Laura Parker เผยแพร่บทความ ‘Eight Million Tons of Plastic Dumped in Ocean Every Year’ ของเธอ ในเว็บไซต์ nationalgeographic.com เมื่อ 2 ปีก่อน ถ่ายทอดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะในทะเลที่อยู่ในขั้นวิกฤต โดยคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2020 ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลอาจเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า (จากปี 2010 ที่มีจำนวน 8 ล้านตัน) หากทั่วโลกยังไม่สามารถหาวิธีจัดเก็บและจัดการขยะที่ดีกว่านี้ได้
ความกังวลของคนจากหลากหลายสาขาอาชีพถูกแปรเป็นแคมเปญเชิงอนุรักษ์ ตั้งแต่ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่าง Parley for the Oceans ที่จับมือกับ Adidas เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัสดุใหม่ที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเล จนเกิดรองเท้านามว่า ‘UltraBOOST Uncaged Parley’ ขึ้น หรือการที่ Bureau SLA และ Overtreders W สองสตูดิโอออกแบบจากเนเธอแลนด์นำขยะพลาสติกในทะลมาเป็นองค์ประกอบในการก่อสร้าง The People’s Pavilion ภายในงาน Dutch Design Week ที่เมืองไอนด์โฮเวน เมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 เช่นเดียวกันกับนักออกแบบร็อคสตาร์ของวงการอินดัสเทรียลดีไซน์อย่าง Yves Béhar ที่แสดงออกถึงความรักของเขาต่อท้องทะเล โดยเฉพาะในประเทศอเมริกาที่เขาอาศัยอยู่ ผ่านโครงการ ‘Deep Blue Bag’
Béhar ผู้ก่อตั้ง The Fuseproject เล่าถึงโครงการนี้ว่า “ในฐานะที่เล่นเซิร์ฟและรักทะเล ผมเป็นห่วงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลตอนนี้มาก ซึ่งการเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผม” Deep Blue Bag เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ องค์กร Supporting Sustainable Surf ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการ แบรนด์ MAFIA Bags ที่รับหน้าที่พัฒนาและผลิตกระเป๋า โดยมีนักออกแบบสัญชาติสวิสคนนี้ดีไซน์รูปทรงและฟังก์ชั่นของกระเป๋า
วัสดุรีไซเคิลที่ได้จากใบเรือ เข็มขัดนิรภัย ชุดดำน้ำ รวมทั้งเชือกปีนเขาใช้แล้วจากอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (Yosemite National Park) ถูกนำมาคืนชีพให้กลายเป็นกระเป๋าเป้ขนาด 48×33 เซนติเมตร น้ำหนัก 500 กรัม สามารถจุสิ่งของได้ 20 ลิตร ตัวกระเป๋าถูกออกแบบให้มีช่องเก็บของที่แยกเป็นสัดส่วน โดยวัสดุทุกชิ้นตั้งแต่โครงสร้าง สายสะพาย รวมทั้งซิบมีคุณสมบัติในการกันน้ำและทนต่อทุกสภาพอากาศ ดังนั้นคุณสามารถจะใส่ชุดว่ายน้ำเปียกๆ รวมกับ iPad ในกระเป๋าใบเดียวกันได้อย่างสบายๆ มี D-ring สำหรับการแขวนกุญแจ พร้อมช่องใส่ขวดน้ำและช่องลับเพื่อเก็บของมีค่า ขณะเดียวกัน Béhar เองก็คำนึงถึงความสบายเพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าเมื่อใช้งาน เป็นต้นว่า มีการกำหนดตำแหน่งให้สายสะพายแต่ละด้านอยู่ในระดับกึ่งกลางกระดูกไหปลาร้าพอดี การมีช่วงกว้างขนาดพอเหมาะซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกรำคาญและไม่ทำให้เป้เลื่อนหลุดได้ง่าย อีกทั้งยังเพิ่มสายรัดหน้าอกที่ช่วยยึดให้สายสะพายไหล่ของเป้ให้เข้าที่ ช่วยกระจายน้ำหนักให้เท่ากันทั้งสองด้าน โดยใช้วัสดุมีความเบา นุ่ม แต่แข็งแรง
ไม่เพียงแต่ฟังก์ชั่นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีกับหน้าตากระเป๋าที่เป็นเอกลักษณ์เพราะการใช้วัสดุรีไซเคิลที่มาจากต่างที่ต่างรูปแบบ แต่ทุกๆ ครั้งที่มีการใช้กระเป๋าในนี้ ยังเสมือนเป็นการย้ำเตือนให้ทั้งผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ ผู้ใช้ และสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาทางทะเลที่เรากำลังเผชิญอยู่ โดยกำไรทั้งหมดจากการขายกระเป๋า Deep Blue Bag จะถูกนำไปใช้ในโครงการ Waste to Waves ที่ดำเนินการโดย Supporting Sustainable Surf เพื่อแปลงขยะทางทะเลให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้น “เมื่อคุณซื้อกระเป๋าใบนี้ คุณจะได้ทั้งกระเป๋าที่ใช้งานได้จริงๆ มีความสวยงาม มีฟังก็ชั่นพร้อมใช้ มีความทนทาน ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ท้องทะเลสะอาดขึ้น และทำให้ปฏิกูลเหล่านี้มีค่าขึ้นอีกครั้งด้วย”
อ้างอิง: FuseProject, dezeen, NationalGeographic, SustainableSurf, MafiaBags