Ulmer Nest ที่พักชั่วคราวของคนไร้บ้านในเยอรมนี จุได้ 2 คน+สัตว์เลี้ยง ไม่ต้องยื่นเอกสาร ที่ไหนว่างก็เข้าพักได้เลย

คนไร้บ้านยังคงเป็นประเด็นใหญ่แม้ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างเยอรมนี ทุกวันนี้จำนวนคนไร้บ้านในประเทศดังกล่าวพุ่งสูงไปถึง 8 แสนกว่าราย พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและต้องนอนตามพื้นที่สาธารณะในเวลากลางคืน ยิ่งในเวลานี้ พวกเขาต่างต้องเผชิญทั้งสถานการณ์ของโรคระบาดและความหนาวเหน็บที่มาตามฤดูกาล 

แต่ในความยากลำบากนี้ ความช่วยเหลือได้ถูกส่งต่อไปยังพวกเขาในหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ ‘Ulmer Nest’ โครงการที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลเมืองอูล์ม (Ulm) กลุ่มสตาร์ทอัพด้านดีไซน์อย่าง Bootschaft, บริษัทพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอลฟท์แวร์ Widerstand und Söhne รวมทั้งนักออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัล Florian Geiselhart โดยทั้งหมดเริ่มพัฒนาตู้นอนที่เห็นนี้ในปี 2018 กับเป้าหมายที่ต้องการสร้างที่พักชั่วคราวให้แก่คนไร้บ้านได้มีที่พักพิงท่ามกลางอุณหภูมิติดลบในฤดูหนาว 

ทีมพัฒนา Ulmer Nest กล่าวว่า “จริงๆ ในเยอรมนีเองก็มีการจัดสรรพื้นที่ให้กับคนไร้บ้านอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว พื้นที่เหล่านั้นยังมีข้อจำกัดในหลายๆ อย่าง ทั้งกฏเกณฑ์ที่เข้มงวด เป็นต้นว่า พวกเขาจะอนุญาตให้เพียงผู้ที่มีเอกสารระบุตัวตนได้เท่านั้นที่สามารถเข้าใช้บริการได้ ไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไป และไม่รับผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตเวช เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการคัดกรองที่ชัดเจน ซึ่งเราอยากอุดช่องโหว่นี้ด้วยการสร้าง Ulmer Nest เพื่อให้คนไร้บ้านกลุ่มที่เหลือไม่ต้องทนกับความหนาวเหน็บและเสี่ยงอันตรายอยู่ตามท้องถนนในเวลากลางคืน” ซึ่งการใช้บริการ Ulmer Nest นั้นไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือใช้เอกสารใดๆ เพียงแค่ตู้นอนนั้นว่าง คุณก็สามารถใช้งานมันได้แล้ว และภายในตู้นอนเหล่านี้ไม่มีการติดกล้องเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวให้พวกเขา อีกทั้งผู้ที่เข้าพักจะไม่ถูกเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม เพื่อกระตุ้นให้พวกเขามาใช้งานที่นอนนี้มากขึ้นด้วย 

สำหรับตัวต้นแบบของ Ulmer Nest ประกอบขึ้นจากวัสดุหลักๆ อย่างเหล็กและไม้ ที่มีคุณสมบัติในเรื่องความแข็งแรง สามารถป้องกันลมและความชื้น การเป็นฉนวนกันความร้อนที่ช่วยรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูญเสียไป นอกจากนี้ยังมีการติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า มีเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ ระดับความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และควัน มีหลอดไฟสำหรับให้แสงสว่าง รวมถึงระบบระบายอากาศเพื่อให้มีการหมุนเวียนอากาศบริสุทธิ์อยู่ภายในตลอดเวลา 

ตู้นอนที่ภายในสามารถจุคนได้ 2 คน และสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ร่วมได้นี้ยังมีการติดตั้งเครือข่ายวิทยุให้สามารถติดต่อระหว่างกันได้ แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรือมือถือก็ตาม พร้อมกับนำระบบอินเทอร์เนตมาใช้เพื่อส่งข้อมูลไปยังนักสังคมสงเคราะห์หากมีคนไร้บ้านมาใช้งาน ขณะที่การดูแลรักษาจะมีสมาคม Caritas Ulm-Alb-Donau ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาโครงการดังกล่าวทำหน้าที่ในการตรวจเช็กสภาพและทำความสะอาดตู้นอนดังกล่าวให้พร้อมใช้แบบวันต่อวัน ขณะเดียวกันก็ช่วยซ่อมบำรุงเมื่อมีส่วนหนึ่งส่วนใดเกิดการชำรุดขึ้นด้วย

Ulmer Nest เวอร์ชั่นล่าสุดได้ถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ ในเมืองอูล์มเมื่อช่วงต้นมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยทีมงานจะเฝ้าสังเกตการณ์ผลตอบรับทั้งในแง่การใช้งานเอง รวมทั้งปฏิกิริยาของผู้คนในเมืองต่อโครงการดังกล่าวต่อไป ซึ่งการติดตั้งครั้งนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่พวกเขาเดินหน้าสานต่อโครงการนี้ทั้งการปรับปรุงฟังก์ชั่น การมองหาวัสดุที่เหมาะสมมากขึ้นหากต้องผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้ Ulmer Nest สร้างประโยชน์ได้จริงๆ ต่อผู้ที่ต้องการใช้มัน และพวกเขาก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะสามารถช่วยเหลือคนไร้บ้านและลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากความหนาวเหน็บได้ตามที่ตั้งใจไว้ไม่มากก็น้อย 

 

ภาพและอ้างอิง: www.ulmernest.de

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles