี่กลับมาตั้งสติ แล้วก็พบว่าเรายังสบายดี ยังแข็งแรง ยังไม่ได้เป็นอะไรขนาดนั้น ตัดความกังวลออกไปให้หมด แล้วโฟกัสที่ปัจจุบัน ถามคุณหมอว่าต้องทำอะไรบ้าง อะไรทำได้-ไม่ได้ คุณหมอบอกทานได้ตามปกติ ออกกำลังกายได้ ฉะนั้น พี่ก็กลับมาทำความเข้าใจใหม่ว่าจริงๆ มะเร็งมีหลายขั้น แต่ละขั้นก็มีความแตกต่างกันในแต่ละตัวบุคคลด้วย พอเข้าใจโรคมากขึ้นและมีสติ พี่มองโลกใหม่เลย บอกตัวเองว่า เราต้องหาย ทำตัวเองให้แข็งแรงที่สุดเพื่อรับมือกับการรักษา ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี

หลังการรักษามะเร็งเต้านมครั้งแรก มุมมองพี่เปลี่ยนไปและตั้งปณิธานว่าจะดูแลตัวเองให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ขี้เกียจเหมือนเดิม (หัวเราะ) พี่ติดตามการรักษามาต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2556 ก็พบว่ามะเร็งกลับมาอีกเป็นครั้งที่ 2 คราวนั้นคือแบบสะกิดใจมาก ออกจากห้องคุณหมอพี่ร้องไห้เพราะไม่คิดว่าโรคจะกลับมาอีก ซึ่งครั้งนี้คือพบเชื้อที่เต้านมข้างเดิม แต่ยังไม่ได้ลุกลามไปไหน จากครั้งแรกที่รู้สึกเหมือนจะตาย ครั้งที่สองเหมือนความตายมาเตือนเราอีกหนแล้วนะ คราวนี้พอจบการรักษา พี่หักดิบเลย มีวินัยในการดูแลตัวเองแบบจริงจังและสม่ำเสมอ ด้วยการออกกำลังกายและดูแลเรื่องการกินให้ดีขึ้น ถ้าเราอยากเปลี่ยนชีวิต เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ถ้าไม่เปลี่ยน เราก็จะเป็นแบบเดิม

ล่าสุดเป็นมะเร็งครั้งที่ 3 ที่รังไข่ พี่ก็ลองย้อนไปว่า เราเป็นมะเร็ง 3 ครั้ง ในรอบ 17 ปี ครั้งแรกกับครั้งที่สองทิ้งห่างกัน 10 ปี ครั้งที่สองกับสามห่างกัน 7 ปี ซึ่งระยะเวลามันสั้นลง จากตอนแรกที่รู้อยู่แล้วว่าชีวิตไม่แน่นอน จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอเป็นครั้งนี้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราสั้นกว่าเดิมขึ้นไปอีก และมันก็ตอกย้ำว่ามีอะไรที่เราควรจะรีบทำบ้าง ทำให้รู้ว่าปัจจุบันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อนาคตจะดีได้ก็ต้องดีจากปัจจุบันที่เราเป็นก่อน จะไม่โกรธใครนาน ถ้าผิดก็จะขอโทษ ไม่อยากให้มีอะไรคั่งค้างในใจ มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำ ที่เหลือก็จะทำเพื่อคนอื่น”

มอเตอร์ไซค์และการเดินทางสู่แรงบันดาลใจเพื่อมีชีวิตต่อ

“หลังจบการรักษามะเร็งครั้งที่ 2 ปี 2556 ระหว่างที่ออกกำลังกายเพื่อให้ตัวเองแข็งแรง เราก็อยากขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยว ซึ่งบิ๊คไบค์คันใหญ่และหนักมาก พี่คิดว่าตัวเองคงเข็นไม่ไหวหรอก ประคองรถให้ตั้งตรงยังไม่มีแรงเลย แต่อีกใจก็บอกกับตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องแข็งแรงสิ พี่เลยออกกำลังกายไปเรื่อยๆ เกือบปีถึงจะได้ซื้อมอเตอร์ไซค์ จากนั้นก็เริ่มขี่ไปตามที่ต่างๆ และมีความสุขกับการขี่มอเตอร์ไซค์มาก มันเป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งพี่ไม่เคยเห็นตัวเองในมุมแบบนี้มาก่อน

ในปี 2559 เรื่องมะเร็งกับการขี่มอเตอร์ไซค์ของพี่กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากที่น้องออย (ไอรีล ไตรสารศรี) ผู้ก่อตั้ง Art for Cancer ให้พี่ช่วยเขียนบทความเพื่อรณรงค์เรื่องมะเร็ง พี่เลยเขียนบทความหนึ่งชื่อ “กูยังตายไม่ได้” เพื่อแชร์ผ่านเฟสบุ๊คตัวเองและที่เพจของ Art for Cancer นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดเผยเรื่องมะเร็งของตัวเองออกสู่สาธารณะ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้มาก่อน มีแค่ครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิท พอเราโพสต์ออกไปคนก็แชร์เยอะมาก ในบทความนั้นพูดถึงการที่ตัวเองยังตายไม่ได้เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ แล้วการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากทำ ปรากฏว่าเรื่องราวของเรากลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ในเรื่องของการไม่ยอมแพ้ การลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำ และทำอย่างมีความสุข ซึ่งพี่เองก็ไม่รู้หรอก จนกระทั่งมีคนส่งข้อความมาขอบคุณ จุดนั้นเองที่ทำให้รู้สึกว่าเรื่องของเรามีประโยชน์ หลังจากนั้นจึงตั้งใจว่าจะทำให้การขี่มอเตอร์ไซค์กับการเป็นมะเร็งของตัวเองเป็นประโยชน์กับผู้อื่น”

เหนื่อยก็พัก หนักก็วาง

“ตอนพี่รู้สึกแย่ พี่จะขอเวลาตัวเองมาพักแล้วตั้งหลักใหม่ เหมือนเวลาเราวิ่งแล้วเหนื่อย พอได้หยุดพัก มันก็จะค่อยๆ หาย พี่จะไม่ฝืนตัวเอง เราไม่ได้มีพลังบวกได้ตลอดเวลา แต่ก็จะไม่ทิ้งไว้นาน พอเราได้สติ ก็เอาล่ะ ไปมีความสุขดีกว่า พี่คิดว่าการเสียเวลาไปกับความทุกข์ทำให้เรามีความสุขน้อยลง ตอนรักษามะเร็งไม่ใช่ไม่เหนื่อยนะ แต่เราต้องอดทน ระดับความอดทนของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนอาจพักฟื้นนาน แต่พี่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งก็อาจจะเป็นโชคดีที่เราแข็งแรง ไม่เป็นไรเลย หวัดก็ไม่เป็น แต่ดันเป็นมะเร็งเสียอย่างนั้น”

มะเร็งคืออุปสรรคที่ต้องสู้ 

“แต่ละคนมีอุปสรรคในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สำหรับพี่เป็นเรื่องของโรค ซึ่งเราเป็นแล้วก็ต้องสู้ พี่คิดว่าทุกคนมีวิธีสู้กับอุปสรรคในแบบตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน คุณต้องสู้ พี่รู้สึกอย่างนั้น ถ้าสุดท้ายพี่ต้องตายด้วยมะเร็ง ก็ไม่เป็นไร เพราะพี่สู้เต็มที่แล้ว เอาจริงๆ ขี่มอเตอร์ไซค์นี่อันตรายกว่าอีก เพราะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ก็ได้ พี่บอกที่บ้านเลยว่าถ้าพี่เสียชีวิตด้วยมอเตอร์ไซค์ ไม่ต้องเสียใจนะ เพราะเรามีความสุขแล้ว อย่างเดียวที่กลัวคือการเป็นภาระคนอื่น แต่ถ้าเรามีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อ เราต้องสู้”

ทุกข์และกำลังใจจะเกิดและดับได้ก็อยู่ที่ตัวเรา

“เวลาเราป่วย ใจมาอันดับหนึ่ง ถ้าใจเข้มแข็งก็จะเป็นพลังหลักให้เราเดินต่อไปได้ อย่ามัวนั่งรอกำลังใจจากคนอื่นแม้จะไม่มีใครเลย คุณก็ต้องให้กำลังใจตัวเองก่อน เรื่องของแรงใจสำคัญมากและจะเป็นสิ่งที่ยึดโยงคุณได้มากๆ ถ้ากำลังใจนั้นมาจากตัวคุณเอง ส่วนจากคนข้างๆ พี่ถือว่านั่นคือโบนัสที่เพิ่มเข้ามา แต่สุดท้ายเราจะเป็นอย่างไรมันอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ”

จงมีชีวิตเพื่อความรักและความฝัน

“ความฝันของพี่ตอนนี้จะเป็นฝันเล็กๆ แบบระยะสั้น ได้อยู่กับครอบครัวที่เรารัก ได้ทำงานที่รักและมีความสุขกับงานที่ทำ ด้วยการเป็นบรรณาธิการอิสระ และเป็นบรรณาธิการจิตอาสาให้กับ Art for Cancer ส่วนที่เหลือก็จะใช้เวลากับตัวเอง ตั้งใจจะทำตัวเองให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วย และพี่ยังคงรณรงค์เรื่องมะเร็งต่อไป”

ภาพ: Saran Sangnampetch, Facebook: Ling Bhirada

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles