Braille Neue แบบอักษรเพื่อความเท่าเทียม สำหรับผู้ที่มีสายตาดีและผู้พิการทางสายตา

Reading Time: 2 minutes
2,668 Views

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะถูกออกแบบมาสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่นั่งอยู่บนรถเข็น แต่สำหรับผู้พิการทางสายตา ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม ก็ดูจะเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะสามารถอ่านป้ายบอกสัญลักษณ์ต่างๆ ได้ในทุกหนทุกแห่งเหมือนคนทั่วไป ยิ่งทุกวันนี้ เรายิ่งเห็นอักษรเบลล์ปรากฏอยู่ตามที่สาธารณะน้อยลงทุกที ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าการเพิ่มอักษรเบลล์เข้าไปในป้ายบอกทางที่เป็นตัวอักษรนั้นต้องการพื้นที่ที่มากขึ้น

Kosuke Takahashi เป็นนักออกแบบที่เล็งเห็นปัญหานี้ เขาจึงออกแบบแบบตัวอักษรที่สามารถรวมเอาตัวอักษรปกติและอักษรเบลล์เข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ต้องใช้เนื้อที่เพิ่ม นั่นคือ Braille Neue ที่ประกอบไปด้วยตัวอักษรสองแบบ คือ Braille Neue Standard ที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษวางอยู่ร่วมกับจุดของอักษรเบลล์ และ Braille Neue Outline ที่มีทั้งตัวอักษรภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น โดยทั้งสองภาษาก็จะมีอักษรเบลล์วางร่วมอยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน

นอกจาก Braille Neue จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มอักษรเบลล์เข้าไปในป้ายบอกทางต่างๆ ได้โดยง่ายแล้ว แบบตัวอักษรชนิดนี้ก็ยังดูเท่ ติดน่ารักหน่อยๆ ตามสไตล์ญี่ปุ่น แถมยังน่าใช้เป็นที่สุดอีกด้วย โดย Takahashi นักออกแบบญี่ปุ่นผู้เป็นต้นคิดของ Braille Neue ก็หวังว่าแบบอักษรของเขาจะสามารถช่วยสร้างพื้นที่ที่เป็นของ ‘ทุกคน’​ ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีสายตาปกติหรือผู้พิการทางสายตาก็ตาม เพื่อให้พวกเขาทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอนว่า Takahashi ยังน่าจะหวังให้ผู้จัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ที่โตเกียวจะเป็นเมืองเจ้าภาพ นำเอา Braille Neue ของเขาไปใช้ด้วย เพราะเขาได้ทำการทดลองแล้วด้วยว่า Braille Neue จะสามารถนำไปขยายเป็นป้ายขนาดใหญ่ได้ไหม ซึ่งคำตอบก็คือเป็นไปได้

อ้างอิง: brailleneue.com


Tunyaporn Hongtong
Tunyaporn Hongtong
ธันยพร หงษ์ทอง นักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ อดีต Arts & Feature Editor ของ Esquire (Thailand), Travel Editor/Feature Editor ของ Wallpaper* (Thailand) และ Co-Editor ของ art4d magazine ที่ผ่านมา ธันยพรยังมีผลงานวรรณกรรมตีพิมพ์ออกมา 2 เล่ม คือ 'ระหว่างทางกลับบ้าน' (ตุลาคม 2558) และ 'อาจารย์หมา' (กันยายน 2560) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บอนไซ (Bonsai Books)