‘สดชื่นสถาน’ สถานีเติมความสดชื่นให้คนไร้บ้านโดยมูลนิธิกระจกเงา

ใครที่ติดตามข่าวสารของมูลนิธิกระจกเงาอยู่เป็นประจำ คงพอคุ้นชื่อ ‘สดชื่นสถาน’ (Fresh Station) โครงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการจับมือกับกรุงเทพมหานครร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดสร้างห้องน้ำสาธารณะไว้บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ เพื่อให้คนไร้บ้านได้ ‘สดชื่น’ จากการเข้าถึงห้องอาบน้ำและห้องสุขาได้ง่าย ปลอดภัย ถูกสุขภาวะ แถมยังมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของมูลนิธิฯ ด้วย เช่น งานเสวนา กิจกรรมสัญจร บริการรถซักอบผ้าเคลื่อนที่ บริการตัดผม แจกอาหาร และบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ เป็นต้น

จากจุดเริ่มต้นเพื่อคนไร้บ้าน ต่อมามีการปรับปรุงสดชื่นสถานให้มีความเป็นสาธารณะมากขึ้น เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาขอร่วมสดชื่นด้วย ทำให้มีการจ้างงานคนไร้บ้านเพื่อมาดูแลทำความสะอาด กลายเป็นโอกาสด้านอาชีพได้อีกต่อ

ล่าสุด โครงการสดชื่นสถานได้รับความร่วมมือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่โดยโจทย์หลักของการออกแบบมีทั้ง ระยะสั้น คือ การปรับพื้นที่ให้มีความสดชื่นมากขึ้น และเปิดกว้างมากขึ้น ระยะกลาง คือ การเสนอแนวทางและทดลองปรับใช้พื้นที่โกดังเก็บของในปัจจุบันให้เป็น art space เอนกประสงค์ และ ระยะยาว คือ การปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมดให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับกิจกรรมของมูลนิธิกระจกเงา ภายใต้นโยบาย สวน 15 นาที ของกรุงเทพมหานคร

นักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกว่า 60 คนได้ใช้เวลา 2 อาทิตย์ในการลงพื้นที่เพื่อศึกษาทำความเข้าใจ ออกแบบ และก่อสร้างออกมาเป็นชิ้นงานภายใต้นิทรรศการ Community Architecture Studio Exhibition ซึ่งมีภาคีร่วมสนับสนุน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพระนคร และกลุ่ม we!park โดยชิ้นงานทั้งหมดประกอบด้วย 

Refresh/Reflectผลงานศิลปะแบบจัดวางที่นำดอกไม้มาเติมความสดชื่น และสะท้อนผ่านกระจกเงาที่เป็นทั้งลูกเล่นด้านสุนทรียะและเชิงสัญลักษณ์ การเลือกใช้ดอกไม้คือความหมายในเชิงบวกที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับพื้นที่บริเวณนี้ ส่วนกระจกเงาเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความงามของดอกไม้เปรียบกับมูลนิธิกระจกเงาที่เป็นสื่อกลางในการสะท้อนความช่วยเหลือให้กับคนไร้บ้าน

Light Up & Playสนามหมากฮอสขนาดใหญ่ ตัวตารางใช้แผ่นหญ้าเทียมปูเต็มพื้นที่ ขนาด 5×5 เมตร และนำแผ่นตาข่ายสีขาวปูบนแผ่นหญ้าเพื่อแบ่งช่อง จากนั้นติดเส้นไฟ LED เพื่อสร้างตารางที่ส่องแสงสว่างในยามค่ำคืน สำหรับตัวหมากทำจากถังกระดาษ ใช้นั่งได้ และเคลื่อนย้ายได้ แบ่งฝั่งด้วยการใช้สีบนฝาถัง เป็นกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่นี้ เป็นเกมที่สามารถเล่นได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เล่นเป็นคู่หรือเล่นเป็นกลุ่มก็ได้  

โอบกอด – ผลงานศิลปะสื่อผสมโดยนำเศษผ้ามาปะติดปะต่อกันจนแสดงออกมาเป็นรูปใบหน้าที่เป็นตัวแทนของคนไร้บ้าน แสดงถึงการมีอยู่ของพวกเขาที่มักรู้สึกว่าตนเองไร้ความหมาย ไร้ตัวตน ไร้ทางไป เป็นชิ้นงานที่สะท้อนให้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้ เข้าใจ และโอบกอดคนไร้บ้านเหล่านี้ โดยมีส่วนที่เปิดให้บุคคลภายนอกมีส่วนร่วมโดยสามารถวาดและเขียนเพื่อส่งต่อกำลังใจผ่านภาพวาดที่แปะอยู่บนผนังได้ด้วย 

Art Space – จากโกดังเก็บของ ถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะ และสามารถใช้งานได้เอนกประสงค์ โดยออกแบบผนังกั้นที่ประกอบขึ้นจากลังพลาสติกมือสอง นำมาจัดเรียงเพื่อแบ่งและสร้างขอบเขตภายในโกดังเดิม โดยในนิทรรศการนี้มีการแบ่งพื้นที่ Art Space ออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ ‘โอบอุ่น’ บริเวณทางเข้า ใช้เล่าถึงจุดประสงค์ของโครงการจากรายวิชาสถาปัตยกรรมชุมชน ของนักศึกษาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนบริเวณตรงกลางคือ ผลงานศิลปะ ‘โอบกอด’ และส่วนที่สาม ‘โอบเอื้อ’ โซนเก็บของที่เป็นการแสดงของบริจาค ของใช้ ของเก่าต่างๆ แสดงถึงสัญลักษณ์ของความมีน้ำใจของผู้คน และการทำงานของโครงการสดชื่นสถาน

นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากศิลปิน ‘เตยยี่’ มอบชิ้นงานศิลปะที่เคยทำกับมูลนิธิกระจกเงาร่วมจัดแสดง และยังมีพื้นที่ดูหนังกลางแปลงเอนกประสงค์ ที่นอกจากจะเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจให้กับกลุ่มคนไร้บ้านแล้วยังมอบความบันเทิงแก่ผู้ที่ผ่านไปมาด้วย 

เพราะคนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งในแง่ของคุณภาพชีวิตและด้านจิตใจ การดูแลให้พวกเขาได้แข็งแรงและเข้มแข็ง มีแรงกลับมายืนได้ด้วยตัวเอง เป็นการเพิ่มโอกาสให้พวกเขาสามารถหลุดพ้นจากวงจรของคนไร้บ้านได้ในที่สุด

 

‘Reflect/ Refresh’ ผลงานศิลปะแบบจัดวาง ที่นำดอกไม้และกระจกเงามาสร้างสรรค์

‘Light Up and Play’ สนามหมากฮอสขนาดใหญ่ที่ทุกคนร่วมกันเล่นได้

 

‘โอบกอด’ ผลงานศิลปะสื่อผสม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้าน 

   

เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนรวม

Art Space ผลงานทดลองปรับและจัดสรรพื้นที่โกดังเก็บของเดิม โดยใช้ลังพลาสติกเก่ามาช่วยแบ่งพื้นที่

ผลงานศิลปะจากตัวอักษรโดยคุณเตยยี่

อาจารย์ผู้สอน: ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ และผศ.ดร.จีรศักดิ์ เกื้อสมบัติ
ผู้ช่วยสอน: วิชญ์ ณ นคร

อ้างอิง: facebook.com/archsu
เครดิตภาพ: Supitcha Tovivich

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles